ความเชื่อผิด ๆ เกี่ยวกับการเรียนรู้ที่ครู (อาจ) เคยใช้ในห้องเรียน
- ความเชื่อหลายอย่างที่ครูเชื่อกันมาเป็นเวลานานไม่ได้มีหลักฐานยืนยันว่า มีประโยชน์ในการพัฒนาการเรียนรู้ของนักเรียน
- ความเชื่อเหล่านี้ นอกจากจะทำให้ครูเสียเวลาโดยเปล่าประโยชน์แล้ว ยังทำให้การเรียนรู้ของนักเรียนแย่ลงกว่าเดิม
- การใช้แนวคิดที่ได้รับการรับรองว่า มีประโยชน์และได้ผลจริงจะช่วยให้ครูไม่เสียเวลา และสามารถส่งเสริมศักยภาพของนักเรียนได้มากขึ้น
ครูเชื่อเรื่องเหล่านี้ไหม…
ข้อสอบมีไว้เพื่อประเมินการเรียนรู้ของนักเรียนเท่านั้น
อะไรที่เรียนรู้ได้ง่าย นักเรียนมักจะจำได้
ไม่แปลกถ้าครูจะพยักหน้าเห็นด้วยกับทั้งหมดนี้หรือบางข้อ เพราะนี่เป็นความเชื่อที่ครูส่วนมากเชื่อกัน เราเสาะแสวงหาสิ่งที่จะช่วยพัฒนาการเรียนรู้ของนักเรียนให้ดียิ่งขึ้น แต่สิ่งที่น่ากลัวกว่ากลับกลายเป็นว่า ความเชื่อเหล่านี้ไม่ได้มีการรับรองทางวิทยาศาสตร์ว่าได้ผลจริง สุดท้ายมันอาจทำให้เราเสียทั้งเวลาในการสอนและความพยายามที่ลงแรงไป ที่เลวร้ายที่สุด คือ การเรียนรู้ของนักเรียนแย่ลงกว่าเดิม ถ้าความเชื่อเหล่านี้ไม่ได้ช่วยให้นักเรียนเรียนรู้ได้ดีขึ้น แล้วอะไรคือแนวทางที่ได้รับการพิสูจน์มาแล้วว่าได้ผลจริง เราจะปรับใช้แนวทางเหล่านั้นในห้องเรียนได้อย่างไร ลองมาดูตัวอย่างที่ทำได้จริงกัน
ความเชื่อที่ 1 : การสอบควรใช้เพื่อประเมินการเรียนรู้ของนักเรียนเพียงอย่างเดียว
เรามักจะมองว่า การสอบเป็นวิธีประเมินสิ่งที่นักเรียนรู้หรือไม่รู้ แต่จริง ๆ แล้วมันยังมีประโยชน์มากกว่านั้นอีก งานวิจัยจำนวนมากพบว่า การสอบทำได้มากกว่าแค่การประเมินความจำ แต่มันยัง “เปลี่ยนความจำ” ได้อีกด้วย เพราะการดึงข้อมูลจากความจำระยะยาวจะเปลี่ยนความจำเราให้ลืมข้อมูลเหล่านั้นได้ยากในอนาคต งานวิจัยชิ้นหนึ่งยังชี้ว่า หนึ่งในวิธีที่ดีที่สุดที่ทำให้เราจดจำข้อมูลได้ดี คือ การฝึกดึงข้อมูลเหล่านั้นซ้ำ ๆ จากความจำระยะยาว ซึ่งไม่ได้มีประโยชน์เพียงแค่ช่วยในการจำเท่านั้น แต่ยังช่วยนักเรียนในการจัดระเบียบข้อมูล การประยุกต์ใช้ข้อมูลที่เพิ่งเรียนกับปัญหาและคำถามใหม่ ๆ รับรู้ว่าอะไรคือสิ่งที่ตัวเองเข้าใจและไม่เข้าใจ รวมถึงช่วยให้นักเรียนเรียนรู้ในสิ่งที่ครูกำลังจะสอนได้ดีขึ้น
ตัวอย่างการนำไปใช้ในห้องเรียน
ครูสามารถกระตุ้นการฝึกดึงข้อมูลได้ด้วยวิธีการที่หลากหลาย เช่น
- เมื่อจบคาบเรียนให้นักเรียนเขียนทุกอย่างที่จำได้
- ตอบคำถามที่ใช้ความรู้ที่เรียนสัปดาห์ก่อนโดยใช้แค่ความจำอย่างเดียว
- วาด Mind Map จากเนื้อหาที่จำได้
- วาดภาพแนวคิดหลักจากสิ่งที่เรียนที่นักเรียนจำได้ และอื่น ๆ
สิ่งสำคัญอยู่ที่นักเรียนจะต้องดึงข้อมูลจากความจำตัวเอง แทนที่จะอ่านซ้ำ ทบทวน ไฮไลต์ หรือคัดลอกข้อมูลซ้ำ ถ้าเราอยากให้นักเรียนสามารถดึงข้อมูลมาใช้ได้ในอนาคต เราต้องฝึกให้เขาดึงข้อมูลเหล่านั้นเดี๋ยวนี้
ความเชื่อที่ 2: อะไรที่เรียนรู้ได้ง่าย นักเรียนมักจะจำได้
คนเราอาจชอบอะไรที่ง่าย ๆ แต่ความเชื่อนี้ส่งผลต่อการเลือกกิจกรรมการเรียนรู้ของครูและนักเรียน นักเรียนจะเลือกเทคนิคการเรียนรู้ที่ช่วยให้ได้ข้อมูลใหม่อย่างรวดเร็ว รวมถึงการอ่านซ้ำหรือคัดลอกโน้ตซ้ำ ๆ แทนที่จะใช้วิธีที่ทำให้ตัวเองต้องดึงข้อมูลออกมาใช้ โดยเน้นที่แนวคิดเดียวในแต่ละครั้ง แทนที่จะผสมผสานแนวคิดที่คล้ายกัน และฝึกฝนแนวคิดใน session การเรียนรู้เดียวแทนที่จะกระจายการฝึกฝนในหลาย session แต่หลายครั้งสิ่งที่เราชอบอาจไม่ส่งผลดีต่อการเรียนรู้เสมอไป เพราะการใช้เทคนิคที่เร่งให้ได้มาซึ่งแนวคิดจะยิ่งทำให้เราลืมมากขึ้น เหมือนกับที่งานวิจัยพบว่า อะไรที่เรียนรู้ได้ง่ายก็มักจะลืมได้ง่ายนั่นเอง
ตัวอย่างการนำไปใช้ในห้องเรียน
อุปสรรคระหว่างการเรียนรู้จะช่วยให้นักเรียนจดจำข้อมูลในระยะยาวได้ ฉะนั้น หากเราสร้างให้การเรียนรู้เป็นเรื่องที่ค่อยเป็นค่อยไปด้วยการสร้างความยากลำบากขึ้นมา สิ่งนี้จะช่วยให้นักเรียนจดจำข้อมูลในระยะยาวได้ดีกว่าการเรียนรู้โดยใช้วิธีที่ง่ายกว่า เช่น เมื่อฝึกดึงข้อมูล นักเรียนจะเกิดข้อผิดพลาดได้มากกว่า และต้องใช้ความพยายามมากกว่าการอ่านซ้ำหรือคัดลอกโน้ตซ้ำ ๆ ซึ่งเป็นวิธีที่ง่ายกว่า แต่เมื่อเวลาผ่านไปมันจะให้ประโยชน์อย่างมากต่อการเรียนรู้ ยกตัวอย่างง่าย ๆ นักเรียนที่แก้โจทย์ปัญหาคณิตศาสตร์ประเภทเดียวกันซ้ำ ๆ จะเกิดข้อผิดพลาดน้อยกว่านักเรียนที่แก้โจทย์ปัญหาที่มีความหลากหลาย แต่นักเรียนที่ทำโจทย์ที่หลากหลายจะจดจำได้มากกว่า เช่นเดียวกับการเรียนรู้แนวคิดใน session เดียวจะง่ายและเร็วกว่าการกระจายการเรียนรู้นั้นไปยัง session อื่นอีกหลาย ๆ ครั้งที่เล็กกว่า แน่นอนว่า การกระจายการฝึกออกไปแบบนี้ย่อมให้ประโยชน์ต่อนักเรียนได้มากกว่า
แม้ครูส่วนมากจะเชื่อเรื่องนี้กันมานาน แต่ครูทุกคนล้วนมีเป้าหมายเดียวกันในการสนับสนุนการเรียนรู้ของนักเรียน ถึงการปรับความเชื่อและแนวทางการจัดการเรียนรู้ที่ครูเคยใช้อยู่แล้วอาจดูเป็นเรื่องยากในตอนแรก แต่แนวทางที่ได้รับการยืนยันโดยงานวิจัยมาแล้วนี่แหละที่จะเป็นอีกหนึ่งหนทางที่ช่วยให้การสอนมีประสิทธิภาพ ได้ผลลัพธ์ดียิ่งขึ้น และไม่เสียเวลาไปโดยเปล่าประโยชน์
อ้างอิง
https://www.edutopia.org/article/common-myths-learning
https://www.opencolleges.edu.au/informed/features/10-common-learning-myths-might-holding-back/