งานวิจัยจาก Kaspersky Lab พบว่าหลายคนมีปัญหาในการจำข้อมูลง่าย ๆ เช่น หมายเลขโทรศัพท์ รหัสผ่านอีเมล หรือ รหัสบัตร ATM แต่มันก็ไม่ใช่เรื่องน่าแปลกใจเพราะคนในสมัยนี้เป็นกันมากเหลือเกิน อาการเหล่านี้เรียกว่า Digital Amnesia หรือ อาการความจำเสื่อมเพราะเทคโนโลยี เนื่องจากใช้มันเป็น “สมองที่ 2” เพื่อจดจำสิ่งต่าง ๆ แทนเรามากเกินไป
ในขณะที่เราเป็นผู้กำหนดสภาพแวดล้อม สภาพแวดล้อมก็หล่อหลอมสมองเราด้วยเหมือนกัน เมื่อเราใช้เทคโนโลยีบ่อย ๆ มันจะเริ่มฝึกเรา ทั้งความคิด ความรู้สึก แรงจูงใจ และความสนใจ มันเกิดขึ้นโดยที่เราไม่ทันรู้ตัวและมีแนวโน้มที่จะคงอยู่ในพฤติกรรมนั้นมากขึ้นแม้จะไม่เป็นผลดีกับร่างกายก็ตาม เทคโนโลยีถูกออกแบบโดยการใช้ประโยชน์จากช่องโหว่ที่ลึกที่สุดของเรา เช่น การรู้สึกเป็นที่สนใจ การหาคำตอบได้รวดเร็วเสมอ หรือความสามารถในการติดต่อกับผู้คนได้มากมาย ยิ่งทุกแพลตฟอร์มมีการแข่งขันเพื่อดึงความสนใจของมนุษย์มากขึ้นเท่าไหร่ จะส่งผลให้ความทรงจำที่เป็นความสามารถพื้นฐานของมนุษย์ลดน้อยลงมากเท่านั้น
จากผลสำรวจพบว่าหลังการเริ่มใช้สมาร์ทโฟนเพียง 3 เดือน ส่งผลให้คะแนนเลขคณิตทางจิตลดลงอย่างมีนัยสำคัญ (บ่งบอกถึงความสามารถในการตั้งใจที่ลดลง) นอกจากนี้ จากการสแกนสมองชี้ชัดว่าผู้ใช้สมาร์ทโฟนจำนวนมากได้ลดการทำงานของระบบประสาทในเยื่อหุ้มสมองส่วนหน้าด้านขวาลงอย่างมาก ซึ่งเป็นภาวะที่พบในผู้ป่วยสมาธิสั้น
เด็กก่อนวัยเรียนที่ใช้สื่อบนหน้าจอเป็นเวลานานกว่า 1 ชั่วโมงในแต่ละวัน พบว่ามีพัฒนาการของสมองส่วนแกนกลางที่เกี่ยวข้องกับภาษาและการรู้หนังสือน้อยลงอย่างมีนัยสำคัญ การสแกนสมองบ่งชี้ว่ายิ่งใช้เวลาอยู่กับหน้าจอมากเท่าไร ทักษะทางภาษาของเด็กก็จะยิ่งต่ำลง และความสมบูรณ์ของโครงสร้างในส่วนสมองที่สำคัญที่รับผิดชอบภาษาก็จะลดลงด้วย
การใช้ GPS ก็ส่งผลต่ออาการ Digital Amnesia เช่นกัน GPS ส่งผลต่อการรับรู้และการตัดสินใจ ลดความจำเป็นในการจดจำเส้นทาง ทำให้สนใจสิ่งรอบตัวน้อยลง พฤติกรรมของสมองเปลี่ยนไปเมื่อมี GPS นำทาง โดยเฉพาะสมองในส่วนฮิบโปแคมปัสในการทำงานด้านหน่วยความจำและพื้นที่จะมีการทำงานลดลง ทำให้พื้นที่สมองที่เกี่ยวข้องกับการนำทางหดตัวลง ซึ่งอาจจะส่งผลให้เกิดปัญหาในการจดจำในระยะยาว
นี่คือบางส่วนที่เกิดจากการใช้เทคโนโลยี และก่อให้เกิดภาวะ Digital Amnesiaแต่ในขณะที่เราปฏิเสธวิวัฒนาการจากเทคโนโลยีไม่ได้ เราก็จำเป็นต้องใช้ชีวิตภายใต้การวิวัฒน์เหล่านี้ให้ได้ ด้วยการรู้อย่างเท่าทัน เราต้องฝึกสมองเพื่อให้ทันและต่อสู้กับความจำเสื่อมแบบดิจิทัลและพัฒนาความจำของเราควบคู่ไปด้วย
Brain Dump : ถ่ายโอนข้อมูลลงสมองคุณบ้าง จดจำข้อมูลที่เลือก – ตั้งแต่สูตรอาหารไปจนถึงประธานาธิบดีสหรัฐฯ ทุกคน หรือว่าจะเป็นเบอร์โทรศัพท์ของคนที่สำคัญ รหัสที่สำคัญ วันเกิดของพ่อแม่เรา
Digital Detox: การเสพข้อมูลอย่างต่อเนื่องอาจทำให้สูญเสียความทรงจำได้ ฝึก “อด” เพื่อให้สมองเพื่อสร้างความจำใหม่ เปิดโทรศัพท์ในโหมดเครื่องบิน เอาโทรศัพท์หรือคอมพิวเตอร์ไว้คนละห้องกับห้องนอน หรือทำDigital Detoxในช่วงเวลาที่กำหนด
จำกัดการแจ้งเตือน: เอาการแจ้งเตือนออกไปจากแอปพิลเคชัน เพื่อให้เรามีสมาธิในการทำสิ่งต่าง ๆ มากขึ้น
วิธีการไหนบ้างที่จะทำให้เรามีความจำที่ดี
Joshua Foer แชมป์ความจำของสหรัฐอเมริกา US Memory championship 2006 เขาสามารถจดจำลำดับของสำรับไพ่ที่สับได้ภายในเวลาไม่ถึงสองนาที และชื่อของ 99 คนที่เขาเพิ่งพบ Joshua Foer บอกว่า เราทุกคนล้วนมีความจำที่ดีในระดับปานกลางแต่ต้องฝึกฝน นักวิจัยได้ทำการวิจัยสมองของเขา ผลคือ ไม่ได้ฉลาดมากกว่าคนทั่วไปแต่มีความแตกต่างอย่างหนึ่งที่น่าสนใจ คือ สมองของแชมป์นักจำถูกใช้ในการจำภาพพื้นที่และการนำทางมากกว่าคนปกติทั่วไป
เทคนิคหนึ่งที่ทำให้ Joshua Foer สามารถจำได้ดีอย่างน่าอัศจรรย์ คือเทคนิคโบราณ ที่ถูกคิดค้นขึ้นมาในประเทศกรีซเมื่อ 2,500 ปี นั่นก็คือ Memory Palace เป็นการที่เราฝากความจำไว้ในสถานที่ที่คุ้นเคย โดยให้จดจำเป็นเส้นทางอย่างละเอียด เพราะสถานที่ที่คุ้นเคยจะสามารถทำให้เราจินตนาการถึงภาพของเส้นทางนั้นได้อย่างชัดเจน
กลไกทางจิตวิทยาบอกว่าเทคนิคการจำแบบนี้จะแปลงข้อมูลเป็นภาพและเชื่อมต่อกับจุดที่มีนัยสำคัญทางอารมณ์และความคุ้นเคยของพื้นที่ สมองจะสร้างการเชื่อมต่อประสาทใหม่และการเชื่อมโยงระหว่างข้อมูลที่ต้องจำและทำซ้ำกับภาพหรือสถานที่หรือโครงสร้างที่สมองมีอยู่แล้วทำให้หน่วยความจำของมนุษย์ถูกพัฒนาขึ้น
เราจะเริ่มสร้างความทรงจำในสถานที่ที่คุ้นเคยของเราอย่างไร
ขั้นตอนที่ 1 : เลือกสถานที่ที่คุณรู้จักดี เช่น บ้านหรือที่ทำงาน ยิ่งจดจำรายละเอียดได้เยอะเท่าไหร่ยิ่งดีต่อความจำมากเท่านั้น
ขั้นตอนที่ 2 : วางแผนเส้นทางทั้งหมด — ตัวอย่างเช่น ประตูหน้าห้อง ชั้นวางรองเท้า ห้องน้ำ ห้องครัว ห้องนั่งเล่น ฯลฯ จดจำว่า ถ้าเราเดินจากประตูตรงไปจะเจอชั้นวางรองเท้า ทางซ้ายมือเป็นห้องน้ำ เดินเลยจากห้องน้ำจะเป็นห้องครัว ไล่ไปเรื่อย ๆตามลำดับ
ขั้นตอนที่ 3 : เขียนรายการสิ่งที่อยากจะจดจำ — เช่นรายการซื้อของ 20 รายการ เช่น แครอท ขนมปัง นม ชา ข้าวโอ๊ต แอปเปิ้ล ฯลฯ
ขั้นตอนที่ 4 : วางสิ่งของไว้ตามเส้นทางในห้อง และทำให้โอเวอร์เกินจริง เช่น แครอทยักษ์แปะที่หน้าประตูห้อง ขนมปังถูกวางไว้เป็นพรมเช็ดเท้าที่ชั้นวางรองเท้า นมบูดหกเลอะพื้นหน้าห้องน้ำ
ขั้นตอนที่ 5 : ทำให้ภาพทั้งหมดมีชีวิตชีวาขึ้นด้วยประสาทสัมผัส ภาพที่เกินจริงและอารมณ์ขันสามารถช่วยให้เราจดจำได้ดียิ่งขึ้น แล้วเริ่มไล่ลำดับว่าหากเราเปิดประตูหน้าห้องจะเจอแครอทยักษ์ จากนั้นเราจะสะดุดขนมปังที่ถูกวางไว้เป็นพรมเช็ดเท้าที่ชั้นวางรองเท้า และต้องกระโดดข้ามนมบูดที่หกเลอะพื้นหน้าห้องน้ำ เป็นต้น
แนวคิดของ Memory Palace คือการมอบบางสิ่งให้กับความทรงจำของคุณ เรามักจะมีความทรงจำเกี่ยวกับสถานที่เป็นอย่างดี และเมื่อเราให้โครงสร้างที่จำเป็นแก่ความทรงจำหรือสถานที่นั้น ๆ และจัดเรียงลำดับและบริบทที่ขาดหายไป เพื่อช่วยในการจำเพิ่มเติม ผู้เชี่ยวชาญด้านหน่วยความจำแนะนำให้วางข้อมูลภายในพื้นที่ทางกายภาพในลักษณะที่แปลกและผิดปกติ ยิ่งภาพแปลกยิ่งดี เช่น แครอทยักษ์ ขนมปังกลายเป็นพรมเช็ดเท้า
การฝึก Memory Palace เป็นการฝึกฝนที่ต้องใช้เวลาและสมาธิ ยิ่งฝึกมากเท่าไหร่ สมองก็จะแข็งแรงมากขึ้นเท่านั้น การมีสมองที่เอาไว้จดจำเรื่องราวต่าง ๆ รอบตัวจะทำให้เราสนใจ และใส่ใจสิ่งรอบข้างมากขึ้น
Joshua Foer ได้กล่าวทิ้งท้ายไว้ในงาน TedTalk ว่า “ชีวิตของเราเป็นผลรวมของความทรงจำ ผมเรียนรู้มากับตัวเอง ว่ามีความสามารถในการจำอันเหลือเชื่อซ่อนอยู่ในตัวเราทุกคนถ้าคุณอยากใช้ชีวิตที่น่าจดจำ คุณต้องเป็นคนที่ ใส่ใจเสมอที่จะจดจำ” เพราะฉะนั้นเรามาเริ่มลองจำกันดูเถอะครับ
อ้างอิง:
- https://bit.ly/3jeIFTu
- https://bit.ly/3vnmLSW
- https://bit.ly/3lVea6A
- https://bit.ly/3G3ap7w
- https://bit.ly/3n5nrZd
- https://bit.ly/3pbmMs1
- https://bit.ly/3AS0c9R
- https://bit.ly/3mZHrMY
- https://bit.ly/3C9f4m1