วิชาสุดท้ายที่มหาลัยควรสอน คือการเป็นเจ้าของการเรียนรู้ของตัวเอง

A A
May 9, 2022
May 9, 2022
A A

วิชาสุดท้ายที่มหาลัยควรสอน คือการเป็นเจ้าของการเรียนรู้ของตัวเอง

 

เราเคยคิดกันเล่น ๆ ไหมว่าวิชาสุดท้ายที่เราควรจะได้เรียนก่อนจบมหาวิทยาลัยควรเป็นวิชาอะไร คุณค่าและความสุขของการเรียนรู้อยู่ที่ไหน

 

 

  • การศึกษาทุกวันนี้อาจไม่ให้ความสำคัญกับความสุขของผู้เรียนมากเท่าที่ควร แท้จริงแล้ว “ความสุข” กับ “การเรียนรู้” สัมพันธ์กันโดยตรง  การเรียนรู้ที่ดีทำให้ผู้เรียนมีความสุขได้จากการรู้จักตัวเอง เข้าใจความจริงของชีวิต ความจริงของโลก แล้วเห็นความเชื่อมโยงกันอย่างแท้จริง
  • การเป็นเจ้าของการเรียนรู้ของตัวเองคือหลักใหญ่ใจความของวิชา “การจัดการทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม” วิชานี้ให้เครื่องมือที่มีประโยชน์อย่างยิ่งต่อการทำงานและการใช้ชีวิตในอนาคต เมื่อเราเป็นเจ้าของการเรียนรู้ของตัวเอง เราจะเลิกโทษคนอื่น แต่เราจะมีอิสระ ไม่ถูกกำหนดโดยคนอื่นอีกต่อไป
  • การเขียนบันทึกเป็นสิ่งที่มีประโยชน์อย่างมาก เป็นกระบวนการช่วยสะท้อนความเป็นมนุษย์ ทำให้เรารู้จักตัวเองมากยิ่งขึ้น โลกเรามีปัญหาทุกวันนี้ เพราะเราไม่รู้จักตัวเอง ไม่รู้จะเข้าถึงความสุขที่แท้จริงอย่างไรแบบไม่เบียดเบียนตนเองและผู้อื่น

 

เราเคยคิดกันเล่น ๆ ไหมว่าวิชาสุดท้ายที่เราควรจะได้เรียนก่อนจบมหาวิทยาลัยควรเป็นวิชาอะไร คุณค่าและความสุขของการเรียนรู้อยู่ที่ไหนท่ามกลางระบบการศึกษาที่เน้นวิชาการ วัดผู้เรียนจากเกรดจนทุกฝ่ายต่างเหนื่อยไปตาม ๆ กัน จะเป็นอย่างไรถ้า…..

มีวิชาที่ผู้สอนไม่ยืนอยู่หน้าชั้น แต่ผู้เรียนทุกคนหันหน้าล้อมวงเข้าหากัน พูดคุยและฟังกันอย่างแท้จริง วิชาที่ไม่มีการบรรยายเลยสักคาบ แต่เปิดเวทีให้ผู้เรียนทุกคนได้เรียนรู้ซึ่งกันและกัน ไม่มีการสอบวัดผลตอนหมดเทอม แต่มีการประเมินที่ไม่เหมือนใคร และไม่มีใครกล้าเหมือน ไม่ใช่ทุกคนที่อยากเรียนจะได้เรียน เพราะวิชานี้เลือกคนเรียน และวิชานี้อาจจะไม่เหมาะกับคนที่เห็นว่าโลกมันก็เป็นแบบนี้แหละ อย่าคิดมากเลย

นี่ไม่ใช่คำถามชวนคิดสนุก ๆ แต่ทั้งหมดนี้คือองค์ประกอบของวิชาที่มีจริงในบ้านเราในชื่อ “การจัดการทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม” (NREM) ที่คณะสิ่งแวดล้อมและทรัพยากรศาสตร์ ม.มหิดล โดย ดร.สรยุทธ รัตนพจนารถ หรือ อ.เอเชีย ถ้ามาเรียนแล้วคาดหวังว่าจะได้รู้ว่าเราจะจัดการกับทรัพยากรน้ำอย่างไร ปัญหาไฟป่าต้องแก้ไขอย่างไร บอกได้เลยว่าเราอาจจะไม่ได้คำตอบเรื่องนี้ตรง ๆ สิ่งที่ผู้เรียนจะได้คือเครื่องมือบางอย่างที่มีประโยชน์อย่างมากต่อการทำงานและการใช้ชีวิตในอนาคต เพราะหัวใจหลักของวิชานี้ที่ผู้สอนจะมอบให้คือ ทำอย่างไรเราถึงจะเป็นเจ้าของการเรียนรู้อย่างแท้จริง นี่จึงกลายเป็นวิชาที่นักศึกษาบอกเป็นเสียงเดียวกันว่าแปลก ไม่เหมือนที่ไหน และไม่เคยเรียนอะไรแบบนี้มาก่อน บางคนบอกว่าเรียนแล้วเหมือนได้เกิดใหม่เลยด้วยซ้ำ

ทำไมการเป็นเจ้าของการเรียนรู้ถึงกลายเป็นหลักใหญ่ใจความของวิชาที่ว่าด้วยเรื่องการจัดการทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม อะไรทำให้วิชานี้มีเสน่ห์ และมอบเครื่องมือที่มนุษย์ทุกคนควรมีอยู่ในตัวให้เกิดขึ้นได้จริง สำหรับ อ.เอเชียแล้วทั้งหมดย้อนกลับมาสู่แก่นการสอนที่ว่า “อะไรคือสิ่งที่จะช่วยให้ผู้เรียนเรียนรู้ได้ดีที่สุด” ฉะนั้น อะไรที่ไม่เกี่ยวข้องก็ต้องตัดออกหรือให้ความสำคัญรองลงมา

“สำหรับผมการสอนวิชานี้เหมือนการขึ้นรถไฟเหาะตีลังกา อุดมไปด้วยความตื่นเต้น น่าสนใจ แต่พร้อมกันนั้นก็เต็มไปด้วยความหวั่นไหว และหวั่นกลัว ทุกครั้งก่อนเข้าชั้นเรียนคุณไม่มีทางรู้หรอกว่าชั้นเรียนของวันนี้จะเป็นอย่างไร”

 

การเรียนรู้ที่ดีต้องทำให้ผู้เรียนมีความสุข

ทุกวันนี้ระบบการศึกษาอาจไม่ได้ถามผู้เรียนอย่างจริงจังว่าการเรียนรู้แบบที่เป็นอยู่ทำให้เขามีความสุขหรือเปล่า คำว่าความสุขหรือสนุกในการเรียน เราอาจนึกไปถึงครูสอนสนุก สอนตลก นักเรียนชอบ แต่ความสุขแบบนี้อาจจบลงแค่ในห้องเรียน เพราะในอนาคตหากเรียนจบแล้ว เราไปเจองานที่ยากมาก ทำได้แค่ไม่กี่เดือนก็ต้องลาออก แบบนี้ความสุขจะอยู่ที่ไหน อ.เอเชีย มองว่าการเรียนรู้ที่ดีต้องพาคนไปรู้จักตัวเอง เข้าใจความจริงของชีวิต ความจริงของโลก แล้วเห็นความเชื่อมโยงกันอย่างแท้จริง นั่นแหละคือความสุขจากการเรียนรู้

“ชาติใดครองเทคโนโลยี ชาตินั้นครองเศรษฐกิจ ชาติใดครองเศรษฐกิจ ชาตินั้นครองอำนาจ ผมเรียนแบบบ้าระห่ำมานาน จนกระทั่งวันหนึ่งผมถามตัวเองว่า เราต้องการสิ่งเหล่านี้จริง ๆ หรือป้าหมายจริง ๆ ของอำนาจ และความมั่นคงทางเศรษฐกิจคืออะไร คือความสุขใช่ไหม ทำไมจึงไม่เคยมีใครสอนเลยว่า ชาติใดครองความรู้สึกตัว ชาตินั้นครองปัญญา ชาติใดครองปัญญา ชาตินั้นครองความสุข”

 

เปอร์เซ็นต์ของเด็กตกเป็นเหยื่อของการขโมยข้อมูลส่วนตัว

 

เรียนเพื่อให้รู้จักตัวเอง เริ่มต้นอย่างไร

คำถามนี้อาจจะดูเป็นเรื่องที่ไม่ง่ายเสียทีเดียวสำหรับการศึกษาแบบไทย เพราะทุกวันนี้ผู้เรียนไม่สามารถเลือกสิ่งที่อยากเรียนได้เอง 100% กลายเป็นว่าเราถูกปัจจัยภายนอกกำหนดกรอบการเรียนรู้ อ.เอเชียให้มุมมองที่ต่างออกไปว่า

เราต้องเป็นเจ้าของการเรียนรู้ของตัวเอง วิธีนี้จะทำให้เราเลิกที่จะโทษคนอื่น มันอาจจะดูเหมือนเป็นภาระที่ต้องเป็นหน้าที่ของเรา แต่มันทำให้เราเป็นอิสระ ไม่ได้ถูกผูกหรือกำหนดโดยคนอื่นอีกต่อไป แน่นอนว่ามันก็ต้องมีความเชื่อมโยงกับคนอื่นอยู่ แต่นี่เป็นการเอาอำนาจการจัดการเรียนรู้กลับมาสู่ตัวเรา

ซึ่งการเป็นเจ้าของการเรียนรู้ด้วยตัวเอง หมายความว่า เราเข้าไปรับผิดชอบกับการเรียนรู้นี้ ตั้งใจและสัญญากับตัวเองว่าจะทำอย่างเต็มที่ แล้วโอเคกับผลลัพธ์ไม่ว่าจะออกมาเป็นอย่างไรก็ตาม จริง ๆ แล้วผู้เรียนย่อมมีสิทธิ์เป็นเจ้าของการเรียนรู้ของตัวเอง แต่ส่วนมากเรามักจะยกให้เป็นความรับผิดชอบของคนอื่นระดับหนึ่ง พ่อแม่ก็คิดว่าเป็นหน้าที่ของครู ของโรงเรียน

 

กระบวนการจัดการเรียนรู้ที่ไม่เหมือนใคร

จุดเริ่มต้นของการเรียนแต่ละวิชามักจะเริ่มจากการลงทะเบียนเรียนก่อน แต่สำหรับวิชา NREM จะมีกระบวนการขั้นตอนที่ไม่เหมือนที่ไหนเลย นักศึกษาที่อยากเรียนไม่ใช่ว่าแค่ลงทะเบียนเรียนแล้วจะได้เรียนทันที แต่นักศึกษาจะต้องตอบคำถามเหล่านี้ แล้วส่งเมลให้ผู้สอนคัดเลือกว่าใครมีคุณสมบัติที่เหมาะสมจะได้เรียน

    • เราต้องการอะไรจากชั้นเรียนนี้
    • เราจะเอาความรู้จากวิชานี้ไปทำอะไร
    • ทำไมเราจึงควรจะได้รับการตอบรับให้เรียนในห้องเรียนนี้

บางคำถามก็คล้ายกับการสัมภาษณ์งานเลยทีเดียว แต่ละรุ่นจะรับนักศึกษาแค่10 กว่าคนเท่านั้น และจะเจอหน้ากันเป็นเวลา 15 สัปดาห์ คาบละ 3 ชั่วโมง ในชั้นเรียนนี้ผู้สอนจะไม่ยืนบรรยายหน้าชั้น แต่นักศึกษาทุกคนจะต้องนั่งล้อมวงหันหน้าเข้าหากัน สิ่งที่จะทำเป็นประจำทุกครั้งนอกเหนือจากกิจกรรมการเรียนการสอนจะมีอยู่ 3 อย่างคือ
1. Tune in 2. Check-in 3. Check-out

Tune in (นำเข้า) จะเป็นช่วงเวลาสั้น ๆ 3-5 นาที ให้ทุกคนได้กลับมาอยู่กับเนื้อกับตัว นำใจมาอยู่กับกาย คล้ายกับการภาวนาก่อนเริ่มเรียน

Check-in เป็นช่วงที่นักศึกษาหลายคนบอกว่าชอบมาก บางครั้งก็ใช้เวลานานถึงชั่วโมงกว่าจากคาบเรียน 3 ชั่วโมง เป็นช่วงเวลาที่ผู้เรียนจะได้สะท้อนสภาวะร่างกายและจิตใจในขณะนั้น และเป็นโอกาสที่ทุกคนจะได้ฝึกทักษะสำคัญอย่างการฟังที่เป็นการฟังโดยไม่ตัดสิน ครูหลายคนอาจมีประสบการณ์เผลอตัดสินเด็กไปโดยไม่ได้ตั้งใจ เช่น เห็นเด็กหลับก็คิดเอาว่าเมื่อคืนคงดูบอล เล่มเกมดึก แต่กิจกรรมนี้จะทำให้ผู้สอนได้รู้สภาวะของผู้เรียนอย่างแท้จริงผ่านคำบอกเล่าของเขา ซึ่งอาจไม่ได้เป็นไปอย่างที่เราคิด บางคนอาจมาเรียนแบบเหนื่อย ๆ หรือหลับคาห้องเพราะเมื่อคืนแม่ไม่สบาย ตัวเองท้องเสีย ข้างบ้านเสียงดัง

กิจกรรมนี้ทำให้ผู้เรียนได้ฟังกันอย่างแท้จริง เสียงของเราทุกคนมีคนได้ยิน บางคนอาจพูดเยอะพูดน้อยไม่เท่ากัน เราก็ต้องฝึกฟังทุกรูปแบบเพื่อทำความเข้าใจกัน แม้จะดูเป็นกิจกรรมที่เรียบง่าย แต่ให้ผลลัพธ์ที่ทรงพลังอย่างมาก เพราะห้องเรียนแห่งนั้นจะเป็นที่ปลอดภัยสำหรับทุกคน การเรียนรู้ที่ดีและเป็นอิสระจะเกิดขึ้นไม่ได้เลยหากปราศจากพื้นที่แบบนี้

Check-out จะเกิดขึ้นช่วง 20-30 นาทีสุดท้ายก่อนเลิกเรียน ทุกคนจะได้พูดถึงการเรียนรู้ของตัวเองตลอด 3 ชั่วโมงที่ผ่านมาว่าได้เรียนรู้ในประเด็นไหนเป็นพิเศษ รู้สึกโดนเรื่องอะไร หรือสภาวะตัวเองหลังเรียนจนจบคาบแล้วเป็นอย่างไร

 

เขียนบันทึก เครื่องมือสะท้อนความเป็นมนุษย์

อีกสิ่งหนึ่งที่พิเศษมาก ๆ สำหรับการเรียนวิชานี้คือ นักศึกษาทุกคนจะต้องเขียนบันทึก (Journal) ส่งอาจารย์อย่างสม่ำเสมอ ในยุคที่การจับปากกาขึ้นมาเขียนกลายเป็นสิ่งที่ไม่ได้เกิดขึ้นบ่อย ๆ สำหรับบางคน กระบวนการนี้ให้อะไรมากกว่าที่คิดทั้งกับผู้เรียนและผู้สอนเอง ทำไมการเขียนบันทึกถึงกลายเป็นส่วนหนึ่งของการเรียนวิชาในสายวิทยาศาสตร์ด้วย

 

เปอร์เซ็นต์ของเด็กตกเป็นเหยื่อของการขโมยข้อมูลส่วนตัว

 

อ.เอเชีย ตอบคำถามนี้ไว้ได้อย่างน่าสนใจ เราจะจัดการทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อมไม่ได้ ถ้าเราจัดการตัวเองไม่เป็น โลกนี้ที่มีปัญหาเพราะเราไม่รู้จักตัวเอง ไม่รู้จะเข้าถึงความสุขที่แท้จริงอย่างไรแบบไม่เบียดเบียนตนเองและผู้อื่น เราเลยแสวงหาสิ่งของภายนอก ทั้ง ๆ ที่ความสุขที่แท้จริงมันไม่ได้ต้องการอะไรมาก แต่เราจะไปถึงตรงนี้ได้อย่างไร ถ้าเราไม่รู้จักตัวเอง การเขียนบันทึกเป็นพื้นที่ให้เขาได้แสดงตัวตนดิบๆ ออกมา ไม่ต้องกลั่นกรองอะไรมาก แต่มีคนรับฟังแบบไม่ตัดสิน

บางทีเราแทบไม่เชื่อเลยว่านักศึกษาคนนี้ในคลาสคือคนเดียวกับที่เขียนบันทึกนี้ เพราะเขาแทบไม่พูดอะไรเลยนอกจากตอน Check-in Check-out แต่พอเขียนแล้วมันมีความวิจิตรอลังการในหัวของเขา เพียงแค่การพูดไม่ใช่ไพ่หลักของเขา การอ่านบันทึกจะช่วยให้ผู้สอนพานักศึกษาเดินทางไปพร้อมกัน ทั้งในทางโลก อารมณ์ และจิตวิญญาณ”

ในบันทึกที่นักศึกษาเขียนส่งอาจารย์ บางคนเล่าเรื่องที่บอบบาง เรื่องที่เป็นส่วนตัวมากๆ เช่น เป็นโรคซึมเศร้า บางคนอยู่กับแม่เลี้ยงเดี่ยว เขาจะไม่กล้าเล่าเรื่องแบบนี้เลย ถ้าเขาไม่รู้สึกว่าห้องเรียนแห่งนี้ได้ให้พื้นที่ที่ปลอดภัยกับเขาอย่างแท้จริง ผู้เรียนมีความเชื่อใจ ไว้ใจผู้สอนเหมือนเป็นเพื่อนที่สามารถบอกเล่าเรื่องอะไรก็ได้ ซึ่งกระบวนการ Check-in ที่ทำอยู่ทุกคาบนี้เองที่ทำให้สิ่งนี้เกิดขึ้นได้

สำหรับคนที่อยากรู้ว่าแล้วชั้นเรียนที่อาจารย์ไม่บรรยายอะไรเลย ผู้เรียนจะได้ “ความรู้” มาอย่างไร ก่อนจะตอบคำถามนี้ได้ เราต้องมาดูกันก่อนว่าในวิชานี้เขาทำอะไรกันบ้าง เมื่อปี 2559 วิชา NREM จะมีงานที่นักศึกษาต้องส่ง 3 ชิ้นหลักคือ 

  1. เขียนบันทึก สัปดาห์ละ 2 ครั้ง เพื่อให้คณะผู้สอนอ่าน
  2. อ่านหนังสือ อิชมาเอล: จิตวิญญาณทัศนาจร พร้อมเขียนรายงาน 3 ชิ้น เกี่ยวกับหนังสือนี้ 
    • รายงานสรุปเนื้อหา ใจความหลักของหนังสือ (Descriptive Review) 
    • รายงานการตีความหนังสืออิชมาเอล (Interpretative Review) 
    • บทความอิสระจากการอ่านหนังสืออิชมาเอล (Free Essays)
  1. โครงงานเพื่อการลงมือทำ 1 ชิ้น ในประเด็นที่ตนเองสนใจ (Action Project) นำเสนอในช่วงท้ายเทอม ไม่จำกัดเทคนิค
เปอร์เซ็นต์ของเด็กตกเป็นเหยื่อของการขโมยข้อมูลส่วนตัว

 

บางคนอาจเริ่มมีคำถามแล้วว่า นอกจากจะมีการเขียนบันทึกแล้ว วิชานี้ยังต้องอ่านหนังสือนอกเวลาราวกับเด็กอักษรเลยเหรอ แถมยังต้องเขียนรายงานหลายแบบอีกด้วย หนังสือเล่มนี้มาได้อย่างไร และอาจารย์ต้องการให้ผู้เรียนได้อะไรจากโจทย์การบ้านแบบนี้

 

อ่าน คิด วิเคราะห์จากงานวรรณกรรม

อิชมาเอลเป็นวรรณกรรมที่ดำเนินเรื่องผ่านบทสนทนาของกอริลลากับมนุษย์ในบริบทครู-ศิษย์ แทรกแนวคิด และทฤษฎีสำคัญ ๆ ไว้อย่างแนบเนียน ครอบคลุมทั้งชุดความคิดด้านวิทยาศาสตร์ สังคมศาสตร์ ศาสนศาสตร์ เศรษฐศาสตร์ วิวัฒนาการ และชุดความคิดด้านนิเวศวิทยาเชิงลึก เมื่อนักศึกษาได้อ่านจบแล้ว เขาจะได้มาพูดคุยถึงเนื้อหาและประเด็นต่างๆ ในชั้นเรียน ซึ่งการที่เขาจะมาคุยกับเพื่อน ๆ ได้แปลว่าเขาจะต้องอ่านหนังสือให้แตก

“ผมอยากพานักศึกษาออกนอกกรอบและมีจินตนาการ หนังสือเล่มนี้ทำงานกับเราในหลายระดับ ด้วยความที่เป็นวรรณกรรม มันช่วยกระตุ้นให้เกิดทั้งความคิดและจินตนาการ ซึ่งผมคิดว่าเหมาะสำหรับนักศึกษาของผมซึ่งเป็นนักเรียนวิทยาศาสตร์ ผมคิดว่านักศึกษาต้องการหนังสือที่ให้มากกว่าข้อเท็จจริง ต้องการหนังสือที่เปิดจินตนาการ และให้พื้นที่สำหรับการตีความ”

รายงาน 3 ชิ้นที่นักศึกษาต้องทำหลังจากอ่านวรรณกรรมเรื่องนี้จะทำให้เขาได้ฝึกทักษะหลาย ๆ อย่าง หนึ่งในนั้นคือการสื่อสาร ซึ่งเป็นทักษะที่สำคัญสำหรับทุกคน แต่การเป็นเจ้าของการเรียนรู้ บางครั้งก็เกิดจากการที่นักศึกษาจำนวนหนึ่งอาสาขึ้นมาเป็นคนคิดและวางแผนกระบวนการจัดการเรียนรู้เอง มีการประชุม พูดคุย กันเองว่าจะพาเพื่อน ๆ ในชั้นเรียนทำกิจกรรมอะไรบ้าง เมื่อผู้สอนเปิดโอกาส เราจะได้เห็นศักยภาพอันล้นเหลือของพวกเขา

อย่างไรก็ตาม การเรียนรู้บางครั้งก็มาจากสถานการณ์ที่เกิดขึ้นในห้องเรียนแบบที่ไม่ใครทันตั้งตัว มีเหตุการณ์หนึ่งที่อาจารย์รู้สึกว่าถูกท้าทายมากที่สุดครั้งหนึ่งในชีวิต เมื่อพบว่านักศึกษาที่อาจารย์รักกำลังสนุกกับการบูลลี่รุ่นพี่ที่ตัวเหม็น เท้าเหม็น อาจารย์จำเป็นต้องวางทุกเรื่องลงทันทีเพื่อมาดูแลความรู้สึกของทุกคน รวมถึงรุ่นพี่คนนี้ก่อนว่าทำอย่างไรนักศึกษาของอาจารย์จะก้าวข้ามไปเป็นคนใหม่ที่ไม่บูลลี่คนอื่น กิจกรรมที่เกิดขึ้นในชั้นเรียนวันนั้นจึงกลายเป็นการให้นักศึกษาจับคู่คุยกันว่าเคยมีตอนไหนไหมที่รู้สึกว่าตัวเองเป็นคนกลุ่มน้อยของสังคม เช่น อ้วนเกิน ผอมเกิน จนเกิน รวยเกิน เป็น LGBTQ แล้วมาคุยกันในวงใหญ่ว่าเรารู้สึกอย่างไรเมื่อถูกคนอื่นบูลลี่

เมื่อกิจกรรมนั้นจบลง อาจารย์ถามนักศึกษากลุ่มนั้นว่ารู้สึกอย่างไรกับรุ่นพี่คนนั้น จะกลับไปแก้สิ่งที่ทำไปแล้วอย่างไร นักศึกษาตอบว่าจะไปคุยกับรุ่นพี่คนนั้น อาจารย์ให้นักศึกษาซ้อมเลยว่าจะคุยอย่างไร ไม่ใช่แค่ขอโทษไปที แล้วอยากรู้ไหมว่าทำไมรุ่นพี่ตัวเหม็น เท้าเหม็น อยากจะไปช่วยเขาแก้ปัญหาไหม

 

การสอบไม่ใช่ปลายทางของการเรียนรู้

ประเทศที่มีการศึกษาดีที่สุดในโลกอย่างฟินแลนด์ไม่มีการสอบ วิชา NREM ก็มีไม่การสอบเช่นกัน นี่เป็นเหตุผลที่ทำให้นักศึกษาบางคนตัดสินใจสมัครเข้ามาเรียนวิชานี้ ส่วนตัว อ.เอเชีย เองยังคงยืดมั่นในหัวใจของการสอนที่ว่าทำอย่างไรผู้เรียนถึงจะเรียนรู้ได้ดีที่สุด เมื่อการสอบไม่ได้ตอบโจทย์ในเรื่องนี้ วิชานี้ก็เลยไม่จำเป็นต้องมี

“ผมคิดว่าการสอบในรูปแบบเดิม ๆ ไม่ใช่การช่วยนักศึกษา และอะไรก็ตามที่ไม่ได้ช่วยนักศึกษาก็อย่าทำเลย เอาเวลาไปทำอย่างอื่นดีกว่า ในวิชานี้การเรียนทุกครั้งคือการสอบ และการเข้าเรียนทุกครั้งมีการประเมิน ผมสอนเรื่องการประเมิน เพื่อให้เรานำการประเมินกลับมาในชีวิตจริง แทนที่การประเมินจะเป็นหน้าที่ของผู้สอน นักศึกษาแตะต้องไม่ได้ ผมให้ทุกคนได้ทำหน้าที่นี้ด้วยกัน เอาสิ่งที่เรียกว่าการประเมินกลับลงมา เราจะเห็นได้ว่ามนุษย์สามารถจะเอนเอียงและเฉไฉไปได้อย่างไรบ้าง ชีวิตจริงไม่ได้ตรงไปตรงมา แต่มันมีตัวแปรอีกมากมาย การเรียนรู้เรื่องการประเมินจะทำให้เรานำความเป็นมนุษย์กลับมา”

ฉะนั้น การประเมินที่ใช้ในวิชา NREM จึงเป็นการให้คะแนนจากคน 3 กลุ่มด้วยกัน คือ ผู้เรียน เพื่อน และคณะผู้สอน โดยที่แต่ละกลุ่มจะมีสัดส่วนเป็น 33% เท่ากัน ยกเว้นตัวเราเองที่จะมีสิทธิ์ให้คะแนนได้ 34% ที่มากกว่า 1% เพราะเราเองนี่แหละที่จะต้องอยู่กับตัวเองไปตลอดชีวิต ไม่มีใครสำคัญเท่าตัวเราอีกแล้ว คะแนนที่เพื่อนให้เราก็ไม่ใช่การเอาคะแนนของเพื่อนทุกคนที่ต่างคนต่างให้มาหารเฉลี่ยกัน แต่เป็นคะแนนแบบฉันทามติจากเพื่อน ทุกคนจึงต้องพูดคุย ตกลงกันว่าควรจะให้เพื่อนคนนี้เท่าไร กระบวนการนี้จึงเป็นการถกเถียงแบบประชาธิปไตยที่ดีมาก

 

อะไรขัดขวางเราจากการเรียนรู้ ทั้งในห้องเรียนและชีวิตจริง

ครูหลายคนอาจจะมองว่าเป็นเรื่องของระบบที่วางกรอบมาจนเราทำอะไรมากไม่ได้ อ.เอเชีย ให้ความเห็นว่าผู้สอนต้องปลดแอกตัวเองจากสิ่งที่ไม่ใช่สาระเสียก่อน เราอาจจะเขียนแผนไปตามระบบก่อน แต่พอสอนจริงเราทำอีกแบบได้ ในมหาวิทยาลัยอาจทำได้ง่ายกว่าโรงเรียน ในแง่ของผู้เรียนเอง เราฟังเสียงข้างนอก แต่ไม่ได้ฟังเสียงตัวเอง และไม่เป็นเจ้าของการเรียนรู้ของตัวเอง

 

ความเปลี่ยนแปลงที่เกิดขึ้นกับผู้เรียน

อาจารย์ตอบคำถามนี้ด้วยคำว่า “มหาศาล” การเรียนรู้แบบผู้เรียนเป็นเจ้าของการเรียนรู้ทำให้ผู้เรียนทำสิ่งที่เขาไม่เคยคิดว่าจะทำได้ โดยยกตัวอย่างเคสจริงที่เกิดขึ้นตอนที่อาจารย์ทำวิจัยด้วยการชวนให้ครูที่บุรีรัมย์สร้างเด็กให้เป็นเจ้าของการเรียนรู้ แล้วเลือกโรงเรียนที่ได้คะแนนต่ำสุดในอำเภอ แต่หัวหน้าเขตพื้นที่ประถมศึกษาของอำเภอไม่ค่อยเห็นด้วย เพราะกลัวว่าโรงเรียนจะเสื่อมเสียชื่อเสียง จนวันหนึ่ง มีครูขับรถมาหาถึงที่พักอาจารย์แล้วร้องไห้ เล่าให้ฟังว่ามีเด็กคนหนึ่งในชั้นเรียนยกมือขึ้นถามคำถาม ทุกคนเชื่อกันว่าเด็กคนนี้บกพร่องทางการเรียนรู้ เพราะอย่าว่าแค่ยกมือเลย แค่สั่งการบ้าน เรียกตอบอะไรก็ไม่ทำ เมื่อครูคนนี้ไปเล่าให้ครูทั้งโรงเรียนฟังก็ไม่มีใครเชื่อ

เหตุการณ์นี้สะท้อนให้เห็นว่าถ้าเราพาเด็กไปเจอสิ่งที่จุดประกายเขา เขาจะลุกขึ้นทำอะไรบางอย่าง แล้วมาเป็นเจ้าของการเรียนรู้นั้น แต่ถ้าเรายังใช้การเรียนรู้รูปแบบเดิมอยู่ที่ชั้นเรียนมีแต่การบรรยาย นักเรียนมีส่วนร่วมน้อย ผลเสียจะตกกับทุกฝ่าย เมื่อนักเรียนได้เป็นเจ้าของการเรียนรู้ เขาจะมีส่วนร่วมกับการเรียนรู้มากขึ้น ไม่ค่อยขาดเรียน ปัญหาพฤติกรรมก็ลดลง

 

ผู้เรียนได้อะไรเมื่อเขาเป็นเจ้าของการเรียนรู้

  1. รักการเรียนรู้มากขึ้น
  2. มีความคิดริเริ่มสร้างสรรค์
  3. เป็นนักแก้ปัญหาและนักคิดเชิงระบบ
  4. เป็นสถาปนิกออกแบบการเรียนรู้ของตัวเอง

 

5 คำถามช่วยให้เราเป็นเจ้าของการเรียนรู้

วิธีง่าย ๆ ที่จะช่วยให้เราได้เป็นเป็นเจ้าของการเรียนรู้ของตัวเองต้องเริ่มมาจากการสำรวจตัวเอง และหัดตั้งคำถาม ทุกคนมีสิทธิ์ที่จะเริ่มกระบวนการนี้ได้ด้วยตัวเองทันที หรือจะมีครู ผู้ปกครองมาช่วยเด็ก ๆ ตั้งคำถามเหล่านี้ก็ได้

  1. อะไรคือเรื่องที่เราอยากฝึกฝนมากที่สุด
  2. ถ้าให้ถามได้ 1 คำถาม คำถามนั้นจะเป็นอะไร
  3. ถ้าเพื่อนไม่ได้มาเรียนวันนี้ แล้วถามเราว่าเรียนอะไรไปบ้าง เราจะบอกเพื่อนอย่างไร
  4. วันนี้เราทำผิดพลาดอะไร และได้เรียนรู้อะไรจากสิ่งนั้น
  5. เราจะทำอย่างไรถ้าไม่เข้าใจสิ่งที่กำลังเรียนอยู่

ยังมีวิธีการอีกมากมายที่เราจะฝึกฝนการเป็นเจ้าของการเรียนรู้ได้ เช่น ตั้งเป้าว่าจะลองทำอะไรสักอย่างเป็นเวลา  1 เดือน อาจจะเป็นอ่านหนังสือ 10 หน้าทุกวัน ออกไปอยู่กับธรรมชาติสัก 15 นาทีทุกวัน สิ่งสำคัญคือพยายามทำให้ได้ทุกวัน เขียนบันทึกสัปดาห์ละ 2 ครั้ง จะช่วยให้เราเห็นการเรียนรู้ได้ชัดเจนขึ้น และโฟกัสที่การลงมือทำมากกว่าผลลัพธ์ที่ได้ จริง ๆ แล้วในเบื้องลึกของเราทุกคน เราอยากเป็นเจ้าของการเรียนรู้ เห็นได้จากเรามักจะตั้ง New Year’s Resolution ในช่วงปลายปี แต่ส่วนมากมักจะล่มหลังปีใหม่ได้ไม่กี่สัปดาห์ อาจถึงเวลาแล้วที่เราต้องทวงสิทธิ์ความเป็นเจ้าของการเรียนรู้กลับมาอีกครั้ง สิทธิ์เด็ดขาดที่เรามีเท่ากันตั้งแต่เกิด แต่เราหลงลืมและฝากไว้ในมือคนอื่นมากเกินไป แล้วคุณล่ะอยากให้ตัวเองได้เป็นเจ้าของการเรียนรู้ในเรื่องอะไร

 

อ้างอิง

https://www.happinessisthailand.com/2021/07/30/nrem-ebook/
https://www.youtube.com/watch?v=SQKg0y_xuhA
https://spencerauthor.com/7-things-student-ownership/
https://ziplet.com/post/5-questions-to-help-your-students-take-ownership-of-their-learning

Share

Authors

Authors

RELATED POSTS