ถ้าโควิดยังอยู่กับเราอีกนาน ประเทศอื่นเตรียมพร้อมห้องเรียน On-site กันอย่างไร

A A
Sep 15, 2021
Sep 15, 2021
A A

ถ้าโควิดอยู่กับเรา ประเทศอื่นเตรียมพร้อม On-site กันอย่างไร

 

     สถานการณ์โควิดในบ้านเราช่วงนี้อาจจะอยู่ทิศทางที่ไม่ค่อยดีนักเมื่อเทียบกับหลายๆ ประเทศที่เริ่มกลับมาใช้ชีวิตแบบปกติกันได้มากขึ้น นักเรียนส่วนใหญ่ยังต้องเรียนแบบออนไลน์ในช่วงที่สถานการณ์ยังไม่น่าไว้วางใจ แต่ในอีกหลายๆ ประเทศที่สถานการณ์เริ่มมีแนวโน้มดีขึ้น เขามีมาตรการอะไรเพื่อเตรียมความพร้อมให้นักเรียนได้กลับไปห้องเรียน On-site ที่บ้านเราน่าจะนำมาเป็นแนวทางได้บ้าง

 

     ในเดือนกันยายนนี้ Department for Education (DfE) ของอังกฤษเตรียมงบราว 975 ล้านบาท ไว้สำหรับซื้อเครื่องวัดคาร์บอนไดออกไซด์จำนวน 300,000 เครื่อง เพื่อให้เจ้าหน้าที่และนักเรียนรู้ว่าตอนนี้ CO2 กำลังเพิ่มขึ้นมากแค่ไหน ถ้า CO2 สูงขึ้นก็หมายถึงการระบายอากาศในห้องไม่ดีนั่นเอง นอกจากนี้ รัฐบาลยังทดลองจัดหาเครื่องฟอกอากาศให้โรงเรียน 30 แห่งในเมืองแบรดฟอร์ดไว้ใช้ เพื่อดูว่าจะช่วยลดการแพร่เชื้อได้หรือไม่อีกด้วย

     ส่วนมาตรการอื่นที่วางไว้นอกเหนือจากเครื่องวัด CO2 แล้ว ยังมีแผนว่าจะให้นักเรียนตรวจโควิดสัปดาห์ละ 2 ครั้ง โดยจะเริ่มจากการตรวจแบบ on-site ให้กับนักเรียนมัธยมฯ และนักศึกษา หรือตรวจก่อนเปิดเทอม ซึ่งมาตรการนี้จะเริ่มขึ้นในบางพื้นที่ของอังกฤษก่อน

     นอกจากที่อังกฤษแล้ว เบลเยียมเองก็เป็นอีกประเทศหนึ่งที่มีการออกกฎให้สถานที่หลายแห่งต้องติดตั้งเครื่องวัด CO2  เพื่อเฝ้าระวังให้สถานที่นั้นมีการจัดการระบายอากาศที่ดี เช่น โรงแรม ร้านอาหาร บาร์ ห้องจัดเลี้ยง ฟิตเนส หาก CO2 เพิ่มสูงขึ้นจนถึงระดับที่ไม่ปลอดภัย แต่ละภาคธุรกิจก็ต้องหาทางควบคุมให้กลับมาอยู่ในเกณฑ์ปกติให้ได้

เครื่องวัด CO2 เกี่ยวอะไรกับ COVID-19 

     เรารู้กันดีว่าเมื่อห้องระบายอากาศไม่ดี ปริมาณ CO2 ในห้องจะสูงขึ้นทันที ถึงเครื่องวัด CO2 จะไม่ได้วัดโควิดได้โดยตรง แต่สองอย่างนี้สัมพันธ์กันอย่างมาก เพราะทุกครั้งที่เราหายใจจะมี CO2 ออกมาด้วยเสมอ ลองนึกภาพว่ามีคนติดโควิดนั่งปะปนอยู่ในห้องเดียวกับเรา กำลังหายใจเอาอากาศเดียวกับที่เราหายใจอยู่ โอกาสที่เราจะติดโควิดไม่ต้องบอกก็รู้เลยว่าสูงยิ่งกว่าถูกหวย เพราะอากาศในห้องอบอวลไปด้วยอนุภาคของเชื้อที่ลอยไปมาอยู่ในอากาศ

ระดับ CO2 เท่าไร เสี่ยงแค่ไหน 

     หากสถานที่นั้นวัด CO2 ได้ 800 ppm ถือว่ามีความเสี่ยง แนะนำให้ใช้ตัวช่วย เช่น ติดตั้ง HEPA filter และต้องพยายามรักษาระดับไม่ให้เกิน 1000 ppm เสมอ หรือถ้าไม่มีจริงๆ ก็ใช้หลักการระบายอากาศง่ายๆ ด้วยการเปิดหน้าต่างเอาก็ได้ ถ้าวัดแล้วได้ 700 ppm ก็เริ่มมีความเสี่ยง ส่วน 400 ppm นั้นจะเท่ากับอากาศภายนอกอาคาร

CO2 ส่งผลกับการเรียนรู้ของคนเราขนาดไหน

     ห้องเรียนที่มีอากาศถ่ายเทดีจะช่วยให้เด็กมีสมาธิกับการเรียนมากขึ้น โดยไม่ต้องระวังโควิด มีงานวิจัยยืนยันว่า ระดับ CO2 ที่เพิ่มขึ้นมีผลต่อความสามารถในการรู้คิดของคนเรา ในปี 2016 นักวิจัยจากมหาวิทยาลัย Harvard และ Syracuse พบว่าการทำงานขั้นสูงของสมองคนเราจะลดลงถึง 15% เมื่อ CO2 ในห้องแตะระดับ 945 ppm และสมองเราจะเสื่อมลงอย่างหนักที่ระดับ 1400 ppm

     อ่านมาถึงตรงนี้อาจคิดว่าการอยู่ในพื้นที่โล่งแจ้งน่าจะมี CO2 น้อยกว่า แต่จริงๆ แล้วไม่เสมอไป เพราะยังมีปัจจัยอื่นเข้ามาเกี่ยวข้องด้วย เช่น ในห้องนั้นมีผู้ชายหรือผู้หญิงเยอะกว่ากัน อายุเท่าไร สุขภาพเป็นอย่างไร ทำกิจกรรมอะไรอยู่ ถ้าเด็กกำลังร้องเพลงหรือเต้นอยู่ แน่นอนว่า CO2 ต้องสูงกว่าห้องเรียนที่เด็กนั่งฟังครูอยู่เฉยๆ สิ่งที่ต้องคำนึงเพิ่มเติมคือ จำนวนเด็กต่อห้องมีเยอะแค่ไหน ห้องเรียนมีขนาดเท่าไร เปิดแอร์ตลอดไหม

     เครื่องวัด CO2 จึงดูเป็นตัวช่วยที่น่าสนใจสำหรับสถานที่ต่าง ๆ รวมถึงโรงเรียน ที่ไม่เพียงแค่ช่วยบอกว่าตอนนี้ระดับ CO2 ใกล้แตะจุดวิกฤตแล้วหรือยัง แต่ตัวเลขบนหน้าจอยังช่วยให้ครูตระหนักถึงความสำคัญของคุณภาพอากาศที่ส่งผลต่อสมองและการเรียนรู้ของเด็กๆ อีกด้วย การติดตั้งเครื่องวัด CO2 จึงน่าจะเป็นการลงทุนที่คุ้มค่าในราคาที่จับต้องได้ ยิ่งตอนนี้การเข้าถึงชุดตรวจ ATK ก็สะดวกมาก โรงเรียนควรจัดให้มีการตรวจทุกๆ กี่วันหรือสัปดาห์ตามนโยบายที่เห็นสมควร โดยทำร่วมกับสิ่งที่เราทำอยู่เป็นประจำอย่างการใส่แมสก์ ล้างมือบ่อยๆ และเว้นระยะห่าง เชื่อว่าน่าจะเป็นเป็นแนวทางที่ดูเป็นไปได้สำหรับการกลับมาเรียนแบบ On-site ในบ้านเราอีกครั้ง เพราะถึงอย่างไรห้องเรียนออนไลน์ก็ไม่สามารถทดแทนห้องเรียนจริงที่เด็กๆ ยังต้องการปฏิสัมพันธ์กับเพื่อนและครูได้

อ่านบทความการศึกษาของเว็บ ATTANAI อื่น ๆ ได้ที่: www.attanai.com
อ่านบทความการศึกษาอื่น ๆ: www.aksorn.com/article

อ้างอิง

 

 

Share

Authors

Authors

RELATED POSTS