ครูสายภาษาต้องรู้ 5 เรื่องที่จัดกลุ่มการอ่านแบบไหนรอดหรือร่วง

A A
Apr 26, 2022
Apr 26, 2022
A A

ครูสายภาษาต้องรู้ 5 เรื่องที่จัดกลุ่มการอ่านแบบไหนรอดหรือร่วง

 

ครูสายภาษาหลายคนน่าจะเคยมีประสบการณ์แบ่งนักเรียนออกเป็นกลุ่มเล็ก ๆ เพื่อทำกิจกรรมในห้องเรียนกันมาบ้าง

 

 

  • การจัดกลุ่มนักเรียนเป็นหนึ่งในวิธีในครูนิยมใช้ในการทำกิจกรรมในชั้นเรียน  นักเรียนได้มีปฏิสัมพันธ์กันมากขึ้น การเรียนรู้ก็มีความสนุกสนานขึ้น
  • งานวิจัยหนึ่งพบว่าการจัดกลุ่มบางประเภทไม่ได้ดีต่อนักเรียนเสมอไป โดยเฉพาะการจัดกลุ่มการอ่าน ยังมีปัจจัยหลายอย่างที่ครูควรพิจารณาเพิ่มเติม ทั้งเรื่องช่วงวัย ทักษะ และความสามารถของนักเรียน

ครูหลายคนน่าจะเคยมีประสบการณ์แบ่งนักเรียนออกเป็นกลุ่มเล็ก ๆ เพื่อทำกิจกรรมในห้องเรียนกันมาบ้าง ทั้งกลุ่มแบบสุ่ม แบบคละความสามารถ แยกตามความสามารถ หรือไม่ก็ให้เด็กจัดกันเอง แต่งานวิจัยเมื่อไม่นานมานี้อาจทำให้ครูหลายคนตกใจโดยเฉพาะครูสายภาษาที่ต้องสอนเรื่องการอ่าน เพราะการจัดกลุ่มบางประเภทไม่ได้ให้ผลดีกับนักเรียนเสมอไป ทั้งในแง่ผลสัมฤทธิ์ของการอ่านและความรู้สึกเชื่อมโยงกันของนักเรียน เรื่องนี้อาจดูเป็นรายละเอียดเล็ก ๆ น้อย ๆ ในห้องเรียน แต่ส่งผลอย่างมากต่อการเรียนรู้ของนักเรียนชนิดที่ครูไม่ควรมองข้าม

ก่อนเกิดโรคระบาดเมื่อปี 2019 ข้อมูลจากการประเมินความก้าวหน้าทางการศึกษาแห่งชาติในเรื่องการอ่านของนักเรียน ป.4 ในอเมริกาพบว่า การจัดกลุ่มแบบคละความสามารถกับกลุ่มที่ให้นักเรียนจัดกันเองจะทำให้นักเรียนที่มีความสามารถต่ำกว่าพื้นฐานมีจำนวนน้อยลง พูดง่ายๆ ก็คือการจัดกลุ่มสองแบบนี้ส่งผลดีต่อการอ่านของนักเรียนนั่นเอง ที่ผ่านมาเคยมีงานวิจัยหลายชิ้นในเรื่องการจัดกลุ่มการอ่านว่ามีผลต่อนักเรียนอย่างไรบ้าง และนี่คือผลลัพธ์ 5 เรื่องจากงานวิจัยที่ครูอาจคาดไม่ถึง

 

1. การจัดกลุ่มนักเรียนที่อายุยังน้อยจะมีผลในระยะยาว เด็กอ่อนจะยิ่งอ่อนลง เด็กเก่งจะยิ่งเก่งขึ้น

Anthony Buttaro Jr และ Sophia Catsambis จาก Queens College ใช้ข้อมูลในอเมริกาเพื่อดูความก้าวหน้าของนักเรียนชั้นอนุบาลถึง ม.2 เปรียบเทียบระหว่างนักเรียนที่มีการแบ่งกลุ่มตามความสามารถในแต่ละปีกับนักเรียนที่ไม่เคยถูกจัดกลุ่มเลย หรือถูกจัดกลุ่มในแบบรูปแบบอื่น เช่น กลุ่มแบบสุ่ม พวกเขาพบว่าการจัดกลุ่มตามความสามารถจะยิ่งทำให้เด็กมีช่องว่างทางการอ่านมากขึ้นเมื่อเวลาผ่านไป เด็กที่อ่อนอยู่แล้วก็จะยิ่งอ่อนลง ส่วนเด็กที่เก่งก็จะยิ่งเก่งขึ้น

นักเรียนกลุ่มที่มีความสามารถด้านการอ่านสูงในชั้นประถมศึกษาตอนต้นจะมีคะแนนสอบด้านการอ่านสูงกว่านักเรียนที่ไม่ได้ถูกจัดกลุ่ม ขณะที่นักเรียนที่ถูกจัดให้อยู่ในกลุ่มที่มีความสามารถต่ำก็จะได้คะแนนน้อยกว่า คะแนนที่ต่างกันนี้จะยิ่งเพิ่มขึ้นทุกปีหากครูยังจัดกลุ่มนักเรียนอยู่ ยิ่งไปกว่านั้น นักเรียนที่ถูกจัดให้อยู่ในกลุ่มที่มีความสามารถต่ำหลาย ๆ ปีในชั้นอนุบาลจนถึง ป.3 เมื่อเรียนภาษาอังกฤษต่อในชั้น ม.2 จะมีแนวโน้มว่านักเรียนจะมีความรู้ต่ำกว่าระดับชั้นที่เรียนมากกว่านักเรียนที่ไม่เคยถูกจัดกลุ่ม ในทำนองเดียวกัน นักเรียนกลุ่มที่มีความสามารถด้านการอ่านสูง ในช่วงปีแรก ๆ นักเรียนมีแนวโน้มที่จะมีทักษะทางภาษาที่ดีก่อนขึ้น ม. 2 มากกว่านักเรียนที่ไม่ได้ถูกจัดกลุ่ม

นักวิจัยยังพบว่าการจัดกลุ่มนักเรียนมีความสอดคล้องกันน้อยมาก ครูในระดับชั้นเดียวกันหรือโรงเรียนเดียวกันอาจจัดกลุ่มนักเรียนแบบสุ่ม ตามความสามารถ หรือไม่จัดกลุ่มเลย แต่โรงเรียนที่เอาใจใส่นักเรียนผิวสีหรือนักเรียนที่มีรายได้น้อยมักจะจัดกลุ่มนักเรียนตามความสามารถ ซึ่งในชั้นเรียนแบบนี้นักเรียนชายและนักเรียน

 

2.กลุ่มที่เน้นพัฒนาทักษะเฉพาะดีต่อนักเรียนมากกว่า

Matthew Hall และ Matthew Burns นักวิจัยจากมหาวิทยาลัยมินนิโซตา วิเคราะห์ผลการศึกษา 26 ชิ้นเกี่ยวกับการอ่านในกลุ่มย่อย แม้ว่าการศึกษานี้จะไม่ได้วิเคราะห์การจัดกลุ่มตามความสามารถโดยเฉพาะ แต่ก็พบว่าหากครูแบ่งกลุ่มย่อยโดยมีเป้าหมายที่จะพัฒนาทักษะเฉพาะจะมีประสิทธิภาพดีกว่าการแบ่งกลุ่มที่เน้นทักษะแบบครอบคลุมหรือทักษะหลายด้านเกือบสองเท่า ระดับชั้นของนักเรียนก็ให้ผลลัพธ์ไม่เหมือนกันด้วย นักวิจัยพบว่าการจัดกลุ่มโดยทั่วไปแล้วจะมีผลดีในโรงเรียนประถมศึกษามากกว่าโรงเรียนมัธยมศึกษาตอนต้นหรือตอนปลาย

 

3.กลุ่มย่อยในห้องเรียน STEM ช่วยพัฒนาเรื่องคำศัพท์ได้

Andrea Johnson นักวิจัยระดับบัณฑิตศึกษาที่มหาวิทยาลัย Winona State ได้ติดตามผลสัมฤทธิ์ทางการเรียน และสังเกตการทำงานกลุ่มของนักเรียน ทั้งกลุ่มนักเรียนมีความสามารถใกล้เคียงกัน และกลุ่มคละสามารถในชั้นเรียนวิทยาศาสตร์ เธอพบว่านักเรียนทุกคนในกลุ่มย่อยมีการพัฒนาเรื่องคำศัพท์ ยกเว้นกลุ่มย่อยที่มีแต่นักเรียนที่มีผลการเรียนต่ำเท่านั้น อย่างไรก็ตาม นักเรียนที่ถูกจัดกลุ่มให้อยู่กับเพื่อนที่มีความสามารถใกล้เคียงกันจะมีส่วนร่วมกับโครงงานหรือชิ้นงานมากขึ้น ส่วนกลุ่มที่คละความสามารถพบว่าจะมีนักเรียน 1-2 คนที่ต้องทำงานหนักกว่าเพื่อนในกลุ่มที่นักเรียนมีความสามารถพอ ๆ กัน หากงานนั้นมีการให้คะแนนเป็นกลุ่ม

 

4.การจัดกลุ่มส่งผลต่อมิตรภาพของนักเรียน

การศึกษาระดับนานาชาติ 2 ชิ้น แนะนำว่านักการศึกษาควรจำกัดการแบ่งประเภทกลุ่มการอ่าน เพื่อไม่ให้ส่งผลต่อพัฒนาการทางสังคมของนักเรียน โดยในงานศึกษาชิ้นแรก Deirdre McGillicuddy นักวิจัยด้านการศึกษาที่มหาวิทยาลัย College Dublin ประเทศไอร์แลนด์ได้ติดตามมิตรภาพ พฤติกรรมการแสวงหาความช่วยเหลือ และการเปลี่ยนสถานะทางสังคมของเด็ก 100 คนที่ถูกจัดให้อยู่ในกลุ่มการอ่านตามความสามารถและกลุ่มคณิตศาสตร์ในโรงเรียนประถมศึกษาในไอร์แลนด์ เธอพบว่าการจัดกลุ่มอ่านตามความสามารถจะยิ่งทำให้เกิดการแบ่งชนชั้นในห้องเรียน นักเรียนกลุ่มที่มีทักษะการอ่านสูงจะไม่ค่อยนั่งข้าง ขอความช่วยเหลือ หรือเป็นเพื่อนกับนักเรียนในกลุ่มที่มีทักษะการอ่านต่ำ เด็กผู้ชาย ชนกลุ่มน้อย และเด็กอพยพยิ่งมีแนวโน้มที่จะรู้สึกโดดเดี่ยวทางสังคมมากขึ้นหากพวกเขาอยู่ในกลุ่มการเด็กที่มีทักษะการอ่านต่ำ

 

 

งานศึกษาอีกชิ้นหนึ่งของ Vikki Boliver นักวิจัยด้านสังคมวิทยาแห่งมหาวิทยาลัย Durham ในสหราชอาณาจักรและ Queralt Capsada-Munsech นักวิจัยด้านการศึกษาที่มหาวิทยาลัย Glasgow ในสกอตแลนด์ใช้ข้อมูลของเด็กอังกฤษที่เกิดในปี 2543 และ 2545 เพื่อดูว่าการจัดกลุ่มนักเรียนตามความสามารถในการอ่านและคณิตศาสตร์ส่งผลต่อความสนุกสนานในชั้นเรียนอย่างไร พวกเขาพบว่านักเรียนอายุ 7 ปี ที่ถูกจัดให้อยู่ในกลุ่มที่มีความสามารถต่ำในวิชาคณิตศาสตร์และการอ่าน จะรู้สึกสนุกกับวิชาเหล่านี้น้อยลงเมื่ออายุ 11 ปี แต่เมื่อพิจารณาถึงเพศและชนชั้นทางสังคมของนักเรียนแล้วจะพบว่าการจัดกลุ่มมีอิทธิพลอย่างมากต่อความสนุกสนานของนักเรียนในวิชาคณิตศาสตร์เมื่อเวลาผ่านไป

 

5.การสอนเป็นรายบุคคลให้ผลดีกว่ากับนักเรียนที่ต้องการความช่วยเหลือ

นักวิจัยจากมหาวิทยาลัย Vanderbilt และมหาวิทยาลัย Texas-Austin ได้วิเคราะห์ผลการศึกษา 18 ชิ้นเกี่ยวกับการอ่านแบบเข้มข้น รวมถึงขนาดของกลุ่มย่อย ปกติแล้วโรงเรียนมักจะแบ่งนักเรียนเป็นกลุ่มละ 3-5 คน นักวิจัยพบว่าการเข้าถึงนักเรียนเป็นรายบุคคลจะมีประสิทธิภาพดีกว่าการสอนแบบกลุ่มย่อยเกือบสองเท่า สำหรับนักเรียนที่ต้องการความช่วยเหลือในการอ่านอย่างเข้มข้น

หากเป้าหมายของครูคือการเห็นนักเรียนมีทักษะการอ่านที่ดี และมีความสัมพันธ์ที่ดีกับเพื่อนร่วมห้องแล้วล่ะก็ การแบ่งกลุ่มเพื่อสอนการอ่านก็เรียกได้ว่าเป็นงานละเอียดที่เต็มไปด้วยปัจจัยแวดล้อมมากมาย ทั้งระดับชั้น อายุ ความต้องการพิเศษ ความสามารถของนักเรียน และอื่น ๆ ที่ครูไม่สามารถใช้สูตรสำเร็จใด ๆ ได้เลย ทางเดียวที่จะช่วยพวกเขาได้คือการรู้จักนักเรียนของเราให้มากที่สุด เลือกวิธีการที่เหมาะสม คอยสังเกต และติดตามประเมินผลเป็นระยะ แล้วพัฒนารูปแบบการสอนที่ช่วยให้พวกเขาเกิดการเรียนรู้และพัฒนาได้ที่ดีที่สุด

 

อ้างอิง
https://www.psychologytoday.com/us/blog/the-athletes-way/201503/10-ways-musical-training-boosts-brain-power

 

 

Share

Authors

Authors

RELATED POSTS