4 วิธีชมนักเรียนเพื่อสร้างบทสนทนาแบบเปิดในวันที่พวกเขาประสบความสำเร็จ

A A
Oct 6, 2021
Oct 6, 2021
A A

4 วิธีชมนักเรียนเพื่อสร้างบทสนทนาแบบเปิดในวันที่พวกเขาประสบความสำเร็จ

 

เมื่อนักเรียนของเราประสบความสำเร็จกับอะไรสักอย่างที่เขาพยายามมาตลอด ครูแต่ละคนอาจมีวิธีชมนักเรียนในแบบที่ไม่เหมือนกัน หนึ่งในคำชมยอดฮิตคงจะหนีไม่พ้น “ครูภูมิใจในตัวเธอนะ” ในฐานะผู้ฟัง เราอาจไม่ได้รู้สึกว่ามีอะไรผิดปกติ ได้ยินแล้วก็ออกจะหัวใจพองโตเสียด้วยซ้ำ แต่ถ้าลองมองให้ลึกลงไป เราอาจพบว่าทันทีที่พูดจบ บทสนทนาอาจจบลงอย่างไม่ได้ตั้งใจ เหมือนครูกับนักเรียนไม่รู้จะคุยอะไรกันต่อ และแทนที่ความสนใจอยู่ที่ตัวนักเรียน ประโยคนี้กลับดึงความสนใจมาที่ตัวครูแทน คล้ายกับว่าคำชมของครูกลายเป็นเป้าหมายของนักเรียน แล้วอย่างนี้ครูควรพูดอะไรเพื่อให้นักเรียนรู้ว่าเราชื่นชมเขา ขณะเดียวกันก็ต้องชวนให้เกิดบทสนทนาแบบเปิด ให้นักเรียนได้มีโอกาสเล่าถึงความสำเร็จของพวกเขาให้มากขึ้น

การพูดชมนักเรียน

คำชมเหล่าจะไม่ทำให้นักเรียนแค่ยิ้มรับ กล่าวขอบคุณ แล้วเดินจากไป แต่นี่คือโอกาสที่พวกเขาจะได้แบ่งปันความรู้สึก ประสบการณ์ ความยากลำบาก ความอดทนพยายาม ซึ่งล้วนเป็นรายละเอียดที่อาจเรียกได้ว่าสำคัญกว่าตัวความสำเร็จเสียด้วยซ้ำ

ไหนเล่าให้ครูฟัง

1. ไหนเล่าให้ครูฟังหน่อย
        คำถามแบบปลายเปิดจะทำให้คนถูกถามกลายเป็นคนบอกเล่าเรื่องราว เลือกได้ว่าจะเล่าประเด็นไหนให้อีกฝ่ายฟังบ้าง นักเรียนได้หวนคิดถึงความสำเร็จนั้น และดื่มด่ำกับความสุขผ่านการแบ่งปันเรื่องราวให้ครูฟังอีกครั้งหนึ่ง

ไหนเล่าให้ครูฟัง

2. เธอต้องรู้สึก….แน่ๆ
        แม้ว่าการคาดเดาความรู้สึกของนักเรียนอาจดูเหมือนเป็นการตัดบทสนทนา แต่จริงๆ แล้วตรงข้ามกันเลย เพราะการถามว่า “เธอรู้สึกอย่างไรบ้าง” ดูจะเป็นคำถามที่ไม่ค่อยเป็นธรรมชาติสักเท่าไร เหมือนกับครูกลายเป็นนักบำบัด แทนที่จะบอกว่าครูภูมิใจ ให้ลองจินตนาการดูว่านักเรียนน่าจะรู้สึกอย่างไร แล้วสื่อสารออกมาเลยจะดีกว่า

เธอทำให้สำเร็จ

3. เธอทำให้สำเร็จได้อย่างไร
        ครูหลายคนอาจมีเป้าหมายคล้ายกันคือ อยากช่วยให้นักเรียนได้เห็นทางเลือกและหนทางที่นำไปสู่ความสำเร็จ ฉะนั้น เมื่อนักเรียนทำอะไรบางอย่างได้สำเร็จ การถามว่าพวกเขามีวิธีในแบบของตัวเองอย่างไร ต้องพยายามขนาดไหน ทำให้นักเรียนได้ทบทวนสิ่งที่ผ่านมาว่า ความสำเร็จนั้นเป็นผลของความพยายาม ซึ่งความพยายามนี้เองคือเครื่องมือของการเรียนรู้และความก้าวหน้า ถ้านักเรียนไม่รู้ว่าจะตอบคำถามอย่างไรดี ครูอาจตั้งข้อสังเกต หรือใช้คำถามที่ช่วยสร้างการตระหนักรู้ในตนเองกับพวกเขา เช่น นักเรียนคนหนึ่งสอบได้เกรด A ในวิชาวิทยาศาสตร์ ครูอาจบอกว่า “ครูเห็นว่าสัปดาห์นี้เธอติวพิเศษเพิ่ม แถมยังส่งงานที่ครูมอบหมายให้แล้ว ครูว่าวิธีนี้ได้ผลดีสำหรับเธอเลยนะ” วิธีนี้จะทำให้นักเรียนรู้สึกเป็นเจ้าข้าวเจ้าของประสบการณ์ของเขาเอง
        ประเด็นที่ควรระวังคือ การชมความสำเร็จโดยไม่ได้ให้ความสำคัญว่าเป็นผลของความพยายามนั้น จะทำให้นักเรียนกลายเป็นคนที่มี Fixed Mindset ได้ แต่การชมที่ความพยายาม หรือกลวิธี การสืบหาความรู้ที่นำไปสู่ความสำเร็จ โดยเน้นที่การเรียนรู้และความก้าวหน้าจะช่วยสร้าง Growth Mindset ได้ดี

ครูชื่นชอบ

4. ครูชื่นชม….
        นอกเหนือจากความสำเร็จแล้ว การกล่าวชื่นชมนักเรียนในเรื่องเล็กๆ น้อยๆ ที่พวกเขาทำในห้องเรียนที่ส่งผลให้ชีวิตครูง่ายขึ้นก็เป็นสิ่งที่ควรทำ เช่น “ครูดีใจมากเลยที่นักเรียนเข้าห้องตรงเวลา ทำให้ครูไม่ต้องอธิบายคำสั่งซ้ำอีกรอบ” หรือ “ครูชื่นชมความพยายามของเธอมากหลังจากขาดเรียนไปพักใหญ่” การชมว่า “ครูภูมิใจในตัวเธอ” คล้ายๆ กับเป็นการบอกนักเรียนว่าต้องทำให้ครูพอใจ แต่การบอกว่า “ครูชื่นชม” เป็นการบอกว่าพวกเขามีคุณสมบัติที่ครูนับถือ
        คำชมที่ดีจากครูจึงไม่ควรทำให้ครูกลายเป็นศูนย์กลางของความถูกผิด หรือเป้าหมายที่นักเรียนอยากจะได้ยิน แต่ควรเป็นเครื่องมือฝึกฝนให้นักเรียนเกิดความตระหนักรู้และเชื่อมั่นในตนเอง แล้วคุณครูล่ะ ถ้าไม่ใช่ 4 คำนี้ มีคำไหนที่ครูเคยใช้แล้วช่วยสร้างบทสนทนาแบบเปิดได้อีกบ้าง มาแชร์กันให้ฟังหน่อย

Share

Authors

Authors

RELATED POSTS