การเรียนรู้ด้วย “การดู” มีประสิทธิภาพแค่ไหน

A A
Dec 12, 2022
Dec 12, 2022
A A

การเรียนรู้ด้วยการดูมีประสิทธิภาพแค่ไหน

 

  • มีคำกล่าวว่า การ Copy คือ หนึ่งในวิธีการเรียนรู้ที่ดีที่สุด แม้อาจฟังดูไม่ต่างอะไรจากการโกง แต่ที่จริงมนุษย์เราเรียนรู้ได้จากการเลียนแบบผู้อื่น
  • แม้การ Copy โดยเริ่มต้นจากการดูผู้อื่นจะช่วยให้เราเกิดแรงบันดาลใจ และนำไปสู่การเรียนรู้ได้ แต่งานวิจัยพบว่า การดูคนที่เชี่ยวชาญทำอะไรสักอย่างอาจทำให้เราคิดว่า เราก็ทำแบบนั้นได้ เกิดความมั่นใจจนเกินจริง ทั้งที่ความจริงแล้วมันไม่ใช่แบบนั้น

 

คุณคิดอย่างไรกับการ Copy หรือการเลียนแบบคนอื่น…

     มองเผิน ๆ เราอาจจะคิดว่า มันดูไม่ต่างอะไรจากการโกง แต่ถ้าเราสังเกตกันดี ๆ คนที่มีทักษะอย่างใดอย่างหนึ่งมาก ๆ ส่วนหนึ่งเป็นเพราะคนเหล่านี้ได้เรียนรู้จากผู้อื่นด้วย “การดู” หรือการเฝ้าสังเกตอย่างถี่ถ้วน จนมีคำกล่าวกันว่า การ Copy คือ หนึ่งในวิธีการเรียนรู้ที่ดีที่สุด ยิ่งในยุคนี้ที่การเรียนรู้ทักษะใหม่ ๆ ดูจะเป็นเรื่องที่เข้าถึงได้ง่ายขึ้น เพียงแค่เปิด YouTube ศึกษาเรื่องที่เราสนใจ แต่งานวิจัยกลับพบว่า การเรียนรู้ด้วยการดูเพียงอย่างเดียวไม่ได้ทำให้เราเก่งจริงอย่างที่เราคิด แถมยังทำให้เกิดความมั่นใจจนเกินจริงว่าเราก็ทำได้ แล้วจะทำอย่างไรให้การเรียนรู้จากการดูเกิดประสิทธิภาพสูงสุด จนเรียกได้ว่าสร้างทักษะใหม่ให้เกิดขึ้นได้จริง

 

     มนุษย์เราอาจมีภาพจำว่า การเลียนแบบสิ่งที่คนอื่นทำ คือ การโกง ในห้องเรียนนักเรียนอาจเข้าใจว่า ครูอยากให้นักเรียนคิดทุกอย่างด้วยตัวเอง แต่ที่จริงมนุษย์เราเรียนรู้ได้จากการเลียนแบบผู้อื่น เราเกิดมาที่จะ Copy-paste ยกตัวอย่างเช่น เชฟทำขนมชื่อดัง Corrado Assenza ที่ไม่เพียงแค่เรียนรู้จากการลงมือทำเท่านั้น แต่เขายังเรียนรู้จากการดูอีกด้วย ดูว่าคนอื่นเขาทำขนมกันอย่างไร หรือแม้แต่นักเทนนิสมืออาชีพอย่าง Tim Gallwey ก็ยังตั้งข้อสังเกตว่า นักเทนนิสเกือบทุกคนเคยจินตนาการการเล่นเทนนิสในหัวหลังจากดูการแข่งขันทางโทรทัศน์ ประโยชน์ที่ได้ไม่ใช่การวิเคราะห์จังหวะของผู้เล่นเก่ง ๆ แต่เป็นการจดจ่อโดยไม่ต้องคิด และปล่อยให้ตัวเองซึมซับภาพการเล่นต่าง ๆ 

 

     อย่างไรก็ตาม แม้การดูจะช่วยให้เราเกิดแรงบันดาลใจ และนำไปสู่การเรียนรู้ได้ แต่ก็มีประเด็นบางอย่างที่เราต้องระวัง เพราะงานวิจัยพบว่า การดูคนที่เชี่ยวชาญทำอะไรสักอย่างอาจทำให้เราคิดว่า เราก็ทำแบบนั้นได้เช่นเดียวกัน แต่ความจริงแล้วมันไม่ใช่แบบนั้น คำถามต่อมา คือ แล้วการเรียนรู้แบบที่นั่งดูวิดีโอออนไลน์มันช่วยให้เราเกิดการเรียนรู้ได้จริงหรือเปล่า งานวิจัยมีคำตอบในเรื่องนี้อย่างชัดเจน

 

การเรียนรู้ด้วยการดูทำให้คนเราเกิดความมั่นใจเกินจริงว่าทำได้

 

     Psychological Science ได้เผยแพร่การทดลอง 6 ครั้ง เพื่อพิสูจน์สมมติฐานที่ว่า คนเราจะประเมินความสามารถตัวเองสูงเกินจริงหรือไม่หลังได้ดูผู้เชี่ยวชาญทำอะไรสักอย่าง ในการทดลองแรกมีนักศึกษาจากมหาวิทยาลัยชิคาโก 193 คนเข้าร่วม นักวิจัยจะให้พวกเขาดูวิดีโอที่นักแสดงกำลังปาลูกดอก 1 ครั้งหรือ 20 ครั้งติดต่อกัน จากนั้นก็จะแบ่งผู้เข้าร่วมออกเป็น 2 กลุ่ม กลุ่มหนึ่งเป็นผู้ทำนาย กลุ่มสองเป็นผู้แสดง กลุ่มผู้ทำนายจะประเมินว่า ถ้าตัวเองได้ปาลูกดอก 1 ครั้ง น่าจะได้คะแนนเท่าไรระหว่าง 0-100 คะแนน แล้วก็จะเปรียบเทียบกับคะแนนจริงของกลุ่มผู้แสดงที่ต้องปาลูกดอก 1 ครั้ง พบว่า ผู้ทำนายที่ดูวิดีโอนักแสดงปาลูกดอก 20 ครั้งติดต่อกัน เชื่อว่าพวกเขาจะได้คะแนนสูงกว่าผู้ทำนายที่ดูการแสดงของผู้เชี่ยวชาญเพียงครั้งเดียว แต่ในความเป็นจริงแล้ว กลุ่มผู้แสดงก็ยังได้คะแนนน้อยอยู่ดีไม่ว่าพวกเขาจะดูวิดีโอกี่รอบก็ตาม แสดงว่า การดูวิดีโอช่วยเพิ่มความมั่นใจให้เราได้ แต่ไม่ได้ช่วยให้เราพัฒนาความสามารถแต่อย่างใด

     การทดลองต่อมาก็มีสมมติฐานเดียวกัน โดยจะให้ผู้เข้าร่วม 100 คน ดูวิดีโอการทำ Moonwalk มีการสุ่มให้มีทั้งคนที่ได้ดูแค่ครั้งเดียวหรือ 20 ครั้งติดต่อกัน จากนั้นก็จะให้แต่ละคนลองประเมินความสามารถของตัวเอง แล้วก็ลองทำ Moonwalk ดู โดยที่มีผู้ตัดสินจากภายนอกมาให้คะแนน ซึ่งคนกลุ่มนี้ไม่รู้ว่า นักแสดงดูวิดีโอมากี่ครั้ง แล้วผลก็เป็นไปเหมือนการทดลองแรก ผู้เข้าร่วมที่ดูวิดีโอ 20 ครั้งและคนที่ดูครั้งเดียวจะต้องคาดเดาคะแนนของตัวเอง ผลพบว่า คนกลุ่มแรกจะประเมินคะแนนตัวเองไว้สูงกว่ากลุ่มหลัง ในขณะที่ผู้ตัดสินให้คะแนนทั้ง 2 กลุ่มอยู่ในระดับต่ำ

การเรียนรู้ด้วยการดูวิดิโอเต้น Moonwalk

ชื่อภาพ : การเรียนรู้ด้วยการดู Moonwalk

 

 

   

เราพลาดอะไรไป ถ้าเรามีแต่การเรียนรู้ด้วยการดูแต่ไม่ลงมือทำ

 

     อะไรกันที่ทำให้คนเราเกิดความมั่นใจมากเกินไปเมื่อได้ดูวิดีโอเหล่านั้น สิ่งที่เราเห็นผ่านวิดีโอ คือ เทคนิคต่าง ๆ ของคนที่เชี่ยวชาญอะไรบางอย่าง แต่เราไม่เคยได้สัมผัสสิ่งเหล่านี้ด้วยตนเอง ซึ่งสิ่งนี้นี่แหละที่เป็นหัวใจสำคัญของการเรียนรู้ การจำขั้นตอนต่าง ๆ ได้เป็นเรื่องหนึ่งที่สำคัญ แต่สิ่งที่สำคัญยิ่งกว่า คือ การลงมือทำตามขั้นตอนเหล่านั้น เรียนรู้ว่า ความรู้สึกของการได้เห็นกับการลงมือทำจริงไม่ใช่สิ่งเดียวกัน ตอนเราดูวิดีโอ เรามักจะพลาดรายละเอียดปลีกย่อยหลายอย่าง ทำให้เราประเมินความซับซ้อนของทักษะเหล่านั้นต่ำเกินไป แล้วประเมินความสามารถตัวเองสูงเกินจริง

 

     เพื่อเป็นการพิสูจน์กลไกนี้ นักวิจัยได้ทำการทดลอง 2 ชิ้น โดยให้ผู้เข้าร่วม 400 คน ดูวิดีโอกลผ้าปูโต๊ะที่จะมีคนดึงผ้าปูออกจากโต๊ะที่มีจานและเครื่องเงินวางอยู่ โดยที่ไม่ทำให้ของทั้งหมดล้ม นักวิจัยจะสุ่มให้ผู้เข้าร่วมบางคนได้ดูวิดีโอแบบเต็มที่ได้เห็นทั้งนักแสดงที่เชี่ยวชาญและจานบนโต๊ะ ขณะที่ผู้เข้าร่วมบางคนจะได้ดูวิดีโอที่เห็นเฉพาะจานเท่านั้น พบว่า ความมั่นใจของผู้เข้าร่วมที่ได้ดูวิดีโอที่เห็นทั้งผู้แสดงและจานจะมีมากขึ้นหลังจากที่ได้ดูวิดีโอซ้ำ ๆ 20 รอบ เพราะการเห็นทั้งสองอย่างทำให้ผู้เข้าร่วมโฟกัสกับเทคนิคของนักแสดงขณะดู แต่การเห็นแค่จานอยู่กับที่อย่างเดียวโดยไม่เห็นผู้แสดงถือว่าไม่เพียงพอที่จะสร้างความมั่นใจให้ผู้เข้าร่วมอีกกลุ่มได้มากนัก


แล้วทำไมเราถึงยังล้มเหลวกับการเรียนรู้ว่า จริง ๆ แล้วเราไม่ได้พัฒนาทักษะอะไรมากนักจากการได้ดูแค่วิดีโอ นักวิจัยหาคำตอบเรื่องนี้ต่อด้วยการทดสอบบทบาทของ “ความรู้สึก” โดยให้ผู้เข้าร่วม 145 คน ดูวิดีโอคนเล่น Juggling ด้วยพินโบว์ลิง 3 อัน แล้ววัดความมั่นใจของผู้เข้าร่วมด้วยการให้ประเมินตนเอง จากนั้นก็ให้แต่ละคนได้มีประสบการณ์กับพินโบว์ลิงในรูปแบบที่แตกต่างกันไป เช่น ให้ลองถือไว้ 3 อัน ให้อ่านข้อมูลทางเทคนิคจำพวกน้ำหนัก ความยาว และเส้นผ่านศูนย์กลางของพิน และให้บางคนลองพยายามอธิบายเทคนิคของผู้เชี่ยวชาญดู แน่นอนว่า ผู้เข้าร่วมจะรู้สึกมั่นใจเกินจริงหลังจากดูวิดีโอ แต่คนที่ได้ลองถือพินโบว์ลิงจริง ๆ จะมีความมั่นใจที่ลดลงทันที เพราะคนกลุ่มนี้รับรู้ได้ถึงความแตกต่างระหว่างการดูวิดีโอเพียงอย่างเดียวกับน้ำหนักที่แท้จริงของมัน แม้แต่คนที่ได้อ่านข้อมูลของพินโบว์ลิง หรือคนที่อธิบายเทคนิคของผู้เชี่ยวชาญก็ยังไม่ได้ช่วยให้พวกเขารับรู้ถึงความเป็นจริงที่แตกต่างกันสักเท่าไร

 

การเรียนรู้ด้วยการดูการเล่น Juggling

ชื่อภาพ : การเรียนรู้ด้วยการดู Juggling

 

 

   

     งานวิจัยเหล่านี้ทำให้เราเห็นว่า การเรียนรู้ด้วยการดูอาจมีประสิทธิภาพน้อยกว่าที่เราเคยเชื่อ สิ่งที่อาจเกิดขึ้นหลังจากนี้ คือ เราอาจจะกระโจนเข้าหาทักษะบางอย่างที่เกินความสามารถของเราในปัจจุบัน หรือเราอาจให้เวลาน้อยเกินไปเพื่อที่จะฝึกฝนพัฒนาทักษะเหล่านั้น

 

เทคนิคดูอย่างไรให้เกิดทักษะจริง

 

นี่ไม่ได้แปลว่า การดูวิดีโอตามสื่อต่าง ๆ เป็นเรื่องไม่มีประโยชน์ แต่จะทำอย่างไรให้ดูแล้วได้ประโยชน์ชนิดที่เกิดทักษะจริง ผู้เชี่ยวชาญให้คำแนะนำไว้ 3 ข้อ ดังนี้

 

1. หาเวลาฝึกฝน 

     การดูไม่เพียงแค่เป็นส่วนหนึ่งของการเรียนรู้เท่านั้น แต่การอ่านและการคิดยังมีส่วนส่งเสริมให้เราพัฒนาทักษะนั้น ๆ ได้มากขึ้นด้วย ข้อดี คือ สองอย่างนี้จะไม่ทำให้เรามั่นใจเกินจริงจนเกินไป 

 

2. เริ่มจากเล็ก ๆ ก่อน

     ครั้งแรกที่เราฝึกทักษะอะไรบางอย่าง เราจะได้เห็นความซับซ้อนของสิ่งที่เราไม่ทันเห็นจากการดูวิดีโอ เหมือนกับการได้ลองถือพินโบว์ลิงจริง ๆ ที่ช่วยให้ทำให้เรารู้ว่า การเล่น Juggling ไม่ใช่เรื่องง่ายอย่างที่เห็น เริ่มจากทักษะที่ง่าย ๆ ก่อน จากนั้นค่อยพัฒนาไปสู่ทักษะที่ยากขึ้น

 

3. ลงมือปฏิบัติแบบผสมผสาน

     การวางแผนว่า เดี๋ยวดูวิดีโอก่อนแล้วค่อยฝึกฝนจะยิ่งทำให้เราคิดว่า เราทำสิ่งนั้นได้ เกิดความมั่นใจขึ้นมาโดยที่ไม่ได้เกิดการเรียนรู้อย่างแท้จริง แต่ถ้าเราดูและฝึกฝนไปด้วย เราจะได้ประโยชน์จากการดูมากขึ้นหลังจากที่ได้ทดลองฝึกฝนทักษะนั้น ๆ 

 

     อาจเป็นโชคดีของคนยุคนี้ที่มีอะไรน่าสนใจมากมายให้เราได้เรียนรู้ เพียงแค่พิมพ์แล้วกดค้นหาบนโลกออนไลน์ แต่ทักษะเหล่านี้จะเกิดขึ้นได้จริงหรือไม่ คำถามจึงกลับมาอยู่ที่ตัวเราอีกครั้ง เราพร้อมที่จะก้าวออกไปเผชิญกับโลกจริงของการฝึกฝนหรือไม่ หรือยังเชื่อว่า ฉันก็ทำได้แหละน่า โดยที่ยังไม่เริ่มลงมือทำอะไรเป็นชิ้นเป็นอัน

 

อ้างอิง

https://hbr.org/2018/05/research-watching-an-expert-do-something-makes-you-think-you-can-do-it-too

Share

Authors

Authors

RELATED POSTS