เล่นเกมเศรษฐีด้วยเงินจริง บทเรียนสอนการใช้เงินจากพ่อผู้ให้ลูก

A A
Apr 10, 2022
Apr 10, 2022
A A
  • เรามักจะสอนเด็กเรื่องการบริหารเงิน โดยมัวนึกถึงแต่การทำตัวเป็นตัวอย่างให้ลูก ๆ กับคิดว่าจะสอนใช้จ่ายเงินอย่างไร แต่ลืมที่จะสร้างโอกาสให้เขาได้ลองบริหารเงินจริง ๆ ในตอนที่เขายังอายุน้อย ตอนที่ยังพอล้มแล้วลุกได้แบบไม่เจ็บเท่าไร
  • ผู้ใหญ่อย่างเราจะสร้างโอกาสอะไรให้เด็กได้เรียนรู้ได้บ้างในยุคที่เงินทองคล้ายภาพลวงตา จับต้องไม่ค่อยได้ ถ้าเราจะใช้เงินไปกับเด็ก ลองให้เงินจำนวนหนึ่งกับเด็กดู แล้วดูว่าพวกเขาจะบริหารจัดการอย่างไร และเรียนรู้ว่ามันให้ผลลัพธ์อะไรตามมา เพราะเมื่อไรที่เขาโตขึ้น แล้วต้องตัดสินใจอะไรที่ยากขึ้น ใหญ่ขึ้น เขาจะเข้าใจว่ามันมีผลลัพธ์ที่ตามมาเสมอ

คุณกล้าให้ลูกเล่นเกมเศรษฐีด้วยเงินจริง ๆ ไหม ใครชนะคนนั้นก็ได้เงินไปเลย นี่อาจฟังดูเป็นไอเดียหลุดโลกสำหรับพ่อแม่บางคน แต่การอยู่ในสังคมไร้เงินสดทุกวันนี้อาจทำให้เด็ก ๆ มองว่าเงินเป็นเรื่องนามธรรมที่จับต้องได้ยาก เราเห็นตัวเลขในบัญชีมากกว่าหยิบแบงค์หยิบเหรียญออกจากกระเป๋า จนแทบจะลืมไปแล้วว่าความรู้สึกของการได้จับเงินสดจริง ๆ กับการเห็นยอดเงินในบัญชี แม้จะเป็นจำนวนที่เท่ากันมันให้ความรู้สึกต่างกันแค่ไหน และเพราะความรู้สึกที่ว่าเงินจับต้องไม่ได้นี่แหละที่กำลังทำให้เด็กยุคใหม่ขาดความเข้าใจในเรื่องนี้ จนนำมาสู่พฤติกรรมการใช้เงินที่มากจนเกินตัวเมื่อโตขึ้น บทบาทของพ่อแม่สำคัญแค่ไหนกับการฝึกฝนและปลูกฝังเด็กเรื่องเงิน ๆ ทอง ๆ เจนเนอเรชั่นที่จะกลายเป็นผู้สืบทอดเศรษฐกิจในอนาคตต่อจากพวกเรา

 

เกมเศรษฐีเงินจริง

ย้อนกลับไปในวัยเด็กคงไม่มีใครไม่รู้จักเกมเศรษฐี บอร์ดเกมสุดฮิตของคนทั่วโลก อาจเรียกได้ว่าเกมนี้เป็นเกมแรก ๆ ที่ทำให้เด็กเข้าใจแนวคิดของการใช้จ่าย การบริหารจัดการเงินและสินทรัพย์ต่าง ๆ แม้เงินทั้งหมดจะไม่ใช่ของจริงก็ตาม Adam Carroll คือคุณพ่อชาวอังกฤษที่บังเอิญได้ไอเดียทดลองอะไรบางอย่างกับลูก ๆ 3 คนของเขา โดยปกติครอบครัวนี้เป็นครอบครัวที่เล่นเกมทุกชนิดด้วยกันเป็นประจำอยู่แล้ว จนวันหนึ่งพ่อสังเกตเห็นว่าลูก ๆ เล่นเกมเศรษฐีนอกกติกา มีการช่วยเหลือกันด้วยการประกันตัวอีกฝ่ายออกจากคุก หรือให้ยืมเงินเพื่อซื้อทรัพย์สินต่าง ๆ เมื่อพ่อทักว่านี่ไม่ใช่กติกาสากล ลูก ๆ ให้คำตอบว่าแค่อยากให้พี่มาเล่นด้วย หรือเดี๋ยวค่อยคืนเงินตอนจบเกมก็ได้ จุดนี้เองที่พ่อเริ่มคิดว่าที่ลูกเล่นแบบนี้เพราะเงินในเกมมันไม่ใช่เงินจริงหรือเปล่า แล้วจะเกิดอะไรขึ้นถ้าลองเอาเงินจริงมาให้ลูกเล่นดูสักหน่อย ดูสิว่าเด็ก ๆ จะเล่นเกมต่างไปจากเดิมไหม

เมื่อคิดได้ดังนี้ Adam ก็คำนวณว่าต้องใช้เงินเท่าไรเด็กถึงจะรู้สึกว่ามันคือเงินจริง เขาประเมินว่าสำหรับผู้เล่น 4-5 คน น่าจะต้องใช้เงินประมาณ 10,000 ดอลลาร์ จึงไปเตรียมถอนเงินมาสำหรับการทดลองครั้งนี้ เมื่อเขาวางเงินเป็นฟ่อนให้ลูก ๆ เห็น ทุกคนตาโตทันที เขาให้เงินลูกคนละ 1,500 ดอลลาร์ในตอนเริ่ม ผลปรากฏว่าครั้งนี้ Adam และลูกใช้เวลาเล่นเกมไป 2 ชั่วโมงครึ่ง ซึ่งถือว่าเร็วกว่าปกติมาก แถมยังเต็มไปด้วยกลยุทธ์ที่มากขึ้นกว่าเดิม ลูกชาย 2 คนเล่นเกมต่างไปจากเดิมเมื่อใช้เงินจริง

ปกติลูกสาวคนโตจะเล่นเกมแบบอาศัยโชค พึ่งดวง ครั้งนี้เธอเป็นคนแรกที่ล้มละลาย ลูกชายคนกลางปกติจะชอบซื้อทางรถไฟและระบบบริการสาธารณะ แล้วสร้างบ้านหรือโรงแรมบนสินทรัพย์ที่มีราคาแพงที่สุด เมื่อเงินจริงอยู่ในมือ ลูกคนนี้จะเล่นอย่างมีกลยุทธ์มากขึ้น เขายังคงซื้อทางรถไฟและระบบบริการสาธารณะเหมือนเดิม แต่จะใช้จ่ายอย่างระมัดระวังมากขึ้น เลือกซื้อสินทรัพย์ที่มีราคาสมเหตุสมผลมากกว่า ส่วนลูกชายคนเล็กที่ปกติจะซื้อทุกอย่างที่ขวางหน้าบนที่ดินที่ตัวเองเดินไปถึง ครั้งนี้เขาไม่ได้ทำอย่างนั้นอีกแล้ว แต่จะคำนวณว่าเหลืออีกกี่ช่องตัวเองถึงจะเดินไปถึงสินทรัพย์ของพี่คนกลาง และถ้าเดินไปที่ช่องนั้นแล้วจะได้สินทรัพย์เท่าไร เขาจะคำนวณและตัดสินใจจากตรงนี้แทน เห็นได้ชัดว่าลูกคนเล็กก็ระวังเรื่องการใช้จ่ายมากขึ้น สุดท้ายแล้ว คนที่ชนะเกมเศรษฐีเงินจริงในครั้งนี้คือลูกชายคนกลาง เขาครอบครองสินทรัพย์ 28 อย่าง มีเงินมากกว่าที่เคยมีและเคยเห็นมาตลอดชีวิต ซึ่งท้ายที่สุดทรัพย์สินทั้งหมดก็กลับคืนสู่กระเป๋าผู้เป็นพ่อ

 

พ่อแม่ต้องสร้างโอกาสให้ลูกได้ลองบริหารเงิน

เกมเศรษฐีเงินจริงคือการสร้างโอกาสให้เด็กได้เห็นมูลค่าและอำนาจของเงินที่แท้จริง เรียนรู้ที่จะบริหารจัดการ และตัดสินใจอะไรบางอย่างที่จะมีผลลัพธ์ตามมา ซึ่งเป็นโอกาสในการเรียนรู้ที่หาได้ยากสำหรับเด็กยุคใหม่ ยุคที่เงินทองอยู่ในแอปมือถือ ในบัตรเครดิต หรือบัตรเดบิต คล้ายภาพลวงตาที่จับต้องไม่ค่อยได้ งานวิจัยพบว่าการให้โอกาสเด็กได้เรียนรู้การบริหารจัดการเงินคือหัวใจข้อที่ 3 ของการสอนเรื่องเงิน ๆ ทอง ๆ ที่พ่อแม่มักมองข้าม โดยปกติเรามักนึกถึงแต่การทำตัวเป็นตัวอย่างให้ลูก ๆ กับคิดว่าจะสอนใช้จ่ายเงินอย่างไร แต่ลืมที่จะสร้างโอกาสให้เขาได้ลองบริหารเงินจริง ๆ ในตอนที่เขายังอายุน้อย ตอนที่ยังพอล้มแล้วลุกได้แบบไม่เจ็บเท่าไร

เคยมีการวิจัยว่าอะไรคือปัจจัยให้คนคนหนึ่งกลายเป็นผู้นำที่ดีในอาชีพของตัวเองได้ มีการสัมภาษณ์ผู้บริหารกว่า 200 คน พบว่าผู้บริหารที่อยู่ในลำดับท็อปๆ จะมีลักษณะบางอย่างที่คล้ายกัน หนึ่งในนั้นคือการได้รับความไว้วางใจในบทบาทของผู้นำที่ต้องตัดสินใจอะไรบางอย่างที่มีผลลัพธ์ตามมาตั้งแต่ช่วงเริ่มต้นการทำงาน โดยมีคนคอยให้คำปรึกษาและช่วยเหลือให้ได้เรียนรู้จากประสบการณ์เหล่านั้น ถ้าเราเอางานวิจัยนี้มาเปรียบเทียบกับการทดลองของ Adam เราจะเห็นว่ามันมีรูปแบบเหมือนกัน

ถ้าเด็กได้รับโอกาสให้ลองมีประสบการณ์บางอย่างเกี่ยวกับเงิน ขณะเดียวกันก็มีคนคอยช่วยให้พวกเขาเรียนรู้จากประสบการณ์เหล่านั้น เด็ก ๆ ก็มีโอกาสที่จะประสบความสำเร็จทางด้านการเงินในอนาคต ที่สำคัญคือพวกเขาควรได้รับโอกาสนี้บ่อย ๆ ตั้งแต่อายุยังน้อย

ฉะนั้น ผู้ใหญ่อย่างเราจะสร้างโอกาสอะไรให้เด็กได้เรียนรู้ได้บ้าง ถ้าเราจะใช้เงินไปกับเด็ก ลองให้เงินจำนวนหนึ่งกับเด็กดู แล้วดูว่าพวกเขาจะบริหารจัดการหรือเอาไปจับจ่ายซื้อของอะไรบ้าง ให้เด็กได้ลองตัดสินใจด้วยตัวเอง เรียนรู้ว่ามันให้ผลลัพธ์อะไร เพราะเมื่อไรที่เด็กโตขึ้น แล้วต้องตัดสินใจอะไรที่ยากขึ้น ใหญ่ขึ้น เขาจะเข้าใจว่ามันมีผลลัพธ์ที่ตามมาเสมอ สำหรับเด็กที่โตขึ้นมาหน่อย ลองตั้งงบค่าใช้จ่ายต่าง ๆ เช่น ข้าวของเครื่องใช้ เสื้อผ้า ความบันเทิง ถ้าเด็กใช้หมดก็คือหมด สิ่งสำคัญคือผู้ใหญ่ยังต้องทำหน้าที่ให้คำแนะนำพวกเขาอยู่ และสอนให้เก็บออมในตอนที่ยังมีเงินพอให้เก็บ การที่เด็กคนหนึ่งโตขึ้นแล้วเริ่มใช้บัตรเครดิตครั้งแรก หรือมีบัญชีธนาคารครั้งแรกตอนเริ่มทำงานหรือแยกออกมาใช้ชีวิตเอง แล้วคิดจะมาฝึกเอาตอนนั้นมันก็ช้าไปเสียแล้ว

ที่ผ่านมาเคยมีการศึกษาในประเด็นนี้โดย Ashley LeBaron และผู้ร่วมวิจัยจากมหาวิทยาลัย Brigham Young มีการสัมภาษณ์ผู้เข้าร่วมการทดลอง 115 คน รวมถึงนักศึกษามหาวิทยาลัย 90 คนที่มีอายุระหว่าง 18-30 ปี และพ่อแม่ ปู่ย่าตายายของนักศึกษาเหล่านั้น ทีมวิจัยจะถามนักศึกษาว่าพ่อแม่สอนเรื่องเงินไว้อย่างไรบ้าง ส่วนพ่อแม่และปู่ย่าตายายก็จะถูกถามคำถามเดียวกันว่าสอนอะไรให้ลูกหลานบ้าง ผู้เข้าร่วมทดลองส่วนใหญ่ตอบว่าสมัยเด็กผู้ใหญ่ที่บ้านเคยให้โอกาสตัวเองได้ลองมีประสบการณ์บางอย่างในเรื่องการใช้เงิน และคิดว่าประสบการณ์นั้นมีคุณค่ามาก เพราะช่วยให้พวกเขาได้เรียนรู้การบริหารเงินด้วยตัวเอง ส่วนคนที่ไม่เคยมีประสบการณ์แบบนี้มาก่อนก็หวังว่าจะมีประสบการณ์แบบนี้ในตอนเด็กบ้าง

 

ความรู้ทางการเงินช่วยให้มีชีวิตทางการเงินที่ดี

การศึกษาจำนวนมากยังระบุว่าความรู้ทางการเงินกับชีวิตทางการเงินที่ดีนั้นมีความสัมพันธ์กัน นักศึกษาที่ต้องเรียนหลักสูตรการเงินตั้งแต่อายุยังน้อยมีแนวโน้มที่จะใช้เงินกู้และเงินช่วยเหลือที่มีต้นทุนต่ำกว่าเมื่อพวกเขาต้องจ่ายค่าเล่าเรียน และจะพึ่งพาสินเชื่อเอกชนหรือบัตรเครดิตที่มีดอกเบี้ยสูง ๆ น้อยกว่า เมื่อโตเป็นผู้ใหญ่ คนที่มีความรู้ทางการเงินดีกว่าจะชำระหนี้ในแต่ละเดือนเร็ว มักจะจ่ายเงินกู้เต็มจำนวนและตรงเวลา มีหนี้และมีความเปราะบางทางการเงินน้อยกว่า และมีแนวโน้มจะเก็บเงินและวางแผนเพื่อการเกษียณ
ถ้าลูก ๆ ของคุณยังอายุน้อยอยู่ คุณยังมีโอกาสให้ประสบการณ์อันล้ำค่านี้แก่พวกเขา ทลายภาพลวงตาของเงินที่ดูเป็นนามธรรมในสังคมไร้เงินสดที่การใช้จ่ายทุกอย่างเป็นเรื่องง่าย ให้พวกเขาได้เห็นคุณค่าที่แท้จริงของเงิน ฝึกคิด ฝึกตัดสินใจ และเรียนรู้ว่าการใช้จ่ายนั้นจะมีผลลัพธ์ที่เป็นจริงตามมา

 

อ้างอิง
https://www.ted.com/talks/adam_carroll_what_playing_monopoly_with_real_money_taught_me_about_my_kids_and_humanity
https://www.cnbc.com/2021/04/05/giving-kids-an-early-financial-education-pays-off-in-the-future.html
https://www.sciencedaily.com/releases/2018/11/181127092523.htm

Share

Authors

Authors

RELATED POSTS