การเป็นตัวของตัวเองในที่ทำงาน ดีจริงหรือเปล่า

A A
Oct 21, 2021
Oct 21, 2021
A A

     ในโลกที่อัตลักษณ์ตัวตนคือสิ่งที่บ่งบอกว่าเราคือใคร ไม่แปลกที่เราต่างแสดงออกถึงความเป็นตัวของตัวเองกันอย่างเต็มที่ ไม่ว่าจะเป็นกับคนในครอบครัว เพื่อนฝูง หรือแม้แต่คนที่ทำงาน ในแง่หนึ่งการมีอิสระได้พูดสิ่งที่เราคิด หรือแสดงความรู้สึกที่อยู่ข้างในออกมาให้คนรอบข้างได้รับรู้ในตัวตนที่แท้จริงของเราเองนั้น ดูจะเป็นสิ่งที่ทุกคนปรารถนาด้วยกันทั้งสิ้น แต่ในสังคมการทำงานอย่างบริษัทที่บางแห่งอาจมีกฎเกณฑ์ มีความคาดหวังต่อการแสดงออกของพนักงานในทิศทางที่บริษัทอยากให้เป็น การที่เรายังรักษาตัวตนที่แท้จริงของเราอยู่ยังเป็นเรื่องที่ดีจริงหรือเปล่า

     อดัม แกรนต์ นักจิตวิทยาองค์กร โฮสต์รายการ WorkLife พอดแคสต์ของ TED บอกไว้ว่า ในอดีตเราเคยเชื่อกันว่า ให้ทิ้งตัวตนของเราไว้ที่บ้าน อย่าบอกเจ้านายว่าเราคิดอย่างไรกับไอเดียของเจ้านาย อย่าใส่เสื้อฮาวายในวันที่บริษัทไม่ได้นัดให้ใส่ แต่เดี๋ยวนี้สิ่งเหล่านี้มันเปลี่ยนไป เราให้ความสำคัญกับการมีอิสระ ได้เป็นตัวของตัวเองในที่ทำงานมากขึ้น

     แล้วความหมายของการเป็นตัวของตัวเองที่แท้จริงคืออะไร อดัมให้มุมมองว่า มันคือสิ่งที่เราคิด รู้สึกอยู่ภายใน แล้วเราแสดงสิ่งนั้นออกมาภายนอกอย่างไร ไม่ว่าจะเป็นการแสดงความรู้สึก ความคิดเห็นและไอเดีย มีหลักฐานว่า ถ้าเราได้แสดงความคิดและความรู้สึกของเราออกมา เราจะมีพลังเพิ่มขึ้น รวมถึงมีประสิทธิภาพในการทำงานที่ดีขึ้นอีกด้วย ในทางตรงข้าม หากเราไม่สามารถเป็นตัวของตัวเองได้ เราจะรู้สึกเครียดและหมดแรง

เราอาจยอมเลือกที่จะเงียบ เมื่อเจอผู้นำองค์กรที่

     งานวิจัยในอเมริกาเหนือพบว่า พนักงาน 1ใน 3 รู้สึกกดดันที่ต้องปิดบังค่านิยมของตัวเอง แล้วทำเป็นเห็นด้วยกับค่านิยมขององค์กร เพราะกลัวอะไรหลายๆ อย่าง เช่น กลัวว่าตัวเองจะไม่ได้รับการเลื่อนตำแหน่งถ้าบริษัทเกิดรู้ว่าเราให้ความสำคัญกับการเป็นพ่อแม่มากแค่ไหน กลัวจะถูกมองว่าเป็นพวกหัวรุนแรงถ้าใส่เสื้อผ้าที่บ่งบอกให้รู้ว่านับถือศาสนาอะไร กลัวว่าจะพูดอะไรขัดกับทัศนคติขององค์กรในเรื่องความยุติธรรมทางสังคมและความยั่งยืนทางสิ่งแวดล้อม กลัวจะถูกเข้าใจผิด สังคมจะไม่ยอมรับถ้าเปิดเผยประสบการณ์ส่วนบุคคลในเรื่องความไม่เสมอภาคและการล่วงละเมิดเล็กๆ น้อยๆ ในที่ทำงาน

     อย่างไรก็ตาม งานวิจัยชิ้นหนึ่งกลับพบว่า แม้ว่าองค์กรจะมีค่านิยมที่ขัดกับความคิดของพนักงาน แต่ถ้าผู้นำองค์กรเป็นคนที่ซื่อสัตย์ พนักงานก็มีแนวโน้มจะยอมทำตามองค์กรมากขึ้น เพราะคนเราจะให้ความเคารพผู้นำที่ซื่อสัตย์ ถึงขั้นที่อาจจะยอมไม่แสดงความเห็นของตัวเองออกมา เพื่อเป็นการตอบแทนผู้นำที่ดี

ในชีวิตจริงหลายครั้งเราอาจเจอสถานการณ์ที่รู้สึกว่าต้องพยายามเป็นคนที่สังคมอยากให้เป็น เช่น ตอนสัมภาษณ์งาน พิตช์งาน จะนำเสนอตัวเองอย่างไรให้คนอื่นถูกใจ การพยายามเป็นคนที่เราไม่ได้เป็นจริงๆ แบบนี้กลับยิ่งเพิ่มความกังวล และลดความสามารถของเราลง 

     แม้ว่าการได้เป็นตัวของตัวเองในจะมีข้อดีหลายๆ อย่าง แต่ก็มีงานศึกษาอีกชิ้นโดยนักจิตวิทยาที่ดูจะให้ผลตรงข้ามกับความเชื่อของเราเลย เขาทำการศึกษาคนกว่า 20,000 คน พบว่ายิ่งเราโฟกัสกับตัวเองที่ทำงานมากเท่าไร โอกาสที่จะประสบความสำเร็จก็จะยิ่งน้อยลง ประสิทธิภาพในการทำงานและโอกาสในการได้เลื่อนตำแหน่งก็จะน้อยลงด้วย งานศึกษาชิ้นนี้อาจทำให้เราต้องกลับมาตั้งคำถามว่า สมดุลของการเป็นตัวของตัวเองในที่ทำงานอยู่ตรงไหนกันแน่

 

การเป็นตัวของตัวเอง

 

ดาบสองคมของการเป็นตัวของตัวเอง

     สิ่งหนึ่งที่เราจำเป็นต้องรู้คือ การเป็นตัวของตัวเองอาจกลายเป็นดาบ 2 คมได้ทันที ถ้าเราไม่รู้ว่ามันส่งผลอะไรได้บ้าง ยกตัวอย่างง่ายๆ เช่น การแสดงความอ่อนไหวทางอารมณ์ จริงๆ แล้วไม่ใช่เรื่องเสียหาย มันทำให้เราดูเป็นมนุษย์มากขึ้น แล้วผู้คนก็มีแนวโน้มจะชอบอะไรแบบนี้ด้วย แต่สิ่งที่ควรรู้หากเราจะแสดงความอ่อนไหวทางอารมณ์ออกมาก็คือ มันจะได้ผลก็ต่อเมื่อเราเป็นคนที่เก่งจริงๆ เท่านั้น อีกทั้งคนอื่นก็ต้องเคยเห็นและรับรู้ในความสามารถของเรามาก่อน มิฉะนั้นมันจะให้ผลตรงข้าม ตัวอย่างเช่น การสัมภาษณ์งานทนายความ การเป็นตัวของตัวเองจะได้ผลเมื่อใบสมัครเราน่าสนใจมากๆ ชนิดที่ว่าติด 10% แรกของผู้สมัครที่น่าสนใจที่สุด ส่วนผู้สมัครที่อยู่ครึ่งหลังของใบสมัครทั้งหมด ถ้ายิ่งพยายามเป็นตัวของตัวเองมากเท่าไรก็จะยิ่งลดโอกาสในการได้งาน ไม่ใช่แค่เฉพาะอาชีพทนายเท่านั้น อาชีพครูก็เช่นกัน

ฉะนั้น คำแนะนำสำหรับการเป็นตัวของตัวเองแบบไม่ก่อให้เกิดผลเสียก็คือ

  1. เป็นตัวของตัวเองแบบมีขอบเขต ระมัดระวังว่าหากเราจะแสดงความอ่อนแอด้านไหนออกมา สิ่งนั้นต้องไม่ทำให้คนอื่นสงสัยในความสามารถของเรา ซึ่งต้องกลับมาถามตัวเองอีกรอบว่า เราเก่งจริงจนเป็นที่ประจักษ์หรือเปล่า
  2. การเป็นตัวของตัวเองต้องมาพร้อมกับ Empathy ต่อคนอื่น มิฉะนั้นเราจะกลายเป็นคนที่เห็นแก่ตัว แสดงพฤติกรรมที่ไม่เคารพคนอื่น

     คงจะดีไม่น้อย หากเราได้พูดสิ่งที่คิด ได้แสดงออกในสิ่งที่เรารู้สึกจริงๆ ออกมาให้คนอื่นได้รับรู้ว่าตัวตนที่แท้จริงของเราเป็นอย่างไร แต่ในเมื่อเรายังต้องทำงานและอยู่ร่วมกับผู้อื่นในสังคม การหาสมดุลระหว่างการเป็นตัวของตัวเองกับการแสดงออกอย่างเหมาะสมดูจะเป็นโจทย์สำคัญที่เราต่างต้องหาคำตอบและเรียนรู้กันไป

อ้างอิง

Share

Authors

Authors

RELATED POSTS