“วันนี้แม่โกรธกี่ครั้งต่อวัน” ไอเดียงานวิจัยเด็กประถมช่วงปิดเทอม

A A
Oct 17, 2021
Oct 17, 2021
A A

     จากการสำรวจโดย สสส. ร่วมกับชมรมนักวิจัยเพื่อความสุขชุมชน ปี 2561 เกี่ยวกับกิจกรรมที่เด็ก ๆ อยากทำในช่วงปิดเทอม ผลสำรวจจำนวน 1,760 ตัวอย่าง พบว่า กิจกรรมที่เยาวชนตั้งใจจะทำในช่วงปิดเทอม 3 อันดับแรก คือ เล่นมือถือ อินเทอร์เน็ต 71% ตามด้วยการไปเที่ยวต่างจังหวัด 53% และหางานพิเศษทำ 46% อันนี้น่าจะเป็นสถิติที่ใคร ๆ ก็เดาไม่ยากเลยใช่ไหมครับ ซึ่งในปีถัดมารัฐบาลจึงได้ร่วมมือกับเอกชน และภาคประชาสังคม รวมทั้งสิ้น 298 หน่วยงานจัดโครงการปิดเทอมสร้างสรรค์ เป้าหมายคือช่วยหากิจกรรมและตำแหน่งงานพาร์ทไทม์สำหรับเยาวชนครอบคลุมทั่วประเทศ และเก็บผลสำรวจออกมาได้ว่า อัตราการเล่นอินเทอร์เน็ตในช่วงปิดเทอมของเด็กลดลงจากปี 61 และอัตราการออกค่ายเพิ่มมากขึ้นจากเดิม ซึ่งนั่นก็น่าจะตอบโจทย์ในความพยายามของทุกหน่วยงานที่พยายามสรรหากิจกรรมสร้างสรรค์มาให้

     ทีนี้มาดูฟากเด็ก ๆ จากฝั่งญี่ปุ่นกันบ้าง ในช่วงปิดเทอมฤดูร้อนการบ้านอย่างหนึ่งที่เด็กญี่ปุ่นจะต้องทำส่งคุณครูก็คือ การค้นคว้าอิสระ หรือที่เรียกเป็นภาษาญี่ปุ่นว่า “จิยู เคงคิว” (自由研究) เป็นการบ้านที่ได้รับความนิยมในญี่ปุ่นและเคยมีการคัดเลือกผลงานวิจัยส่งประกวดในระดับประเทศของญี่ปุ่นด้วย ถึงแม้ว่าชื่อมันจะคือ งานวิจัย และดูเหมือนว่ามันจะเป็นการทำงานทางวิทยาศาสตร์อย่างจริงจัง แต่ในความเป็นจริงแล้ว จิยู เคงคิว ไม่ได้ถูกกำหนดหัวข้อให้เป็นพิเศษ แต่จะปล่อยให้เด็ก ๆ ได้คิด และสงสัยจากเรื่องใกล้ตัวเอง โดยสามารถหยิบยกสิ่งที่เด็กสนใจ และสอนให้เด็กได้ลองสังเกต เก็บข้อมูล และสรุปผล

วันนี้ขอยกตัวอย่างงานวิจัยของเด็กประถมที่ได้รับรางวัลระดับประเทศจากงานวิจัย เรื่อง “วันนี้แม่โกรธเขากี่ครั้งต่อวัน” โดยเขาเริ่มจากการสำรวจและสังเกตทุกครั้งที่แม่โกรธและเก็บข้อมูล

  • จำนวนครั้งที่แม่โกรธในแต่ละวัน
  • จำนวนครั้งที่แม่โกรธตามช่วงเวลา
  • จำนวนครั้งที่โกรธด้วยเหตุผลต่าง ๆ

แล้วบันทึกออกมาเป็นตารางและกราฟ โดยใช้เก็บข้อมูลเป็นเวลา 1 เดือน

    หนูน้อยเขียนสรุปงานวิจัยไว้ว่า “เนื่องจากจำนวนครั้งที่แม่โกรธมากที่สุดคือช่วงกลางคืน ดังนั้นผมคิดว่าผมต้องระวังมากเป็นพิเศษในช่วงกลางคืน และก็ได้เรียนรู้ว่าตัวผมนี่ช่างโดนแม่ดุบ่อยจริง ๆ ตอนกลางวันสังเกตได้ว่าคุณแม่จะโกรธน้อยครั้ง ทำไมกันนะ? แต่ก็สรุปได้ว่าน่าจะเป็นเพราะช่วงกลางวันเป็นช่วงเวลาที่ผมออกไปเล่นนั่นเอง ” และเด็กคนนี้ยังเล่าอีกว่าประโยชน์จากการที่ทำวิจัยนี้คือการที่ “เข้าใจได้ว่าตัวเองทำให้คนอื่นเดือดร้อนจริง ๆ เรื่องที่ควรทำแต่ทำไม่ถูกต้องแม่ก็จะโกรธ ไม่น่าเชื่อว่าในระยะเวลา 1 เดือนจะถูกแม่ดุถึง 51 ครั้ง รู้สึกตกใจจริง ๆ และการที่แม่โกรธตอนเช้ากับตอนเย็นต่างกัน 1 เท่าตัว”

     นอกจากการสำรวจแล้ว ยังสามารถทำออกมาได้อีกหลายรูปแบบ ทั้งงานประดิษฐ์ งานฝีมือ การทดลอง การเฝ้าดู สังเกตการณ์ และในประเทศญี่ปุ่นยังมีการเยี่ยมชมอีกด้วย มีโรงงานหลายแห่งที่เปิดให้นักเรียนเข้าชมขั้นตอนการผลิต  การทำงานต่างๆ  รวมไปถึงหน่วยงาน บริษัทเอกชน โรงแรม ศูนย์วิจัย ฯลฯ  หลากหลายประเภทที่เปิดโอกาสให้เด็ก ๆ ได้เห็นการทำงานจริงตั้งแต่ยังเด็กเพื่อต่อยอดอนาคต  หลังจากเด็ก ๆ เปิดเทอมก็ได้มีการจัดแสดงการวิจัยของเด็ก ๆ ทั้งในส่วนของระดับห้องเรียน โรงเรียน และมีการส่งผลงานไปประกวดระดับจังหวัด และระดับประเทศ อย่างตัวอย่างที่ยกให้มาของเด็กประถมคนนี้ได้รับรางวัลในระดับจังหวัดและระดับประเทศอีกด้วย

กิจกรรมช่วงปิดเทอมนี้ดีมากในการเสริมทักษะให้กับเด็ก ๆ มากมาย ทำให้ได้คิดและลงมือทำในสิ่งที่อยากทำ 

  • ทำให้เด็กเกิดการตั้งคำถาม จนไปสู่การสืบค้น
  • ทำให้เด็กเกิดการสังเกต สำรวจ และเรียนรู้จะเก็บข้อมูล

     สิ่งที่เด็กได้จากการสรุปข้อมูลวิจัยทำให้เขาได้ฝึกการคิดอย่างเป็นเหตุเป็นผลตามขั้นตอนและการคิดเพื่อแก้ไขปัญหา ไม่ใช่เพียงการคิดเพื่อหัวข้อวิจัย ซึ่งมันจะติดตัวเด็กไปถึงการนำไปปรับใช้ในชีวิตประจำวันด้วย

     ซึ่งการวิจัยไม่มีถูกหรือผิด การที่เด็กได้ตั้งคำถามและหาคำตอบนำไปสู่การเสริมสร้างความมั่นใจในตัวเองและกล้าแสดงออกอีกด้วย

     จะเห็นได้ว่า การเรียนรู้ไม่ได้เน้นที่ผลลัพธ์หรือคะแนนสอบเพียงอย่างเดียว แต่กระบวนการก็เป็นขั้นตอนสำคัญ และทุกสิ่งรอบตัว ไม่ว่าจะเป็นเรื่องเล็กน้อยแค่ไหนก็พัฒนาการเรียนรู้ให้เด็ก ๆ ทั้งหมด ไอเดียเหล่านี้คุณครูสามารถนำไปลองปรับใช้ในห้องเรียนเพื่อเสริมพัฒนาการให้เด็ก ๆ ได้ และ ผู้ปกครองยังช่วยชี้แนะ ช่วยเหลือ เป็นกำลังใจลูก ๆ และใช้เวลากับครอบครัวไปในตัวอีกด้วย

อ้างอิง

Share

Authors

Authors

RELATED POSTS