Let the child be the guide ให้เด็กเป็นครูของตัวเอง

A A
Nov 24, 2021
Nov 24, 2021
A A

ช่วงเวลาสำคัญที่สุดของการเรียนรู้อยู่ที่ไหน การศึกษาแบบไหนกันที่เราควรได้รับ นี่คือคำถามที่เกิดขึ้นในใจคนเป็นพ่อแม่และครูทั่วโลก อเล็กชองดร์ มูโรต์ ผู้กำกับชาวฝรั่งเศส ใช้เวลาหนึ่งปีเต็มในการหาคำตอบที่โรงเรียนชานดาร์ก เมืองรูแบ ประเทศฝรั่งเศส ที่ใช้แนวทางการสอนแบบมอนเตสซอรี ในชั้นเรียนของคริสตียง มาเรแชล ผ่านหนังสารคดี Let the child be the guide ที่เมื่อได้ดูแล้วจะเปลี่ยนความคิดความเชื่อที่เราเคยมีต่อเด็กๆ ไปอย่างสิ้นเชิง

สารคดีเรื่องนี้ตามติดการเรียนรู้ของเด็กต่างวัยในห้องเรียนเดียวกัน ตั้งแต่อายุ 2 ขวบครึ่งถึง 6 ขวบ ในห้องเรียนที่เต็มไปด้วยข้าวของเครื่องใช้ในชีวิตประจำวัน เช่น แก้วน้ำ เหยือกน้ำ กรรไกร มีด ซึ่งมีขนาดพอดีมือเด็กๆ ไว้ให้ใช้ “ทำงาน” ใช่แล้ว สารคดีเรื่องนี้เลือกใช้คำว่า ทำงาน แทน “เล่น” อย่างที่เราคิดว่ามันควรจะเป็น สิ่งที่อเล็กชองดร์เห็นคือ เด็กทุกคนล้วนทำงานไม่ต่างจากผู้ใหญ่ พวกเขาจะเดินเข้าไปหากิจกรรมอะไรสักอย่างที่ตัวเองสนใจ แล้วลงมือทำอย่างจดจ่อและจริงจังเอามากๆ

บทเรียนจากแอปเปิ้ล
เด็กบางคนสนใจการหั่นผลไม้ เขาใช้เวลาอยู่นานกับการลงมือหั่นแอปเปิ้ลลูกหนึ่ง เพราะการใช้ที่หั่นนี้จำเป็นต้องกดน้ำหนักให้มากพอ แต่เพราะเด็กยังตัวเล็กอยู่ แรงเลยไม่ได้มีเยอะเท่าผู้ใหญ่ เขาจึงใช้เวลาอยู่นานจนเราต้องเอาใจช่วย คำถามคือถ้านี่ไม่ใช่ห้องเรียน แต่เป็นบ้านของเราเอง เราจะทำอย่างไรกับเหตุการณ์นี้ แน่นอนว่าเราจะรีบเข้าไปช่วยเด็กด้วยเหตุผลง่ายๆ ว่า ทำเองง่ายกว่า ไวกว่า โดยไม่เราไม่รู้ตัวเลยว่าความหวังดีของเราอาจเป็นอันตรายต่อเด็กโดยไม่รู้ตัว เรากำลังคิดแทนเขาว่าเขาต้องการความช่วยเหลือ ทั้งๆ ที่เด็กไม่ได้เอ่ยปากขอ คิดว่าเขาดูลำบากจังเลย หั่นไม่เข้าสักที อะไรเป็นอันตรายกันแน่ ระหว่างการปล่อยให้เด็กทำอะไรด้วยตัวเอง หรือการคิดแทนเขา

สิ่งมหัศจรรย์ในตัวเด็ก
เมื่อเราเฝ้าสังเกตเด็กๆ เราจะได้เห็นอะไรที่น่าสนใจหลายอย่าง เช่น

  • เด็กชอบทำงาน เพราะเป็นธรรมชาติของเขา และเป็นธรรมชาติของมนุษย์
  • เด็กจะไม่ช่วยเหลือกันแบบที่ผู้ใหญ่ทำ แต่จะช่วยเหลือกันเมื่อจำเป็นเท่านั้น แสดงว่าเด็กเรียนรู้ว่าต้องเคารพกัน เพราะไม่อยากให้ใครช่วยโดยไม่จำเป็น
  • เด็กมุ่งมั่นมากที่จะแก้ปัญหาให้ได้ ยอมรับความท้าทายและทุ่มเทซ้ำเป็นสองเท่า แต่เรากลับประเมินเด็กต่ำเกินไป
  • เด็กจะจดจ่อกับคำพูดได้ยากมาก แต่จดจ่อกับสิ่งของได้ง่ายมาก
Let the child be the guide

ภาพจากซีรีส์ : Let the child be the guide

หลังจากการหมั่นสังเกตการทำงานของเด็กๆ อเล็กชองดร์ได้เรียนรู้สิ่งสำคัญที่น่าจะเป็นประโยชน์ต่อพ่อแม่และครูในฐานะคนดูแลใกล้ชิดเด็กๆ ดังนี้

  • เด็กทุกคนจะมี “ช่วงเรียนรู้ไว” ที่จะเกิดขึ้นในช่วงสั้นๆ และจบลงตามธรรมชาติเมื่อพ้นวัย ช่วงเวลานี้ถือได้ว่าเป็นช่วงเวลาหลักของชีวิต ผู้ใหญ่จะต้องสังเกตช่วงนี้ให้เจอ
  • การเคลื่อนไหวคือหัวใจสำคัญที่ทำให้เด็กมีสมาธิ เด็กจดจ่อกับสิ่งเดียวไม่ได้ เพราะมีสิ่งเร้าความสนใจมากมาย
  • สมาธิเป็นรากฐานของการเรียนรู้และการพัฒนาศักยภาพ สิ่งที่เด็กได้อย่างแรกคือความรู้ สองคือสนุกกับการฝึกฝนซ้ำๆ เหมือนการดื่มน้ำ จิบอีกเดียวไม่อิ่ม ต้องดื่มหมดแก้ว เด็กต้องได้ตอบสนองความกระหายภายในของตน เราต้องไม่รีบแย่งแก้วใบนั้นมาจากเด็กด้วยการไปหยุดเขา เพราะคิดว่าทำเป็นแล้ว พอแล้ว
  • สิ่งสำคัญของการศึกษาไม่ใช่หลักสูตรใดๆ แต่ต้องเริ่มที่ตัวตนเด็ก เราต้องเชื่อมั่นในเด็กทุกคน ไม่ว่าเขาจะมีพัฒนาการช้าหรือเร็ว

บทบาทของผู้ใหญ่อยู่ที่ไหนในการเรียนรู้แบบนี้
ในเมื่อการเรียนรู้ของเด็กๆ เกิดจากการลงมือทำงานที่สนใจอย่างจดจ่อ เราอาจเกิดคำถามว่าแล้วบทบาทของครูและพ่อแม่อยู่ที่ไหนในการเรียนรู้แบบนี้ อะไรคือสิ่งที่เราควรทำเพื่อสนับสนุนพวกเขา

  • เคารพนับถือเด็กด้วยการสนับสนุนให้เขาพึ่งตนเอง มิฉะนั้น จะเท่ากับชะลอพัฒนาการและบั่นทอนความมั่นใจของเขา การปล่อยให้เด็กทดลองและค้นพบศักยภาพของตัวเองคือการพิสูจน์ให้เห็นว่าเรารักและเชื่อมั่นในตัวเขา
  • เตรียมสภาพแวดล้อมที่ปลอดอุปสรรค สวยงาม และปลอดภัย เพราะความสวยงามดึงดูดให้เกิดกิจกรรมและการงาน อุปกรณ์ควรมีจำกัด การมีมากเกินจำเป็นจะเบี่ยงเบนความสนใจของเด็ก
  • นักการศึกษาต้องทิ้งความคิดเดิม ไม่ยัดเยียดกิจกรรมของตน แต่กระตุ้นให้เกิดจากตัวเด็ก เราเป็นผู้ชม ให้เด็กเป็นผู้ทำ แทนที่จะทะนงตนว่าเป็นที่พึ่งพาให้เด็ก เราต้องอ่อนน้อมถ่อมตน
  • เมื่อเด็กขอความช่วยเหลือเพราะพยายามเองแล้ว แต่ไม่สำเร็จ เราไม่ควรเข้าไปช่วยทันที ลองปล่อยให้เด็กได้เป็นครูของตัวเอง
  • ลดความเจ้ากี้เจ้าการลง วิธีการสอนที่ดีที่สุดคือการสังเกต จะทำให้ครูรู้ว่าเด็กคนไหนเข้าสู่ช่วงเรียนรู้ไว พยายามไม่แทรกแซง ไม่ทำลายสมาธิหรือสร้างอุปสรรค เด็กจะสร้างตัวตนได้อย่างราบรื่น

ข้อดีของการเรียนรู้แบบนี้
Angeline Lillard ศาสตราจารย์ด้านจิตวิทยา มหาวิทยาลัยเวอร์จิเนีย ผู้เขียนหนังสือ Montessori: The Science Behind the Genius ได้ทำการวิจัยโรงเรียนในแนวทางนี้เป็นเวลา 15 ปี พบว่า การให้เวลานักเรียนแต่ละคนได้ทำงานของตัวเองโดยไม่มีการรบกวนตลอด 3 ชั่วโมงในตอนเช้า จะช่วยพัฒนา EF ได้ดี เช่น การจดจ่อกับงาน การบริหารเวลาอย่างมีประสิทธิภาพ ซึ่งได้รับการพิสูจน์แล้วว่าจะช่วยเด็กๆ ได้ดีทั้งในโรงเรียนและในชีวิตประจำวัน ยิ่งไปกว่านั้น การที่นักเรียนสามารถเคลื่อนไหวได้รอบห้องก็ยังช่วยกระตุ้นการเรียนรู้ และพัฒนาความสามารถทางวิชาการ ขณะที่กิจกรรมต่างๆ ในห้องเรียนก็ให้อิสรภาพกับนักเรียน ช่วยสร้างแรงจูงใจและการมีส่วนร่วมมากยิ่งขึ้น

ช่วงเวลาสำคัญที่สุดของการเรียนจึงไม่ใช่เมื่อเด็กโตขึ้นแล้วเข้ามหาวิทยาลัย แต่เป็นช่วงปฐมวัยคือตั้งแต่แรกเกิดถึง 6 ขวบ เป็นช่วงที่ก่อเกิดสติปัญญา ซึ่งเป็นเครื่องมือสำคัญของมนุษย์ และเป็นช่วงประสานจิตวิญญาณกับร่างกาย แล้วเราจะปล่อยให้โอกาสทองเหล่านี้ผ่านไปโดยไร้ประโยชน์ได้อย่างไร สิ่งที่ดีที่สุดที่ผู้ใหญ่มอบให้พวกเขาได้คือ การเปิดโอกาสให้เด็กตัวน้อยได้เป็นครูของตัวเอง

อ้างอิง

Tag

Share

Tag

Share

Authors

Authors

RELATED POSTS