เราจะสร้างความเชื่อใจในสังคมได้อย่างไร

A A
Nov 21, 2021
Nov 21, 2021
A A

วันนี้เราจะมาเล่นเกมกันครับ

เมื่อ 2-3 อาทิตย์ก่อน ผมได้อ่านบทวิเคราะห์ของสถาบันวิจัยเศรษฐกิจป๋วย อึ๊งภากรณ์ เกี่ยวกับความเปราะบางของสังคมไทย โดยเฉพาะเรื่องความขัดแย้งและความไม่สมานฉันท์ ในบทความบอกว่า ประเทศที่มีระดับความไว้เนื้อเชื่อใจระหว่างกันน้อย จะมีระดับการลงทุนและการเติบโตทางเศรษฐกิจในระยะยาวที่ต่ำ และคะแนนความเชื่อใจของคนในสังคมไทยก็ลดลงอย่างต่อเนื่อง จาก 41 คะแนน (เต็ม 100) ในปี 2008 เหลือ 30 คะแนนในปี 2018 เสียด้วย

อ่านแล้วก็รู้สึกกังวล และเกิดความสังสัยว่า จะมีทฤษฎีอะไรที่สามารถอธิบายปรากฏการณ์ดังกล่าว หรือบอกได้ว่าต้องทำยังไง ถึงจะสร้างความไว้เนื้อเชื่อใจในสังคมได้

หลังจากกูเกิลพักใหญ่ ก็ไปเจอเกมวิวัฒนาการของความเชื่อใจ (The Evolution of Trust) ที่ให้เล่นฟรีออนไลน์ ผมลองเล่นแล้ว ใช้เวลาประมาณครึ่งชั่วโมง สนุกและได้ความรู้มากๆ เลยอยากแนะนำให้ใครที่สนใจเรื่องนี้ และภาษาอังกฤษพอไหว ลองเล่นดูที่ https://ncase.me/trust (ในเว็บยังไม่มีแปลภาษาไทยนะครับ โปรแกรมเมอร์คนไหนอยากเป็นตัวแทนทีมไทย ก็กดลิงก์ “add one!” ที่มุมล่างซ้ายของเว็บ เพื่อช่วยแปลได้)

ผมขอเล่าให้ฟังคร่าวๆ ละกันว่า เกมนี้เป็นอย่างไร และช่วยให้เราเข้าใจเรื่องความไว้ใจในสังคมได้อย่างไร (แต่เล่นเอง สนุกสุด)

[ เกมวิวัฒนาการของความเชื่อใจ ]

เกมนี้มีที่มาจาก เกมความลำบากใจของนักโทษ (prisoner’s dilemma) ซึ่งน่าจะเป็นเกมที่โด่งดังที่สุดในวิชาทฤษฎีเกม ใครที่รู้จักเกมนี้อยู่แล้ว ก็อย่าเพิ่งเซ็งเด็ดขาด เพราะเกมที่เราจะเล่นวันนี้ ซับซ้อนและมันกว่าหลายขั้น!

กติกาคือ ให้ผู้เล่นสองคนที่ไม่เห็นหน้ากัน เลือกว่าจะส่งเงินให้ฝั่งตรงข้ามหรือไม่ ถ้าส่ง ตัวเองก็จะเสียเงิน 1 หน่วย ส่วนอีกฝั่งจะได้รางวัลเป็นเงิน 3 หน่วย

คำถามคือ ผู้เล่นควรจะ ร่วมมือส่งเงิน หรือ โกงไม่ส่ง

ถ้าทั้งคู่ร่วมมือกัน ก็จะได้เงินคนละ 2 (เสียไป 1 แต่ได้คืนมา 3)

ถ้าคนหนึ่งร่วมมือ แต่อีกคนโกง คนร่วมมือก็จะเสีย 1 ส่วนคนโกงจะได้ 3

ถ้าโกงทั้งคู่ ก็จะไม่มีใครได้ หรือเสียอะไร

ผลลัพธ์ของความเป็นไปได้ทั้ง 4 กรณี เขียนง่ายๆ ได้แบบด้านล่าง

(ร่วมมือ, ร่วมมือ) : (+2, +2)
(ร่วมมือ, โกง) : (-1, +3)
(โกง, ร่วมมือ) : (+3, -1)
(โกง, โกง) : (0, 0)

แม้จะเห็นๆ อยู่ว่า ถ้าร่วมมือกัน ทั้งคู่จะได้ประโยชน์ แต่ถ้าต้องเล่นเกมนี้จริงๆ กลยุทธ์ที่ดีที่สุดก็คือ “โกง”

เพราะถ้าเราโกง ยังไงก็ไม่เสียเงินแน่ๆ ยิ่งถ้าอีกฝ่ายร่วมมือ ก็ยิ่งดี เราจะได้เงินอีก +3

แน่นอนว่าฝั่งตรงข้ามก็ไม่ได้โง่ เขาก็จะโกงเหมือนกัน

ดังนั้น ความร่วมมือก็จะไม่เกิด

ถึงตอนนี้ ผลที่ได้คล้ายกับเกมความลำบากใจของนักโทษเลยใช่ไหมครับ แต่…

อะไรจะเกิดขึ้น ถ้าเราต้องเล่นเกมนี้หลายๆ ตา

[ กลยุทธ์ในการเล่นเกมหลายตา ]

คราวนี้เราจะเล่นเกมนี้กัน 10 ตา โดยให้ผู้เล่น 5 คน ที่ใช้กลยุทธ์ต่างกัน เล่นแบบทัวร์นาเมนต์พบกันหมด แล้วดูว่า หลังจากจบทัวร์นาเมนต์ ผู้เล่นคนไหนจะได้เงินมากที่สุด

ก่อนอื่น ขอแนะนำผู้เล่นทั้ง 5 ก่อน

“คนซื่อ” ผู้ที่จะร่วมมือเสมอทุกครั้ง
“คนโกง” ผู้ที่จะโกงทุกครั้ง
“จอมเลียนแบบ” ผู้ที่จะร่วมมือก่อนในตาแรก หลังจากนั้น จะเลือกตามที่อีกฝั่งทำกับตัวเองในตาที่แล้ว
“คนคิดแค้น” ผู้ที่จะร่วมมือไปเรื่อยๆ จนกว่าจะโดนโกง แต่ถ้าโดนโกงสักครั้ง จะแค้นและโกงคืนตลอดไป
“นักสืบ” จะทดสอบฝ่ายตรงข้ามก่อน โดยเล่น 4 ตาแรกแบบ ร่วมมือ, โกง, ร่วมมือ, ร่วมมือ ถ้าไม่โดนโกงกลับเลย ก็จะแปลงร่างเป็น คนโกง (เพราะเห็นว่าอีกฝ่ายอ่อน) แต่ถ้าโดนโกงกลับ ก็จะแปลงร่างเป็น จอมเลียนแบบ

ทายสิครับว่า พอจบทัวร์นาเมนต์แล้ว ใครจะได้เงินมากที่สุด

แน่นอนว่าไม่ใช่ “คนซื่อ” เพราะโดน “คนโกง” และ “นักสืบ” เอาเปรียบ

“คนโกง” ก็ไปได้ไม่สวยเท่าไหร่ เพราะพอไปเจอ “จอมเลียนแบบ” หรือ “คนคิดแค้น” ก็จะโกงเขาได้แค่ตาแรกตาเดียว พอเขารู้ทัน ก็ทำเงินเพิ่มไม่ได้

ผู้ชนะในทัวร์นาเมนต์นี้ คือ “จอมเลียนแบบ” เพราะพอไปเจอคนดีๆ ก็จะร่วมมือกันตลอดทั้ง 10 ตา แต่พอไปเจอคนไม่ดี ก็จะหลงกลแค่ครั้งเดียว

“จอมเลียนแบบ” ใช้กลยุทธ์ที่หลายคนรู้จักในชื่อ ตาต่อตาฟันต่อฟัน (tit for tat) นั่นเอง

สิ่งที่เราเรียนรู้จากการเล่นทัวร์นาเมนต์ คือ เราจะต้องเล่นเกมหลายตา เล่นกันไปเรื่อยๆ “จอมเลียนแบบ” ถึงเป็นผู้ชนะได้ (ถ้าเล่นตาเดียว หรือ รู้ล่วงหน้าว่าจะเล่นกี่ตา ผู้เล่นจะโกงในตาสุดท้าย พอคิดว่าอีกฝ่ายคงคิดเหมือนกัน ก็จะรีบโกงก่อนหน้า พอยิ่งคิดซ้อนเข้าไปอีก ก็จะยิ่งรีบโกงเข้าไปอีก คิดไปคิดมา โกงกันหมด)

นั่นก็หมายความว่า เราต้องสร้างความสัมพันธ์ระหว่างกันในสังคมให้เป็นแบบยั่งยืน

หลังจบทัวร์นาเมนต์แล้ว เราจะดูต่อกันที่…ซีซั่น!

[ วิวัฒนาการของคนในสังคม ]

คราวนี้เราจะเริ่มจากลีกที่มีผู้เล่น 25 คน แข่งกันแบบทัวร์นาเมนต์ พอจบทัวร์นาเมนต์แล้ว เราจะคัด 5 อันดับท้ายทิ้ง โคลน 5 อันดับแรกสุดแทนที่ แล้วก็เริ่มซีซั่นใหม่ ทำอย่างนี้ไปเรื่อยๆ

เราจะดูว่า สุดท้ายแล้วผู้เล่นประเภทไหนจะเหลือรอดอยู่ในลีกของเรา

เราจะตั้งต้นด้วยลีกที่ประกอบด้วย “คนซื่อ” 15 คน, “คนโกง” 5 คน, และ “จอมเลียนแบบ” 5 คน

พอผ่านไป 3 ซีซั่น “คนซื่อ” ก็โดนเอาเปรียบจนล้มหายตายจากไปหมด เหลือแค่ “คนโกง” กับ “จอมเลียนแบบ”

ทายสิครับว่า พอเล่นต่อไป จนถึงทัวร์นาเมนต์ที่ 7 จะเกิดอะไรขึ้น

คำตอบคือ เหลือแต่ “จอมเลียนแบบ” ที่อยู่รอด!

“คนโกง” ตายเรียบ เพราะหาประโยชน์จากพวกเดียวกันไม่ได้ พอไปเจอ “จอมเลียนแบบ” ก็หลอกเขาได้ตาเดียว ส่วน “จอมเลียนแบบ” ช่วยเหลือซึ่งกันและกัน ทำให้แต่ละคนทำเงินได้สูง และไม่ถูกคัดออก

“จอมเลียนแบบ” นี่แข็งแกร่งจริงๆ แต่…จะเก่งแค่ในกติกาที่เฉพาะเจาะจงนี้หรือเปล่า

[ สิ่งแวดล้อมต้องเอื้อต่อการสร้างความเชื่อใจ ]

อะไรจะเกิดขึ้น ถ้าเราลองปรับกติกา เช่น เล่นเกม 3 ตา (จากเดิม 10 ตา) หรือ ปรับเงินรางวัลเป็น 2 เท่า (จากเดิม 3 เท่า)

แน่นอนว่า หน้าตาของผู้ชนะจะเปลี่ยนไปตามกติกาที่เปลี่ยนไป แต่ข้อสรุปสำคัญที่ได้ คือ ถ้าจะสนับสนุน “จอมเลียนแบบ” ให้เอาชนะ “คนโกง” ได้ เราต้องเล่นเกมหลายตาเพียงพอ และให้เงินรางวัลในการร่วมมือมากพอ (อยากรู้รายละเอียด ต้องเล่นเอง)

เรื่องน่าสนใจอีกเรื่องก็คือ จะเกิดอะไรขึ้น ถ้าเราใส่โอกาส “สื่อสารผิดพลาด” เข้าไปในเกมด้วย (เช่น ตั้งใจร่วมมือ แต่เกิดความผิดพลาด ทำให้อีกฝ่ายเข้าใจผิดว่าโกง) ซึ่งเรื่องแบบนี้ก็เกิดขึ้นได้ในชีวิตประจำวันใช่ไหมล่ะ

การสื่อสารผิดพลาดทำให้ “จอมเลียนแบบ” สับสน เพราะพอเห็นฝั่งตรงข้ามโกงมา (โดยไม่ตั้งใจ) ก็โกงกลับทันที และถ้าอีกฝั่งเป็น “จอมเลียนแบบ” เหมือนกัน ก็จะโกงกลับคืนซ้ำอีก วนแบบนี้ไม่ที่สิ้นสุด

ในสภาพแวดล้อมที่มีโอกาสสื่อสารผิดพลาดเล็กน้อย (เช่น 5%) กลยุทธ์ที่ดีที่สุดคือ “จอมเลียนแบบผู้ให้โอกาส” ซึ่งให้โอกาสอีกฝ่ายโกงสองครั้งติดต่อกัน ก่อนที่จะโกงกลับ

แต่ถ้าสื่อสารผิดพลาดบ่อยๆ ผิดซ้ำผิดซาก (เช่น 15%) แบบนี้ “จอมเลียนแบบผู้ให้โอกาส” ก็อยู่ไม่ไหวเหมือนกัน ในกรณีนี้ ความเชื่อใจจะเกิดยาก และ “คนโกง” จะเพิ่มจำนวน ยึดครองลีกได้ในที่สุด

[ เราจะสร้างความเชื่อใจในสังคมได้อย่างไร ]

หลังจากที่เล่ามาซะยาว ผมขอสรุปบทเรียนในการสร้างความเชื่อใจในสังคม ที่ได้จากเกมนี้ละกัน

สานสัมพันธ์ระหว่างกันแบบยั่งยืน
สร้างรางวัลจากความร่วมมือให้สูง (win-win)
ลดการสื่อสารผิดพลาดน้อยที่สุด
ให้โอกาสคนอื่นผิดพลาดบ้าง แต่ก็อย่าซื่อเกิน

ถึงตรงนี้ คงพอมองออกแล้วใช่ไหมครับว่า ทำไมสังคมไทยถึงได้มีความเชื่อใจลดลง และจะต้องทำอย่างไรเพื่อช่วยกันพัฒนาความเชื่อใจในสังคม ไม่ว่าจะระหว่างภาคประชาชนด้วยกัน ภาคประชาชนกับภาคเอกชน หรือภาคประชาชนกับภาครัฐ

เรียบเรียงโดย: พรพุฒิ สุริยะมงคล

อ้างอิง:
https://bit.ly/3oGFypk
https://bit.ly/3CxnFyf

Share

Authors

Authors

RELATED POSTS