ผู้ใหญ่กับเด็ก ใครรู้เท่าทันสื่อมากกว่ากัน

A A
Jan 2, 2023
Jan 2, 2023
A A

ผู้ใหญ่กับเด็ก ใครรู้เท่าทันสื่อมากกว่ากัน

   

  • รอบตัวเราเต็มไปด้วยข้อมูลข่าวสารมากมายจากสื่อต่าง ๆ ทักษะการรู้เท่าทันสื่อจึงกลายเป็นทักษะสำคัญสำหรับคนทุกช่วงวัย
  • งานวิจัยพบว่า เกือบครึ่งของผู้ใหญ่ในอเมริกาไม่ได้เรียนทักษะการรู้เท่าทันสื่อมาก่อน และเด็กอเมริกันจำนวนไม่น้อยก็ไม่ได้มีทักษะนี้มากเท่าไร

 

    ทำให้เป็นมะเร็ง” จากป้าที่ส่งมาในไลน์กลุ่มครอบครัว เห็นน้าแชร์ข่าว “ผลไม้ที่มีฤทธิ์เป็นด่างสามารถฆ่าโควิดได้” บน Facebook ลุงข้างบ้านโดนหลอกโอนเงินให้แก๊งค์คอลเซ็นเตอร์หมดไป 500,000 บาท สิ่งเหล่านี้ดูเหมือนจะกลายเป็นเรื่องที่เราพบเห็นได้ทั่วไปจากผู้ที่มีอายุ 40-50 ปีขึ้นไปจนถึงผู้สูงอายุ เราอาจจะโทษพวกเขาว่า ไม่รู้เท่าทันเทคโนโลยี ไม่รู้ทันภัยสังคม แต่ถ้ามองในอีกแง่ มันอาจสะท้อนให้เราเห็นถึงการศึกษาในอดีตเมื่อครั้งที่ลุง ป้า น้า อาของเรายังเป็นนักเรียน บางโรงเรียนในยุคนั้นอาจจะยังไม่ได้สอนทักษะสำคัญบางอย่างให้พวกเขา ซึ่งกลายเป็นทักษะที่สำคัญมากในยุคนี้ และไม่ได้สำคัญกับคนที่เริ่มมีอายุแล้วเท่านั้น แต่ยังสำคัญกับเด็ก ๆ ที่จะเติบโตไปเป็นผู้ใหญ่ในอนาคตอีกด้วย ใช่แล้ว ทักษะที่ว่านี้ก็คือ ทักษะการรู้เท่าทันสื่อนั่นเอง

 

 เกือบครึ่งของผู้ใหญ่ในอเมริกาไม่ได้เรียนทักษะการรู้เท่าทันสื่อ

ปัจจุบันเราอาจจะให้ความสำคัญกับทักษะการรู้เท่าทันสื่อในเด็กมากกว่า เพราะรู้ว่าสื่อจะเข้ามามีบทบาทกับชีวิตในปัจจุบันและอนาคตของเขามากแค่ไหน จนเราอาจจะมองข้ามบางอย่างไปว่า คนที่เติบโตมาในยุคที่เทคโนโลยีบางอย่างยังไม่เกิด เขาอาจจะไม่เคยได้เรียนรู้ทักษะเหล่านี้มาก่อน ผลลัพธ์จึงเป็นอย่างที่เราเห็น เปิดไลน์มาเราก็ได้รับ Fake News จากคนใกล้ตัว เรื่องแบบนี้ไม่ได้เกิดขึ้นเฉพาะในประเทศเราเท่านั้น

แม้แต่ในประเทศพัฒนาแล้วอย่างอเมริกาก็พบข้อมูลว่า เกือบครึ่งของผู้ใหญ่อายุ 19-81 ปี ไม่ได้เรียนทักษะการรู้เท่าทันสื่อในสมัยที่เรียนมัธยมฯ ถ้าดูที่อายุเฉลี่ยของผู้ตอบแบบสอบถามแล้วจะอยู่ที่ 41 ปี

ผู้ใหญ่จำนวนไม่น้อยขาดทักษะรู้เท่าทันสื่อ

 

การสำรวจนี้เกิดขึ้นระหว่างเดือนพฤษภาคมถึงมิถุนายน ปี 2022 โดยมีผู้ใหญ่ 541 คนเข้าร่วม ในนี้มีผู้ที่จบการศึกษาระดับปริญญาตรีหรือสูงกว่า 65% เมื่อถูกถามว่า เคยได้รับการสอนให้วิเคราะห์ข่าววิทยาศาสตร์เพื่อดูอคติและความน่าเชื่อถือของข่าวหรือไม่ ผู้ตอบแบบสอบถาม 46% ตอบว่า ไม่ ขณะที่ 42% บอกว่า เคย และอีก 11% บอกว่า ไม่แน่ใจ ซึ่ง 38% ของผู้ตอบแบบสอบถามบอกว่า พวกเขาได้เรียนรู้วิธีวิเคราะห์ข้อความในสื่อตอนเรียนมัธยมฯ เช่น ดูว่าโฆษณาหรือรายการทีวีส่งผลต่อความคิด ความเชื่อ ความรู้สึก หรือการกระทำของผู้คนอย่างไร 

 

ในเดือนธันวาคม 2016 Pew Research Center ยังพบข้อมูลว่า ผู้ใหญ่เกือบ 1 ใน 4 ยอมรับว่า เคยแชร์ข่าวปลอม และส่วนใหญ่ไม่ทราบว่า ข่าวนั้นเป็นข่าวปลอม จะเห็นได้ว่า ไม่ว่าเราจะมีญาติผู้ใหญ่อยู่ที่มุมไหนของโลก โอกาสที่เราจะได้รับข่าวปลอมนั้นเกิดขึ้นได้ง่ายมาก

 

ทำไมการรู้เท่าทันสื่อถึงเป็นเรื่องยาก

ประเด็นที่เพิ่มความท้าทายให้การรู้เท่าทันสื่อในผู้ใหญ่เป็นเรื่องยากขึ้น อาจเป็นเพราะคำนี้มีความหมายที่กว้างมาก มันไม่ใช่การที่เรารู้ว่า จะตรวจสอบความถูกต้องของข้อมูลที่ได้รับมาอย่างไรเท่านั้น แต่ยังยังรวมไปถึงการมีความเข้าใจในระบบสื่อ ซึ่งรวมถึงข่าวทีวี ข่าวดิจิทัล หรือข่าวบนสื่อสิ่งพิมพ์ โซเชียลมีเดีย โฆษณา พอดแคสต์ วิดีโอเกม รวมถึงอะไรก็ตามที่สามารถส่งสารได้ว่า สิ่งเหล่านี้ทำงานอย่างไรเพื่อหล่อหลอมเราในฐานะปัจเจกบุคคลและในฐานะสังคม เมื่อสื่อมีหลากหลายรูปแบบมากขึ้น ความยากก็ยิ่งเพิ่มทวีคูณ 

สำหรับในบ้านเราเคยมีการวิจัยสำรวจการรับรู้ข่าวปลอมที่เกี่ยวข้องกับสุขภาพของผู้สูงอายุ โดยคณะนิเทศศาสตร์และนวัตกรรมการจัดการ สถาบันบัณฑิตพัฒนบริหารศาสตร์ (นิด้า) ร่วมกับกองทุนพัฒนา สื่อปลอดภัยและสร้างสรรค์ (สสส.) โดยสำรวจกลุ่มผู้สูงอายุวัย 60 ปีขึ้นไป จำนวน 817 คน เมื่อเดือนเมษายน 2564 พบว่า ผู้สูงอายุต้องการข้อมูลเกี่ยวกับสุขภาพในระดับมาก และเห็นว่าข่าวสุขภาพที่เผยแพร่ในสื่อออนไลน์มีความทันสมัย และมีรูปแบบการเขียนที่น่าสนใจติดตาม

ผู้ตอบแบบสอบถามถึง 70% เชื่อข่าวปลอมที่เกี่ยวกับสุขภาพ โดยเฉพาะเรื่องที่เกี่ยวกับมะเร็งและโรคโควิด โดยเชื่อว่า สื่อที่มีข่าวปลอมมากที่สุด คือ เฟซบุ๊ก ตามด้วยไลน์ และสื่อโทรทัศน์ ผลการสำรวจยังพบว่า ผู้สูงอายุ 66.2% แชร์ข่าวปลอมเพื่อเตือนคนใกล้ตัว ขณะที่ 54.7% เพิกเฉย ไม่สนใจ เลื่อนข้ามไป และมีเพียง 24.5% ที่ตรวจสอบหาข้อเท็จจริง โดยการสอบถามจากคนใกล้ชิด อ่านความเห็นในโพสต์ ข่าว และค้นหาบทความที่คล้ายคลึงกันในเว็บไซต์

 

คะแนนการรู้เท่าทันสื่อของเด็กยุคใหม่

อ่านมาถึงตรงนี้ เราอาจจะคิดว่า เด็กรุ่นใหม่ที่เป็น Digital native อาจจะมีทักษะนี้ดีกว่าผู้ใหญ่ แต่นักวิจัยจากมหาวิทยาลัยสแตนฟอร์ดก็พบว่า วัยรุ่นยังไม่สามารถแยกแยะข่าวปลอมออกจากข่าวจริงได้ งานวิจัยนี้จะให้นักศึกษา 3,450 คน ที่เรียนอยู่เกรด 9-12 ทำแบบฝึกหัด 6 ข้อ เพื่อทดสอบความสามารถของพวกเขาว่า จะสังเกตเห็นการอ้างสิทธิ์ปลอมในการฉ้อโกงผู้มีสิทธิ์เลือกตั้งหรือไม่ สามารถแยกแยะบทความข่าวจากโฆษณาบนเว็บไซต์ข่าวได้ไหม สังเกตเห็นไหมว่า มีการจัดตั้งกลุ่มการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศที่ไม่แสวงหากำไรโดยกลุ่มเชื้อเพลิงฟอสซิล และให้ลองตรวจสอบทวีตจากกลุ่มผู้สนับสนุน ผลที่ได้พบว่า ในแต่ละโจทย์ นักเรียนอย่างน้อย 2 ใน 3 ได้อันดับต่ำที่สุดจาก 3 ระดับ

ด้านฝั่งบ้านเราเองก็เคยมีการสำรวจสถานการณ์การรู้เท่าทันสื่อ สารสนเทศ และดิจิทัลของเด็กไทย อายุ 6-12 ปี ผ่านเว็บไซต์ www.midlkids.com ในโรงเรียนทั่วประเทศ 63 แห่ง มีเด็กเข้าร่วมตอบแบบสำรวจ 2,609 คน พบว่า เด็กอายุ 6–8 ปี มีคะแนนการรู้เท่าทันสื่อเฉลี่ยอยู่ที่ 73% ส่วนเด็กอายุ 9–12 ปี มีคะแนนอยู่ที่ 76% โดยที่การสำรวจถูกแบ่งออกเป็น 4 ด้านตามกรอบสมรรถนะ ได้แก่ 

ด้านที่ 1 เข้าถึงสื่อ สารสนเทศ และใช้เทคโนโลยีดิจิทัลอย่างปลอดภัยอยู่ที่ 56%

ด้านที่ 2 วิเคราะห์ วิพากษ์ และประเมินอยู่ที่ 73%

ด้านที่ 3 สร้างสรรค์เนื้อหาและข้อมูลอยู่ที่ 86%

ด้านที่ 4 ประยุกต์ใช้และสร้างการเปลี่ยนแปลงอยู่ที่ 71%

ผลการสำรวจชี้ให้เห็นว่า เด็กไทยมีทักษะในด้านการเข้าถึงสื่อน้อยกว่าทักษะในด้านอื่น

 

แม้ว่าในบ้านเราจะยังคงสนับสนุนให้มีการเพิ่มพูนทักษะการรู้เท่าทันสื่อมากยิ่งขึ้นทั้งในเด็กและผู้ใหญ่ เห็นได้จากการจัดหลักสูตรในโรงเรียนสำหรับเด็ก ๆ และหลักสูตรภายนอกสำหรับผู้ใหญ่ แต่นี่อาจเป็นหนึ่งในหลาย ๆ ปัญหาด้านการศึกษาที่เกิดขึ้นตั้งแต่อดีต แล้วยังคงสะท้อนผลมาถึงปัจจุบัน ยังมีปัญหาไหนอีกบ้างที่คุณคิดว่า มีความคล้ายคลึงกับเหตุการณ์นี้ที่หากเราไม่รีบแก้ไข เราอาจจะได้เห็นผลลัพธ์ของมันในอีกไม่นานนี้

 

 

อ้างอิง
https://www.edweek.org/teaching-learning/many-adults-did-not-learn-media-literacy-skills-in-high-school-what-schools-can-do-now/2022/09
https://www.connectsafely.org/medialiteracy/
https://www.prd.go.th/th/file/get/file/20220121d41d8cd98f00b204e9800998ecf8427e111356.pdf

Share

Authors

Authors

RELATED POSTS