EP.12 โลกการทำงานหมุนเร็ว หรือการเรียนตามไม่ทัน? ปรับด้วย 11 แนวคิด HIP: High Impact Educational Practices | สรุปให้รู้ ตามทันโลกการศึกษา

A A
Dec 23, 2022
Dec 23, 2022
A A

สรุปให้รู้ ตามทันโลกการศึกษา

EP.12 โลกการทำงานหมุนเร็ว หรือการเรียนตามไม่ทัน?
ปรับด้วย 11 แนวคิด HIP: High Impact Educational Practices

 

   ตอนนี้ใคร ๆ ก็บอกว่าการเรียนแค่ปริญญาตรี มันไม่เพียงพออีกแล้ว ทั้ง ๆ ที่เมื่อก่อนการศึกษาจนจบปริญญาตรี เป็นเรื่องยากในระดับหนึ่งเลยทีเดียว ลูกใครจบปริญญาตรีแทบจะปิดซอยเลี้ยง อวดไปสามบ้านแปดบ้าน แต่ในปัจจุบันกลับล้นตลาดซะอย่างนั้น เมื่อเด็กจบใหม่เพิ่มขึ้นทุกวัน และมีบริษัทเปิดรับพนักงานมากมายแต่ตัวเลขคนจบใหม่ระดับอุดมศึกษาในไตรมาสที่ 3 ของปี 2565 กลับว่างงานถึง 185,410 คน คิดเป็นร้อยละ 2.49 ของจำนวนคนว่างงานในไทย สูงที่สุดในทุกระดับการศึกษา อาจจะด้วยหลากหลายปัจจัยเรื่องโรคระบาด เศรษฐกิจ ค่าแรง ค่าครองชีพ การกระจายตัวของแหล่งงาน การนำเครื่องจักรเข้ามาใช้แทนบุคคล และอื่น ๆ อีกมากมาย แต่หากเริ่มตั้งคำถามแรกที่ปรับได้ทันทีโดยไม่ต้องรอใคร ก็ต้องตอบเลยว่าคือตัวเราเองนั้นดี มีความรู้มากพอหรือยัง และตั้งคำถามในแนวกว้างต่อไปว่าแค่การเรียนในมหาวิทยาลัยแบบเดิม ๆ มันไม่พอแล้วหรือเปล่า? แล้วผู้เรียนควรปรับทัศนคติ หรือแนวคิดอย่างไร ต้องเสริมทักษะส่วนไหนบ้าง? ที่ทำให้นักศึกษาได้เติบโตทางความคิด และมีทักษะติดตัวไปพร้อมรับมือกับสังคมในอนาคตได้

    สมาคมวิทยาลัยและมหาวิทยาลัยแห่งสหรัฐอเมริกา (The American Association of Colleges and Universities : AAC&U) มีการวิจัยออกมาถึงแนวปฏิบัติด้านการสอนและการเรียนรู้ในระดับอุดมศึกษาที่จะช่วยเตรียมเหล่านักศึกษาให้มีทักษะพร้อมเมื่อจบการศึกษาไปแล้ว กับ 11 แนวคิด High Impact Educational Practices

 

11 แนวคิด High Impact Educational Practices

 

1.e-Portfolios สร้างแฟ้มสะสมผลงาน

    ไม่ใช่นักเรียนมัธยมทุกคนจะนิยมทำแฟ้มสะสมผลงานโดยส่วนมากแฟ้มสะสมผลงานจะถูกใช้ในเฉพาะคณะที่ต้องการเห็นผลงานจริง แต่การทำ e-Portfolios ที่พูดถึงนี้ไม่ใช่แค่การทำเพื่อยื่นเรียนต่อในระดับอุดมศึกษาเท่านั้น แต่มันควรจะนำไปใช้ต่อยอดได้ตลอดชีวิต เพราะมันสะท้อนถึงการเติบโตส่วนบุคคล ทัศนคติ และผลงานทางวิชาการ สามารถนำไปใช้หลากหลายวิธีสำหรับการเรียนการสอน การประเมิน และการพัฒนาอาชีพ โดยเฉพาะปัจจุบันที่มีการปรับมาใช้ระบบคลาวด์กันมากขึ้นทำให้การเก็บชิ้นงาน ผลงานต่าง ๆ ของเราง่ายขึ้นไม่ใช่แค่กระดาษ หรืองานทำมือแล้วเท่านั้น แต่ e-Portfolios ในรูปแบบงานออนไลน์ คลิปวิดีโอ หรืออื่น ๆ ให้ใส่ข้อมูลได้ไม่จำกัด ปรับปรุงแก้ไขได้ตลอดเวลาต่อยอดใช้งานได้ตลอดชีวิต

 

2.Writing-Intensive สร้างทักษะการเขียน 

การเขียนคือทักษะพื้นฐานที่นักศึกษาทุกคนต้องมี ในยุคปัจจุบันเรานิยมพิมพ์ตอบกันในแบบสั้น ๆ ด้วยการสื่อสารกันผ่านไลน์ หรือส่งอีโมจิผ่านการใช้สื่อออนไลน์ทำให้ทักษะการเขียนเพื่อสื่อสาร หรือการเขียนอื่น ๆ ไม่ได้ขัดเกลา ดังนั้นการให้ความสำคัญในการฝึกทักษะการเขียนสำหรับนักศึกษาทุกคนก่อนจบไป เช่น ฝึกการเขียนเรียงความ จับประเด็น และสื่อสารผ่านการเขียนให้ได้ การให้เหตุผลเชิงปริมาณ การสื่อสารด้วยวาจา การรู้สารสนเทศ การเขียนบทความวิชาการ บทความวิจัยและ การเขียนอีเมลเพื่อติดต่อธุรกิจ เพื่อให้พวกเขานำไปต่อยอดในการใช้ประกอบวิชาชีพในอนาคตได้

 

3.Community-Based Learning เรียนรู้ที่จะแก้ไขปัญหาจากสังคมจริงในชุมชน 

การเรียนรู้จากการแก้ปัญหาจริง โดยเริ่มจากสิ่งรอบตัว เช่นปัญหาในชุมชน และนำโจทย์เหล่านั้นมาสร้างเป็นประสบการณ์นอกห้องเรียนผ่านการลงมือสำรวจชุมชน หรือสังคม และใช้องค์ความรู้มาวิเคราะห์ ต่อยอดความรู้ไปใช้ได้จริงในสังคมเพื่อปลูกจิตสำนึกในการเป็นพลเมืองที่ดีต่อไป

 

การเรียนวิจัย

 

4.Researchรียนรู้การวิเคราะห์ข้อมูลผ่านการเรียนวิจัย เพื่อเชื่อมโยงหลักคิด และหาคำตอบ

ถึงตอนนี้ทุกมหาวิทยาลัยหลายสาขาจะมีให้นักศึกษาทำการวิจัยมากขึ้น แต่ส่วนมากการวิจัยในปริญญาตรีถูกนำมาใช้อย่างเด่นชัดที่สุดในสาขาวิชาวิทยาศาสตร์ แต่แท้จริงแล้วการทำวิจัยควรได้เรียนรู้ทุกสาขาวิชา เพื่อให้ผู้เรียนสามารถเชื่อมโยงแนวคิดหลัก คำถาม เพื่อให้เกิดวิจารณญาณอย่างเป็นระบบ ยึดหลักเหตุ และผล แท้หรือเท็จออกจากกันได้ สามารถเชื่อมโยงความรู้ที่ได้เรียนมาเข้ากับปัญหาเพื่อนำไปสู่การหาทางออกได้

 

5.Seminars สัมมนาตั้งแต่ปี 1

วิชาสัมมนาในมหาวิทยาลัยไทย หรือส่วนใหญ่มักเริ่มตอนปี 3 ขึ้นไปแต่จริง ๆ มองว่าควรเริ่มตั้งแต่เริ่มเรียนปี 1 ให้ผู้เรียนได้มีการนำหัวข้อ หรือข้อมูลที่น่าสนใจมาอภิปรายหรือโต้แย้งกัน เพื่อเรียนรู้ร่วมกัน ให้มองภาพกว้างของการเรียนรู้นอกตำรา แต่สืบค้นข้อมูลมากขึ้น ทำให้เด็กได้ฝึกการนำเสนอ และกล้าแสดงออก

 

6.Internship เตรียมพร้อมฝึกงาน

การได้ลงมือทำงานจริงเป็นเรื่องสำคัญมาก และควรเริ่มตอนปี 2 เทอม 2 หรือ ปี 3 ซึ่งในมหาวิทยาลัยส่วนใหญ่จำเป็นต้องเรียนจนครบหลักสูตรก่อนจากนั้นจึงออกไปฝึกงาน แล้วจึงนับว่าเรียนจบการศึกษาแต่ว่าการที่ได้ออกไปเริ่มฝึกงานตั้งแต่กลางหลักสูตร และกลับมาเรียนต่ออีกครั้งจนจบการศึกษา ทำให้ผู้เรียนเข้าใจในบทเรียนมากขึ้นเมื่อเคยเจอกับสถานการณ์จริง ทำให้การเรียนรู้ต่อยอด ลงลึก และประยุกต์ความรู้เข้ากับสังคมการทำงานจริงของโลกได้ดีขึ้นหลังเรียนจบ

 

7.Capstone Projects สร้างชิ้นงานหรือโครงงานของตนเอง

เน้นให้ผู้เรียนปีสุดท้ายก่อนจบการศึกษาได้ลงมือปฏิบัติจริง เข้าใจลึกซึ้ง นำความรู้ตลอดที่ได้เรียนมาสร้างชิ้นงาน หรือโครงงานของตนเอง ในรูปแบบที่จับต้องได้ ลงมือทำจริง อาจจะเป็นงานวิจัย หรือผลงานมาจัดแสดงเพื่อเป็นแหล่งความรู้ให้กับรุ่นน้อง หรือคนที่สนใจ และสามารถต่อยอดเป็นผลงานในแฟ้มสะสมผลงานได้

 

การทำงานเป็นทีม

 

8.Collaborative Projects ฝึกการทำงานเป็นทีมพร้อมรับมือปัญหาที่แตกต่าง

เป้าหมายสำคัญของการเรียนรู้ร่วมกัน คือ การเรียนรู้ที่จะทำงาน และแก้ปัญหาร่วมกับผู้อื่น การเพิ่มพูนความเข้าใจของตนเองโดยการรับฟังความคิดเห็นของผู้อื่นอย่างจริงจัง โดยเฉพาะจากผู้ที่มีภูมิหลัง หรือประสบการณ์ชีวิต โดยมีแนวทางตั้งแต่กลุ่มการเรียนรู้ภายในทั้งจากการมอบหมายงาน และการทำงานเป็นทีม ไปจนถึงโครงการความร่วมมือ การวิจัย นอกจากทักษะการทำงานเป็นทีมแล้ว ยังได้เรียนรู้บทบาทในการทำงานในองค์กร การเป็นผู้นำ และผู้ตามอีกด้วย

 

9.Diversity เรียนรู้การอยู่ร่วมกันในสังคม

เน้นหลักสูตร และโปรแกรมที่ช่วยให้นักศึกษาได้สำรวจวัฒนธรรม ประสบการณ์ชีวิต และโลกทัศน์ที่แตกต่างจากของตนเอง โดยการลงพื้นที่ในชุมชน หรือการศึกษาในต่างประเทศ เพื่อให้ตระหนักรู้ถึงความแตกต่างของโลก และเรียนรู้ที่จะอยู่ร่วมกันในสังคมได้โดยเฉพาะ “ความแตกต่างที่ยากจะเข้าใจ และนำไปสู่ความขัดแย้ง” เช่น ความไม่เท่าเทียมทางเชื้อชาติ ชาติพันธุ์ สีผิว ชนชั้น เพศ การศึกษาระหว่างวัฒนธรรม และประสบการณ์ของคนอื่น ๆ ที่แตกต่างหลากหลายกว่าเราทำให้นักศึกษาเปิดกว้างมุมมองใหม่ ๆ มากขึ้น 

 

เรียนรู้ความหลากหลาย

 

10.Common Intellectual Experiences (Culture Experience) ซึมซับวัฒนธรรมและพัฒนาไปสู่การสร้างองค์ความรู้ใหม่ ๆ

ส่งเสริมโดยการนำวัฒนธรรม แนวคิด หรือหลักสูตรแบบเดิมมาพัฒนาใหม่ให้หลากหลาย โดยผ่านการลงพื้นที่สำรวจในชุมชน หรือเปิดแหล่งการเรียนรู้ให้ได้ซึมซับวัฒนธรรมต่าง ๆ ของในประเทศ และต่างประเทศ มาศึกษาเชิงบูรณาการขั้นสูง จนสามารถพัฒนาไปสู่การสร้างองค์ความรู้ใหม่ ๆ ให้กับนักศึกษาได้

 

การเรียนรู้นอกห้องเรียน

 

11.Learning Communities สร้างชุมชนการเรียนรู้นอกห้องเรียน

เป้าหมายหลักสำหรับชุมชนแห่งการเรียนรู้คือการส่งเสริมการบูรณาการเชื่อมโยงการเรียนรู้เข้ากับรายวิชาต่างๆ และทำให้ผู้เรียนมีส่วนร่วมทั้งในเชิงวิชาการ  สันทนาการ กิจกรรมเพื่อสาธารณประโยชน์ หรือเป็นกิจกรรมที่ส่งเสริมให้เกิดการเรียนรู้ และเป็นประโยชน์ต่อผู้เรียน โดยให้อาจารย์ นักวิชาการ หรือผู้รู้ผู้เชี่ยวชาญเข้ามามีบทบาทในการชี้แนะ แลกเปลี่ยนเรียนรู้ให้กับนักศึกษาเพื่อส่งเสริมให้เกิดการเชื่อมโยง และส่งเสริมการเรียนรู้ใหม่ ๆ ให้เกิดขึ้น

 

การเรียนคือการดึงศักยภาพของคน ๆ นั้นออกมาผ่านความรู้ที่ได้รับ ไม่ใช่เพียงการใส่ความรู้เข้าไปเท่านั้น ไม่อย่างนั้นก็คงไม่แคล้วเป็นดังสุภาษิตไทย “ความรู้ท่วมหัวเอาตัวไม่รอด” ทุกคนคิดว่า 11 แนวคิดนี้มีประโยชน์ และครอบคลุมในการเสริมทักษะช่วงอุดมศึกษาหรือยังครับ แล้วมีแนวคิดไหนที่ยังขาดไปบ้าง ลองตั้งคำถาม และหาคำตอบกันกับอัตนัย โลกหมุนเร็ว หรือการศึกษาตามไม่ทันกันแน่นะ?

 

อ้างอิง
https://www.nesdc.go.th/ewt_dl_link.php?nid=5492 
https://www.aacu.org/trending-topics/high-impact 
https://www.youtube.com/watch?v=OmA7pby21Nw

Share

Authors

Authors

RELATED POSTS