หากวันหนึ่งข้างหน้าเมื่อสถานการณ์โควิดเริ่มดีขึ้น เราสามารถเดินทางไปต่างประเทศกันได้อีกครั้ง เชื่อว่าหลายคนจะยกให้ “ญี่ปุ่น” เป็นประเทศแรกในลิสต์ที่จะต้องได้ไปเหยียบให้หายคิดถึง เพราะนอกจากอาหารจะอร่อย ผู้คนน่ารัก และมีธรรมชาติที่งดงามแล้ว อีกสิ่งหนึ่งที่คนทั่วโลกยกนิ้วให้ประเทศนี้คือ เทคโนโลยีและวิทยาศาสตร์ที่ก้าวล้ำไม่แพ้ชาติตะวันตกอย่างสหรัฐอเมริกาและยุโรป ทั้งๆ ที่เป็นชาติเอเชียเหมือนกัน แต่ทำไมญี่ปุ่นถึงไปได้ไกลว่าอีกหลายๆ ประเทศในแถบเดียวกัน อะไรทำให้คนญี่ปุ่นมีจินตนาการ ความคิดสร้างสรรค์ที่หลายชาติเห็นแล้วต้องอุทานว่ามัน “ญี่ปุ๊นญี่ปุ่น”
มังงะ วัฒนธรรมที่ทรงพลัง
สมัยเด็กเราเริ่มรู้จักญี่ปุ่นครั้งแรกเมื่อเปิดช่อง 9 การ์ตูน ไม่มีเด็กคนไหนที่ไม่รู้จักโดราเอม่อน ดราก้อนบอล คนไทยจึงคุ้นเคยกับการเสพการ์ตูนญี่ปุ่นมาหลายสิบปีแล้ว แต่สำหรับประเทศอื่น โดยเฉพาะฝั่งตะวันตก มังงะคือ Soft Power ที่ทรงพลังที่สุด ย้อนกลับไปในช่วงศตวรรษที่ 20 หลังสงครามโลกครั้งที่ 2 มังงะอยู่ในช่วงเฟื่องฟูสุดๆ ในญี่ปุ่น ยุคนั้นไม่มีใครไม่รู้จัก Astro Boy หรือเจ้าหนูปรมาณู ที่ฮิตมากถึงขั้นถูกสร้างเป็นอนิเมะฉายทางทีวีในญี่ปุ่น แม้กระทั่งอเมริกาเองยังซื้อลิขสิทธิ์ไปฉายถึง 2 ครั้งด้วยกัน เจ้าหนูปรมาณูจึงเป็นเหมือนทูตวัฒนธรรมที่ส่งออกวัฒนธรรมมังงะให้คนทั่วโลกได้รู้จักกับประเทศนี้
แม้จุดเริ่มต้นของมังงะจะได้แรงบันดาลใจจากหนังสือการ์ตูนของอเมริกาอย่างซุปเปอร์แมน และบลอนดี แต่ญี่ปุ่นก็คือญี่ปุ่น ที่มักจะสร้างอะไรในแบบของตัวเอง ใส่ความคิดสร้างสรรค์ลงไปอย่างเต็มที่จนทำให้มังงะของที่นี่ไม่เหมือนที่ไหนในโลก เราคุ้นชินกันว่าการ์ตูนเป็นของสำหรับเด็ก แต่ญี่ปุ่นเปลี่ยนภาพลักษณ์เดิมๆ เหล่านี้ไปจนหมดสิ้น สร้างให้มังงะกลายเป็นวัฒนธรรมประจำชาติที่อ่านได้ตั้งแต่เด็กยันผู้ใหญ่ มีเนื้อหาที่หลากหลายไม่ต่างกับหนังสือทั่วไป จนต้องมีสักแนวที่โดนใจเรา ไม่ว่าจะเป็นแอ็กชัน โรแมนซ์ วิทยาศาสตร์ กีฬา อีโรติก อาหาร ประวัติศาสตร์ ฯลฯ
ความคิดสร้างสรรค์ของคนญี่ปุ่นมาจากไหน
ส่วนหนึ่งน่าจะมาจากแนวคิด Perfectly Rejecting Perfection (PRP) คือการปฏิเสธความสมบูรณ์แบบโดยสิ้นเชิง ซึ่งพัฒนามาจากความเชื่อในลัทธิชินโตที่ให้ความสำคัญกับธรรมชาติ ธรรมชาติไม่ใช่สิ่งที่สมบูรณ์แบบเลย คนญี่ปุ่นมองว่าอะไรที่สมบูรณ์แบบจนเกินไปจะไม่ดึงดูดความสนใจจากผู้คน ถ้วยชาที่มีลักษณะบิดเบี้ยวกว่าถ้วยชาปกติจะดูโดดเด่นกว่า นักเรียนญี่ปุ่นถึงจะต้องแต่งเครื่องแบบเหมือนกัน แต่พอมองดีๆ แต่ละคนกลับพยายามหลุดออกจากความสมบูรณ์แบบด้วยการแต่งหน้า ใส่เครื่องประดับที่ไม่เหมือนกันเลยสักคน
การใช้สติกเกอร์ในไลน์แทนการพิมพ์ข้อความเต็มๆ ก็เป็นแนวคิดการออกแบบที่มาจาก PRP เช่นกัน สติกเกอร์แต่ละอันใช้แทนความรู้สึกที่เราไม่สามารถบรรยายได้ ลองนึกภาพดูว่าถ้าเราพิมพ์ข้อความ “ปลอมมาก” ส่งให้เพื่อนแทนการใช้สติกเกอร์ เพื่อนอาจแยกไม่ออกก็ได้ว่าโดนด่าจริง หรือแซวเล่น
อีกสิ่งหนึ่งที่ทำให้ญี่ปุ่นเป็นชาติที่สร้างสรรค์คือเขายังคงรักษา Inner Child ไว้อยู่เสมอ วัฒนธรรมการไปคาราโอเกะหลังเลิกงานคือการให้โอกาสเด็กน้อยคนเดิมได้กลับมาสนุกในร่างผู้ใหญ่อีกครั้ง ซึ่งเมื่อ Inner Child นี้ผสมผสานกับ PRP จึงกลายเป็นความสร้างสรรค์อีกระดับหนึ่ง ที่มีจุดเริ่มต้นจากการก็อปปี้ของต้นแบบ แต่ใส่ไอเดียเพิ่มด้วยการให้เด็กน้อยคนนั้น “เล่น” กับจิตวิญญาณของของต้นแบบ
เห็นได้ชัดว่าความคิดสร้างสรรค์ของคนญี่ปุ่นส่วนหนึ่งมาจากวัฒนธรรม ความเชื่อที่มีมายาวนาน แต่ในขณะเดียวกันก็ปฏิเสธไม่ได้ว่า สภาพแวดล้อมที่ช่วยส่งเสริมความคิดสร้างสรรค์ของผู้คนก็ถือเป็นปัจจัยที่สำคัญไม่แพ้กัน พิพิธภัณฑ์เจ๋งๆ หลายแห่งที่นี่น่าจะเป็นหนึ่งในเช็กลิสต์ของนักเดินทางที่อยากมาเยือนญี่ปุ่น ในสหรัฐอเมริกา ประเทศที่เป็นเจ้าแห่งเทคโนโลยีก็มองว่า พิพิธภัณฑ์คือแหล่งเรียนรู้ที่มีคุณค่า ข้อมูลจาก American Alliance of Museums พบว่า 80% ของพิพิธภัณฑ์ในอเมริกาไม่เพียงแค่ให้คนเข้ามาเดินชมได้อย่างเดียว แต่ยังมีหลักสูตรการศึกษาไว้สำหรับเด็กๆ อีกด้วย มีการใช้งบมากกว่าสองพันล้านดอลลาร์ต่อปีไปกับกิจกรรมทางการศึกษาต่างๆ พิพิธภัณฑ์สำหรับเด็กจึงถูกมองว่าเป็นส่วนหนึ่งของพิพิธภัณฑ์โดยทั่วไปมานานหลายสิบปี
ไม่ใช่แค่เป็นแหล่งเรียนรู้เท่านั้น พิพิธภัณฑ์ยังช่วยส่งเสริมเศรษฐกิจสร้างสรรค์ในระดับท้องถิ่นและภูมิภาคได้อีกด้วย องค์กรอนามัยโลกยังสนับสนุนให้ประเทศที่กำลังพัฒนาใช้ศักยภาพของพิพิธภัณฑ์ในการส่งเสริมการทำงานร่วมกันของสังคม ระหว่างชุมชนท้องถิ่นและกลุ่มคนด้อยโอกาส
กลับมาที่การเรียนรู้ของเด็กๆ ที่พิพิธภัณฑ์ เรารู้กันว่าเด็กเล็กสร้างองค์ความรู้ผ่านประสาทสัมผัสต่างๆ เมื่อเด็กสงสัยว่า เสียงของล้อรถดับเพลิงเมื่อสัมผัสกับถนนมันเป็นอย่างไร สัมผัสของเนื้อไม้มันเป็นแบบไหน หรือรถดับเพลิงจุน้ำได้เท่าไร พิพิธภัณฑ์จะทำให้เด็กได้สัมผัสของเหล่านี้จริงๆ เด็กก็จะสร้างภาพขึ้นมาได้ว่ารถดับเพลิงทำงานอย่างไร ประสบการณ์จากการเรียนรู้ในครั้งนี้ก็จะติดตัวเด็กไปตลอดชีวิต นอกจากนี้พิพิธภัณฑ์ยังทำให้เด็กได้เชื่อมโยงตัวเองเข้ากับโลกมากขึ้น เริ่มขยายกรอบความคิดใหม่ๆ ที่ซับซ้อนยิ่งขึ้น วัตถุที่เป็นรูปธรรมในพิพิธภัณฑ์คือพื้นฐานที่จะนำไปสู่ความเข้าใจเรื่องนามธรรมในอนาคต และยังช่วยส่งเสริมทักษะการคิดวิเคราะห์ ซึ่งเป็นทักษะที่จำเป็นอย่างมากในยุคนี้ อย่างการไปชมงานศิลปะก็ทำให้เราต้องคิดเชื่อมโยง หาความสัมพันธ์ของสไตล์ศิลปะ เทคนิคและวัตถุต่างๆ ซึ่งตรงนี้ต้องอาศัยผู้ใหญ่คอยสร้างบทสนทนากับเด็กๆ
เปิดตัว AkeruE พิพิธภัณฑ์แห่งใหม่โดยพานาโซนิค
ญี่ปุ่นให้ความสำคัญกับแหล่งเรียนรู้ของเด็กๆ มาก เมื่อเดือนเมษายน 2021ที่ผ่านมา บริษัทเทคโนโลยีเจ้าใหญ่อย่างพานาโซนิค ก็เพิ่งเปิดตัว AkeruE พิพิธภัณฑ์แห่งใหม่ที่ส่งเสริมความคิดสร้างสรรค์ให้เด็กๆ สร้างการมีส่วนร่วมในการเรียนรู้ และเตรียมทักษะที่เด็กต้องใช้สำหรับการแก้ปัญหาใหม่ๆ ในอนาคต ชื่อพิพิธภัณฑ์แห่งนี้สื่อถึงการเปิด (Akeru) ศักยภาพความอยากรู้ของเด็ก ๆ และสร้างแรงบันดาลใจ (Eureka) ให้พวกเขาสร้างสรรค์อะไรใหม่ ๆ
AkeruE ใช้หลักการเรียนรู้แบบ STEAM โดยในปีแรกจะโปรโมตกิจกรรมที่จัดร่วมกับแคที เลเดกกี นักว่ายน้ำชาวอเมริกัน เจ้าของแชมป์โลกและเหรียญทองโอลิมปิก ซึ่งเป็นตัวแทนอย่างเป็นทางการของพานาโซนิคในการโปรโมตโอกาสในการเรียนรู้เรื่องสเต็มศึกษาในอเมริกา พิพิธภัณฑ์จะเน้นให้เด็กๆ ได้เรียนรู้จากประสบการณ์ตรง ได้ลองสร้างชิ้นงานและคิดหาวิธีแก้ปัญหา ชิ้นงานที่จัดแสดงที่นี่จะผสมผสานระหว่างพิพิธภัณฑ์วิทยาศาสตร์ที่เด็กจะได้เรียนรู้หลักการทางวิทยาศาสตร์กับพิพิธภัณฑ์ศิลปะ ที่เด็กจะได้เห็นความสวยงามของชิ้นงานต่างๆ ด้วยการสร้างพื้นที่และจัดเวิร์กช้อปที่เด็กได้มีส่วนร่วมในการสร้างชิ้นงานที่ช่วยแก้ปัญหาต่างๆ ได้ สถานที่แห่งนี้จึงเปิดโอกาสให้เด็กได้เห็นไอเดียของตัวเองเป็นรูปเป็นร่างมากขึ้น
ยิ่งไปกว่านั้น AkeruE ยังวางแผนว่าจะให้พื้นที่แห่งนี้เป็นพื้นที่แห่งการร่วมมือกันของคนหลายกลุ่ม ทั้งคนรุ่นใหม่ นักการศึกษา และนักกิจกรรมท้องถิ่น เป็นการสร้างโอกาสและพัฒนาชุมชนเพื่อคนทุกเพศทุกวัยในการเรียนรู้และสร้างอนาคตด้วยกัน
วิธีเพิ่มความมั่นใจในความคิดสร้างสรรค์
เมื่อวัฒนธรรมและสภาพแวดล้อมหล่อหลอมกระบวนการคิด และไอเดียสร้างสรรค์ของคนญี่ปุ่น แต่อาจมีคนไม่น้อยทั่วโลกที่รู้สึกว่า ฉันก็ยังเป็นฉันคนเดิม คนที่ไม่ได้มีความคิดสร้างสรรค์อะไร เกิดการแบ่งแยกคนออกเป็น 2 กลุ่มคือ คนที่มีความคิดสร้างสรรค์ กับคนที่ไม่มี แล้วเราจะทำอย่างไร ถ้าเราจัดตัวเองให้อยู่ในคนกลุ่มหลัง ไม่ว่าจะเป็นเพราะเราเชื่ออย่างนั้นจริงๆ หรือคนรอบข้างทำให้เราเชื่อแบบนั้น เดวิด เคลลี นักออกแบบ นักการศึกษา ผู้เขียนหนังสือ Creative Confidence กล่าวไว้ใน TED ตอน How to build your creative confidence ว่า จริงๆ แล้วเราทุกคนมีความคิดสร้างสรรค์ แต่หลายครั้งความสร้างสรรค์ที่ซ่อนอยู่ถูกทำลายโดยคนรอบข้าง ในวัยเด็กเราอาจถูกครูหรือเพื่อนวิจารณ์งานอย่างโหดร้าย จนกลายเป็นฝันร้ายที่หลอกหลอนมาจนถึงวัยผู้ใหญ่
มีการทดลองหนึ่งของ อัลเบิร์ต แบนดูรา นักจิตวิทยาคนสำคัญลำดับที่ 4 ในประวัติศาสตร์ พิสูจน์ว่า คนเราสามารถก้าวข้ามความหวาดกลัวได้ทุกอย่าง เขาทำงานเกี่ยวกับโรคความหวาดกลัวต่างๆ มาเป็นเวลานาน จึงพัฒนาวิธีการที่จะเยียวยาผู้คนที่เป็นโรคหวาดกลัวได้ในเวลาอันสั้น การทดลองของเขาคือ ทำให้คนที่เป็นโรคกลัวงูสามารถก้าวข้ามความกลัวของตัวเองจนถึงขั้นสามารถจับ ลูบคลำงูได้อย่างสบายๆ แถมยังเห็นความงดงามของสัตว์ชนิดนี้ในแบบที่ตัวเองไม่เคยเห็นมาก่อน
ถ้าเราบอกให้ผู้เข้าทดลองที่กลัวงูเข้าไปในห้องที่มีงูอยู่ แน่นอนว่าคนส่วนใหญ่ไม่มีใครกล้าเข้าไป แต่อัลเบิร์ตค่อยๆ ใช้วิธีการทีละขั้นตอน โดยให้คนเหล่านี้มาดูงูผ่านกระจกก่อน เมื่อรู้สึกสบายใจขึ้น เขาก็พัฒนาไปอีกขั้นด้วยการให้ผู้เข้าทดลองไปยืนดูงูอยู่หน้าห้องผ่านประตูที่เปิดทิ้งไว้ ต่อมาก็ให้คนเหล่านั้นใส่ถุงมือหนัง ลองสัมผัสตัวงู อัลเบิร์ตเรียกกระบวนการเหล่านี้ว่า ความชำนาญผ่านการชี้นำ เขาพบว่าคนที่สามารถข้ามผ่านความกลัวของตัวเองได้จะมีความวิตกกังวลน้อยลงในเรื่องอื่นๆ ของชีวิต มีความพยายามมากขึ้น ยืดหยุ่นมากขึ้น เมื่อเผชิญกับความล้มเหลวในชีวิต คนกลุ่มนี้พัฒนาความเชื่อมั่นแบบใหม่ที่อัลเบิร์ตเรียกว่า การรับรู้ความสามารถของตนเอง คือความรู้สึกว่าเราสามารถเปลี่ยนแปลงโลกนี้ได้ สามารถบรรลุสิ่งที่เราตั้งเป้าจะทำได้
ใครที่เคยจัดให้ตัวเองอยู่ในกลุ่มคนไม่มีความคิดสร้างสรรค์อาจจะต้องเปลี่ยนความคิดใหม่ โลกเรามีแต่คนที่มีความคิดสร้างสรรค์ สิ่งที่เราช่วยกันได้น่าจะเป็นการช่วยสร้างความมั่นใจให้คนกลุ่มนี้ได้ก้าวข้ามความกลัวของตัวเอง แล้วปลดปล่อยพลังความคิดสร้างสรรค์ออกมา ใครจะรู้ว่าสักวันหนึ่ง คนอื่นอาจจดจำเรา หรือประเทศของเราในฐานะเจ้าแห่งอะไรสักอย่าง (ในทางที่ดี) เหมือนอย่างญี่ปุ่นและอีกหลายๆ ประเทศบ้างก็ได้
อ้างอิง
https://bit.ly/3k3HJBP
https://bit.ly/31o6G4h
https://bit.ly/3BGAjdD
https://bit.ly/3nTvY1X
https://bit.ly/3bEb29g
https://bit.ly/3q5PZow
https://bit.ly/3BKyywf
https://bit.ly/3mGbB95