ใครจะเป็นนักอ่านจับใจความที่เก่งกว่า ‘เด็กอ่านเก่ง’ หรือ ‘เด็กมีความรู้เยอะ’

A A
May 23, 2023
May 23, 2023
A A

ใครจะเป็นนักอ่านจับใจความที่เก่งกว่า 

‘เด็กอ่านเก่ง’ หรือ ‘เด็กมีความรู้เยอะ’

 

  • เราเชื่อกันว่า เด็กเรียนที่อ่านจับใจความเก่ง น่าจะเป็นเพราะเขามีทักษะการอ่านที่ดี แต่ข้อมูลพบว่า ความรู้เดิมของนักเรียนต่างหากที่สำคัญกว่าสำหรับการอ่านจับใจความ
  • ความรู้เดิมหรือความรู้พื้นฐาน คือ ประสบการณ์ที่เกิดจากการอ่านและฟังสื่อที่หลากหลาย รวมถึงการสนทนาในหัวข้อต่าง ๆ ซึ่งเด็กแต่ละคนจะมีความรู้พื้นฐานไม่เท่ากัน
  • การสอนที่เน้นทักษะการอ่านมากกว่าการสร้างความรู้พื้นฐานจะยิ่งขยายช่องว่างของผลสัมฤทธิ์ทางการเรียนมากขึ้นเมื่อนักเรียนขยับไปสู่ชั้นที่สูงขึ้น

 

การอ่านจับใจความเป็นหนึ่งในทักษะที่เราได้เรียนตั้งแต่ระดับประถม ฯ แม้หลายโรงเรียนจะให้ความสำคัญกับการสอนทักษะต่าง ๆ ที่เกี่ยวข้องกับการอ่าน เพราะเข้าใจว่า นักเรียนจะอ่านจับใจความได้ดีก็น่าจะต้องมีทักษะการอ่านที่ดีเสียก่อน แต่สิ่งที่งานวิจัยพบอาจไม่ตรงกับความเชื่อของเราเสมอไป เพราะหัวใจสำคัญของการที่นักเรียนจะมีทักษะการอ่านจับใจความที่ดี ไม่ได้อยู่ที่ทักษะการอ่าน แต่อยู่ที่ความรู้พื้นฐานของนักเรียน หรือความรู้เดิมที่นักเรียนมีอยู่ ซึ่งนี่คือช่องว่างแห่งความสำเร็จทางการเรียนรู้ที่สำคัญ และจะยิ่งขยายกว้างออกไปเรื่อย ๆ เมื่อนักเรียนขึ้นชั้นมัธยม ฯ เมื่อผลการศึกษาสะท้อนมาเช่นนี้ เราจำเป็นต้องเปลี่ยนแปลงวิธีคิด วิธีสอนการอ่านจับใจความให้นักเรียนใหม่หรือไม่ แล้วจะเปลี่ยนแปลงอย่างไร เพื่อเสริมสร้างทักษะการอ่านจับใจความที่ดีก่อนที่ช่องว่างของผลสัมฤทธิ์ทางการเรียนจะยิ่งขยายใหญ่ขึ้นจนนักเรียนต้องเสียเปรียบเพื่อนวัยเดียวกันในระยะยาว

 

เราอาจจะเคยเชื่อว่า การที่นักเรียนจะมีทักษะการอ่านจับใจความที่ดี น่าจะเริ่มจากการที่เขามีทักษะการอ่านที่ดีเสียก่อน ความเชื่อนี้อาจต้องนำมาทบทวนกันใหม่ Natalie Wexler ผู้ทำงานเขียนด้านการศึกษากล่าวว่า การสร้างความรู้พื้นฐานอาจนำไปสู่นักอ่านที่ประสบความสำเร็จมากขึ้น เธอมองว่า หากเราสอนการอ่านให้กับนักเรียนประถม ฯ แต่มุ่งเน้นทักษะมากกว่าความรู้พื้นฐาน เท่ากับเราอาจกำลังสร้างความเสียหายให้เขาโดยรู้เท่าไม่ถึงการณ์ โดยเธอได้แสดงผลการศึกษาที่บอกว่า ความรู้เดิมของนักเรียนสำคัญกว่าทักษะทั่วไปอย่างไรในการอ่านจับใจความ

 

การทดสอบใครอ่านจับใจความได้ดีกว่า 

 

การศึกษานี้จะดูว่า อะไรสำคัญสำหรับการอ่านจับใจความมากกว่ากันระหว่าง ‘ทักษะ ทั่วไป’ หรือ ‘ความรู้ในหัวข้อนั้น’ โดยทดสอบในนักเรียนเกรด 7 และ 8 มีการแบ่งนักเรียนออกเป็น 4 กลุ่ม ตามความสามารถในการอ่านจับใจความ และความรู้ในเรื่องเบสบอล ทุกคนจะได้อ่านข้อความเกี่ยวกับเบสบอล และต้องทดสอบความเข้าใจจากเรื่องที่ได้อ่าน ผลที่ได้พบว่า คนที่ทำคะแนนได้ดีที่สุด คือ คนที่รู้เรื่องเบสบอลมากที่สุด ไม่ใช่คนที่มีทักษะการอ่านเก่งที่สุด แม้แต่นักเรียนที่มีทักษะการอ่านที่แย่ แต่รู้เรื่องเบสบอลมากก็ยังทำคะแนนได้ดีกว่าคนที่มีทักษะการอ่าน แต่ไม่มีความรู้ในเรื่องนี้ ลองจินตนาการตามง่าย ๆ ถ้าให้ลูกหลานที่บ้านอ่านหนังสือหรืออะไรก็ได้ที่เขามีความรู้ในเรื่องนั้นอยู่แล้ว แล้วลองให้เขามาเล่าให้เราฟัง เขาน่าจะเข้าใจและเล่าเรื่องนั้นให้เราฟังได้ดีกว่าการอ่านเรื่องที่เขาไม่เคยมีความรู้มาก่อน

 

นอกจากการศึกษานี้แล้ว ยังมีการศึกษาอีกชิ้นที่ตีพิมพ์ในวารสาร Psychological Science เมื่อปี 2019 ที่เปิดเผยข้อมูลสำคัญของการอ่านจับใจความไว้ว่า หากมีคำศัพท์ที่นักเรียนไม่คุ้นเคยในหัวข้อนั้น ๆ 59% ความสามารถในการทำความเข้าใจเนื้อหาของนักเรียนก็จะน้อยลงทันที โดยทำการทดสอบกับนักเรียนม.ปลาย 3,534 คน แต่ละคนจะได้ลิสต์คำศัพท์ 44 คำ และจะต้องระบุว่า แต่ละคำเกี่ยวข้องกับนิเวศวิทยาหรือไม่ จากนั้นนักวิจัยจะวิเคราะห์คำตอบของนักเรียนเพื่อดูว่า แต่ละคนได้คะแนนความรู้พื้นฐานเท่าไร ซึ่งคะแนนนี้ก็จะสะท้อนถึงความรู้ของนักเรียนในหัวข้อนั้น ผลปรากฎว่า นักเรียนที่ได้คะแนนน้อยกว่า 59% ในการทดสอบความรู้พื้นฐานยังมีผลการทดสอบการอ่านจับใจความที่ตามมาค่อนข้างต่ำ นักวิจัยตั้งข้อสังเกตว่า การพัฒนาที่เห็นได้ชัดในการอ่านจับใจความจะมีเส้นแบ่งที่ 59% ขึ้นไป ซึ่งแสดงว่า การที่นักเรียนขาดความรู้พื้นฐานจะเป็นอุปสรรคต่อการอ่านจับใจความ และจะมีเส้นฐานของความรู้ที่ช่วยเร่งให้เกิดความเข้าใจได้อย่างรวดเร็ว

 

ทำไม ‘ความรู้พื้นฐาน’ สำคัญกว่าในการอ่านจับใจความ

 

ความรู้พื้นฐานกลายเป็นหัวใจแห่งความสำเร็จ เพราะนักเรียนที่มีความรู้ และรู้คำศัพท์มากกว่าจะสามารถซึมซับเนื้อหาและเข้าใจคำศัพท์ได้ดีกว่า จึงมีความเข้าใจบริบทได้มากกว่า สามารถวิเคราะห์ ตีความ อธิบายมุมมอง ทำการอนุมานหรือสรุปความได้อย่างง่ายดาย ซึ่งเป็นหัวใจของการอ่านจับใจความ ขณะที่นักเรียนที่ไม่ได้มีความรู้ในเรื่องที่อ่านมาก่อนจะมีทักษะการอ่านจับใจความที่ถดถอยลงเรื่อย ๆ เพราะไม่ได้มีต้นทุนความรู้เดิม

 

อย่างไรก็ตาม นักวิจัยคนหนึ่งชื่อ Garvin Brod ได้ตั้งข้อสังเกตว่า ความรู้เดิมของนักเรียนไม่ได้เป็นตัวการันตีว่า นักเรียนจะมีทักษะการอ่านจับใจความที่ดีเสมอไป หากขาดองค์ประกอบอีก 3 อย่าง คือ 

  1. ความรู้นั้นได้นำมาใช้งานหรือไม่ 
  2. ความรู้นั้นเกี่ยวข้องกับงานที่ได้รับตอนนั้นหรือไม่ 
  3. ความรู้นั้นสอดคล้องกับเนื้อหาที่จะเรียนรู้หรือไม่

 

 

การมีความรู้พื้นฐานในเรื่องที่อ่านคือหัวใจสำคัญของการอ่านจับใจความ

 

 

สิ่งที่เราไม่ควรนิ่งนอนใจ คือ ยิ่งเราปล่อยให้เวลาผ่านไปเท่าไร ช่องว่างเดิมที่เคยมีอยู่แล้วในชั้นประถม ฯ ก็จะยิ่งขยายใหญ่ขึ้นเรื่อย ๆ เมื่อนักเรียนขึ้นชั้นมัธยม ฯ นักเรียนจะต้องอ่านเรื่องที่ยากขึ้น อ่านประวัติศาสตร์โลก หากไม่มีความรู้เรื่องนี้มาก่อนจะทำให้เขาเสียเปรียบเพื่อนที่มีความรู้อยู่แล้ว หน้าที่ของผู้ใหญ่จึงอยู่ที่ทำอย่างไรถึงจะลดช่องว่างนี้ลงได้ตั้งแต่เนิ่น ๆ จะสร้างความรู้พื้นฐานให้นักเรียนในวิชาต่าง ๆ เช่น ประวัติศาสตร์ วิทยาศาสตร์ได้อย่างไรตั้งแต่ชั้นประถม ฯ 

 

ความรู้พื้นฐานมาจากไหน ถึงจะมีทักษะการอ่านจับใจความที่ดี

 

นักเรียนแต่ละคนมีความรู้พื้นฐานที่ไม่เท่ากัน แล้วความรู้เหล่านี้มาจากไหน คำตอบ คือ มาได้หลากหลายแหล่ง ทั้งการอ่านหนังสือหลายประเภท การฟังจากสื่อหลายแห่ง และการมีส่วนร่วมในการสนทนาหัวข้อต่าง ๆ เมื่อนักเรียนได้ดึงเอาความรู้เดิมที่มีอยู่แล้วมาใช้ เขาจะเข้าใจในเรื่องที่อ่านมากยิ่งขึ้น

 

วิธีสร้างบทเรียน เสริมความรู้พื้นฐานให้นักเรียน

  1. ใช้ภาพในการสำรวจคำศัพท์ต่าง ๆ หรือให้นักเรียนหาคำพ้องความหมายของคำศัพท์ที่เลือก เป็นการสร้างความรู้พื้นฐานก่อนอ่าน
  2. อ่านหนังสืออย่างอิสระทุกวัน
  3. ใช้การจับคู่ข้อความข้ามประเภท เพื่อเปิดโอกาสให้นักเรียนได้ใช้ความรู้เดิม 
  4. ครูเตรียมสื่อหลายรูปแบบที่สัมพันธ์กับเนื้อหาที่จะสอน เช่น จะสอนเรื่องสัตว์ทะเล ครูอาจเตรียมหนังสือ บทกวี เพลง สารคดีที่เกี่ยวกับเรื่องนี้ หรือให้อ่านชีวประวัติของนักสมุทรศาสตร์ 
  5. สร้างหนังสือให้โลดแล่นสู่ชีวิตจริง

ประสบการณ์ช่วยเพิ่มความเข้าใจในการอ่าน หากหนังสือพูดถึงเรื่องสวน ครูอาจสร้างสวนขึ้นในโรงเรียน หากหนังสือเล่าเรื่องสัตว์ทะเลอาจพานักเรียนไปทัศนศึกษาที่พิพิธภัณฑ์สัตว์น้ำใกล้ ๆ ถ้าหนังสือนั้นเกี่ยวกับนักดนตรีที่มีชื่อเสียงก็ให้ลองฟังเพลงนั้น หากหนังสือเกี่ยวกับสภาพอากาศ อาจลองเชิญนักอุตุนิยมวิทยามาบรรยายในชั้นเรียน

  1. กระตุ้นความหลงใหลของนักเรียนด้วยเนื้อหาวิชาที่เข้มข้น

บทเรียนวิทยาศาสตร์และสังคมศึกษาเป็นโอกาสช่วยเสริมสร้างความรู้พื้นฐานในการอ่านได้ดี เพิ่มพูนความรู้ด้านเนื้อหาของนักเรียนด้วยเนื้อหาที่น่าตื่นเต้นและเข้มข้นที่เกี่ยวกับประวัติศาสตร์ ฟิสิกส์ ธรรมชาติ จิตวิทยา เหตุการณ์ปัจจุบัน แทนที่จะมุ่งให้นักเรียนอ่านเพียงอย่าเดียว

 

อย่างไรก็ตาม หากไม่ใช่พื้นที่ในโรงเรียน โอกาสที่จะเราเสริมสร้างความรู้พื้นฐานหรือประสบการณ์ให้เด็กมักขึ้นอยู่กับกิจวัตรของครอบครัวเป็นสำคัญว่า กิจกรรมที่ทำเป็นส่วนใหญ่เอื้อให้เด็กสร้างองค์ความรู้ใหม่ ๆ มากน้อยแค่ไหน

 

เมื่องานวิจัยชี้ว่า ความรู้เดิมของเด็กดูท่าจะมีชัยเหนือทักษะการอ่านที่เราเน้นสอนในห้องเรียนมาเป็นเวลาช้านาน แต่การเรียนการสอนจากนี้จะยังเป็นไปในแบบเดิม หรือลองปรับเปลี่ยนกันใหม่ ทั้งหมดนี้ไม่มีใครให้คำตอบได้ ขึ้นอยู่กับมุมมองและการตัดสินใจของผู้ใหญ่ ไม่ว่าจะเป็นโรงเรียน ครูและผู้ปกครองว่า ณ ตอนนี้เด็กไทยมีทักษะนี้ในระดับใด และเราอยากเห็นพวกเขามุ่งหน้าไปในทิศทางไหน

 

อ้างอิง

https://www.edutopia.org/video/background-knowledge-reading-comprehension-elementary

https://www.edutopia.org/article/rethinking-how-we-teach-reading-elementary-school

https://www.edutopia.org/article/research-zeroes-barrier-reading-plus-tips-teachers

https://www.teachhub.com/teaching-strategies/2021/08/the-importance-of-background-knowledge-in-understanding-text/ 

https://www.nature.com/articles/s41539-021-00103-w 

https://www.hmhco.com/blog/the-importance-of-building-background-knowledge-in-reading 

 

Tag

Share

Tag

Share

Authors

Authors

RELATED POSTS