ผู้นำที่ดี หน้าตาเป็นอย่างไร?

A A
May 16, 2023
May 16, 2023
A A

“ผู้นำที่ดี” หน้าตาเป็นอย่างไร?

 

แม้วาระแห่งชาติอย่างการเลือกตั้งผู้นำคนใหม่ของประเทศจะผ่านพ้นไปแล้ว แต่สนามการเมืองยังคงคุกรุ่น หลังการเปลี่ยนแปลงครั้งใหญ่ อาจมีคนถูกใจกับผลลัพธ์ หรือคนที่คิดเห็นตรงกันข้ามกันไป เพราะทุกคนต่างก็มีภาพของผู้นำในอุดมคติแตกต่างกัน คำถามที่ตามมาก็คือ แล้ว “ผู้นำที่ดี” ต้องหน้าตาเป็นอย่างไรล่ะ?

 

คำว่า “ผู้นำ” ในมุมมองของใครหลายคนอาจจะเป็นนักการเมือง นายกรัฐมนตรี ซีอีโอ เจ้าหน้าที่ระดับสูง หรือแม้แต่หัวหน้าห้องในชั้นเรียน แต่คำว่า “ผู้นำที่ดี” นั้น แท้จริงแล้วไม่ได้ขึ้นอยู่กับตำแหน่ง หรือความอาวุโสเพียงเท่านั้น แต่เป็นบุคคลคนที่ถูกประกอบร่างมาจากคุณสมบัติ และทักษะในหลากหลายด้าน จะมีอะไรบ้าง มาหาคำตอบไปพร้อมกับอัตนัยได้เลย

 

What Does A Good Leader Look Like?
• อะไรคือคุณลักษณะของ ‘ผู้นำที่ดี’
• ‘ผู้นำที่ดี’จากมุมมองผู้นำคนสำคัญของโลก
• เราจะสร้างภาวะ ‘ผู้นำที่ดี’ ได้อย่างไร?

 

 

ผู้นำที่ดีหน้าตาเป็นอย่างไร

 

 

อะไรคือคุณลักษณะของ ‘ผู้นำที่ดี’

 

จากการวิจัยว่าด้วย “การเป็นผู้นำการเปลี่ยนแปลง: Transformational Leadership” ชี้ให้เห็นว่า ‘ผู้นำที่สร้างความเปลี่ยนแปลง’ จะเป็นคีย์แมนแห่งยุคศตวรรษที่ 21 ด้วยความที่เทคโนโลยีก้าวหน้าไปอย่างก้าวกระโดด ส่งผลให้เกิดการเปลี่ยนแปลงรอบด้าน พร้อมทั้งได้วิเคราะห์องค์ประกอบของผู้นำการเปลี่ยนแปลงไว้ว่า ต้องมีอิทธิพลอย่างมีอุดมการณ์ สร้างแรงบันดาลใจได้ รู้จักกระตุ้นทางปัญญา และตระหนักถึงความเป็นปัจเจกบุคคล

 

เมื่อพูดถึงการเปลี่ยนแปลงแล้ว หนึ่งใน Soft Skills ที่สำคัญของผู้นำที่มีส่วนช่วยผลักดันสังคมให้ก้าวไปข้างหน้า และเป็นแบบอย่างที่ดีให้กับผู้ตามก็คือ การมี ‘Growth Mindset’ รู้จักพลิกแพลงความคิดโดยมองอุปสรรคเป็นแรงกระตุ้นในการพัฒนาตัวเอง

 

เพื่อตั้งรับความเปลี่ยนแปลงที่อาจเกิดขึ้นได้ทุกเมื่อ ผู้นำที่ดีต้องหมั่นฝึกฝนทักษะใหม่ ๆ หมั่นเติมความรู้ให้รอบด้าน ดังนั้น ‘Lifelong Learning’ หรือการเรียนรู้ตลอดชีวิต จึงเป็นอีกหนึ่งคุณลักษณะที่ผู้นำจะขาดไปไม่ได้ เพราะหากมัวแต่ยึดติดกับสิ่งเดิม ๆ ย่ำอยู่กับที่ ท่ามกลางโลกที่หมุนเร็วขึ้นทุกวัน ก็คงไม่สามารถยอมรับความเสี่ยง หรือปรับตัวให้ทันแนวคิด และนวัตกรรมใหม่ ๆ ได้

 

 

คุณสมบัติการเป็นผู้นำที่ดี

 

 

อีกหนึ่งสิ่งที่สำคัญก็คือ ‘วิสัยทัศน์’ การมีวิสัยทัศน์ช่วยให้แนวคิดที่ว่า ผู้นำจะก้าวไปยังทิศทางใด ต้องทำอย่างไรให้บรรลุจุดมุ่งหมายชัดเจนขึ้น พร้อมกันนั้น การสื่อสารที่มีประสิทธิภาพก็จะช่วยส่งต่อวิสัยทัศน์ที่ว่านี้ไปได้อย่างแจ่มแจ้ง ให้ทุกคนเข้าใจ และมองเห็นเป็นภาพเดียวกัน โดยยังรวมไปถึงการเป็นผู้ฟังที่ดี แสดงความคิดเห็นได้อย่างเหมาะสม พร้อมแบ่งปันข้อมูลที่มีคุณค่า รู้จักตั้งคำถามอย่างชาญฉลาด เพื่อต่อยอดไปสู่การสร้างแรงบันดาลใจให้ผู้ตามได้

 

นอกจากนี้ การเป็นแบบอย่างที่ดี’ ทั้งความคิด หรือการแสดงออกล้วนสะท้อนให้เห็นถึงวุฒิภาวะของคนที่เป็นผู้นำ รวมถึงเป็นวิธีที่ดีที่สุดในการสร้างความน่าเชื่อถือ และได้รับความเคารพจากผู้อื่น ยิ่งผู้นำที่ต้องปกครองคนหมู่มาก การปฏิบัติตัวภายใต้กรอบกฎระเบียบอย่างสร้างสรรค์นับว่าเป็นสิ่งที่จำเป็น และท้าทาย 

 

ทั้งนี้การจะเป็นแบบอย่างที่ดีได้ยังต้องมี ‘ความซื่อสัตย์’ ค่านิยมนี้สะท้อนมาจากการที่ผู้นำมีความเชื่อมั่นในสิ่งที่ถูกต้อง หลักการหนักแน่น ยึดมั่นสัจจะ ตั้งอยู่บนจริยธรรม และมีความเสมอต้นเสมอปลาย ที่สำคัญคือต้องตรงไปตรงมากับผู้อื่น

 

‘ผู้นำที่ดี’ จากมุมมองผู้นำคนสำคัญของโลก

แล้วในมุมมองของผู้นำระดับโลกคิดเห็นว่าผู้นำที่ดีเป็นอย่างไร? ขอยกตัวอย่างปรมาจารย์ด้านการเงินอย่าง
‘วอร์เรน บัฟเฟตต์’ เมื่อถอดบทเรียนจากที่วอร์เรนเคยพูดถึงองค์ประกอบสู่การเป็นผู้นำที่ดีไว้หลายต่อหลายครั้ง ได้ใจความว่า จงรักในสิ่งทำ สื่อสารอย่างมีประสิทธิภาพ จัดการกับเวลาให้ได้ ปฏิบัติกับทุกคนอย่างเท่าเทียม จงเตรียมตัวรับความเสี่ยง และอย่าลืมที่จะเรียนรู้จากความผิดพลาด

 

อย่างที่เห็นว่าคุณลักษณะของผู้นำที่ดีในอุดมคติของสังคม กับแนวคิดของผู้นำแถวหน้าของโลกมีหลายปัจจัยที่สอดคล้องกัน การเป็นผู้นำที่สร้างความเปลี่ยนแปลงได้อาจไม่ใช่คำตอบที่ถูกต้องที่สุดของการเป็น ‘ผู้นำที่ดี’ แต่ก็ปฏิเสธไม่ได้เลยว่าคุณลักษณะนี้จำเป็นอย่างยิ่งสำหรับยุคที่ AI ครองเมือง เพราะการขับเคลื่อน หรือชี้แนะคนหมู่มากยังต้องการสัญชาตญาณของมนุษย์ ที่เปี่ยมไปด้วยความเข้าอกเข้าใจซึ่งกันและกัน

 

เราจะสร้างภาวะ ‘ผู้นำที่ดี’ ได้อย่างไรบ้าง?

หลายคนอาจคิดว่าการเป็นผู้นำที่ดีเกิดนั้นเป็นพรสวรรค์ติดตัวมาตั้งแต่เกิด แต่แท้จริงแล้วภาวะในการเป็นผู้นำนั้นสามารถเรียนรู้ และฝึกฝนได้ตั้งแต่เด็กเลยด้วยซ้ำ มีงานศึกษาวิจัยหลายฉบับที่พบว่า เราสามารถสร้างภาวะผู้นำที่ดีให้กับเด็ก ๆ ได้ อย่างเป็นขั้นเป็นตอน ผ่านวิธีการที่น่าสนใจดังนี้

 

  • คุยกับเด็กให้เหมือนคุยกับผู้ใหญ่ ให้เด็กได้เรียนรู้จากการถ่ายทอดทางความคิด สอนอย่างมีตรรกะเชิงเหตุผล รู้จักมองปัญหา และหาทางที่จะแก้ไขได้
  • ให้เด็กได้อยู่ในแวดล้อมบุคคลที่มีภาวะผู้นำ เรียนรู้จากคนรอบข้าง ไม่ใช่ผ่านคำสอนเพียงอย่างเดียว
  • ช่วยเด็กค้นหาความสามารถ หาจุดแข็งจากความสนใจของเด็ก โดยเริ่มที่การสังเกตพฤติกรรม แล้วส่งเสริมให้ถูกทาง
  • ฝึกให้เด็ก ๆ รู้จักตั้งคำถามว่า ‘เราจะทำสิ่งนี้ได้อย่างไร?’ มากกว่าการที่จะพูดว่า ‘ทำไม่ได้’ เมื่อพบเจอกับอุปสรรค หรือความท้าทายใหม่ ๆ จุดประกายให้เด็กกล้าที่จะฝัน พร้อมส่งเสริมการรู้คุณค่าในตัวเอง
  • ปลูกฝังนิสัยการรักการอ่าน เพราะการอ่านจะช่วยเปิดประตูสู่การเรียนรู้ ให้เด็ก ๆ มองเห็นความเป็นไปได้ในมุมมองที่แตกต่าง

อ้างอิง
lifehack.org
michaelpage.com
palagrit.com
futuretrend.co
letsgrowleaders.com
journalgrad.ssru.ac.th

Share

Authors

Authors

RELATED POSTS