พิพิธภัณฑ์เดนมาร์กที่ซึ่ง “เนื้อหา” และ “การเล่าเรื่อง” สำคัญกว่าเทคโนโลยี

A A
Feb 27, 2022
Feb 27, 2022
A A

พิพิธภัณฑ์เดนมาร์กที่ซึ่ง “เนื้อหา” และ “การเล่าเรื่อง” สำคัญกว่าเทคโนโลยี

 

ถ้าวันหนึ่งคุณได้รับการร้องขอให้ช่วยทำภารกิจสำคัญระดับชาติในการหยุดยั้งจอมโจรผู้ร่ำรวยที่หลงใหลในงานศิลปะ ผู้อยากครอบครองสมบัติอันล้ำค่าที่เงินซื้อหาไม่ได้ ซึ่งมีแค่คุณเท่านั้นที่จะหยุดยั้งเขาได้ คุณจะรับภารกิจนี้หรือไม่ คุณอาจรีบยกมืออาสาทำภารกิจนี้โดยทันที แล้วถามต่อว่า “ฉันจะต้องทำอย่างไรบ้าง” สิ่งที่คุณต้องทำมีเพียงหยิบมือถือของตัวเองขึ้นมา แล้วมาที่พิพิธภัณฑ์แห่งหนึ่ง นี่ไม่ใช่แค่พล็อตเรื่องสนุก ๆ ที่เอาไว้ให้เล่าให้เด็ก ๆ ฟังในหนังสือนิทานแต่อย่างใด แต่นี่คือ “การเล่าเรื่อง” ที่พิพิธภัณฑ์ในเดนมาร์กใช้เพื่อดึงดูดให้เด็ก ๆ มามีส่วนร่วมกับชิ้นงานในพิพิธภัณฑ์จริง ๆ ผ่านแอป Useeum (ยูเซียม) แอปเดียวเที่ยวทุกแหล่งเรียนรู้ที่ปัจจุบันมีพิพิธภัณฑ์ในเดนมาร์ก 100 กว่าแห่ง และอีกหลายพิพิธภัณฑ์ในยุโรปใช้กัน นอกจากจะสร้างประสบการณ์แบบพิเศษไม่ซ้ำใครแล้ว แอปนี้ยังโหลดฟรี เรียกว่าแก้ปัญหาไม่ต้องโหลดแอปใหม่ทุกครั้งที่มาเที่ยวพิพิธภัณฑ์ อะไรอยู่เบื้องหลังแนวคิดนี้ เดนมาร์กให้ความสำคัญกับอะไรเมื่อพูดถึงพิพิธภัณฑ์และแหล่งเรียนรู้ที่เราน่าจะนำมาใช้และต่อยอดจากสิ่งที่เรามีได้บ้าง

ปัญหาคลาสสิกของพิพิธภัณฑ์

ที่ผ่านมาพิพิธภัณฑ์และแหล่งเรียนรู้ทั่วโลกประสบปัญหาคล้าย ๆ กันคือ คนไม่ค่อยเข้า ถ้าเราถามวัยรุ่นหรือผู้ใหญ่ว่าไปพิพิธภัณฑ์ครั้งสุดท้ายเมื่อไร เราอาจได้คำตอบคล้าย ๆ กันคือ สมัยเรียนตอนที่โรงเรียนพาไป ที่เดนมาร์กและบ้านเราก็เช่นกัน หลายคนยังจดจำภาพของพิพิธภัณฑ์ที่มีแต่ป้ายให้อ่าน มีแต่ตัวหนังสือเป็นพืด มีสิ่งจัดแสดงวางมากมายละลานตา แต่ผู้ชมกลับไม่ได้มีส่วนร่วมมากเท่าที่ควร สิ่งเหล่านี้กลายเป็นอดีตไปแล้วสำหรับพิพิธภัณฑ์หลายแห่งในเดนมาร์ก ที่นั่นมีพิพิธภัณฑ์ถึง 322 แห่ง ถ้าเรารู้สึกตื่นเต้นกับตัวเลขนี้ บอกได้เลยว่าในบ้านเราเอง ถ้านับรวมพิพิธภัณฑ์และแหล่งเรียนรู้ทั้งหมด เดนมาร์กอาจจะต้องอิจฉาเรา เพราะเรามีมากถึงเกือบ 1,600 แห่ง (ข้อมูล ณ ปี 2563) แต่จำนวนของสถานที่เหล่านี้อาจไม่สำคัญเท่าคุณภาพและประสบการณ์ร่วมของผู้เข้าชม ซึ่งมาตรวัดของเราจะเป็นใครไปไม่ได้นอกจากเด็ก ๆ ว่าพวกเขาสนุกสนานและมีส่วนร่วมมากแค่ไหนเมื่อมาเที่ยวพิพิธภัณฑ์

Rasmus Lybæk คือผู้ก่อตั้งและซีอีโอบริษัท Useeum แอปเดียวเที่ยวทุกแหล่งเรียนรู้ที่เปิดโอกาสให้พิพิธภัณฑ์และแหล่งเรียนรู้ที่สนใจลงข้อมูล เส้นทางนำเที่ยว และเกม ที่ผู้เข้าชมเข้าถึงได้บนมือถือตัวเอง Useeum สร้างกิจกรรมให้กับพิพิธภัณฑ์และแหล่งเรียนรู้หลากหลายประเภท ทั้งเล็กและใหญ่มาแล้วมากมาย ข้อดีคือโหลดแค่แอปเดียว เที่ยวพิพิธภัณฑ์ในเดนมาร์กได้ 100 กว่าแห่ง และอีกหลายพิพิธภัณฑ์ในยุโรป เช่น อังกฤษ เยอรมัน อิตาลี นอร์เวย์ ฟินแลนด์ โปแลนด์ ใช้งานได้สะดวก ไม่เสี่ยงสัมผัสโรค พิพิธภัณฑ์และแหล่งเรียนรู้ก็สะดวกเช่นกัน เพราะสามารถอัปโหลดข้อมูลเองได้เลย เป็นการผนึกกำลังทั้งทางด้านการตลาดและวิชาการ ที่สำคัญคือพิพิธภัณฑ์ไม่ต้องหมดงบไปกับการลงทุนพัฒนาและอัปเดตแอปเยอะ Useeum จึงเป็นแอปที่ออกแบบมาเพื่อแก้ Pain Point ของพิพิธภัณฑ์ทั่วไปคือ ลงทุนพัฒนาแอปไปเยอะ แต่อัปเดตยาก แถมไม่ค่อยมีคนใช้ เพราะคนไม่ชอบโหลดแอปเพื่อใช้กับพิพิธภัณฑ์เดียว และต่อให้เราแก้ปัญหานี้ได้หมดแล้ว ถ้าเรายังลืมให้ความสำคัญกับสิ่งสำคัญที่สุดอย่าง “เนื้อหา” เราก็จะพายเรือวนในอ่างอยู่เรื่อยไป แต่ด้วยเนื้อหาที่สนุกผ่าน “การเล่าเรื่อง” ที่ไม่เหมือนใครนี่แหละที่ทำให้เด็ก ๆ และผู้เข้าชมที่ได้ลองใช้แอปนี้มาแล้วต่างก็สนุกไปกับประสบการณ์แบบพิเศษที่หาที่ไหนไม่ได้

ยิ่งคล้ายเด็ก คนยิ่งรัก

วัฒนธรรมการสื่อสารกับเด็ก

สิ่งที่ทำให้ Useeum แตกต่างจากแอปอื่น คงต้องไล่มาจากเดนมาร์กมีวัฒนธรรมการสื่อสารกับเด็กที่แข็งแรงมาก ๆ มีประวัติการทำทีวีเด็กที่มีคุณภาพ เน้นการเรียนรู้คู่ความสนุกมาอย่างยาวนาน ซึ่งเป็นผลมาจากมีผู้ผลิตคอนเทนต์ที่เก่ง และเล่าเรื่องดี เดนมาร์กจึงมีต้นทุนที่ดีในเรื่องนี้ ประกอบกับได้แรงบันดาลใจจากเกม หนัง ซีรีส์ดี ๆ จากแพลตฟอร์มดังอย่าง Netflix ที่เล่าเรื่องประวัติศาสตร์ได้อย่างน่าติดตาม Rasmus จึงนำไอเดียทั้งหมดนี้มาทำเป็น Useeum ที่ช่วยให้พิพิธภัณฑ์เล่าเรื่องในแบบที่สนุก ไม่พูดถึงข้อเท็จจริงอย่างเดียวเหมือนเมื่อก่อนโดยทำงานร่วมกับนักการศึกษาและคนทำรายการทีวีเด็ก เพื่อสร้างเนื้อหาที่ดี สนุก และเจ๋งจริง ๆ สำหรับเด็ก

เราอาจจะคิดว่าแอปแบบนี้อาจดูก็ไม่ต่างอะไรกับ Virtual museum ทั่วไปที่พยายามแก้ปัญหาพิพิธภัณฑ์ปิดในช่วงโควิด บอกได้เลยว่าต่างมาก ๆ Rasmus บอกว่า Physical world คือสิ่งที่สำคัญ เป้าหมายของ Useeum คือต้องการให้เด็กได้สัมผัสกับสิ่งต่าง ๆ ผ่านประสาทสัมผัสจริง ถึงเด็กจะได้อ่านหรือฟังจากแอป แต่สุดท้ายเด็กจะต้องได้เงยหน้าขึ้นมาดูของจริง มาสัมผัสของจริง นี่จึงเป็นเหตุผลว่าเราจะไม่ได้ประสบการณ์อย่างที่ควรจะได้ถ้าเปิดแอปนี้จากที่บ้าน เพราะสุดท้ายแล้วเทคโนโลยีต้องทำให้เด็กให้กลับมาสู่โลกจริงด้วย

ยิ่งคล้ายเด็ก คนยิ่งรัก
ยิ่งคล้ายเด็ก คนยิ่งรัก

เกมที่ทำให้เด็ก “เงยหน้า” จากจอ

สิ่งที่ดูจะเป็นไฮไลท์มาก ๆ สำหรับแอปนี้ไม่ว่าจะสำหรับเด็กหรือผู้ใหญ่เห็นจะเป็นเกมที่เน้นการมีส่วนร่วมกับพิพิธภัณฑ์ หรือชิ้นงานที่จัดแสดงอยู่จริง ๆ อย่างเกม The Museum Mystery ที่เด็กจะต้องมาช่วยศาสตราจารย์ที่ทุ่มเทหาสมบัติล้ำค่ามาให้พิพิธภัณฑ์มาทั้งชีวิตในการหยุดยั้งจอมโจร เด็ก ๆ ต้องทายปริศนาเกี่ยวกับสิ่งของนั้น ๆ ให้ถูกถึงจะรู้ว่าจอมโจรจะขโมยอะไร เกมนี้ทำให้เด็ก ๆ ต้องใช้มือถือเพื่อฟังคำใบ้จากจอมโจร แล้วเงยหน้าขึ้นจากจอ เดินไปหางานศิลปะชิ้นนั้นเพื่อหาคำตอบ

อยากรู้ว่าสนุกแค่ไหน ลองมาสวมบทบาทช่วยศาสตราจารย์หยุดยั้งเจ้าโจรกันดีกว่า เริ่มจากเราอยู่ที่พระราชวังแห่งหนึ่ง จอมโจรให้คำใบ้แรกว่า “มีภาพวาดสมาชิกราชวงศ์อยู่หลายภาพ บางภาพเป็นภาพทอ เธอต้องหาภาพทอที่เป็นรูปพระราชินีเดนมาร์กที่พระราชวังแห่งนี้” เมื่อเราเจอภาพทอที่ว่านี้แล้ว จอมโจรถามต่อว่า “ในภาพนี้พระราชินีใส่สร้อยคอกี่เส้น 6 8 10 หรือ 12” ถ้าเราตอบได้ถูกต้องก็จะได้คำใบ้ที่ 2 จากจอมโจรต่อไป

ยิ่งคล้ายเด็ก คนยิ่งรัก

ผลการทดลองในเด็กพบว่า เกมดึงความสนใจเด็ก ๆ ได้นาน เด็กสนุก มีความสงสัยใคร่รู้ ออกไปเรียนรู้ด้วยตัวเอง มีปฏิสัมพันธ์กับผู้เล่นคนอื่น และยังตามไปเล่นเกมนี้ที่พิพิธภัณฑ์อื่นอีกด้วย นี่เป็นอีกหนึ่งกลยุทธ์ที่ Useeum ใช้คือให้เกมเดียวกันสามารถเล่นได้ที่หลายพิพิธภัณฑ์ เพราะคำถามจะไม่เหมือนกันเลย ขึ้นอยู่กับสิ่งจัดแสดงของพิพิธภัณฑ์นั้น ๆ เฉพาะ The Museum Mystery เกมเดียวก็สามารถไปเล่นที่พิพิธภัณฑ์อื่นได้อีก 10 กว่าแห่ง

ถ้าเรายังจำภาพของผู้คนที่เดินไปตามสถานที่ต่าง ๆ เพื่อตามหาโปเกม่อนที่เคยฮิตอยู่ช่วงหนึ่งได้แล้วล่ะก็ Nature Quest คือเกมที่มีแนวคิดคล้ายกัน เกมนี้จะมีวายร้ายอย่าง Dr. Polluti ผู้ทำลายธรรมชาติและได้พลังจากการขายออกซิเจนขวดให้กับคนทั่วโลก เด็ก ๆ เลือกได้ว่าจะช่วย Akiko ต่อต้าน Dr. Polluti ด้วยการช่วยเธอหาโค้ดดีเอ็นเอของสัตว์และพืช ซึ่งจะมีนักชีววิทยาและเจ้าหน้าที่พิพิธภัณฑ์แอบซ่อนตัวอยู่ตามแหล่งที่อยู่อาศัยทางธรรมชาติ หรือจะอยู่ข้าง Polle เพื่อทำลายโค้ดดีเอ็นเอเหล่านั้น

ยิ่งคล้ายเด็ก คนยิ่งรัก

เกมนี้จะพาเด็กออกไปสำรวจโลกของธรรมชาติที่แท้จริง ใช้เวลา 95% อยู่นอกจอ สำรวจและหาแหล่งที่อยู่อาศัยตามธรรมชาติของสัตว์ชนิดต่าง ๆ เพื่อทำภารกิจให้ครบถ้วน แต่ละภารกิจจะอยู่ภายในบริเวณใดบริเวณหนึ่ง แน่นอนว่าเด็กจะเล่นเกมนี้ต่อได้ในบริเวณอื่น ๆ ที่ไหนก็ได้ที่เด็กเจอสิ่งมีชีวิตชนิดใหม่ เป็นการกระตุ้นให้เด็กสำรวจพื้นที่เพื่อทำภารกิจทั้งหมดให้ครบถ้วน

ยิ่งคล้ายเด็ก คนยิ่งรัก

Useeum ไม่ได้มีแต่เกมเท่านั้น แต่มีทุกสิ่งที่พิพิธภัณฑ์ทั่วไปควรจะมี เช่น Audio guide ที่สามารถใช้มือถือของตัวเองได้เลย ใช้ดูมัลติมีเดียต่าง ๆ ได้ทั้งในและนอกอาคาร โดยยังมีแนวคิดเน้นการเล่าเรื่องที่ดี ในอดีตเดนมาร์กเคยมีคดีฆาตกรรมดัง Audio guide นี้ก็พาผู้ชมมาดูเส้นทางของคดีนี้เลย แต่ใช้วิธีการเล่าแบบดราม่า สร้างความตื่นเต้น โดยที่ไม่ให้แต่ข้อเท็จจริงเพียงอย่างเดียว อารมณ์คล้าย ๆ ละครวิทยุสมัยก่อน ผู้ชมจะรู้สึกเหมือนกำลังอยู่ในเหตุการณ์นี้ด้วย ซึ่งกว่าจะมาเป็นแอปอย่างที่เห็น ทีมงานต้องทำการบ้านหนักมาก ด้วยความที่ประสบการณ์เป็นสิ่งสำคัญที่สุดสำหรับเด็ก Useeum จึงมีการทดสอบจริงกับเด็กทุกขั้นตอนตั้งแต่การลงมือเขียนบทเกม ไปจนถึงเมื่อพัฒนาจนเสร็จ เพื่อเช็กว่าเด็กสนุกจริงหรือมีตรงไหนควรปรับปรุงแก้ไขบ้าง

เทคโนโลยีไม่ใช่สิ่งสำคัญที่สุด

มาถึงตรงนี้เราอาจคิดว่าต้องใช้แต่เทคโนโลยีเท่านั้นหรือเปล่าถึงจะสร้างประสบการณ์ที่สนุกให้กับเด็ก ๆ ได้ แบบนี้พิพิธภัณฑ์บางแห่งในบ้านเราที่ไม่ได้มีต้นทุนมากจะไปต่อได้อย่างไร Rasmus กล่าวว่านี่เป็นความเข้าใจที่ผิด เทคโนโลยีไม่ใช่สิ่งสำคัญที่สุด เดนมาร์กก็เคยคิดว่าการใช้เทคโนโลยีจะดึงดูดวัยรุ่นให้เข้าพิพิธภัณฑ์มากขึ้นได้ จริงๆ แล้วไม่ใช่ เทคโนโลยีเป็นเพียงคือเครื่องมือเท่านั้น แต่เราควรคิดถึง “การเล่าเรื่อง” และ “เนื้อหา” มากที่สุด จะเล่าเรื่องอย่างไรให้ถึงกลุ่มเป้าหมาย

ถ้ายังจำกันได้เมื่อปี 2562 บ้านเรามีปรากฏการณ์คนแห่เข้าชมนิทรรศการพิเศษ “จิ๋นซีฮ่องเต้ จักรพรรดิองค์แรกของแผ่นดินจีนกับกองทัพทหารดินเผา” ทะลุ 3 แสนคน ซึ่งเป็นเรื่องที่ไม่เคยเกิดขึ้นในบ้านเรามาก่อน คนไทยไม่ต้องบินไปถึงซีอาน เพราะนิทรรศการนี้รวบรวมวัตถุโบราณ 133 ชิ้น อายุกว่า 2,200 ปี จากพิพิธภัณฑ์ชั้นนำ 14 แห่งจากจีนมาจัดแสดงที่พิพิธภัณฑสถานแห่งชาติพระนคร ในราคาตั๋วเพียง 30 บาทเท่านั้น นี่คือตัวอย่างของเนื้อหาที่คนไทยอยากดู ถึงขั้นมาต่อแถวรอหลายชั่วโมง ไม่เว้นแม้แต่วันราชการ

ทุกวันนี้พิพิธภัณฑ์และแหล่งเรียนรู้หลายแห่งในไทยมีการพัฒนาทั้งเนื้อหาและการเล่าเรื่องที่แตกต่างไปจากเดิมมาก ในอนาคตหากสถานที่เหล่านี้เกือบ 1,600 แห่ง หันมาเอาจริงเอาจังและมองเห็นโอกาสในทุกรายละเอียดที่จะทำให้พิพิธภัณฑ์เป็นมากกว่าแค่สถานที่ที่โรงเรียนพาเด็กมาทัศนศึกษา หรือพ่อแม่พาลูกมาเที่ยว พิพิธภัณฑ์ไทยอาจกลายเป็นส่วนหนึ่งของวัฒนธรรมการเรียนรู้สำหรับคนทุกเพศทุกวัยได้มากกว่าเดิม เป็นเป้าหมายปลายทางของนักท่องเที่ยวทั่วโลก ไม่ต่างอะไรกับ Louvre หรือ British Museum ก็เป็นได้

อ้างอิง
เสวนา เที่ยว+เรียน+เล่น พิพิธภัณฑ์เดนมาร์ก การใช้พื้นที่เพื่อการเรียนรู้ของเด็กและครอบครัวในพิพิธภัณฑ์เดนมาร์ก โดย สมาคมพิพิธภัณฑ์ไทย
https://useeum.com/
https://data.go.th/dataset/museum
https://www.thaipost.net/main/detail/53100
https://www.thebangkokinsight.com/news/lifestyle/211132/

Share

Authors

Authors

RELATED POSTS