เมื่อพูดถึงละครทุกอย่างอาจดูเป็นเรื่องไร้สาระ เน้นความบันเทิงเสียมากกว่า แต่ยังมีที่หนึ่งที่ใช้ละครเป็นกระบวนการเพื่อนำไปสู่การเรียนรู้ การพัฒนา และเพื่อการศึกษา โดยมีความเชื่อว่า ละครเป็น กระบวนการที่ว่าด้วยการแสวงหาความรู้ โดยการนำละครผนวกเข้ากับรายวิชาพื้นฐานในการเรียน เด็กนักเรียนที่นี่จึงไม่ได้เป็นเพียงแค่ผู้รับความรู้เท่านั้นแต่ยังต้องเป็นผู้แสวงหาความรู้อีกด้วย สถานที่แห่งนั้นคือ คณะละครมรดกใหม่ สำนักศิลปะการละครเพื่อการพัฒนา ร่วมพูดคุยไปกับ ชนประคัลภ์ จันทร์เรือง ศิลปินแห่งชาติ สาขาศิลปะการแสดง (ภาพยนตร์และละคร) ประจำปีพุทธศักราช 2562 หรือที่เรารู้จักกันดีในนาม “ครูช่าง” และเป็นผู้ก่อตั้ง คณะละครมรดกใหม่อีกด้วย
ละครกับการศึกษาผนวกกันได้อย่างไร?
“เราทำทุกอย่างให้อยู่ในละครเลย เราอยากรู้เรื่องวิทยาศาสตร์เราก็ทำละครวิทยาศาสตร์ เราอยากจะรู้ภาษาอังกฤษ เราก็แปลบทละครที่เราเล่นเป็นภาษาอังกฤษแล้วก็เล่นเป็นภาษาอังกฤษขึ้นมา เพราะในกระบวนการทำละครแล้วนั้นเด็กต้องไปหาข้อมูล การศึกษาคือการว่าด้วยเรื่องของการแสวงหาความรู้ ที่มรดกใหม่เราเขียนบท ตีความ และแปลบทเอง ผู้ใหญ่มีหน้าที่ปรับให้เข้าร่องเข้ารอย เพราะความรู้นี้เป็น “สันทิฏฐิโก” แปลว่า รู้ได้ด้วยตัวเอง หมายถึง เด็กบางคนอายุเท่านี้อ่านออกได้ เด็กบางคนอายุเท่ากันแต่ยังอ่านไม่ออก แต่ทันกันหมดเพราะความรู้นั้นไม่ขึ้นอยู่กับเวลา แล้วไม่ขึ้นอยู่กับใคร ความรู้ของผมที่รู้ในเวลานี้ไม่สามารถไปใช้กับใครไม่ได้ คนอื่นอาจจะรู้เร็วกว่าหรือลึกกว่า ซึ่งไม่เหมือนกัน ทุกคนมีความรู้เป็นของตัวเอง”
ละครสู่การศึกษาอย่างยั่งยืน
“เราสามารถพัฒนาตัวเองได้ด้วยกระบวนการเรียนรู้ ด้วยกระบวนการการศึกษาเป็น “เสกขบุคคล” โดยที่ไม่ต้องไปโรงเรียนก็ได้ ถ้ามีกระบวนการปฏิบัติอย่างแท้จริง ฝึกทำแล้วทำเล่าจนทำได้ เป็น 1 ในปรัชญา 6 ข้อของมรดกใหม่ จนการกระทำนี้พาไปสู่ภาวนาปัญญา”
“ได้ยินได้ฟังอะไรมาเรียกว่า สุตปัญญา ผ่านไปสักพักก็ลืมความรู้นั้นอยู่กับเราไม่นาน แต่ถ้าเรานำความรู้นั้นที่ได้ยินได้ฟังมา พาไปสู่การคิดวิเคราะห์ความรู้นั้นอยู่นานขึ้นเรียกว่า จินตปัญญา แต่ความรู้ที่อยู่นานที่สุดคือพาไปสู่การปฏิบัติอย่างแท้จริง ความรู้นั้นอยู่นานชั่วนิรันดร์เลยคือ ภาวนาปัญญา”
สิ่งแวดล้อมสำคัญยิ่งกว่าครู
“สิ่งแวดล้อมสำคัญที่สุดเลย สิ่งแวดล้อมสำคัญยิ่งกว่าครู เด็กเกิดมาพ่อแม่เป็นฝรั่งสามารถพูดภาษาอังกฤษได้ด้วยสิ่งแวดล้อมซึมซับ ดังนั้นความรู้ที่เกิดจากกระบวนการซึมซับมีค่ายิ่งกว่าความรู้ที่เป็น “สุตะหรือจินตะ” ด้วยซ้ำไป แต่ “ภาวนาปัญญา” เกิดจากการซึมซับการกระทำบ่อย ๆ จนกระทั่งซึมเข้าไปในตัวเองเพราะฉะนั้น absorbing knowledge คือหัวใจสำคัญ ดังนั้น เด็กจึงต้องการตัวอย่างมากกว่าคำสอน”
แนวโน้มของความสำเร็จของเด็กที่มาอยู่ที่นี่
“ใช้คำว่าทำไม่สำเร็จไม่ถึงครึ่งที่เข้าใจ มีนักเรียนที่มาเรียนที่นี่มากกว่าครึ่งที่ไม่เข้าใจแล้วรับไม่ได้ แล้วที่รับไม่ได้ไม่ใช่เด็กรับไม่ได้หรอก ต้องโทษผู้ปกครองต่างหากที่รับไม่ได้ เพราะมาถึงแล้วนึกว่าจะเป็นอย่างนี้พออยู่ไปแล้วมันไม่เป็นอย่างนั้น เค้าไม่เข้าใจว่าจริง ๆ แล้วสอนให้เด็กรู้จักเอาตัวรอดใช้ชีวิตอยู่ได้ด้วยตัวเอง ถ้าเด็กที่ติดเมืองแล้วจะมีปัญหา เพราะว่าแค่เราไม่ให้ใช้มือถือนี่ก็เรื่องใหญ่แล้วและสำคัญที่สุดคือต้องฝึกหนัก แล้วผมส่งถึงที่สุดเลยนะ แต่เมื่อส่งถึงจบปริญญาตรีเรียบร้อยแล้ว ขอให้อยู่สอนน้องที่มาตามหลังมานี่อีกซัก 3 ปี ที่ผ่านมามีแค่คนเดียวที่สามารถมุ่งมั่นจะอยู่ให้ครบ 3 ปี แล้วจากนั้นหนูจะไปไหนก็ได้แล้ว แล้วไปแบบเป็นกัลยาณมิตรกัน เป็นเครือข่ายกัน เราก็เรียนรู้ตรงนี้และทำกันมามันก็มีสำเร็จขึ้นมา แล้วผมก็ค้นพบว่า มันจะสำเร็จขึ้นเรื่อย ๆ คนที่เข้าใจและเห็นจริง ๆ ก็จะตามมาเรื่อย ๆ”
หลักยึดที่ควรมีในระบบการศึกษา
“กาลามสูตร” เป็นพระสูตรที่ให้ชื่อว่าอย่าเพิ่งปลงใจเชื่ออะไรง่าย ๆ คืออย่าเพิ่งปลงใจเชื่อเลยว่าระบบการศึกษานี่คือทางออก ถ้าเราเคยหลงเชื่อมาแล้วว่าการศึกษาในโรงเรียนคือทางออกแต่กลับไม่พาไปไหน ดังนั้นพระพุทธเจ้าเตือนสติไว้ตั้งแต่วินาทีแรกแล้วว่า อย่าหลงเชื่ออะไรง่าย ๆ อย่าลงเชื่อว่าตรรกะที่เกิดขึ้นนั้นถูกต้อง และอย่าปลงใจเชื่อว่านี่คือพระเจ้าด้วยซ้ำไป แต่เราไม่สอนในโรงเรียนเราปักใจเชื่ออะไรง่ายเกินไปแล้วพอเราเชื่ออะไรง่ายเกินไปเราก็ถูกกล่อมง่าย พอกล่อมง่ายเราก็สูญเสียตัวตนของเราไปได้ง่าย แล้วอาจเกิดปัญหาต่าง ๆตามมาอีกมากมาย สรุปรวมเหลืออยู่คำเดียวคือ “มีสติ”
“ระบบการศึกษาไปแบบไร้สติ เป็นไปแบบไร้สติ เราไร้สติจนกระทั่งปลดครูที่เก่ง ๆ ออก เด็กห้ามตก ซ้ำชั้นไม่ได้ อะไรแบบที่ไม่เวิร์คเราก็เปลี่ยนใหม่เปลี่ยนอยู่นั่นแหละ ไม่ได้มีสติ ตั้งสติคิดก่อนว่า เอ๊ะ! จริง ๆ แล้วเจตนามันมีไว้เพื่ออะไร”
เป้าหมายปลายทางของมรดกใหม่
“ถึงจุดหนึ่งผมจะบอกนักเรียนว่า “มันมีเจดีย์ที่สูงกว่ามึงเสมอนะ” ไม่ว่ามึงจะเลิศแค่ไหนมันจะมีเจดีย์ที่สูงกว่ามึงเสมอ เพราะฉะนั้นการรักษาให้ยังยืนคือหัวใจ สมมติว่า หนูหัดตีระนาดได้แป๊บเดียวหนูก็ลืม แต่คีย์ของมันคือจะทำอย่างไรให้ sustain ได้แชมป์มันง่ายเลยแต่การรักษาแชมป์มันยาก ดังนั้นเป้าหมายของผมก็คือ ผมอยากเห็นกระบวนการฝึกฝนอย่างต่อเนื่อง จนเกิดเป็นภูมิปัญญาเป็นตัวตนที่มีชีวิต พอเราสามารถรักษาให้มันอยู่นานได้จะเกิดกระบวนการส่งต่อ from one generation to generation จึงเป็นมรดกให้กับเด็กใหม่เกิดขึ้นมาได้ย้อนกลับไปที่ตัว concept ของ คำว่า “มรดกใหม่” นั่นเอง”
คณะละครมรดกใหม่ได้รับการออกแบบขึ้นเพื่อเป็นอีกหนึ่งทางเลือกสำหรับรูปแบบการศึกษาของประเทศไทยที่อาจจะไม่ได้เป็นที่นิยมกันอย่างแพร่หลาย แต่ในต่างประเทศอย่างอังกฤษมีการใช้ละครเพื่อการเรียนรู้กันอย่างแพร่หลายและยาวนานมาตั้งแต่ศตวรรษที่ 15 และในประเทศสหรัฐอเมริกา ละครเพื่อการเรียนรู้เริ่มตั้งแต่คริสต์ศตวรรษที่ 19 กิจกรรมละครเป็นกิจกรรมที่ได้รับความนิยมและแพร่หลาย ได้มีการทดลองนำศิลปะการละครมาบรรจุในการเรียนการสอนในระดับมหาวิทยาลัย โดยเป็นที่ยอมรับถึงคุณค่าและการนำไปใช้เพื่อจุดมุ่งหมายทางการศึกษา ละครจึงเป็นศาสตร์ที่สามารถประยุกต์ได้กับทุก ๆการเรียนรู้ แต่ก็ยังไม่มีโรงเรียนใดเลยที่ใช้สื่อละครเป็นหลักในการเรียนการสอน และอยู่ร่วมกันเป็นชุมชนละครอย่าง “คณะละครมรดกใหม่”