Little Girl กับภาพสะท้อนของชีวิตเด็ก LGBTQ

A A
Jan 21, 2022
Jan 21, 2022
A A

Little Girl กับภาพสะท้อนของชีวิตเด็ก LGBTQ

 

“พอโตขึ้นหนูจะเป็นผู้หญิง”- ซาช่า เด็กน้อยชาวฝรั่งเศสวัยสองปีครึ่งพร่ำบอกกับแม่ของเธอถึงความฝันในชีวิตของเด็กคนหนึ่ง เราอาจไม่สะดุดใจอะไรกับความฝันนี้ ถ้าซาซ่าไม่ใช่เด็กผู้หญิงที่เกิดมาในร่างของเด็กผู้ชาย Little Girl ภาพยนตร์สารคดีฝรั่งเศสนำเราไปสู่เรื่องราวอันอบอุ่นและเจ็บปวดหัวใจในเวลาเดียวกัน กับคำถามและเรื่องราวอีกมากมายของคนที่เรียกตัวเองว่าเป็น LGBTQ อะไรคือสิ่งที่คนเป็นพ่อแม่ ครู และโรงเรียนจะช่วยเหลือพวกเขาได้ตั้งแต่วัยเด็ก เป็นคนกลุ่มแรกที่พวกเขานึกถึงในฐานะที่ปรึกษาที่ไว้ใจได้ เพราะในอนาคตยังมีเรื่องราวที่รอทดสอบพวกเขาอีกมากมาย

Coming out หรือการเปิดตัวครั้งแรกของคนกลุ่ม LGBTQ ถึงตัวตนที่แท้จริงของพวกเขาคือสิ่งที่ยากและกดดันที่สุด เพราะผลลัพธ์นั้นไม่อาจคาดเดาได้ ซาช่า เป็นหนึ่งในเด็กที่โชคดีที่พ่อแม่และพี่ชายของเธอพร้อมสนับสนุนทุกอย่าง แม้ว่าปฏิกิริยาของแม่ในตอนแรกเมื่อซาช่าบอกว่าโตขึ้นจะเป็นผู้หญิง คือการไม่ยอมรับในสิ่งที่ลูกเป็นด้วยการบอกว่า “ไม่ได้ ลูกไม่มีวันเป็นผู้หญิง” จนเหตุการณ์มาถึงจุดเปลี่ยนเมื่อวันหนึ่งซาช่าขอแม่ซื้อชุดกระโปรง แม่อายมาก กังวลว่าคนอื่นจะคิดอย่างไร แต่เมื่อเห็นสีหน้าลูกที่ดูมีความสุขมากขณะลองชุด ตั้งแต่นั้นมาแม่ก็เลิกสนใจคนอื่นทันที

งานวิจัยพบว่าการยอมรับและการปฏิเสธของครอบครัวส่งผลต่อความอยู่ดีมีสุขของเด็ก LGBTQ คนหนุ่มสาวที่ครอบครัวไม่ยอมรับมีแนวโน้มที่จะพยายามฆ่าตัวตายถึง 8 เท่า เป็นโรคซึมเศร้าในระดับสูงเกือบ 6 เท่า ใช้ยาเสพติดและมีเพศสัมพันธ์แบบไม่ป้องกันมากกว่า 3 เท่า

การเลือกปฏิบัติจากโรงเรียน พื้นที่ที่ได้ชื่อว่าปลอดภัยสำหรับเด็ก

ในสารคดีเรื่องนี้เราเห็นว่าซาช่าและแม่ไม่ได้รับการปฏิบัติจากโรงเรียนเหมือนเด็กและพ่อแม่คนอื่น โรงเรียนไม่ให้ซาช่าเป็นอย่างที่อยากเป็น ทั้งเพื่อนผู้ชายและผู้หญิงไม่ยอมเล่นด้วย หนำซ้ำยังถูกก่อกวน กลั่นแกล้ง และพูดจาไม่ดีใส่ เมื่อผู้ใหญ่ในโรงเรียนไม่ยอมรับตัวตนของซาช่า เด็กคนอื่น ๆ ก็จะทำตามครูที่เป็นต้นแบบ ซาช่าจึงไม่ได้ใช้ชีวิตในแบบที่ควรจะมี เธอไม่มีวัยเด็ก

หลายประเทศประสบปัญหาคล้าย ๆ กัน โรงเรียนไม่ได้เป็นพื้นที่ปลอดภัยสำหรับเด็กอย่างที่ควรจะเป็น ข้อมูลในอเมริกาพบว่า นักเรียน 64% รู้สึกไม่ปลอดภัยที่โรงเรียนเพราะอคติเรื่องรสนิยมทางเพศ เมื่อนักเรียน LGBTQ ถูกล่วงละเมิดหรือทำร้ายร่างกาย กว่า 60% ไม่ได้แจ้งเจ้าหน้าที่โรงเรียน เพราะเชื่อว่าจะมีการดำเนินการเพียงเล็กน้อย หรือจะยิ่งทำให้สถานการณ์แย่ลง

ผลสำรวจแห่งชาติในอเมริกายังพบว่า เด็ก LGBTQ และชนกลุ่มน้อยทางเพศ

71% ได้ยินเพื่อนพูดเชิงลบเกี่ยวกับรสนิยมทางเพศ และการแสดงออกทางเพศ 61%
57% ได้ยินครูพูดเชิงลบเกี่ยวกับรสนิยมทางเพศ และการแสดงออกทางเพศ 57%
82% ถูกล่วงละเมิดทางวาจา เพราะรสนิยมทางเพศ หรือการแสดงออกทางเพศ 64%
38% ถูกล่วงละเมิดทางร่างกาย เพราะรสนิยมทางเพศ หรือการแสดงออกทางเพศ 27%

การบูลลี่คือปัญหาใหญ่ในโรงเรียนหลายแห่งมาเนิ่นนาน แต่งานวิจัยเมื่อเร็ว ๆ นี้พบว่า การบูลลี่นักเรียน LGBTQ ดูจะมีทิศทางที่เลวร้ายกว่า เพราะมีแนวโน้มจะถูกเพิกเฉยหรือจัดการอย่างไม่ถูกต้องจากครู

โดนแปะป้ายโดยเพศกำเนิด

ปัญหาหลาย ๆ อย่างที่เกิดขึ้นกับซาช่า การถูกเลือกปฏิบัติจากโรงเรียนและเพื่อน ๆ ส่วนหนึ่งเป็นเพราะเอกสารทางราชการที่มีการระบุเพศของเด็ก แม่มองว่าเป็นการสร้างความลำบากให้เด็กที่เป็น LGBTQ อย่างมาก เพราะถ้ามองภายนอก ซาช่าก็เหมือนเด็กผู้หญิงทั่วไป การระบุเพศจึงเป็นการพรากวัยเด็กไปจากเธอ ครอบครัวของซาช่าจึงตัดสินใจไปพบแพทย์เพื่อขอคำปรึกษา และขอใบรับรอง ซึ่งน่าจะเป็นทางออกที่ดีที่สุดที่จะช่วยให้ซาช่ามีชีวิตที่ดีขึ้น ท้ายที่สุดใบรับรองแพทย์นี้ระบุว่าซาช่ามีความทุกข์ใจในเพศสภาพ และขอให้โรงเรียนยอมรับซาช่าในฐานะเด็กผู้หญิง ใช้สรรพนามเพศหญิงทั้งภายในและภายนอกชีวิตครอบครัว

เราได้เห็นบทบาทของแม่คนหนึ่งที่ทำเพื่อลูกของตัวเองอย่างเต็มที่ อยากให้ทุกคนยอมรับซาช่าในแบบที่เธอเป็น และมีส่วนในการเติบโตของเธอ แม่จัดการประชุมโดยเชิญคุณหมอ เพื่อน ๆ พ่อแม่บ้านอื่น ทุกคนมากันหมด ยกเว้นคนของโรงเรียน ไม่กี่วันต่อมา โรงเรียนก็จัดการประชุมเพื่อพูดคุยถึงความเป็นไปได้ที่ซาช่าจะเริ่มเรียนปีหน้าในฐานะเด็กผู้หญิง

Little Girl

ครอบครัวคือคนสำคัญที่สุด

ชีวิตของซาช่าจึงเริ่มเปลี่ยนไปหลังได้พบหมอ เธอเบ่งบาน สดใสเหมือนดอกไม้ แม้แม่ของเธอจะรู้ว่าการที่ลูกเป็นเด็กผู้หญิงในร่างเด็กผู้ชายจะเป็นเรื่องที่น่าเจ็บปวด เพราะซาช่าจะต้องเจอเรื่องทุกข์อีกเยอะเมื่อโตขึ้น โดยเฉพาะเมื่อเข้าสู่วัยรุ่น มีรักครั้งแรก มีโอกาสโดนดูถูก ข่มขู่และทำร้าย ซาช่าอาจกลายเป็นหนึ่งในเด็กที่โตขึ้นแล้วกลายเป็นโรคซึมเศร้า ใช้ยาเสพติด หรือตัดสินใจจบชีวิตตัวเองไปเลยก็ได้ หากครอบครัวของเธอไม่เข้าใจและไม่ให้การยอมรับในตัวตนที่แท้จริง ครอบครัวจึงมีบทบาทสำคัญที่สุด และสิ่งที่ครอบครัวทำได้เพื่อสนับสนุนลูก ๆ ที่เป็น LGBTQ คือ

  • ยอมรับและรักลูกในแบบที่เขาเป็น พยายามเข้าใจความรู้สึกและประสบการณ์ของพวกเขา งานวิจัยพบว่า วัยรุ่นกลุ่ม LGBTQ ที่ครอบครัวให้การสนับสนุนจะเติบโตขึ้นเป็นผู้ใหญ่ที่มีความสุขและมีสุขภาพดี
  • ให้การสนับสนุนเรื่องพื้นที่ปลอดภัยที่ลูกจะสามารถสำรวจความสนใจได้โดยที่ไม่ถูกตัดสิน
  • มีส่วนร่วมกับการสนทนาและดูว่าลูกสนใจอะไร มีเพื่อนกลุ่มไหน มีความสัมพันธ์แบบโรแมนติก ถูกบูลลี่บ้างหรือเปล่า การพูดคุยกับลูกแม้เรื่องเล็ก ๆ น้อย ๆ อาจดูเหมือนไม่มีอะไร แต่การได้พูดคุยกันอย่างสม่ำเสมอก็จะทำให้ลูกกล้าเข้าหาพ่อแม่มากขึ้นเมื่อพวกเขาต้องการคำปรึกษาในเรื่องที่ใหญ่และซับซ้อนขึ้น เช่น เรื่องเพศ
  • ระวังสัญญาณอันตรายที่อาจบ่งบอกว่าลูกกำลังต้องการความช่วยเหลือด้านสุขภาพจิต เช่น กังวล รู้สึกไม่มั่นคง ซึมเศร้า นับถือตัวเองน้อยลง และมีปัญหาทางอารมณ์
  • ให้ลูก ๆ ได้มีร่วมกับองค์กร แหล่งข้อมูล หรือกิจกรรมที่เกี่ยวข้องกับ LGBTQ เด็ก ๆ จะรู้ได้รู้ว่าตัวเองไม่ได้อยู่อย่างลำพัง
  • เปิดโอกาสให้ลูกได้เข้าถึงหนังสือ ภาพยนตร์ และสื่อต่าง ๆ ที่พูดถึงคนที่มีความหลากหลายทางเพศในแง่บวก เช่น คนดังและบุคคลต้นแบบที่เป็น LGBTQ ที่ยืนหยัดเผชิญหน้ากับการตีตราทางสังคมเพื่อเหล่า LGBTQ
  • สนับสนุนการแสดงออกของลูก พูดคุยกับพวกเขาเกี่ยวกับเสื้อผ้า เครื่องประดับ ทรงผม เพื่อน และของตกแต่งห้อง
Little Girl

บทบาทของโรงเรียนต่อนักเรียน LGBTQ

นอกจากบทบาทของครอบครัวแล้ว โรงเรียนเองก็มีส่วนอย่างมากในการสร้างพื้นที่ปลอดภัย และความเข้าใจที่ถูกต้องให้กับครู และเพื่อนนักเรียนด้วยกัน หากนักเรียน LGBTQ ไม่ได้รับการสนับสนุนที่ดีจากโรงเรียน ผลกระทบที่เกิดขึ้นอาจร้ายแรงกว่าที่เราคิด

จากการสำรวจครั้งใหญ่ในนักเรียนมัธยมศึกษาตอนปลาย 15,600 คน โดยศูนย์ควบคุมและป้องกันโรคของอเมริกาพบว่า นักเรียนเลสเบี้ยน เกย์ และไบเซ็กชวลมีแนวโน้มที่จะถูกบูลลี่มากกว่าเพื่อนที่ไม่ใช่ LGBTQ ถึง 2-3 เท่า นักเรียนกลุ่มนี้มักขาดเรียนและมีแนวโน้มที่จะพยายามฆ่าตัวตายเกือบ 5 เท่า ยิ่งในกลุ่มคนข้ามเพศด้วยแล้ว ตัวเลขจะยิ่งสูงขึ้น การศึกษาอื่นพบว่านักเรียนเลสเบี้ยน เกย์ และไบเซ็กชวลที่ถูกบูลลี่จะมีการใช้สารเสพติดและมีพฤติกรรมเสี่ยงในระดับที่สูงกว่านักเรียนที่ชอบเพศตรงข้ามที่ถูกบูลลี่ ดังนั้น สิ่งที่โรงเรียนทำได้เพื่อสนับสนุนเด็กกลุ่มนี้คือ

  • สร้างพื้นที่ปลอดภัยสำหรับคนทุกอัตลักษณ์ด้วยการติดป้าย สติกเกอร์ หรือโปสเตอร์ว่าพื้นที่แห่งนี้ปลอดภัยและยินดีต้อนรับทุกคน ผลสำรวจของ The Gay, Lesbian and Straight Education Network’s (GLSEN) ระบุว่า การรณรงค์เรื่องพื้นที่ปลอดภัย เช่น การมีนโยบายต่อต้านการรังแก จะมีผลอย่างมากต่อการรับรู้ของนักเรียน LGBTQ ว่าโรงเรียนปลอดภัย สามารถเชื่อใจครูและผู้ใหญ่ทุกคนได้
  • จัดตั้งองค์กร LGBTQ ที่โรงเรียน สหพันธ์ครูอเมริกาชี้ว่า กลุ่มนอกหลักสูตรในโรงเรียนมีศักยภาพในการกำหนดบรรยากาศของโรงเรียน จัดการกับความไม่เท่าเทียม และส่งผลต่อสมรรถนะของนักเรียน องค์กรในลักษณะนี้จะช่วยสร้างการรับรู้ ลดการเลือกปฏิบัติต่อนักเรียน ส่งเสริมความเป็นอยู่ที่ดี และส่งเสริมสภาพแวดล้อมที่ปลอดภัยในโรงเรียน
  • เพิ่มเติมเนื้อหาที่เกี่ยวกับ LGBTQ ลงในหลักสูตร เช่น ขณะที่สอนวิทยาศาสตร์ ประวัติศาสตร์ และศิลปะก็เพิ่มบุคคลที่เป็น LGBTQ อย่าง ฮาร์วีย์ มิลค์ (นักการเมือง) หรือ อลัน ทัวริง (นักวิทยาศาสตร์คอมพิวเตอร์) ลงไป

การที่จะไปให้ถึงนโยบายที่เกิดขึ้นได้จริงในโรงเรียน นโยบายจากภาครัฐก็ถือว่ามีส่วนสำคัญในการกำหนดทิศทางให้โรงเรียน ในสกอตแลนด์เอง รัฐบาลให้ความสำคัญกับนักเรียน LGBTQ ตั้งแต่ในเชิงนโยบายด้วยการออกคำแนะนำช่วยเหลือเด็กข้ามเพศในโรงเรียน ช่วยให้โรงเรียนและผู้มีอำนาจทางการศึกษาตัดสินใจได้อย่างมีประสิทธิภาพ นอกจากนี้ ยังให้ความสำคัญกับพื้นที่ส่วนตัวและพื้นที่ปลอดภัยสำหรับนักเรียนทั่วไปในโรงเรียน โดยนำตัวอย่างจากชีวิตจริง และให้คำแนะนำในหลายประเด็นที่มีผลต่อนักเรียนข้ามเพศ รวมถึงการกลั่นแกล้ง ความปลอดภัย และความเป็นส่วนตัวอีกด้วย

ชีวิตของซาช่าเป็นภาพสะท้อนสังคมถึงสิ่งที่เกิดขึ้นกับชีวิตของเด็กที่มีความหลากหลายทางเพศในประเทศที่ยอมรับให้คนเพศเดียวกันแต่งงานกันได้ แล้วชีวิตของเด็กกลุ่มนี้ในอีกหลากหลายประเทศทั่วโลกที่มีวัฒนธรรม และความเชื่อต่างกันล่ะ จะเกิดอะไรขึ้นกับพวกเขา สิ่งที่เราทำได้คือการยอมรับและเข้าใจคนกลุ่มนี้ในฐานะที่เขาก็เป็นมนุษย์คนหนึ่งไม่ต่างจากเรา

อ้างอิง
https://vipa.me/th/play/little-girl/543211
https://www.wgu.edu/heyteach/article/5-things-you-can-do-support-your-lgbtq-students1809.html
https://www.apa.org/pi/lgbt/programs/safe-supportive/lgbt/educators-families.pdf
https://www.edutopia.org/article/schools-struggle-support-lgbtq-students
https://www.bbc.com/news/uk-scotland-58186268
https://www.healthychildren.org/English/ages-stages/teen/dating-sex/Pages/Four-Stages-of-Coming-Out.aspx
https://www.hopkinsmedicine.org/health/wellness-and-prevention/tips-for-parents-of-lgbtq-youth
https://optionb.org/articles/why-accepting-your-lgbtq-child-matters-and-how-to-start

Share

Authors

Authors

RELATED POSTS