วันนี้คุณถามลูกด้วย 7 คำถามมหัศจรรย์แล้วหรือยัง?

A A
Mar 6, 2022
Mar 6, 2022
A A

วันนี้คุณถามลูกด้วย 7 คำถามมหัศจรรย์แล้วหรือยัง?

 

วันนี้อัตนัยอยากชวนพ่อแม่ทุกคนมาร่วมกันสำรวจพื้นที่ปลอดภัยแห่งนี้ไปกับเราด้วย 7 คำถามมหัศจรรย์ ที่จะตอกเสาเข็มให้บ้านหลังนี้แข็งแรงขึ้นในแต่ละวันหลังลูกเลิกเรียน

 

 

“ลูกรัก…รอยยิ้ม ความสง่างาม ความมั่นใจ นั้นเป็นทรัพย์สินทางจิตใจที่ยิ่งใหญ่ที่สุด หากมีสิ่งเหล่านี้ ลูกจะมีทุกสิ่งทุกอย่าง”

ประธานาธิบดี สีจิ้นผิง

“พ่อกับแม่เปลี่ยนห้องใต้ดินในบ้านให้เป็นห้องทดลอง เหตุผลมันไม่มีอะไรเลยพวกเขาแค่อยากสนับสนุนฝันของผม”

โทมัส อัลวา เอดิสัน

ส่วนหนึ่งจากคำพูดสอนลูกของคนดังในประวัติศาสตร์สองท่านนี้ เป็นอีกเครื่องย้ำเตือนให้เราเห็นว่าทุกก้าวความสำเร็จของประธานาธิบดี หรือนักฟิสิกส์รางวัลโนเบล หรือแม้คนธรรมดาอย่างเราเอง มักเริ่มต้นที่จุดเดียวกันเสมอ จุดเล็ก ๆ แสนอบอุ่นที่เราเรียกว่า “บ้าน”

บ้านคือหลุมหลบภัยทางจิตใจจากความทุกข์ภายนอกให้เด็ก ๆ ทุกคนได้เสมอ พื้นที่ปลอดภัยแห่งนี้จะสมบูรณ์ไม่ได้หากขาดสามองค์ประกอบสำคัญ พ่อ แม่ ลูก

ยิ่งคล้ายเด็ก คนยิ่งรัก

1. อะไรดีที่สุดในวันนี้?

คำถามสำคัญที่จะทำให้ลูกมีความสุขที่สุด น้ำเสียงและดวงตาเปล่งประกายจากการแบ่งปันเรื่องที่ตื่นเต้นและมีความสุขตลอดทั้งวัน พ่อกับแม่จะได้ฟังเรื่องต่าง ๆ ในชั้นเรียนที่ลูกเรียน กิจกรรมหรือวิชาต่าง ๆ ที่ลูกชอบ

2. อะไรที่หนูไม่ชอบเลยวันนี้?

คำถามนี้ดูเป็นขั้วตรงข้ามกับคำถามแรกเลยแต่เป็นคำถามที่เราจะได้คำตอบที่ช่วยให้เราเข้าใจ
มากขึ้นว่าเกิดอะไรขึ้นกับลูกที่โรงเรียนบ้าง ไม่ว่าจะเป็นกิจกรรมหรือวิชาต่าง ๆ ที่ ลูกไม่ชอบรวมไปถึงกลุ่มเพื่อนในโรงเรียน เป็นการถามเพื่อที่จะให้พ่อแม่อย่างเรา ๆ ได้รับรู้ และช่วยลูกรับมือกับปัญหานั้นได้

3. วันนี้หนูนั่งทานข้าวข้างใคร ?

คำถามนี้มองผิวเผินเหมือนจะไม่มีอะไร แต่คำตอบที่ได้จะสะท้อนออกมาว่าลูกของเราสามารถเข้าสังคมกับเพื่อนรอบข้างได้มั้ย ลูกนั่งกินข้าวกับคนเดิม ๆ หรือมีเพื่อนกลุ่มใหม่ ๆ ชักชวนให้ไปกินข้าวด้วยกัน ถ้าเปลี่ยนไปเรื่อย ๆ อย่างน้อยพ่อแม่ก็อาจจะถามถึงเพื่อนเก่า ๆ บ้างว่าไม่นั่งกับเพื่อนคนนั้นคนนี้แล้วเหรอ เพื่อประเมินสถานการณ์ว่าเกิดอะไรขึ้น ลูกของเรายังคนเป็นเด็กน่ารักมีมนุษยสัมพันธ์ดีอยู่รึเปล่านั่นเอง

4. กิจกรรมที่โรงเรียนเป็นไงบ้าง?

คำถามนี้เป็นการสำรวจทักษะของลูกว่า ถนัดหรืออ่อนวิชาไหน ชอบหรือไม่ชอบวิชาไหน ซึ่งคำตอบอาจจะบอกถึงความถนัดของลูกได้เลย ช่วยให้พ่อแม่สามารถแก้ไข และซัพพอร์ตความถนัดของเขาได้ตรงจุดมากยิ่งขึ้น

5. วันนี้คุณครูเป็นอย่างไรบ้าง?

คำถามนี้พ่อแม่อาจต้องสังเกตปฏิกิริยาและสีหน้าของลูกเพิ่มขึ้นด้วย หากท่าทางของลูกไม่เต็มใจเล่าด้วยความสนุกสนานอย่างที่เคยตอบมาจากคำถามก่อนหน้านี้ แสดงว่าต้องมีปัญหาอะไรซักอย่าง ซึ่งก็ไม่สามารถตัดสินได้ทันทีว่าเป็นปัญหาจากอะไร เรื่องปฏิสัมพันธ์ระหว่างคุณครูกับนักเรียนเป็นเรื่องละเอียดอ่อน เราอาจจะต้องสำรวจเค้าด้วยคำถามนี้ไปเรื่อย ๆ ในระยะยาว

6. วันนี้หนูเล่นกับใครบ้าง?

นอกจากคำถามว่าลูกนั่งกินข้าวกับใครแล้ว คำถามว่าลูกนั่งเล่นกับใครบ้างก็เป็นคำถามประเภทเดียวกันสำหรับสำรวจพฤติกรรมทางสังคมของลูก เพื่อที่จะให้รู้ว่าลูกยังอยู่กับสังคมกลุ่มเดิมหรือสร้างสังคมกับกลุ่มเพื่อนใหม่ ๆ รวมไปถึงพฤติกรรมทางด้านทักษะทาง EQ เช่น ลูกชอบเป็นผู้นำในการทำกิจกรรมกลางแจ้ง หรือ ไม่ชอบเล่นที่สนามเด็กเล่นเพราะเข้ากับเพื่อนคนอื่นไม่ได้ ทำให้พ่อแม่ได้รับรู้ปัญหาและปรึกษาเพื่อหาทางกันต่อไป

7. เร็ว ๆ นี้โรงเรียนมีกิจกรรมอะไรบ้าง?

คำถามนี้เป็นการฝึกให้ลูกมีวินัย รู้จักการวางแผนชีวิต นอกจากเรื่องการบ้านแล้วยังมีโครงการอะไรที่ลูกต้องทำให้เสร็จอีกบ้าง และที่สำคัญจะทำให้พ่อแม่ทราบว่าปฏิทินโรงเรียนเป็นอย่างไร เพื่อที่จะไม่ลืมหากต้องมีกิจกรรมที่ต้องร่วมทำกับลูก

การพูดคุยกับลูกเป็นสิ่งที่สำคัญ พ่อแม่ไม่จำเป็นต้องถามคำถามเหล่านี้ในเวลาเดียวกัน แต่ค่อย ๆ ถามแต่ละคำถามหรือแบ่งถามในแต่ละวัน เราจะทราบความเป็นไปของลูก ว่าลูกมีความสุขหรือทุกข์อย่างไรที่โรงเรียน และเพื่อให้ความสัมพันธ์ของคุณและลูกแน่นสนิทกันมากขึ้น

ล้มบ้าง…พลาดบ้าง ก็ไม่ได้เสียหายอะไร มันทำให้ลูกได้เรียนรู้และเติบโต

ไม่ว่าแต่ละวันลูกจะเจออะไรมาก็ตาม เมื่อลูกกลับมาหลุมหลบภัยทางจิตใจที่เรียกว่า “บ้าน” หน้าที่เดียวของพ่อแม่คือการทำให้เค้ารับรู้ถึงความรักความห่วงใย มันไม่ได้เสียหายอะไรเลย ถ้าหากวันนี้เราจะดึงลูกมากอดมาหอม และซัพพอร์ตในวันแย่ ๆ ที่เค้าทำผิดพลาด เพราะอย่างน้อยที่สุดต่อให้โลกภายนอกจะใจร้ายกับเค้าแค่ไหน หลุมหลบภัยแห่งนี้ยังมีนิทานก่อนนอนให้เค้าหลับฝันดีเสมอ

 

อ้างอิง
https://u.org/3GkigMM
https://bit.ly/3sfeE9V
https://bit.ly/32WBlHf

Share

Authors

Authors

RELATED POSTS