การเรียนรู้ที่มีความหมายอยู่ที่อะไร ถ้าไม่ใช่ความสำเร็จของงาน

A A
Feb 6, 2022
Feb 6, 2022
A A

การเรียนรู้ที่มีความหมายอยู่ที่อะไร ถ้าไม่ใช่ความสำเร็จของงาน

 

ถ้าวันหนึ่งในชั้นเรียน มีเด็กคนหนึ่งลืมเอาดินสอมา เราจะทำอย่างไร บางคนอาจเดินเข้าไปถามว่า ดินสอหายไปไหน แล้วไปหยิบของตัวเองมาให้ แต่จะมีสักกี่คนที่รอ รอเพื่อดูว่าเด็กจะทำอย่างไรต่อ เชื่อไหมว่าสถานการณ์นี้สามารถสะท้อนวิธีคิดของเราได้เลยว่าเราเปิดโอกาสให้เด็กได้เรียนรู้มากน้อยแค่ไหน

วัฒนธรรมการเลี้ยงดูแบบไทยกำลังทำลายโอกาสเรียนรู้ของเด็กหรือเปล่า

ดูเผินๆ แล้วสถานการณ์นี้ดูเหมือนจะไม่มีอะไร แต่หลายครั้งในชีวิตจริงโดยเฉพาะวัฒนธรรมการเลี้ยงดูเด็กแบบไทย ๆ ผู้ใหญ่เองกลับเป็นคนทำลายโอกาสที่เด็กจะได้เรียนรู้ เพียงเพราะเรารีบหยิบยื่นความช่วยเหลือในสิ่งที่เด็กๆ สามารถทำเองได้ ซึ่งถ้าเป็นสังคมตะวันตก เด็กจะถูกปล่อยให้ลองหัดทำโน่นทำนี่ หัดช่วยเหลือตัวเองมากกว่าเด็กบ้านเรา ผู้ใหญ่จะมีหน้าที่เข้าไปช่วยเมื่อเด็กๆ ร้องขอเท่านั้น

กลับมาดูสถานการณ์นี้กันอีกครั้ง ถ้าเราลองรออีกสักนิด ดูว่าเด็กจะทำอย่างไรให้ตัวเองได้มีดินสอเหมือนเพื่อน เราอาจจะได้เห็นเด็กเริ่มหันซ้ายหันขวา แล้วขอยืมเพื่อนข้างๆ บ้างก็ยกมือขึ้นบอกครูว่าลืมเอามา หรือไม่ก็หาดินสอสีที่มีในกระเป๋ามาใช้แทน ช่วงเวลาที่เราปล่อยให้เด็กได้หาวิธีจัดการตัวเองนี่แหละ คือเวลาแห่งการเรียนรู้ที่แท้จริง

นี่เป็นเพียงตัวอย่างสถานการณ์หนึ่งที่มีโอกาสเกิดขึ้นเท่านั้น ในชีวิตจริงการปล่อยให้เด็กๆ ได้ทำอะไรเองอย่างอิสระ ทำผิดพลาดบ้าง ทำช้าบ้างในสายตาผู้ใหญ่ ก็ถือเป็นการเรียนรู้ที่มีความหมายสำหรับพวกเขา แน่นอนว่าสิ่งสำคัญไม่ได้อยู่ที่ผลลัพธ์ว่าจะต้องออกมาดีหรือเปล่า แต่เรากำลังโฟกัสที่กระบวนการที่เปิดโอกาสให้เด็กได้ใช้ความคิด ได้ลงมือทำ ได้พยายาม จนเรียกได้ว่าเด็กคือเจ้าของการเรียนรู้อย่างแท้จริง สิ่งนี้นี่เองที่เป็นตัวบ่มเพาะความสำเร็จให้กับพวกเขาในอนาคต

การปล่อยให้เด็กๆ ได้ทำอะไรเองอย่างอิสระ

ถ้าผู้ใหญ่อยากช่วย ช่วยอย่างไรให้เด็กมีโอกาสได้เรียนรู้อยู่

หลายครั้งการช่วยเหลือของผู้ใหญ่เกิดขึ้นแทบจะโดยอัตโนมัติ เราอดใจไม่ไหวที่จะช่วยเมื่อเห็นเด็กทำอะไรเองแล้วดูช้าไปเสียหมด หรือชิงบอกเสียก่อนว่าต้องทำอะไร อย่างไร ในฐานะผู้ใหญ่ที่มีหน้าที่ให้ความช่วยเหลือ เราจะช่วยพวกเขาอย่างไรโดยไม่พรากโอกาสแห่งการเรียนรู้นั้นไปเสียก่อน การเฝ้ารอดูจะเป็นสิ่งที่ดีที่สุด รอให้เด็กเป็นคนเอ่ยปากขอความช่วยเหลือขึ้นมาเอง รอให้เขาถามคำถามในสิ่งที่เขาอยากรู้ กระบวนการนี้จะเปิดโอกาสให้เด็กได้ใช้เวลาอยู่กับตัวเองเพื่อเรียนรู้ และหาว่าอะไรคือสิ่งที่พวกเขาต้องการด้วยตัวเอง

วิธีสร้างการเรียนรู้ที่มีความหมาย

เมื่อการเรียนรู้อย่างแท้จริงอยู่ที่การที่ปล่อยให้เด็กๆ ได้ทำอะไรด้วยตัวเองแล้ว คำพูดที่เราใช้สื่อสารกับเด็กก็เป็นสิ่งสะท้อนแนวคิดของเราอีกเช่นกันว่าเราให้ความสำคัญกับอะไร ระหว่างกระบวนการหรือผลลัพธ์ แม้ว่าเด็กๆ จะล้มเหลวกับการทำงานประดิษฐ์ชิ้นหนึ่งไม่รู้กี่รอบ แต่หากผู้ใหญ่ให้กำลังใจด้วยการชื่นชมในความตั้งใจ ความพยายามของเขา แม้ว่าผลงานอาจจะยังออกมาดูไม่สมบูรณ์สักเท่าไร เท่ากับเรากำลังให้ความสำคัญกับกระบวนการและการเรียนรู้ของเขามากกว่าความเก่งกาจ พรสวรรค์ ความสามารถที่ติดตัวมา ที่เราคุ้นหูกันว่าคือการสร้าง Growth Mindset ความเชื่อที่จะช่วยให้เราประสบความสำเร็จในอนาคต

คงไม่มีใครไม่รู้จัก Thomas Edison นักประดิษฐ์ชาวอเมริกันที่ไม่เคยมองว่าตัวเองล้มเหลว 1,000 ครั้ง เขาเองกลับมองว่าได้ค้นพบวิธีที่ไม่เวิร์กอีกตั้ง 1,000 วิธี เราจะคิดแบบนี้ไม่ได้เลย ถ้าเราไม่ได้มี Growth Mindset มากพอ

วิธีสร้างการเรียนรู้ที่มีความหมาย

แล้วการโฟกัสที่ผลลัพธ์กับกระบวนการมีอะไรน่าสนใจตรงไหนอีกบ้าง หลายคนอาจมีประสบการณ์ตรงกับเรื่องนี้ สมมติเราตั้งเป้าว่าจะลดน้ำหนักให้ได้ 3 กิโลกรัม ใน 3 เดือน ตลอด 3 เดือนนี้เราอาจจะสนใจแต่ตัวเลข 3 กิโลกรัม ชั่งน้ำหนักทุกวันว่าวันนี้ลดลงไปกี่กรัมแล้ว โดยที่วิธีการที่เราตั้งเป้าไว้อาจจะเป็นการไม่กินมื้อเย็น และออกไปวิ่งอาทิตย์ละ 4 วัน เป็นเวลา 1 ชั่วโมง ทุกวันเราก็จะทำตามแพทเทิร์นเดิมๆ โดยที่เช้าวันต่อมาเมื่อเราชั่งน้ำหนัก เราก็หวังว่าจะเห็นตัวเลขที่ลดลงใกล้กับเป้าหมายที่เราตั้งไว้

ในทางกลับกัน ถ้าลองมองอีกแบบ การลดน้ำหนักไม่ใช่เรื่องที่ผิด การมีเป้าหมายเป็นเรื่องที่ดี แต่ถ้าเราไม่ได้โฟกัสกับตัวเลขมากจนเกินไป เราจะได้เห็นอะไรดีๆ หลายอย่างตลอด 3 เดือนนี้ที่สามารถพัฒนาไปเป็นนิสัยติดตัวในระยะยาวได้เลย เช่น ออกกำลังกายเพื่อดูแลสุขภาพตลอดชีวิต ไม่ใช่แค่ลดน้ำหนักอย่างเดียว หรือพบว่าการไม่อดอาหารจะดีต่อสุขภาพมากกว่า ทั้งช่วยลดน้ำหนักได้ดีกว่าและทำให้ไม่หิวโหยจนเกินไป นี่จึงเป็นการเรียนรู้จากกระบวนการมากกว่าผลลัพธ์ เพราะเมื่อไรที่เราโฟกัสผลลัพธ์ แปลว่าเรากำลังให้ความสำคัญว่าคนอื่นจะมองเราอย่างไร แต่การที่เราสนใจกระบวนการมากกว่า แสดงว่าเราให้ความสำคัญกับความคิดต่อตัวเราเอง

สิ่งที่น่าสนใจและหลายคนอาจไม่รู้คือ การที่เรามัวมุ่งเป้าที่ผลลัพธ์จะทำให้เราไม่ทดลองหรือกล้าเสี่ยงให้มากขึ้นกว่าเดิม เพราะรู้สึกว่ามันก็เพียงพอแล้วเมื่อทำได้ตามเป้าหมายนั้น ทั้งที่จริงๆ แล้วศักยภาพของเรามันไปไกลกว่านั้นได้อีกเยอะ

การสร้างการเรียนรู้ที่มีความหมายจึงเป็นเรื่องที่ไม่จำกัดแค่ในห้องเรียน หรือในเด็กเท่านั้น แต่เราทุกคนก็สามารถเปลี่ยนให้ทุกเรื่องกลายเป็นการเรียนรู้ที่มีความหมายได้ในแบบของตัวเองได้ทั้งนั้น แม้แต่เรื่องทั่วๆ ไปอย่างการตั้งเป้าหมายลดน้ำหนัก หรือ สร้างวินัยทางการออมของใครหลายๆ คน

อ้างอิง
https://www.edutopia.org/article/what-have-i-been-doing-my-students-they-could-do-themselves
https://www.lifehack.org/338162/why-people-that-focus-more-process-than-outcomes-get-better-results
https://www.smithsonianmag.com/innovation/7-epic-fails-brought-to-you-by-the-genius-mind-of-thomas-edison-180947786/
https://stuescalona.wordpress.com/2017/12/02/why-process-is-more-important-than-results/

Share

Authors

Authors

RELATED POSTS