ทำไมเราควรเรียนวิทยาศาสตร์จากสิ่งน่าขยะแขยง

A A
Jan 26, 2022
Jan 26, 2022
A A

ทำไมเราควรเรียนวิทยาศาสตร์จากสิ่งน่าขยะแขยง

 

เคยสังเกตตัวเองกันไหมว่า ทำไมบางทีเราชอบดูคลิปคนบีบสิว ดูคลิปสัตว์ที่น่าขนหัวลุก ถ้าย้อนกลับไปในวัยเด็ก ทำไมเราชอบเล่นดิน จับแมลง หรือแม้กระทั่งชิมขี้มูกแห้งของตัวเอง สิ่งที่น่าขยะแขยงเหล่านี้ทำไมถึงดึงดูดความสนใจจากคนเราได้มากนัก แม้ว่าเราจะถูกผู้ใหญ่ห้ามปรามไม่ให้เข้าใกล้หรือเล่นอะไรแบบนั้นอีก แต่เชื่อไหมว่าหลายครั้งที่เราสำรวจด้านที่น่าขยะแขยงของชีวิต เราจะได้เจออะไรบางอย่างที่ไม่เคยคิดมาก่อน และสิ่งเหล่านี้นี่แหละที่เปลี่ยนโลกไปโดยสิ้นเชิง

ทำไมเด็กชอบเล่นกับของน่าขยะแขยง

แอนนา รอทส์ไชลด์ เป็นอีกหนึ่งคนที่ชอบเล่นกับอะไรที่คนทั่วไปมองว่าน่าขยะแขยงตั้งแต่ยังเด็ก เธอมองว่าสิ่งเหล่านี้ให้อะไรมากกว่าที่เราเห็น จนตอนนี้เธอมีช่องยูทูปของตัวเองที่ชื่อว่า ‘Gross Science’ และเคยพูดถึงเรื่องนี้บนเวที Ted มาแล้วในหัวข้อ Why you should love gross science ในฐานะที่เราทุกคนก็เคยเป็นเด็กมาก่อน จนตอนนี้เราก็เป็นผู้ใหญ่แล้ว บางคนอาจมีสถานะอื่นร่วมด้วย เช่น พ่อแม่หรือครู เราจะส่งต่อหรือเปลี่ยนความเข้าใจเรื่องวิทยาศาสตร์ของสิ่งที่น่าขยะแขยงนี้ได้อย่างไร คำถามแรกที่เราอาจต้องถามคือ เราได้อะไรเมื่อพูดถึงเรื่องนี้

Gross Science

ช่อง ‘Gross Science’ บน YouTube โดย แอนนา รอทส์ไชลด์ : https://images.app.goo.gl/dL2VDjfVKGXd2fd69

คำตอบก็คือมันเป็นเครื่องมืออย่างดีของการศึกษา และเป็นวิธีรักษาความอยากรู้อยากเห็นที่ดีมาก ๆ นี่จึงเป็นเหตุผลว่าทำไมเด็กถึงชอบเล่นกับสิ่งที่ดูน่าขยะแขยง เพราะเด็กก็เหมือนกับนักสำรวจตัวน้อยที่อยากจะมีประสบการณ์ให้มากที่สุด อยากรู้ว่าทุกอย่างเป็นอย่างไร นี่คือความอยากรู้อยากเห็นอันบริสุทธิ์ เราบอกเด็กไม่ให้แคะจมูก จับทากหรือคางคก เพราะอยากให้เด็กปลอดภัย แต่เราก็พรากโอกาสที่เขาจะได้เรียนรู้ไปในเวลาเดียวกัน

เมื่อเริ่มโตขึ้น การสัมผัสกับสิ่งที่น่าขยะแขยงไม่ได้เป็นแค่เรื่องความอยากรู้อยากเห็นเท่านั้น แต่เป็นเรื่องของการหาว่าขอบเขตมันอยู่ตรงไหน และทำไมเราถึงนิยามว่าอะไรคือสิ่งที่น่าขยะแขยง ในฐานะมนุษย์เรามักขยายแนวคิดนี้ไปกับเรื่องของศีลธรรม นักจิตวิทยาที่ชื่อ พอล โรซิน อธิบายว่ามีหลายอย่างที่เราจัดให้อยู่ในสิ่งที่น่าขยะแขยง และสิ่งเหล่านั้นคือสิ่งที่บอกเราว่าเป็นมนุษย์ เช่น ของเหลวหรือความผิดปกติในร่างกาย เซ็กส์ ความตาย สิ่งเหล่านี้ทำให้เรารู้สึกไม่มั่นคง เพราะมันคือเครื่องเตือนใจถึงความตาย การที่เราพยายามหลีกเลี่ยงสิ่งที่น่าขยะแขยงจึงเป็นกลไกลึก ๆ ที่ปกป้องจิตวิญญาณของเรา ฉะนั้น เมื่อไรที่เราเชื่อมโยงสองสิ่งนี้เข้าด้วยกัน ความอยากรู้อยากเห็นของเราจะหายไปทันที เพราะโลกเรามีอะไรมากมายที่น่าขยะแขยง เช่น การออกไปเดินในป่า คนส่วนมากอาจสนใจนก ต้นไม้ ดอกไม้ แต่เราอาจจะพลาดชีวิตบนโลกที่ใหญ่หรือเจ๋งกว่านั้น นั่นก็คือโลกของเห็ดราที่เชื่อมโยงพืชทุกชนิดเข้าด้วยกัน

ใน Fantastic Fungi สารคดีทาง Netflix เผยให้เห็นถึงด้านมหัศจรรย์ภายใต้ความน่าขยะแขยงของสิ่งมีชีวิตเหล่านี้ มนุษย์เรามักมีความกลัวต่อเห็ดรา เพราะพวกมันย่อยสิ่งมีชีวิตที่ตายแล้ว หรือกำลังจะตาย แล้วเคลื่อนย้ายสารอาหารทั้งหมดเข้าสู่วัฏจักร มันอยู่ในจุดจบของสิ่งต่าง ๆ และก็เป็นจุดเริ่มต้นด้วยเช่นกัน ถ้าคนกลุ่มหนึ่งไม่ได้มองข้ามความน่าขยะแขยงของพวกมัน เราอาจไม่เจอกับสรรพคุณของเห็ดชนิดหนึ่งที่นักวิจัยค้นพบว่าช่วยผู้ป่วยโรคซึมเศร้า และทำให้วิตกกังวลน้อยลงได้

Netflix : Fantastic Fungi

ภาพจาก Netflix : Fantastic Fungi

นี่เป็นงานวิจัยด้านยาหลอนประสาทจากมหาวิทยาลัยจอห์นส์ ฮอปกินส์ มีผู้ป่วยโรคมะเร็งหลายชนิดที่แทบสิ้นหวังกับชีวิตเข้ามาร่วมเป็นอาสา ผลการศึกษาพบว่า 1/3 ของผู้ร่วมการวิจัยบอกว่ามันเป็นประสบการณ์ทางจิตวิญญาณที่สำคัญที่สุดในชีวิต 70% บอกว่าเป็น 1/5 ประสบการณ์ที่มีความหมายมากที่สุดในชีวิตพวกเขา หลายรายวิตกกังวลและซึมเศร้าน้อยลง หมกมุ่นกับความเจ็บปวดน้อยลง ความสัมพันธ์กับคนใกล้ชิดดีขึ้น สิ่งที่น่าประทับใจที่สุดคือ ผู้ป่วยอ้างว่าความกลัวตายหายไป

ยิ่งคุยแต่เด็กยิ่งดี

เมื่อผลลัพธ์ของการสำรวจความน่าขยะแขยงพาเรามาไกลถึงขนาดนี้ แอนนาจึงแนะนำให้เราคุยกับเด็ก ๆ หรือคนหนุ่มสาวถึงเรื่องนี้ให้บ่อยขึ้น ให้เขาได้เห็นภาพใหญ่ถึงชีวิตที่อยู่บนโลกของเรา เธอยังเล่าถึงประสบการณ์ส่วนตัวว่าการออกมาพูดเรื่องแบบนี้มันมีประโยชน์อย่างไร เมื่อวันหนึ่งเธอถ่ายวิดีโอนิ่วทอนซิลของตัวเอง ซึ่งก็คือก้อนเศษอาหารที่เข้าไปติดอยู่ในซอกหลืบ และอุดอยู่ที่ท่อทอนซิล กลิ่นมันแย่มาก หลายคนมีประสบการณ์แบบนี้ แต่ไม่เคยพูดถึงมัน ปรากฏว่าวิดีโอนี้กลายเป็นวิดีโอที่ฮิตที่สุดบนช่องของเธอ มีคนดูหลายล้านวิว ที่น่าสนใจคือคอมเมนต์จากผู้ชมที่เข้ามาแลกเปลี่ยนประสบการณ์ในเรื่องเดียวกัน ซึ่งเป็นเรื่องที่ดีที่ผู้คนออกมาคุยเรื่องที่ไม่กล้าคุยในที่สาธารณะแบบนี้

แต่เรื่องที่น่าเศร้าคือ แม้แต่เรื่องที่ธรรมดาที่สุดอย่างประจำเดือนกลับได้กระแสตอบรับในทิศทางเดียวกัน คนดูส่งข้อความมาถามเรื่องนี้ มีทั้งคนที่อายุน้อยและไม่น้อยที่กังวลว่าร่างกายตัวเองกำลังมีอะไรผิดปกติ สิ่งเหล่านี้อาจไม่เกิดขึ้นเลยก็ได้ ถ้าเรารู้สึกสบายใจที่จะคุยกับหมอถึงความผิดปกติของร่างกายตัวเอง เธอจึงคิดว่าเป็นเรื่องสำคัญมากที่เราควรจะเริ่มบทสนทนาอะไรก็ตามที่เกี่ยวกับเรื่องขยะแขยงตั้งแต่อายุยังน้อย เพื่อให้เด็ก ๆ รู้ว่ามันโอเคที่จะเราจะมีสิทธิ์ในร่างกายและสุขภาพของเราเอง

ขยับออกจากเรื่องของพืชและร่างกายไปสำรวจเรื่องสัตว์กันบ้าง มาดูว่าความสนใจเรื่องขยะแขยงพาให้นักวิทยาศาสตร์ไปเจอเข้ากับอะไร ในโลกใต้ทะเลจะมีทากทะเลชนิดหนึ่งที่จะปล่อยหมึกสีม่วงสดใสออกมาใส่สิ่งมีชีวิตอื่นที่พยายามจะกินมัน ทากทะเลเป็นสัตว์ที่มีสองเพศ เวลาผสมพันธุ์ก็จะมีอีกทากทะเลอีก 20 กว่าตัวมาซ้อนต่อกันไปเรื่อย ๆ โดยตัวหนึ่งจะปล่อยสเปิร์มให้ตัวหน้า แต่จะรับสเปิร์มจากตัวหลัง ถ้านักวิทยาศาสตร์เห็นแบบนั้นแล้วรู้สึกยี้ ไม่แตะต้องมัน พวกเขาจะพลาดอะไรไปอย่างมหันต์ เพราะทากทะเลพันธุ์นี้มีเซลล์ประสาทขนาดใหญ่ในจำนวนที่น้อย ซึ่งเหมาะมากที่จะใช้ในงานวิจัยเซลล์ประสาท อีริก แคนเดล คือนักวิทยาศาสตร์ที่ใช้ทากเหล่านี้ในการวิจัยเพื่อทำความเข้าใจว่าความทรงจำถูกเก็บไว้อย่างไร แล้วเขาก็คว้ารางวัลโนเบลจากเรื่องนี้

ความน่าขยะแขยงที่รายล้อมอยู่รอบตัว

ภาพจาก : https://stringfixer.com

สุดท้ายแล้ว อาจถึงเวลาที่เราต้องเอาความเป็นเด็กในตัวออกมาอีกครั้ง สนุกไปกับความน่าขยะแขยงที่รายล้อมอยู่รอบตัวพร้อมกับเด็ก ๆ ใครจะรู้ว่าสักวันหนึ่งเราอาจเจออะไรเข้าก็ได้

อ้างอิง
https://www.ted.com/talks/anna_rothschild_why_you_should_love_gross_science#t-778893
สารดดี Fantastic Fungi

Share

Authors

Authors

RELATED POSTS