เด็กจะรับมือกับความสูญเสียจากโรคระบาด (โควิด-19) นี้อย่างไร เมื่อไม่มีใครเคยสอน

A A
Sep 26, 2021
Sep 26, 2021
A A

โควิด-19 เด็กจะรับมือกับความสูญเสียจากนี้อย่างไร เมื่อไม่มีใครเคยสอน

 

     เว็บไซต์ worldometers รายงานว่า ณ วันที่ 26 สิงหาคม 2021 มียอดผู้เสียชีวิตจากการแพร่ระบาดของเชื้อโควิด-19 มากถึง 4,477,144 คนทั่วโลก ข้อมูลจาก CNN ยังบอกอีกว่าจากการเสียชีวิตนี้ทุก 2 รายจะทำให้เด็กกลายเป็นกำพร้า 1 คน 

 

     มีเด็กมากกว่า 1 ล้านคน สูญเสียพ่อแม่จากโควิด-19 และอีก 1.5 ล้านคนสูญเสียคนดูแลหลักอย่าง ปู่ ย่า ตา และยาย เด็กที่ต้องเผชิญกับสถานการณ์การเปลี่ยนแปลงอันรวดเร็วเช่นนี้มักจะเกิดความเครียดในทันที และมีความเสี่ยงสูงที่จะประสบปัญหาสุขภาพทางจิต ความรุนแรงทางร่างกาย และอาการไม่พึงประสงค์ต่าง ๆ ซึ่งสิ่งเหล่านี้เป็นผลกระทบตลอดชีวิต เช่น การถูกทารุณกรรม การเสี่ยงต่อการฆ่าตัวตาย การตั้งครรภ์ในวัยรุ่น และการเข้าสู่วงจรการค้ามนุษย์เป็นต้น 

     นอกจากภาวะวิกฤติที่เด็กได้รับผลกระทบแล้ว พวกเขายังต้องแบกรับความเครียดจากการเรียนออนไลน์ การขาดโอกาสทางการศึกษา ขาดโอกาสเรียนรู้ รวมถึงการเผชิญกับโรคระบาดร้ายแรงโดยไม่มีวัคซีนรองรับ

 

เด็กแต่ละวัยแบกรับความเศร้าไว้ไม่เท่ากัน 

     ในฐานะคนในครอบครัว ญาติพี่น้อง หรือเพื่อนมนุษย์ร่วมโลก ควรทำความเข้าใจก่อนว่า เด็กแต่ละวัยมีความสามารถในการรับมือกับความสูญเสีย หรือความโศกเศร้าที่ต่างกัน ซึ่งต้องการความช่วยเหลือที่ต่างกันในแต่ละช่วงวัย

     เด็กวัยเตาะแตะและเด็กก่อนวัยเรียน (อายุไม่เกิน 6 ปี) พวกเขาไม่เข้าใจว่าความตายเป็นสิ่งที่ถาวรและทุกคนต้องตายในที่สุด เขาอาจจะรอคอยการกลับมาของคนที่หายไป การกอดและการอุ้มจะเป็นการปลอบประโลมเขาได้ดีที่สุด

     เด็กเล็กวัยเรียน (อายุ 8 ปี ขึ้นไป)  เข้าใจว่าความตายเป็นสิ่งถาวร แต่พวกเขามักจะคิดว่ามีเพียงคนแก่เท่านั้นที่จะตาย เมื่อพวกเขาเจอกับความสูญเสีย เขาอาจจะโทษตัวเองและต้องการความมั่นใจจากผู้อื่นว่าพวกเขาไม่ใช่สาเหตุของการสูญเสียครั้งนี้

     เด็กวัยเรียนที่โตแล้ว เริ่มเข้าใจความตายเหมือนผู้ใหญ่มากขึ้น และรู้ว่าไม่ใช่แค่ผู้สูงอายุเท่านั้นที่เสียชีวิต โดยที่ตระหนักว่าพวกเขาเองก็สามารถตายได้ เขาอาจกังวลถึงคนที่เสียไป รวมถึงจินตนาการถึงโลกหลังความตาย ความกังวลเหล่านี้อาจทำให้เด็กวิตกกังวลและหวาดกลัวมากขึ้น

     วัยรุ่น มักจะพูดว่า “มันไม่ยุติธรรม” หรือคนที่พวกเขารัก “ไม่สมควรตาย” อาจจะมีความโกรธและซ่อนความโศกเศร้าไว้ แต่พวกเขาเข้าใจถึงความทุกข์ที่สมาชิกในครอบครัวรู้สึก พวกเขามักจะพยายาม “เข้มแข็ง” และไม่แสดงความเจ็บปวด

     ความเศร้าโศกมักมาในทุกรูปแบบสำหรับเด็กที่ประสบปัญหานี้ การสังเกตและเอาใจใส่สามารถช่วยแบ่งเบาสิ่งที่พวกเขาแบกรับอยู่ นอกจากนี้ “การฟัง” เป็นหนึ่งในสิ่งที่สำคัญที่สุดที่ผู้ใหญ่สามารถทำได้เพื่อช่วยเด็ก ๆ ออกจากความเศร้าได้ 

 

สอนให้เด็กเข้าใจตัวเองและรับมือกับการเปลี่ยนแปลง 

     Social and Emotional Learning Skills หรือ SEL หมายถึงกระบวนการที่เด็กเข้าใจและสามารถจัดการกับอารมณ์ของตนเองได้ รู้จักตั้งเป้าหมาย มีความรับผิดชอบ รวมถึงเข้าใจผู้อื่น และรู้จักรักษาความสัมพันธ์ในเชิงบวก การระบาดของโควิดส่งผลกระทบต่อจิตใจคนทุกวัย เด็กส่วนใหญ่มีความเครียดทางด้านสุขภาพจิตทั้งจากการเผชิญทุกภาวะที่กล่าวมา  SEL จะช่วยให้เด็ก ๆ เรียนรู้ความโดดเดี่ยวและรับมือกับการเปลี่ยนแปลงอย่างรวดเร็วในสถานการณ์ที่ต้องจัดการอารมณ์ ความสัมพันธ์ และทักษะการแก้ปัญหา หรือที่เรียกว่า ความฉลาดทางอารมณ์ 

     ดังนั้น SEL จึงเป็นกระบวนการสำคัญที่จะทำให้เด็ก ๆ เกิดความเข้าใจในสถานการณ์ที่กำลังเผชิญ และจัดการกับความรู้สึกตัวเองได้ เพราะเมื่อรู้สึกเครียด สมองในส่วนที่ชื่อว่า Amygdala จะทำหน้าที่ตอบสนองต่อความกังวล ส่งผลให้สติ การควบคุมตัวเองลดลง แต่หากเด็กมีสติรู้ตัวเอง (self-awareness) รู้เท่าทันอารมณ์ตัวเอง ก็จะสามารถหาวิธีผ่านพ้นปัญหาเหล่านั้นได้ เช่น การฟังเพลง หรือเล่นกีฬาเพื่อผ่อนคลายความเครียดนอกจากนี้ SEL ยังช่วยให้เด็กมีความเข้าใจผู้อื่น ซึ่งจำเป็นอย่างมากในวิกฤติที่ทุกคนกำลังเผชิญ

 

ความสูญเสียจากโควิด

 

ฝึก SEL เริ่มต้นได้ที่บ้าน

     ท่ามกลางสภาวะเช่นนี้ที่โรงเรียนยังไม่สามารถเปิดได้ตามปกติ แต่ SEL เป็นกระบวนการที่สามารถเริ่มต้นได้จากที่บ้าน เพราะบ้านคือสถานที่ปลอดภัยที่สุดสำหรับเด็ก ๆ เป็นรากฐานของชีวิต และ การเรียนรู้ ดังนั้นผู้ปกครอง พ่อแม่ หรือ คนที่มีส่วนร่วมในการดูแลเด็ก สามารถร่วมมือการสร้างกระบวนการนี้ให้เด็กได้ เพื่อสร้างให้เขามีความเชื่อมโยงระหว่างทักษะทางสังคมและอารมณ์ที่จะส่งผลลัพธ์ต่อชีวิต โดยเริ่มจาก

     เรียนรู้ในสิ่งที่เด็ก ๆ ทำได้ดีให้มากยิ่งขึ้น เพื่อที่จะสนับสนุนและสร้างความมั่นใจให้เขา เน้นจุดแข็งของเขา โดยเฉพาะอย่างยิ่งในด้านวิชาการ ถามถึงวิชาที่เด็กทำได้ดี และช่วยให้เขายืนหยัดได้เมื่อเจอเรื่องต่าง ๆ ที่ยากขึ้น

     หมั่นถามถึงความรู้สึก ลองพูดคุยกับเขาถึงอารมณ์ต่าง ๆ ความรู้สึกท้อแท้ กังวล หรือตื่นเต้น ความสามารถในการระบุอารมณ์เชิงลบสามารถเพิ่มความตระหนักรู้ในตนเองได้ และรู้จักที่จะควบคุมหรือสื่อสารออกมา

     พร้อมที่จะเรียนรู้อารมณ์ตัวเองไปพร้อมกับเด็ก ผู้ใหญ่เองก็ต้องรู้จักสงบสติอารมณ์เมื่อโกรธ เรียนรู้ที่จะรู้จักอารมณ์ของคุณเอง แสดงให้เด็ก ๆ เห็นว่าใช้วิธีการแบบไหนที่ทำให้อารมณ์เหล่านั้นหายไป  

ผู้ใหญ่เองก็สามารถผิดได้ และต้องพร้อมที่จะขอโทษเด็ก ๆ และอธิบายสิ่งที่คุณตั้งใจจะทำหรือพูด เพื่อสอนทักษะความสามารถทางสังคม และวิธีการจัดการกับความขัดแย้งที่ต้องเผชิญในชีวิต

 

ฟื้นฟูวิชาการก็สำคัญ แต่สุขภาพจิตของเด็กก็สำคัญไม่แพ้กันด้วย

     ผลสำรวจนักเรียนสหรัฐฯ กว่า 200,000 คน ใน 19 รัฐ พบว่า นักเรียนมีความซึมเศร้า กังวล เครียดมากขึ้น ซึ่งเป็นอุปสรรคต่อการเรียนรู้ ขณะที่นักเรียนที่สามารถคุยกับผู้ใหญ่เมื่อเกิดปัญหาเหล่านี้กลับมีน้อยลงกว่าฤดูใบไม้ผลิในปี 2020 ซึ่งเป็นผลจากการที่โรงเรียนปิดเนื่องจากโควิด-19 เหตุการณ์ครั้งนี้ได้แสดงให้เห็นถึงบทบาทความสำคัญของโรงเรียนที่นอกเหนือจากการเป็นสถานที่เรียนรู้ในเชิงวิชาการแล้ว ยังเป็นศูนย์กลางของการดูแลสุขภาพจิตของเด็กจำนวนมาก เมื่อโรงเรียนเปิดอีกครั้ง แน่นอนว่ามีแนวโน้มที่จะพบปัญหามากมาย ไม่ว่าจะเป็นการไล่ตามการเรียนรู้ที่หายไป และปรับตัวเข้ากับสถานการณ์ใหม่ ต้องใช้การบูรณาการที่หลากหลาย ครูจึงมีหน้าที่สำคัญในการดูแลบาดแผลและจิตใจจากวิกฤติที่ผ่านมา และคอยสังเกตว่าพวกเด็ก ๆ กำลังรู้สึกอย่างไร เพราะเนื่องจากสภาพจิตใจที่ดีส่งผลอย่างมากต่อการเรียนรู้ สิ่งสำคัญที่โรงเรียนต้องทำคือส่งเสริมกิจกรรมที่ขาดหายไปในช่วงที่โรงเรียนปิด เช่น ปฏิสัมพันธ์ทางสังคมและการสนับสนุนจากครูและเพื่อนในชั้นเรียน รวมไปถึงเรื่องความปลอดภัย สุขภาพ โภชนาการ และสวัสดิภาพของนักเรียน และต้องให้ความสำคัญกับบทบาทต่างๆ ที่โรงเรียนควรมีเพื่อเป็นการพัฒนานักเรียนในรูปแบบองค์รวม

 

ให้ SEL เป็นส่วนหนึ่งในการจัดการเรียนรู้

     แน่นอนว่าการสอนต้องถูกดำเนินต่อไปอย่างที่ควรจะเป็น ในขณะเดียวกันครูเองก็ควรเปิดประตูการเรียนรู้ที่หลากหลายปรับให้สอดคล้องกับบทเรียน  ซึ่งช่วยให้นักเรียนสามารถแสดงความรู้สึก ความคิด และบอกเล่าประสบการณ์ของตนเอง  ทำให้พวกเขาได้มีโอกาสทบทวนอารมณ์ ความรู้สึก เรียนรู้การแสดงออกผ่านวิชาต่าง ๆ เช่น ศิลปะ ภาษาไทย ภาษาอังกฤษ เช่น การวาดรูป เขียนเรียงความ หรือเชื่อมโยงประสบการณ์ของตัวเองเข้ากับวิชาสังคมศึกษา ให้โอกาสเด็ก ๆ ได้แสดงทักษะทางเทคโนโลยีใหม่ ๆ ที่พวกเขาได้เรียนรู้ผ่านการเรียนออนไลน์ จะสามารถทำให้เด็ก ๆ เชื่อมต่อและมีส่วนร่วมกับเพื่อนร่วมชั้นได้ดีขึ้น การสอดแทรก SEL เข้ากับโครงสร้างของการเรียนรู้และชีวิตประจำวันสามารถทำได้ง่าย ๆ และปรับเปลี่ยนได้ตามสถานการณ์ เช่น 

     ในชั่วโมง Home room หรือก่อนการเข้าสู่การสอนโดยตรง ควรมีการเริ่มต้นสั้นๆ เพื่อให้ทุกคนมีประสบการณ์เชิงโต้ตอบ เปิดโอกาสให้ทุกคนได้แสดงความคิดเห็นเป็นการ “เช็คอิน” เพื่อให้นักเรียนมีโอกาสได้รู้อารมณ์ของตนเอง (ความตระหนักในตนเอง) หรือสามารถแชร์ปัญหาที่มีเพื่อให้เด็กคนอื่น ๆ  รับรู้และเข้าใจในผู้อื่นมากขึ้น(การรับรู้ทางสังคม)

     สร้างกลยุทธ์การมีส่วนร่วม เช่น การเล่นเกม เกมทำให้เด็ก ๆ ได้ใช้ปฏิสัมพันธ์ด้านต่างๆ ในการเล่นเช่น การร่วมมือกันเป็นทีม การตัดสินใจอย่างรับผิดชอบ กระตุ้นให้เกิดการเรียนรู้ระหว่างเล่น หรือเกมที่ต้องใช้การวางแผน จะทำให้เด็ก ๆ มีสติ มีกระบวนการคิด และสมาธิในการจดจ่อมากยิ่งขึ้น

สร้าง “safe zone” ให้เกิดขึ้น เพื่อช่วยให้เด็กจัดการพฤติกรรมของตนเองได้ เป็นพื้นที่ที่กำหนดให้นักเรียนสามารถพูดคุยกับครูได้เมื่อพวกเขามีความเครียด 

 

     สุขภาพจิตและความเป็นอยู่ที่ดีนั้นถูกกำหนดโดยปัจจัยทางสังคม จิตวิทยา ชีวภาพที่หลากหลาย รวมถึงการสร้างสภาพแวดล้อมที่เอื้ออำนวย และสนับสนุนทั้งในและนอกโรงเรียน นักเรียนทุกคนสามารถเติบโตได้ในระบบการศึกษาที่ให้คุณค่าและยกระดับนักเรียนทุกคน ครูสามารถทำได้โดยชื่นชมจุดแข็งและยอมรับความต้องการเฉพาะของนักเรียนแต่ละคน เข้าใจประสบการณ์ส่วนตัวของนักเรียน และให้เกียรติภูมิหลังทางวัฒนธรรมของเด็กแต่ละคน สอดประสานเข้ากับการสอนเพื่อสร้างสภาพแวดล้อมการเรียนรู้ที่ครอบคลุมให้นักเรียนรู้สึกว่าตนเองมีสิทธิ์เสรีในการเรียนรู้ ไม่ว่าคุณจะมีบทบาทในชีวิตของเด็กอย่างไร ก็สามารถสร้างระบบการศึกษาแบบองค์รวมได้โดยหมั่นพัฒนาทักษะการเรียนรู้ทางอารมณ์และสังคม (Social and Emotional Learning Skills: SEL) ให้เกิดขึ้นทั้งภายในตัวเอง และชุมชน รอบ ๆตัวเด็ก เพื่อให้เกิดเป็นการพัฒนาอย่างยั่งยืน เราสามารถสนับสนุนให้นักเรียนกลายเป็นผู้เรียนตลอดชีวิตที่มีความตระหนักรู้ในตนเอง เอาใจใส่ รับผิดชอบ และสามารถทำงานร่วมกันเพื่อสร้างโลกที่ดีและพร้อมที่จะให้การศึกษาที่ถูกแก่เด็ก ๆ เพื่อเป็นยาแก้พิษให้แก่โลกที่ใกล้จะแตกหัก

 

อ้างอิง:

 

 

Share

Authors

Authors

RELATED POSTS