โฮมสคูล (Home school) “ทางเลือก” หรือ “ทางรอด” กับโลกและโรคที่พลิกผัน

A A
Sep 22, 2021
Sep 22, 2021
A A

โฮมสคูล (Home school) “ทางเลือก” หรือ “ทางรอด” กับโลกและโรคที่พลิกผัน

 

การปรับตัวของสถานศึกษาในการรับมือกับโควิด-19 การเรียนออนไลน์ถูกนำมาใช้ จนทำให้ช่วงนี้คำว่า โฮมสคูล (Home school) กลับมาเป็นทางเลือกอีกครั้ง

 

หลายคนมองโฮมสคูลดูจะเหมาะเหม็งในยุคโควิดเพราะสามารถทำเองได้ที่บ้าน แต่อาจมีหลายคำถาม และความไม่เข้าใจหลายอย่าง วันนี้เราจะมาคุยเรื่องนี้อย่างละเอียดกัน

ทำความรู้จักโฮมสคูลกันก่อน
โฮมสคูล (Home School) เป็นการจัดการศึกษาตามกฎหมายมาตรา 12 ของ พ.ร.บ. การศึกษาแห่งชาติ พ่อแม่ หรือ ผู้ดูแลสามารถจัดการศึกษาขั้นพื้นฐานให้แก่เด็ก ๆ ได้เองตั้งแต่ชั้นอนุบาลไปจนถึงม.6 โดยที่ไม่ต้องเข้าเรียนในโรงเรียนของรัฐ หรือเอกชน 100% ประเด็นก็คือ การจัดการเรียนการสอนที่บ้านแบบโฮมสคูลนี้จำเป็นต้องยึดกับโครงสร้างเหมือนของโรงเรียนหรือไม่ คำตอบก็คือ แล้วแต่สไตล์การทำของแต่ละบ้านเลยเนื่องจากการเรียนแบบโฮมสคูลเป็นการใช้บ้านเป็นฐานในการเรียนรู้ ครอบครัวของเด็กเป็นผู้รับผิดชอบโดยตรง การเรียนของเด็กโฮมสคูลส่วนใหญ่จึงเน้นไปที่การเรียนรู้บนวิถีชีวิตของครอบครัวที่เกิดขึ้นจริงในแต่ละวัน  ตัวอย่างเช่น การซักผ้า เด็ก ๆ จะต้องเรียนรู้ตั้งแต่การแยกเสื้อผ้า เอาตะกร้ามาใส่ อาผ้าใส่ลงในเครื่องซักผ้า เอาผ้าไปตาก ไปจนถึงวิธีการเลือกซื้อผงซักฟอกว่าควรเลือกจากคุณภาพ ราคา หรือปริมาณเท่าไหน การสอนเรื่องการซักผ้าไม่ใช่เพียงแค่อยู่ในบทเรียนของวิชาการงานอาชีพเท่านั้น แต่เป็นกิจกรรมที่มีความหมายอยู่ในตัว เพราะเด็ก ๆ จะได้กระบวนการคิด วิเคราะห์ รู้จักการลำดับ แยกแยะ การมีวิจารณญาณ ไปจนถึงได้ทักษะการคำนวณ หรือยกตัวอย่างบางบ้านที่มีอาชีพเป็นอุตสาหกรรมของครอบครัวอย่างการขายขนมเค้กเป็นหลักสามารถนำมาใช้เป็นการเรียนรู้ผ่านการชั่ง ตวง วัด และต่อยอดไปจนถึงเรื่องการคำนวณต้นทุน ราคาขาย และการทำบัญชีรายรับ-รายจ่าย ได้อีกด้วย

หลักการสำคัญของการทำโฮมสคูล เริ่มต้นจากการยึดเอาธรรมชาติของเด็กที่แตกต่างกัน มีความถนัด ความสนใจที่ไม่เหมือนกัน จนเป็นที่มาในการออกแบบการเรียนรู้ของเด็กโฮมสคูล เป้าหมายของการวางแผนการเรียนรู้แบบนี้ก็เพื่อที่จะนำไปสู่การค้นพบความสามารถที่แท้จริงของเด็ก ในหนึ่งวันของเด็กโฮมสคูลจะมีหลายกิจกรรมให้ฝึกไปเรื่อย ๆ เกิดเป็นกลไกในการเรียนรู้ เป็นการเรียนที่ไม่แยกออกจากวิถีชีวิต การใช้ชีวิตกับการเรียนรู้เป็นหนึ่งเดียวกัน และเกิดขึ้นได้ตลอดเวลา ไม่มีปิดเทอม ไม่มีภาคการเรียน แต่สามารถวางแผนได้ว่าช่วงเวลาไหนจะทำอะไร หน้าที่ของพ่อแม่คือคอยสังเกตและพัฒนาเด็ก จนทำให้เด็กเกิดความรับผิดชอบในชีวิตตัวเองอย่างต่อเนื่องส่งผลให้เด็กที่เรียนโฮมสคูลมีทิศทางที่ชัดเจน ข้อนี้แตกต่างจากการเรียนในระบบปกติอย่างเห็นได้ชัด เพราะในการเรียนแบบภาคบังคับ เด็ก ๆ ทุกคนจะเรียนรู้ทุกอย่างเหมือนกัน และพร้อมกันกับเด็กคนอื่น โดยที่ไม่ได้มุ่งโฟกัสไปที่ความสนใจหรือความถนัดของเด็กคนใดคนหนึ่ง ทำให้ในหลายกิจกรรมที่เด็กสนใจอาจไม่สามารถนำมาเป็นส่วนหนึ่งของการประเมินผลการเรียนรู้ได้

โฮมสคูลเหมาะกับใคร
อ่านมาจนถึงตรงนี้หลายคนอาจเริ่มสงสัยว่า แล้วจริง ๆ โฮมสคูลเหมาะกับใคร? คนสำคัญที่จะตอบคำถามนี้ได้ดีที่สุดก็คือ พ่อกับแม่ ที่เป็นคนเลือกตัดสินใจว่าลูกของตัวเองควรได้รับการศึกษาแบบไหน เพราะโฮมสคูลไม่ใช่เรื่องง่ายสำหรับทุกคน ทุกครอบครัวต้องทำการวิเคราะห์บริบทรอบด้าน พ่อแม่และเด็กจำเป็นต้องไปในทิศทางเดียวกันและมีเป้าหมายร่วมกันชัดเจน ที่สำคัญคือ การเลือกของเราจะต้องไม่เป็นการตัดโอกาสในการเรียนรู้ของลูก ความพร้อมด้านการบริหารเวลา สภาพแวดล้อม วิถีชีวิตของคนในครอบครัว รวมไปถึงสภาพการเงินด้วย เพราะจริง ๆ แล้วการเรียนแบบโฮมสคูลคือความท้าทายในการตัดสินใจของพ่อแม่ที่ต้องแข็งแกร่งมากพอต่อสังคมรอบข้างและเป็นรูปแบบการเรียนรู้ที่พ่อแม่จำเป็นจะต้องเรียนรู้ไปพร้อม ๆ กันกับลูก

โฮมสคูลเริ่มยังไง
ถ้ารู้สึกว่าอยากลองทำโฮมสคูลแล้วละก็ มาเริ่มกันเลยดีกว่า ขั้นแรกเตรียมความพร้อมโดยศึกษาข้อมูลความรู้ในระดับพัฒนาการของลูกโดยมุ่งไปที่การค้นหาความสนใจพิเศษ จากนั้นยื่นขอข้อมูลและระเบียบการได้จากสำนักงานเขตพื้นที่การศึกษาตามภูมิลำเนาเพื่อจัดทำหลักสูตรหรือแผนการสอนของลูก โดยในระดับปฐมวัย (อนุบาล) การขอยื่นจดทะเบียนจะขึ้นอยู่กับดุลยพินิจของเขตพื้นที่การศึกษาว่าจะอนุญาตให้ครอบครัวจดทะเบียนเพื่อจัดการศึกษาแบบโฮมสคูลหรือไม่ ระดับประถมศึกษายื่นขออนุญาตจดทะเบียนได้ที่สำนักงานเขตพื้นที่การประถมศึกษาตามภูมิลำเนา ส่วนในระดับมัธยมศึกษายื่นขออนุญาตจดทะเบียนได้ที่สำนักงานเขตพื้นที่การมัธยมศึกษา โดยจะต้องแนบหลักฐานวุฒิการศึกษาของผู้ปกครองซึ่งต้องไม่ต่ำกว่าในระดับมัธยมศึกษาตอนปลาย หรือเทียบเท่า และหากพบว่าลูกมีความบกพร่อมอย่างใดอย่างหนึ่ง เช่น มีความบกพร่องในการคำนวณ ทางเขตจะให้ระยะเวลาในการซ่อมเสริมเพื่อกลับมาประเมินใหม่อีกครั้ง ในการทำโฮมสคูลจะต้องได้รับการประเมินจากสำนักงานเขตพื้นที่การศึกษาปีละ 1 ครั้ง ซึ่งอาจมีรายละเอียดที่แตกต่างกันไปในแต่ละเขตพื้นที่การศึกษา เช่น การดูแฟ้มผลงาน การทำแบบประเมิน หรือบางพื้นที่อาจเลือกใช้การสัมภาษณ์เพื่อดูพัฒนาการการเรียนรู้ของเด็ก ๆ เพื่อเทียบว่าพัฒนาการความสามารถของเด็กอยู่ในระดับชั้นใด โดยสามารถนำผลการประเมินที่ได้ไปขอใบรับรองเทียบวุฒิการศึกษาเพื่อนำไปสอบเทียบ หรือเข้าเรียนต่อในโรงเรียน หรือมหาวิทยาลัยในระบบได้ทั้งในและต่างประเทศที่ได้รับการยอมรับในระดับสากล เช่น GED (General Educational Development) เป็นหลักสูตรของสหรัฐอเมริกา หรือ IGCSE (International General Certificate of Secondary Education) & A Level เป็นหลักสูตรของอังกฤษ ครอบครัวจะได้รับสิทธิในการลดหย่อนภาษี และเงินสนับสนุนค่าใช้จ่ายในการจัดการศึกษา และในระหว่างการทำโฮมสคูลหากครอบครัวใดพบว่ามีความพร้อมลดลง หรือไม่สามารถทำโฮมสคูลให้ลูกได้ เด็กสามารถเข้าเรียนในโรงเรียนได้ตามปกติ ตามระดับชั้นที่สำนักงานเขตพื้นที่การศึกษาได้ทำเทียบไว้

สมาคมสภาการศึกษาทางเลือก ได้จัดทำเว็บไซต์ซึ่งถือว่าเป็นแหล่งรวบรวมข้อมูลเกี่ยวกับการจัดทำโฮมสคูลไว้อย่างชัดเจน ไม่ว่าจะเป็นคู่มือแนวทางการปฏิบัติในการขออนุญาตการจัดการศึกษา การประเมินผู้เรียน แนวทางการเขียนหลักสูตร ข้อกฎหมาย สิทธิประโยชน์ต่าง ๆ รวมไปถึงข่าวสารและบทความที่น่าสนใจด้วย

 

โฮมสคลู

มีครอบครัวทำโฮมสคูลเยอะไหม? 
ข้อมูลของ Twinkl ได้รวบรวมจำนวนเด็กโฮมสคูลจากประเทศต่าง ๆ ทั่วโลกไว้ และพบว่าเมื่อเปรียบเทียบกับประเทศอื่น จำนวนโฮมสคูลในไทยเรายังถือว่ามีจำนวนไม่มาก คิดเป็นเปอร์เซ็นต์ต่อนักเรียนในระบบแล้วมีเพียงแค่ 0.01% เท่านั้น

  • สหรัฐอเมริกา ประมาณ 2,500,000 คน (3%)
  • แคนาดา ประมาณ 100,000 คน (1.8%)
  • นิวซีแลนด์ 6,573 คน (0.8%)
  • ออสเตรเลีย ประมาณ 30,000 คน (0.75%)
  • สหราชอาณาจักร 60,544 คน (0.7%)
  • แอฟริกาใต้ 50,000 – 75,000 คน (0.6%)
  • รัสเซีย 50,000 – 100,000 คน (0.5%)
  • ชิลี 8,000 – 15,000 คน (0.3%)
  • ฟินแลนด์ 437 คน (0.07%)
  • ฟิลิปปินส์ ประมาณ 12,000 คน (0.04%)
  • ไทย ประมาณ 1,000 คน (0.01%)

นอกจากนั้นยังมีประเด็นสำคัญต่าง ๆ จากการรวบรวมข้อมูลที่พบ อาทิ
จำนวนนักเรียนโฮมสคูลในสหราชอาณาจักรเพิ่มขึ้น 40% ภายในเวลา 3 ปี (2015-2018) (ข้อมูลจาก BBC News)
ญี่ปุ่นยังไม่มีกฎหมายรองรับการทำโฮมสคูลอย่างชัดเจน แต่สามารถทำได้โดยไม่ผิดกฎหมาย (ข้อมูลจาก Homeschooling in Japan)
ไม่ว่าผู้ปกครองโฮมสคูลจะเคยเป็นครู หรือมีความรู้ด้านการสอนมาก่อน ไม่ได้มีผลต่อผลการเรียนหรือความสำเร็จของนักเรียนโฮมสคูลเลย (ข้อมูลจาก National Home Education Research Institute)

อนาคตของเด็กโฮมสคูล?
เด็กโฮมสคูลมักจะเป็นเด็กที่รู้ความต้องการของตน และชัดเจนในแนวทางว่าถนัดด้านไหน ต้องการมุ่งไปในทิศทางใด ยกตัวอย่าง ซันนี่-อรรคนิธิ์ ส่งเสริมสวัสดิ์ 1 ใน 4 นักสอยคิวไทยที่ได้รับสิทธิ์ให้ลงแข่งขันในระดับอาชีพจากเวิลด์สนุกเกอร์ ที่เติบโตมาเป็นนักสนุกเกอร์อาชีพ มีความถนัดเฉพาะด้านกีฬา เริ่มสนใจสนุกเกอร์ตั้งแต่ 8 ขวบ ฝึกซ้อมเรื่อยมาจนถึงปัจจุบันโดยมีคุณพ่อเป็นโค้ชให้เพียงคนเดียว หรือพลอยชมพู-ญานนีน ภารวี ไวเกล สาวน้อยมหัศจรรย์เสียงใสมีความสามารถในการร้องเพลง เริ่มประกวดร้องเพลงตั้งแต่ 11 ขวบ ทำวิดีโอการร้องเพลงในช่อง YouTube จนได้รับฉายาสาวน้อยร้อยล้านวิว และได้เข้าเป็นนักร้องกับทางแกรมมี่ และแปม-ณราดา ดิษยบุตร นักกีฬาปีนผาทีมชาติไทย ค้นพบตัวเองว่าชอบกีฬาและการออกเดินทาง มองว่าการเดินทางเป็นวิธีการหนึ่งที่ทำให้ว่าตัวเองควรเพิ่มเติมอะไร และมีเป้าหมายไปทางไหน จึงเริ่มแข่งขันตามรายการต่าง ๆ และวางเป้าหมายของตัวเองไว้ที่โอลิมปิกเกมส์

คำถามแรกที่คุณต้องเจอเมื่อคุณทำโฮมสคูลให้ลูกก็คือ “แล้วเด็กจะได้เรียนอะไร?” และเมื่อคุณทนแรงกดดันกับคำถาม (ของเพื่อนข้างบ้าน) ไม่ไหว คุณจะพยายามบอกใครต่อใครว่าลูกของคุณได้เรียนรู้อะไรบ้าง อันที่จริงนี่ถือเป็นประเด็นสำคัญประเด็นแรก ๆ เพราะการเรียนแบบโฮมสคูลนี้สิ่งสำคัญคือแนวคิดของพ่อแม่ ซึ่งอาจต่าง หรือเหมือนกับพ่อแม่คู่อื่น มีทั้งข้อดี และข้อเสียที่คุณต้องนำมาคิดประกอบกัน คุณอาจจะต้องสละเวลาทั้งหมด เด็กอาจขาดทักษะการเข้าสังคม ภาระทางการเงินอาจหนักขึ้น (กรณีคุณต้องออกจากงานมาเพื่อทำโฮมสคูล) ซึ่งทั้งหมดนี้เป็นบริบทแวดล้อมที่คุณเองต้องนำมาตัดสินใจทั้งสิ้น แต่หากสถานการณ์โควิด-19 ยังคงอยู่กับเราไปอีกนานแบบนี้ โฮมสคูลก็ดูจะเป็นทางเลือกบนทางรอดที่น่าสนใจอยู่ไม่ใช่น้อย

อ้างอิง:
https://bit.ly/3Cwihvp
https://bit.ly/2XC94TL
https://bit.ly/3tZaTFZ
https://bit.ly/2XMtFon
https://bit.ly/3nSkgWR
https://bit.ly/3AseyyA
https://bit.ly/39uU6Rv
https://bit.ly/2VXcjEi

Share

Authors

Authors

RELATED POSTS