วิชาชีพครู ที่สะท้อนจากการดูซีรีย์หมอเรื่อง Hospital Playlist

A A
Sep 16, 2021
Sep 16, 2021
A A

วิชาชีพครู ที่สะท้อนจากการดูซีรีย์หมอเรื่อง Hospital Playlist

 

เคยไหมนั่งดูหนังดูละครแล้วรู้สึกอินจัด เหมือนกำลังเห็นชีวิตของตัวเองอยู่ในนั้น สำหรับวิชาชีพครูที่เคยดูซีรีส์หมอยอดฮิตอย่าง Hospital Playlist และ Good Doctor กันมาแล้ว

 

คงปฏิเสธไม่ได้ว่าถึง “หมอ” กับ “ครู” จะไม่ใช่อาชีพเดียวกัน แต่สองอาชีพนี้กลับมีอะไรคล้ายกันอย่างไม่น่าเชื่อ ชนิดที่คนเป็นครูดูแล้วเหมือนยืนอยู่หน้ากระจก เห็นเงาอาชีพตัวเองผ่านอีกอาชีพหนึ่ง หลายฉากหลายตอนทำไมมันช่างจี้จุด โดนใจ ชวนให้สงสัย ตั้งคำถามได้มากมาย จนบางครั้งก็อยากจะตะโกนออกไปให้ชัดๆ ว่า “I’m a TEACHER” !! เหมือนกับที่หมอฌอนจาก Good Doctor บอกว่าเขาคือ ‘I’m a SURGOEN’ !!

สิ่งที่เห็นได้ชัดเจนที่สุดในความคล้ายคลึงกันของสองอาชีพนี้คือเป็นอาชีพที่เกี่ยวข้องกับผู้คน หมอช่วยชีวิตคนไข้ ขณะที่ครูให้วิชาความรู้นักเรียน ให้เขาได้ต่อยอดสร้างอนาคตในแบบของเขาเอง นอกจากคนไข้และนักเรียนแล้ว ความสัมพันธ์เหล่านี้ยังเชื่อมโยงไปถึงครอบครัวคนไข้ ครอบครัวนักเรียน และสำคัญที่สุดคือเพื่อนร่วมงาน ที่ต้องร่วมหัวจมท้ายฝ่าฟันให้งานสำเร็จไปด้วยกัน

 

good doctor

ขอบคุณภาพประกอบจากซีรีย์ : Good Doctor

อย่าให้ใครลดคุณค่าวิชาชีพครู
ทุกอาชีพต่างก็มีคุณค่าในแบบตัวเอง และคุณค่านี้ก็ไม่มีใครสามารถทำแทนกันได้ ประเด็นคุณค่าของวิชาชีพครูจึงกลายเป็น Pain point ของครูไทยที่เกิดขึ้นมายาวนาน และยังไม่มีทีท่าว่าปัญหานี้จะได้รับการแก้ไขเมื่อไร คงไม่มีใครยอมให้หมอผิวหนังมาผ่าตัดรักษาคนไข้โรคหัวใจ หรือยอมให้นักบินที่ยังไม่ได้รับการฝึกบินเครื่องบินรุ่นนี้มาโดยเฉพาะมาเป็นกัปตันพาผู้โดยสารเหินขึ้นฟ้าข้ามทวีป แต่เรื่องแบบนี้กำลังเกิดขึ้นกับครูไทยที่กำลังถูกลดคุณค่าวิชาชีพด้วยการต้องรับงานสอนในวิชาหรือระดับชั้นที่ไม่ตรงกับสายที่จบมา ยิ่งไปนั้นกว่าคือต้องทำงานที่ไม่ใช่งานสอนเสียด้วยซ้ำ เช่น งานธุรการ พัสดุ ดูแลฐานข้อมูล เฝ้าเวร ซึ่งล้วนกินเวลางานหลักของครูเป็นอย่างมาก

ทำไมความเชี่ยวชาญเฉพาะสาขาถึงเป็นสิ่งสำคัญและเป็นคุณสมบัติของครูที่ดี เราบอกได้ไหมว่าเด็ก ป.3 แตกต่างจากเด็ก ป.1-2 อย่างไร ถ้าให้ครูมัธยมฯ มาตอบคงไม่มีทางรู้ลึกไปกว่าครู ป.3 อย่างแน่นอนว่า เด็กในวัยนี้จะเข้าใจสิ่งที่ครูพูดมากกว่าเด็ก ป.1-2 เริ่มเข้าใจเหตุผลเชิงซ้อน แต่ก็ยังมีความเป็นเด็กอยู่ ยังสนุกกับการเล่นเกมกับครู ไม่เหมือนเด็กที่โตกว่าที่มองว่าการเล่นเกมนั้นดูเป็นเด็ก

ความเชี่ยวชาญเฉพาะด้านจึงเป็นสิ่งที่การันตีว่าคน ๆ นั้นจะทำสิ่งนั้นได้ดีกว่าคนอื่น มีความเข้าอกเข้าใจปัญหาต่างๆ และรู้วิธีจัดการกับสิ่งที่จะเกิดขึ้นมากกว่าคนที่ไม่ได้ฝึกมา เหมือนกับการวินิจฉัยคนไข้ที่แม่นยำของหมอฌอนจาก Good Doctor ครูที่เชี่ยวชาญจึงมองเด็กได้ออก นำไปสู่การแก้ปัญหาที่ตรงจุดในเวลาที่รวดเร็ว คนที่ได้รับผลกระทบมากที่สุดในกรณีนี้จึงไม่ใช่ใครที่ไหน แต่เป็นเด็กตาดำๆ ของเรา ถ้าเราให้ครูมัธยมฯ ที่ถนัดการสอนสาระวิชาต่างๆ มากกว่ามาสอนเด็กประถมฯ นั่นเท่ากับเรากำลังทำให้เด็กเสียโอกาสในการพัฒนาสมองส่วนอารมณ์และสังคมไปทันที

PLC ในรพ.ยังเกิดขึ้นได้ อย่าให้เป็นแค่พิธีกรรมในโรงเรียน
ชุมชนแห่งการเรียนรู้ทางวิชาชีพ หรือ Professional Learning Community (PLC) ถึงจะดูเป็นศัพท์ในแวดวงการศึกษา แต่เมื่อเราได้เห็นฉากการพูดคุย ปรึกษาปัญหากันของหมอจากหลากหลายสาขาว่าจะผ่าตัดคนไข้แต่ละเคสอย่างไรดีจากซีรีส์ 2 เรื่องนี้แล้ว ต่างเห็นตรงกันว่านี่คือ PLC ที่เกิดขึ้นในโรงพยาบาลชัดๆ แถมยังเป็น PLC ในความหมายดั้งเดิมจริงๆ ที่มุ่งให้ครูได้แลกเปลี่ยน เรียนรู้จากกันและกัน พัฒนาศักยภาพของตนเองให้สูงขึ้น ซึ่งผลสุดท้ายเมื่อครูเก่งขึ้น เด็กของเราก็จะเก่งไปด้วย

PLC ของหมอไม่ได้ต่างจากครูตรงที่ทั้งสองอาชีพต่างได้เห็นแง่มุมที่หลากหลายจากเพื่อนร่วมวิชาชีพเดียวกัน ถึงสอนต่างกลุ่มสาระกันบ้าง ต่างระดับชั้นบ้าง แต่สุดท้ายก็มีเป้าหมายเดียวกันคือประโยชน์ของคนไข้และเด็กเป็นที่ตั้ง รวมถึงได้ไอเดียในการแก้ปัญหาเคสคนไข้หรือเด็กที่เรากำลังเจออยู่จากคนที่มีประสบการณ์มากกว่า ปลายทางของ PLC จึงเป็นการช่วยให้คนไข้ได้ชีวิตที่สมบูรณ์แข็งแรงกลับมา ให้เด็กได้เรียนรู้เต็มที่ตามศักยภาพของเขา ซึ่งแน่นอนว่ากระบวนการนี้นำไปใช้กับทุกอาชีพได้

ภาพที่เห็นในซีรีส์จึงเป็น PLC ในฝันของครูที่อยากให้เกิดขึ้นจริงในโรงเรียน ขณะที่ความเป็นจริงแล้ว ไม่ใช่ทุกโรงเรียนจะประสบความสำเร็จในเรื่องนี้ น่าเสียดายที่บางครั้ง PLC กลับกลายเป็นการประชุมโรงเรียนไป หรือกลายเป็นพิธีกรรมที่ทำให้ดูเหมือนมีผลงาน สำหรับครูบางคน PLC อาจไม่จำเป็นต้องเป็นการนั่งพูดคุยจริงจัง แต่เป็นการส่งไลน์ถามไถ่เพื่อนครูด้วยกันว่า “สอนวันนี้เป็นอย่างไรบ้าง” เท่านั้นเอง

Hospital Playlist

ขอบคุณภาพประกอบจากซีรีย์ : Hospital Playlist

อินเทิร์น VS ครูฝึกสอน เรียนรู้จากความผิดพลาด
     ยังจำครูพี่เลี้ยงคนแรกกันได้ไหม ครูคนนั้นเป็นอย่างไร ทำให้เราประทับใจหรือกลัวจนหัวหด เราเห็นโลกของการเป็นครูเปลี่ยนไปอย่างไรหลังได้เจอครูคนนั้น นี่คือประสบการณ์คลาสสิกของครูไทยที่ไม่ต่างอะไรจากอินเทิร์นที่มีอาจารย์หมอคอยให้คำปรึกษา ครูพี่เลี้ยงและอาจารย์หมอคือคนที่จะกลายเป็นภาพจำของครูฝึกสอนและอินเทิร์นไปตลอดชีวิต บทบาทของอาจารย์หมอที่เราได้เห็นจากซีรีส์ หลายครั้งที่อินเทิร์นทำผิดพลาด คิดว่าผ่าตัดจบ ต้องโดนด่าแน่นอน แต่ผลกลับไม่เป็นอย่างนั้น อาจารย์หมอมีความเข้าอกเข้าใจ และให้คำแนะนำว่าครั้งหน้าควรจะทำอย่างไร เช่นเดียวกันกับอาชีพครู บทบาทของครูพี่เลี้ยงที่ครูฝึกสอนต้องการคือ ช่วยสนับสนุน ให้คำแนะนำ ไม่ใช่การจับผิด ด่าว่าให้เสียกำลังใจ ทั้งสองฝ่ายต่างเรียนรู้ซึ่งกันและกันว่าไม่มีใครเก่งได้ตั้งแต่วันแรก และความผิดพลาดก็เป็นส่วนหนึ่งของการเรียนรู้

     การที่ครูที่อยู่มาก่อนคอยให้ความช่วยเหลือครูใหม่ในช่วงแรกของสอนนั้นสำคัญขนาดไหน ในต่างประเทศมีข้อมูลว่าสำคัญมาก เรียกได้ว่าครูจะอยู่หรือไปจะเห็นตัวเลขได้อย่างชัดเจนเลยในช่วง 5 ปีแรก

     เราพบว่าครูใหม่มีอัตราการลาออกอยู่ที่ 19% และ 30% ในช่วง 5 ปีแรกของการสอน นอกจากนี้ ข้อมูลจาก Learning Policy Institute ยังพบว่าถ้าครูใหม่ได้รับคำปรึกษา ความร่วมมือจากครูคนอื่น และได้เป็นส่วนหนึ่งของเครือข่ายครูที่เข้มแข็ง อัตราการลาออกในปีแรกจะลดลงกว่าครึ่ง แต่น่าเสียดายที่มีครูแค่ 3% เท่านั้นที่ได้รับการสนับสนุนอย่างเต็มที่

ไม่มีคนไข้คนไหนที่เหมือนกัน เด็กของเราก็เช่นกัน
     คนไข้แต่ละคนล้วนมีความแตกต่างกัน พวกเขามีครอบครัวของตัวเอง เช่นเดียวกับเด็กของเรา ซีรีส์ให้ความสำคัญกับการเล่าภูมิหลังของคนไข้แต่ละคน เป็นอย่างไรมาอย่างไร เขาถึงมานอนอยู่บนเตียงให้หมอรักษา หมอจึงต้องทำงานกับครอบครัวของคนไข้ด้วย ขอข้อมูลเพิ่มเติม หรือให้สิทธิ์การตัดสินใจเลือกวิธีการรักษาในแบบที่ครอบครัวต้องการ งานของครูก็ไม่ได้ต่างกัน ไม่มีเด็กคนไหนที่เหมือนกันเลย ครูก็ต้องทำงานร่วมกับผู้ปกครอง ให้รู้จักเด็กได้มากที่สุด เพราะปัญหาบางอย่างก็ไม่ได้แก้ให้จบได้ในห้องเรียน

Hospital Playlist Attanai

ขอบคุณภาพประกอบจากซีรีย์ : Hospital Playlist

ทุกอาชีพควรมีพื้นที่พักใจ
มิตรภาพของหมอ 5 คนที่รู้จักกันมายาวนานตั้งแต่สมัยเรียนเป็นเรื่องราวชวนอบอุ่นหัวใจสำหรับแฟนซีรีส์ Hospital Playlist ในชีวิตจริงของครูและทุกอาชีพต่างก็ต้องการพื้นที่พักใจแบบนี้ มีห้องพักให้ได้นั่งพูดคุย นั่งเล่นไร้สาระกับเพื่อนร่วมงานบ้าง บางครั้งอาจไม่ได้หมายถึงสถานที่ อาจเป็นใครคนใดคนหนึ่งที่มีไว้ให้เราได้พักใจในวันที่เหนื่อยล้า ขณะเดียวกันเราเองก็อาจเป็นที่พักใจให้ครูคนอื่นที่ต้องการกำลังใจได้เหมือนกัน

การทำงานของ “หมอ” กับ “ครู” ถึงจะไม่เหมือนกันเสียทีเดียวในรายละเอียด แต่ความคล้ายคลึงที่เราเห็นได้ชัดเจนร่วมกันคือ
Empathy ที่ไม่ใช่การเอาตัวเราไปอินกับคน ๆ นั้นไม่ว่าจะเป็นคนไข้ เด็ก ครอบครัวของเขา หรือเพื่อนร่วมงาน แต่เป็นการพยายามทำความเข้าใจคนเหล่านั้นในมุมที่เขาเป็น
Identity อัตลักษณ์ของครูแต่ละคนไม่เหมือนกัน ไม่ต้องพยายามเป็นเหมือนใคร ครูไอซ์ ครูสอนภาษาอังกฤษที่บกพร่องทางการมองเห็นก็เป็นครูที่ดีได้ไม่ต่างจากครูคนอื่น ปัจจุบันยังได้ทุน Fulbright ไปเรียนต่อระดับปริญญาโทที่สหรัฐอเมริกาอีกด้วย
Professionalism ควรมีระบบรับประกันเรื่องการเตรียมความพร้อม การลดอคติในการตัดสินใจ (Cognitive Bias) เพื่อให้ทำงานได้อย่างเป็นมืออาชีพ
Accountability ความรับผิดชอบจากการกระทำของตัวเอง ชีวิตคนไข้ไม่สามารถตีเป็นเงินได้ อนาคตของเด็กก็เช่นกัน
Continuing Professional Development (CPD) ทั้งสองอาชีพต้องมีการเรียนรู้เหมือนกัน หมอยังมีการสัมมนา มีการนำเสนองานตีพิมพ์ใหม่ๆ ให้ได้เรียนรู้กันตลอดเวลา การเป็นครูก็ต้องมีระบบที่ดีที่ช่วยสนับสนุนด้านนี้ ที่สำคัญกว่าอาจเป็นการเรียนรู้ผ่านการทำงานร่วมกันเป็นทีม ที่ทำให้ได้เห็นมุมมองจากคนที่หลากหลาย

แล้วคุณครูล่ะ ดูซีรีส์หมอ ๆ แล้วเห็นตัวเองในมิติไหนบ้าง หรือมีซีรีส์อาชีพอื่นที่ช่วยเติมพลังชีวิตครูอยากมาแนะนำ มาแชร์กันนะ

อ้างอิง
https://bit.ly/2XgG0Aw
https://bit.ly/396oIsH
https://bit.ly/3ltPfph
https://bit.ly/3tK5guZ

Share

Authors

Authors

RELATED POSTS