สรุปให้รู้ตามทันโลก อนาคตการศึกษา EP.15 สมองไหล (Brain Drain) ภาวะร้ายหรือโอกาสของการพัฒนา

A A
Mar 31, 2023
Mar 31, 2023
A A

สรุปให้รู้ ตามทันโลกการศึกษา EP.15

สมองไหล (Brain Drain) ภาวะร้ายหรือโอกาสของการพัฒนา

 

หากคุณได้ยินคำว่าสมองไหล  อาจเข้าใจผิดว่าเป็นโรคร้ายของร่างกายอะไรหรือเปล่า แต่ที่เราจะมาพูดถึงวันนี้ไม่ใช่โรคร้ายของร่างกาย แต่คือภาวะร้ายของการพัฒนาสังคม เมื่อหัวกะทิทั้งหลายต่างแยกตัวออกไปทำงานในประเทศอื่นเพื่อมองหามาตรฐานการครองชีพ คุณภาพชีวิตที่ดีขึ้น เงินเดือนที่สูงขึ้น การเข้าถึงเทคโนโลยีขั้นสูง และสภาพทางการเมืองที่มีเสถียรภาพมากขึ้นในสถานที่ต่าง ๆ ทั่วโลก 

พูดไปแล้วอาจดูเป็นสิ่งที่ดีเหมือนไม่มีอะไรเมื่อใคร ๆ ที่มีความสามารถก็มีสิทธิที่จะแสวงหาโอกาสในชีวิตได้ทั้งนั้น แต่ทุกคนเคยได้ยินใช่ไหม ว่านักเรียนคืออนาคตของชาติ แต่ถ้าหากอนาคตของชาติเหล่านี้ ไปเรียน และทำงานที่ประเทศอื่น ยังจะเป็นอนาคตของชาติบ้านเกิดอยู่หรือไม่

 

คุณคิดว่าควรกังวลกับเรื่องเหล่านี้ไหม มันเป็นโรคร้ายของสังคมหรือโอกาสกันแน่?

 

ผลกระทบเชิงลบจากภาวะสมองไหลที่เห็นได้ชัด คือ เรื่องของเศรษฐกิจ เมื่อต้องเผชิญกับการขาดแคลนแรงงานที่เป็นมันสมองในการคิด พัฒนานวัตกรรมใหม่ ๆ และขับเคลื่อนเศรษฐกิจไป ทำให้เศรษฐกิจไม่สามารถเติบโตได้เท่าที่ควร เป็นการกระทบโดยตรงต่อการเก็บภาษีของรัฐเมื่อกลุ่มหลัก ๆ ที่จ่ายภาษีคือกลุ่มแรงงานเหล่านี้ 

จากการศึกษาพบว่ากระทบต่อค่าใช้จ่าย GDP ในด้านการดูแลสุขภาพและสวัสดิการของผู้สูงอายุมีสัดส่วนสูงขึ้น เมื่อรายได้จากภาษี และการเติบโตทางเศรษฐกิจไปไม่ทันรายจ่าย และหากขึ้นภาษีก็เหมือนเป็นการซ้ำเติมตลาดแรงงานให้แย่ลงไปอีก อาจส่งผลให้คนออกไปนอกประเทศมากขึ้น 

แต่หากมองอีกมุมโดยพลิกวิกฤตให้เป็นโอกาส นักเศรษฐศาสตร์มองเห็นถึงผลกระทบเชิงบวกที่ประเทศบ้านเกิดจะได้ประโยชน์จากรายได้ที่คนสมองไหลส่งกลับมาในประเทศ ข้อมูลจากธนาคารโลกประเมินว่าแรงงานจากประเทศกำลังพัฒนา ส่งเงินกลับประเทศบ้านเกิดเป็นมูลค่ากว่า 300,000 ล้านดอลลาร์ฯ ในแต่ละปี หรืออาจได้รับประโยชน์หรือทักษะใหม่จากแรงงานที่อื่นที่เข้ามาทำงาน และประโยชน์จากแรงงานสมองไหลที่ไปทำงานในต่างประเทศนำทักษะกลับมาบ้านเกิดเพื่อพัฒนาต่อไปก็เป็นได้

สมองไหล

 

 

การที่คนหนึ่งคนจะตัดสินใจเพื่อออกไปจากบ้านเกิดของตัวเองมันไม่ง่ายเลย อะไรคือปัจจัยที่ทำให้เกิดภาวะสมองไหลนี้?

คำตอบมีอยู่ 2 ปัจจัย อย่างแรก คือ ปัจจัยดึงดูด (pull factors) เกิดจากประเทศอื่น ๆ มีทั้งโอกาส คุณภาพชีวิต การเงิน สิทธิเสรีภาพ และเสถียรภาพทางการเมืองที่ดีกว่าประเทศบ้านเกิด และอีกปัจจัยหนึ่งที่เป็นขั้วตรงข้ามเลย คือ ปัจจัยผลักไส (push factors) เช่นความสิ้นหวังทางเศรษฐกิจ คุณภาพชีวิตต่ำ เงินเดือนน้อย หางานยาก รัฐบาลไม่มีเสถียรภาพ ความเชื่อมั่นในการพัฒนาประเทศต่ำ สิทธิเสรีภาพถูกลิดรอน ทำให้คนในประเทศไม่เห็นโอกาสจากการอยู่ที่เดิมจนต้องออกไปหาสิ่งที่ดีกว่า

 

ประเทศไหนเกิดภาวะสมองไหลนี้บ้าง และพวกเขาเป็นอย่างไร?

ภาวะสมองไหลนี้มักเกิดกับอาชีพทางด้านวิทยาศาสตร์เป็นส่วนมาก ลองมาดูตัวอย่างกัน เริ่มต้นด้วยวงการการแพทย์ที่เป็นที่ต้องการของทั่วโลก

 

สมองไหลในไนจีเรีย

เกิดการสมองไหลของแพทย์ที่เรียนจบในแต่ละปี จากปัญหาในการควบคุมจำนวนประชากร ทำให้ในปี 2020 ไนจีเรียมีประชากรกว่า 220 ล้านคน เมื่อคนมากขึ้นแต่เศรษฐกิจไม่เติบโตตามจึงส่งผลให้ค่าแรงน้อยลงไปด้วย รวมถึงปัญหาขาดแคลนสาธารณูปโภค ระบบสาธารณสุขไม่เพียงพอ และความไม่ปลอดภัยในการใช้ชีวิตประจำวัน จนทำให้เกิดแพทย์สมองไหล และมันสร้างภาระงานที่หนักให้กับแพทย์ที่เหลืออยู่อีกด้วย จากข้อมูลชี้ว่า แพทย์ 1 คนต้องดูแลชาวไนจีเรียเกือบ 5,000 คน

 

สมองไหลในฟิลิปปินส์

ส่งออกแรงงานไปต่างประเทศมากที่สุดในอาเซียน เนื่องจากความเชื่อทางศาสนาทำให้เกิดปัญหาในการควบคุมจำนวนประชากร เมื่อคนล้นประเทศ ปัญหาขาดแคลนสาธารณูปโภคจึงตามมาต้องนำเข้าอาหาร และสินค้าจำนวนมากจนขาดดุลการค้า ยังพบเจอกับปัญหาตำแหน่งงานที่ไม่เพียงพอ และปัญหาด้านการเมืองภายใน ทำให้รัฐบาลสนับสนุนให้ผู้คนออกไปหางานทำนอกประเทศ และส่งเงินกลับเข้ามาในประเทศเพื่อแก้ปัญหาเหล่านี้โดยพบว่าส่งออกแรงงานไปทุกปีมากถึงปีละ 22,000 คน

ตัวอย่างที่เห็นภาพชัดจนกระทบอย่างหนักคือ การจัดตั้งองค์กร The Philippine Overseas Employment Program ที่มีบุคลากรทางด้านสุขภาพอย่างอาชีพพยาบาลเป็นอาชีพหลักในการย้ายถิ่นฐานไปยังสหรัฐฯ รวมถึงประเทศในกลุ่มองค์การเพื่อความร่วมมือและการพัฒนาทางเศรษฐกิจ (OECD) ทำให้ในทุกปีมีพยาบาลจบใหม่เลือกออกไปทำงานต่างประเทศกว่า 70 % เนื่องจากปัญหาค่าแรงของพยาบาลในประเทศต่ำมาก แต่ในสหรัฐฯ กลับได้ค่าแรงมากกว่าถึง 10 เท่าตัว ทำให้ช่วงโควิด-19 เกิดการขาดแคลนพยาบาลมากถึง 23,000 คนทั่วประเทศ และสถานการณ์รุนแรงมากจนชาวฟิลิปปินส์ส่วนใหญ่เสียชีวิตในช่วงโควิด-19 ที่ผ่านมา แต่ในขณะเดียวกันที่สหรัฐฯ กลับมีพยาบาลชาวฟิลิปปินส์มากถึง 150,000 คน แม้ว่ารัฐบาลจะประกาศรับตำแหน่งพยาบาลเพิ่มมากถึง 15,000 ในช่วงโควิด-19 และขึ้นค่าแรงขั้นต่ำให้อีก 20 % แต่กลับมีคนมาสมัครไม่ถึง 10 % ของจำนวนที่เปิดรับถือเป็นภาวะสมองไหลที่หนักมาก และยังขยายผลออกไปในอาชีพสำคัญอย่าง นักกฎหมาย ครู และนักการศึกษาที่เริ่มไหลออกจากฟิลิปปินส์มากขึ้นด้วย

อาชีพด้านวิจัยต่าง ๆ ที่มีความสำคัญในการพัฒนาประเทศ ผู้คนเหล่านี้ที่ไม่ใช่การสูญเสียในเชิงปริมาณ แต่เป็นการสูญเสียอย่างหนักในเชิงของคุณภาพที่ไม่สามารถประเมินค่าได้ หากคุณสงสัยว่าเป็นอย่างไร ลองคิดดูเมื่อเทียบกับการเสียแรงงานระดับปฎิบัติการ ไป 100 คน คือการเสียเชิงปริมาณ กับการที่คุณเสียคนที่จะมาวิจัย และสร้างเครื่องจักรเพื่อนำมาทดแทนแรงงาน 1,000 ตำแหน่ง ไป 1 คน แบบนี้จึงเป็นการเสียในเชิงของคุณภาพ

 

สมองไหลในอิสราเอล

อ้างอิงข้อมูลจาก Dr.Dan Ben-David อาจารย์ภาควิชานโยบายสาธารณะ มหาวิทยาลัย Tel Aviv พบว่ามีอาจารย์ และนักวิชาการชาวอิสราเอลกว่า 25 % ทำงานประจำในมหาวิทยาลัยชั้นนำของอเมริกา สาเหตุหลักมาจากการได้รับเงินเดือนน้อย และรัฐบาลให้เงินทุนสนับสนุนงานวิจัยไม่เพียงพอ ประกอบกับความกังวลด้านความมั่นคง และความปลอดภัยของประเทศ ส่งผลให้ผู้ที่ได้รับทุนไปศึกษาต่อต่างประเทศไม่อยากกลับมาทำงานในประเทศอีก

 

สมองไหลในสาธารณรัฐประชาชนจีน

ปิดท้ายด้วยประเทศที่มีประชากรมากที่สุดในโลกถึง 1.425 พันล้านคน (ข้อมูลปี 2022) อย่างพบว่าตั้งแต่ปี 1978-2007 ผู้คนมากกว่า 1.21 ล้านคน ไปศึกษาเรียนต่อ ทำวิจัย และทำงานในต่างประเทศ แต่มีเพียง 25% เท่านั้นที่เดินทางกลับบ้านเกิด โดยพบว่า 75 % ที่ไม่กลับมาบ้านเกิดเป็นเพราะความเบื่อหน่ายทางการเมือง (Political Alienation) ค่าแรงที่ต่ำกว่าตอนอยู่ต่างประเทศ และความไม่พร้อมในสิ่งอำนวยความสะดวกต่าง ๆ ให้กับงานวิจัย ทำให้จีนสูญเสียบุคลากรที่จะมาพัฒนาประเทศในเรื่องของเทคโนโลยีที่ตั้งเป้าหมายเดิมไว้ ทำให้ปัจจุบันรัฐบาลตั้งภารกิจใหม่ ว่าจะสำเร็จในการเป็นผู้นำทางวิทยาศาสตร์ และเทคโนโลยีระดับโลกให้ได้ในปี 2050 และออกนโยบายมาชักจูงให้เหล่าหัวกะทิกลับเข้ามาในประเทศมากขึ้น โดยการพัฒนาสิ่งอำนวยความสะดวกในงานวิจัยต่าง ๆ จัดโครงการมากถึง 200 โครงการ เช่น ปั้นเขตพัฒนาเศรษฐกิจและเทคโนโลยีแห่งชาตินครฉางซา สร้างโครงการ TTP เพื่อจ้างนักวิจัยมากถึง 7,000 ตำแหน่ง อุดหนุนลดภาษีเงินได้ส่วนบุคคลที่จ่ายเกิน 15 % แบบเต็มจำนวนให้กับผู้มีความสามารถสูง และให้นักวิจัยจากประเทศอื่นเข้ามาทำงานในจีนโดยออกวีซ่าทำงานให้มากถึง 5-10 ปี นอกจากนี้ยังพยายามดึงหัวกะทิที่สมองไหลไปอยู่ต่างประเทศโดยการยอมให้ถือสองสัญชาติอีกด้วย ถือว่าเป็นนโยบายที่เปิดกว้างอย่างมากหากมองที่ความชาตินิยมของจีน

แม้ตอนนี้ภาวะสมองไหลยังไม่เกิดขึ้นกับประเทศของเรา แต่มันจะยังเป็นอย่างนั้นไปได้ตลอดจริงหรือ เมื่อในเดือนพฤษภาคม ปี 2564 มีกระแสของกลุ่มเฟซบุ๊ก ‘ย้ายประเทศกันเถอะ’ โดยล่าสุดที่เปลี่ยนชื่อเป็น ‘โยกย้าย มาส่ายสะโพกโยกย้าย’ ที่ก่อตั้งขึ้นจากปัจจัยผลักไสของกระแสทางการเมืองในช่วงนั้น ได้ร่วมผู้คน และเด็กยุคใหม่ที่เริ่มมีความคิดที่จะย้ายออกไปนอกประเทศ ในกลุ่มมีการชักชวน ให้ข้อมูลต่าง ๆ และบอกเล่าประสบการณ์จากคนที่ย้ายไปอยู่ต่างประเทศเพื่อเป็นแนวทางให้กับคนที่คิดจะย้ายไป แต่กระแสก็ลดลงหลังจากที่ประเทศต้องเจอกับโควิดหนักขึ้นแต่ถึงอย่างนั้นในปัจจุบันก็มีสมาชิกในกลุ่มมากถึง 1.1 ล้านคน (ข้อมูลวันที่ 21 มีนาคม 2566)

จะเป็นอย่างไรหากใน 1.1 ล้านคนที่อยู่ในกลุ่มมีมากกว่า 50 % ที่ย้ายประเทศได้สำเร็จหลังจากนี้ คงเป็นภาวะสมองไหลที่รุนแรงของไทยได้เลย

จากข้อมูลเดือนกันยายน ปี 2565 เด็กมัธยมศึกษาทั้งในภาครัฐและเอกชนที่มีฐานะ และโอกาสทางการเรียนรู้ที่มากกว่าคนอื่นไปสอบเทียบ General Educational Development (GED) จำนวนมากเพื่อนำมายื่นเรียนต่อต่างประเทศ โดยจากข้อมูลของโรงเรียนเอกชนมีเด็กนักเรียนมัธยมกว่า 10 % ขอยื่นสอบเทียบ และมีจำนวนที่มากขึ้นเรื่อย ๆ นักเรียนที่สอบผ่านมักทำการลาออกเพื่อไปศึกษาต่อต่างประเทศทำให้เกิดผลกระทบในเรื่องของการจัดสรรงบประมาณของโรงเรียน และในขณะเดียวกันยังมีเด็กกว่า 1.9 ล้านคน ส่วนใหญ่เป็นเด็กยากจน ขาดโอกาส ยังคงหลุดออกจากระบบการศึกษาอีกด้วย

จากข้อมูลตัวเลขสถิติของกองบริหารแรงงานไทยไปต่างประเทศของปี 2565 มีแรงงานไทยในต่างประเทศกว่า 123,022 คน และในเดือนกุมภาพันธ์ ปี 2566 ที่ผ่านมามีจำนวน 130,470 คน คุณสังเกตไหม? เพียง 2 เดือนเท่านั้นจำนวนคนออกไปทำงานนอกประเทศเพิ่มขึ้นถึง 7,448 คน

เมื่ออัตราการเกิดของเด็กต่ำลง การศึกษาที่มีเด็กหัวกะทิย้ายไปเรียนต่อเพิ่มขึ้น และเด็กด้อยโอกาสที่หลุดออกจากระบบการศึกษายังไม่ได้รับการแก้ไข ประกอบกับสูงวัยครองเมือง หากการย้ายออกประเทศสูงขึ้นในอนาคตข้างหน้าภาวะสมองไหลอาจส่งผลกระทบกับการพัฒนาประเทศไทยเป็นอย่างมากหากภาครัฐยังไม่มีนโยบายเข้ามาจัดการกับปัญหาเรื่องนี้

เห็นได้ชัดว่าปัจจัยผลักไสเป็นจุดกำเนิดของหลาย ๆ ประเทศที่ผลักดันให้ผู้คนเลือกออกเดินทางไปจากบ้านเกิดมากขึ้น แต่หากประเทศไหนมีนโยบายที่ดีก็สามารถสร้างโอกาสให้คนนำทักษะที่เป็นประโยชน์เหล่านี้กลับมาพัฒนาบ้านเกิดได้ เหมือนเป็นดาบสองคมที่ให้ทั้งด้านร้ายและดี

กระแสย้ายประเทศในไทยเราก็เกิดจากปัจจัยผลักไสด้วยเช่นกัน เมื่อผู้คนส่วนหนึ่ง และเด็กรุ่นใหม่มองว่าพวกเขาต้องการคุณภาพชีวิตที่ดีกว่านี้ และขาดความเชื่อมั่นจากเสถียรภาพทางการเมือง คุณคิดว่าประเทศไทยของเรามีสิทธิ์เจอกับภาวะสมองไหลนี้หรือไม่ และควรรับมืออย่างไรกับมัน รัฐบาลควรเข้ามาดูแลเพื่อให้เด็กนักเรียนหัวกะทิมีศักยภาพด้านการศึกษาที่เพียงพอ และพัฒนาตลาดแรงงานให้รองรับกับพวกเขาเพื่อดึงให้อยู่ในประเทศต่อไปไหม หรือควรทุ่มเทให้กับนโยบายด้านการดึงคนที่สมองไหลไปต่างประเทศกลับเข้ามาแทน และมีแนวคิดไหนที่ดีกว่านี้อีกบ้าง ร่วมคิด และค้นหาคำตอบไปกับเราครับ

อ้างอิง
https://www.ncbi.nlm.nih.gov/pmc/articles/PMC1275994/
https://www.blockdit.com/posts/5e4932ee7e39de0caeaecbe8
https://futurist.nida.ac.th/%E0%B8%A0%E0%B8%B2%E0%B8%A7%E0%B8%B0%E0%B8%AA%E0%B8%A1%E0%B8%AD%E0%B8%87%E0%B9%84%E0%B8%AB%E0%B8%A5-brain-drain/
https://www.agenda.co.th/social/4-country-brain-drain/
https://www.doe.go.th/prd/assets/upload/files/overseas_th/48abad4c9bfc47231094bd9d5b4e837d.pdf
https://www.doe.go.th/prd/assets/upload/files/overseas_th/09d072f520337b68f86eb11f8325a69b.pdf
https://www.doe.go.th/prd/assets/upload/files/overseas_th/c29307c7061fa1b5ea5a7da7191eea8a.pdf (ข้อมูลสถิติคนไปทำงานต่างประเทศ 65-กพ.66)
https://www.matichon.co.th/education/news_3540159 (ข่าวเด็กไทยสอบเทียบไปต่างประเทศมากขึ้น)
https://themomentum.co/economic-crunch-emigration/
https://thematter.co/social/brain-drain-and-reverse/142260
https://thestandard.co/top-10-most-population-countries/

Share

Authors

Authors

RELATED POSTS