Sex Education ซีรีส์อังกฤษสะท้อนหลักสูตรเพศศึกษาไทย

A A
Oct 4, 2021
Oct 4, 2021
A A

Sex Education ซีรีส์อังกฤษสะท้อนหลักสูตรเพศศึกษาไทย

 

     กลับมาอีกครั้งกับซีซั่นใหม่ของ Sex Education ซีรีส์ Netflix ว่าด้วยเรื่องรักวุ่น ๆ ของวัยรุ่นโรงเรียนมัธยมมัวร์เดลที่ให้แฟน ๆ รอคอยกันมานานเกินปีครึ่งจากซีซั่นก่อน แม้ในซีซั่นนี้จะไม่ได้ขายความหวือหวาในฉากเลิฟซีนเท่าซีซั่นก่อนๆ แต่ในแง่ของความสัมพันธ์ของตัวละคร และประเด็นดราม่าที่เกิดขึ้นตลอด 8 ตอนในซีซั่นนี้ เรียกได้ว่าเข้มข้นจนน่าเสียดายหากไม่นำมาพูดถึง โดยเฉพาะประเด็นที่ชวนให้นึกถึงการศึกษาไทย

 

sex education

ขอบคุณภาพประกอบจากซีรีย์ : Sex Education

Sex Education โรงเรียนต้องเป็นพื้นที่ปลอดภัยของนักเรียน

     ในซีซั่น 3 นี้เปิดเรื่องมาพร้อมกับตัวละครครูใหญ่คนใหม่ที่ชื่อ โฮป ที่มีภาพลักษณ์ดูทันสมัย เสื้อผ้า หน้าผม ดูคูลจนเรียกเสียงฮือฮาจากนักเรียนได้ทันทีเมื่อเธอปรากฏตัวบนเวที ถ้าไม่บอกว่านี่คือครูใหญ่ เราอาจนึกว่าเธอคือเจ้าของบริษัทเอเจนซี่หรือสตาร์ทอัพสักแห่ง ที่เต็มไปด้วยพลังพร้อมจะสร้างการเปลี่ยนแปลงให้เกิดขึ้น แต่สิ่งที่เราเห็นกลับกลายเป็นเพียงภาพลวงตา เมื่อการเปลี่ยนแปลงที่ครูใหญ่คนนี้กำลังสร้างให้เกิดขึ้นในโรงเรียน โดยหวังว่าจะเปลี่ยนแปลงจากภาพลักษณ์โรงเรียนเซ็กส์ ให้กลายเป็นโรงเรียนปกติทั่วไป กลับกลายเป็นการกดขี่อิสรภาพของนักเรียนแทนที่จะสร้างพื้นที่ปลอดภัยให้พวกเขา เริ่มจากการตีเส้นไปทั่วโรงเรียน ให้เดินอย่างเป็นระเบียบ ลามไปจนถึงการเปลี่ยนแปลงหลักสูตรเพศศึกษาที่พยายามใส่ความคิดว่าการไม่มีเซ็กส์เลยจะดีที่สุด 

     คาล นักเรียนที่เป็น Non-Binary คือตัวละครใหม่ในภาคนี้ ภายนอกคาลมีเพศกำเนิดเป็นหญิง แต่ไม่ได้นิยามตัวเองว่าเป็นเพศนี้ คาลเป็นตัวแทนของนักเรียนกลุ่ม LGBTQ ที่เรียกร้องให้มีห้องเปลี่ยนเสื้อผ้าแยกต่างหาก เพราะ Non-Binary คือกลุ่มคนที่ไม่นิยามตัวเองว่าเป็นเพศชายหรือหญิง การที่ต้องเปลี่ยนเสื้อผ้าหรือใช้ห้องน้ำผู้หญิง จึงทำให้คาลรู้สึกไม่สบายใจ แถมยังถูกเพื่อนบูลลี่ซ้ำ แต่ครูใหญ่กลับไม่รับฟังความเห็นของคาล ไม่ได้มองว่านักเรียนกลุ่ม LGBTQ ก็ต้องการพื้นที่ที่ตัวเองรู้สึกปลอดภัยเช่นเดียวกับทุกคน เพราะนี่คือสิทธิขั้นพื้นฐานของมนุษย์

     ข้อมูลจาก Advocates for Youth พบว่า นักเรียนวัยรุ่น 6-10% ในโรงเรียนอาจเป็น LGBTQ พวกเขาอาจต้องเก็บเรื่องตัวตนทางเพศไว้เป็นความลับ หากหลักสูตรของโรงเรียนไม่ได้มีการยอมรับในตัวตน และรับรองสิทธิของพวกเขา ซึ่งการที่ต้องเก็บเรื่องที่สำคัญต่อชีวิตไว้เป็นความลับแบบนี้จะยิ่งเพิ่มความเสี่ยงต่อสุขภาพกายและจิตใจ ทัศนคติที่โรงเรียนมีต่อเรื่องเพศ การสร้างความปลอดภัย ศักดิ์ศรี และสิทธิต่างๆ สำหรับนักเรียนถือเป็นเรื่องสำคัญ ไม่ว่าจะเป็นเพศไหนก็ล้วนมีสิทธิ์ที่จะเรียนรู้อย่างปลอดภัย 

     นอกจากพื้นที่ปลอดภัยในเรื่องเพศแล้ว คำว่า ปลอดภัย ยังหมายถึง ความปลอดภัยในด้านจิตใจและอารมณ์อีกด้วย รายงานจากวารสารอเมริกัน Preventative Medicine พบว่าเด็กทุกเชื้อชาติ ไม่ว่าจะมีภูมิหลังทางเศรษฐกิจและสังคมแบบไหนล้วนเคยได้รับผลกระทบจากความชอกช้ำทางจิตใจมาก่อนทั้งสิ้น ตัวเลขจากงานวิจัยบอกว่า นักเรียนทุกระดับชั้นจำนวนสองในสามถึงครึ่งหนึ่งเคยได้รับความชอกช้ำทางจิตใจมาก่อน แล้วเราจะทำให้โรงเรียนกลายเป็นพื้นที่ปลอดภัยสำหรับนักเรียนในการจัดการกับความชอกช้ำทางจิตใจได้อย่างไร

     ในต่างประเทศจะมีหลักสูตรอบรมเพื่อเตรียมครูให้รู้ว่า อาการแบบไหนคืออาการของความชอกช้ำทางจิตใจ และจะช่วยเหลือนักเรียนด้วยการให้คำปรึกษา รวมถึงนำประเด็นนี้มาเป็นส่วนหนึ่งของบทเรียนได้อย่างไร สิ่งเหล่านี้จะช่วยให้นักเรียนรู้จักการควบคุมตัวเองและจัดการกับอารมณ์ด้านลบ เช่น ความโกรธ ความเศร้าในระยะยาวที่จะช่วยให้พวกเขาประสบความสำเร็จทางการเรียนเมื่อเติบโตขึ้น

ในเรื่องนี้ เอมี คือนักเรียนที่กำลังได้รับความชอกช้ำทางจิตใจอย่างหนักจากการถูกคุกคามทางเพศบนรถเมล์ ผู้ชายที่อยู่บนรถคันที่เธอขึ้นเกิดช่วยตัวเอง แล้วดันสำเร็จความใคร่ใส่กางเกงยีนส์ของเอมี เหตุการณ์นี้ส่งผลกระทบต่อจิตใจเอมีอย่างหนัก เธอกลายเป็นคนกลัวการถูกสัมผัส ทั้งๆ ที่เคยชอบการมีเซ็กส์มาโดยตลอด เราไม่ได้เห็นภาพครูเข้ามาช่วยเหลือเอมีให้ข้ามพ้นและช่วยเยียวยาบาดแผลจากเหตุการณ์นี้ คนที่ให้ความช่วยเหลือกลับเป็นเมฟ เพื่อนสนิทที่แนะนำให้เอมีไปพูดคุยกับจีน มิลเบิร์น นักบำบัดและผู้ให้คำปรึกษาเรื่องเพศที่เป็นแม่ของโอทิส จนเอมีเริ่มรู้สึกดีขึ้น ในโรงเรียนจริงเองก็ไม่ต่างกัน นักเรียนแต่ละคนอาจมีเรื่องที่กำลังรบกวนจิตใจอยู่ อยู่ว่าที่ใครจะสังเกตเห็นบาดแผลที่ซุกซ่อนอยู่เหล่านั้น แล้วค่อยๆ หาทางช่วยพวกเขาในการจัดการกับความชอกช้ำทางจิตใจเหล่านั้น

อัตลักษณ์ของนักเรียน Sex Education ไม่ควรถูกคุกคามในโรงเรียน

     การเปลี่ยนแปลงในโรงเรียนเริ่มทวีความรุนแรงขึ้นเรื่อยๆ เมื่อครูใหญ่เรียกให้นักเรียน 3 คนขึ้นมาบนเวที พวกเขาถูกประจานความผิดในข้อหาต่างๆ แต่ละคนจะต้องเอาป้ายความอัปยศแขวนคอของตัวเองไว้ ฉากนี้สะท้อนให้เห็นว่าโรงเรียนกำลังกดขี่อัตลักษณ์ทางสังคมของนักเรียนแต่ละคน ลิลลี่ ผู้หลงใหลการเขียนนิยายแนวเอเลี่ยนถูกประจานต่อหน้าเพื่อนว่านำความอัปยศมาสู่เพื่อนๆ จากการส่งนิยายเข้าประกวดแล้วได้ตีพิมพ์ลงหนังสือพิมพ์ คาล นักเรียนที่พยายามเรียกร้องสิทธิของเธอในฐานะ Non-Binary ก็ถูกกล่าวหาว่าเป็นจอมก่อกวนไร้วินัย

     อะไรจะเกิดขึ้นเมื่อโรงเรียนคุกคามอัตลักษณ์ทางสังคมของนักเรียน ข้อมูลรายงานว่าเมื่อเกิดเหตุการณ์นี้ โดยเฉพาะในกลุ่มนักเรียนผิวสี หรือ LGBTQ จะทำให้นักเรียนรู้สึกว่าพวกเขาไม่ได้เป็นส่วนหนึ่งของสังคม ไม่มีใครเห็นคุณค่าในตัวตนที่แท้จริง ผลกระทบในระยะสั้นคือ นักเรียนจะเกิดความเครียด แต่ผลในระยะยาวหากไม่ได้รับความช่วยเหลือจะเพิ่มความเสี่ยงต่อปัญหาสุขภาพเรื้อรัง ส่งผลต่อการเปลี่ยนแปลงของสมองที่มีผลต่อการเรียนรู้ กลัวการตัดสินใจ มีสมาธิและพัฒนาความสัมพันธ์แบบไว้เนื้อเชื่อใจกับสังคมโรงเรียนได้น้อยลง

     งานวิจัยยืนยันว่า สภาพแวดล้อมของโรงเรียนมีผลอย่างมากต่อนักเรียน โรงเรียนที่มีสภาพแวดล้อมเชิงบวก มีการสร้างความสัมพันธ์แบบไว้เนื้อเชื่อใจกันจะช่วยสร้างความรู้สึกของการเป็นเจ้าข้าวเจ้าของให้กับนักเรียน ซึ่งจะช่วยให้นักเรียนเรียนรู้ มีพัฒนาการ และมีสุขภาพที่ดี

การสอนเพศศึกษากับค่านิยมแบบไทยๆ

     “โรงเรียนที่สอนให้เด็กรักนวลสงวนตัวมีอัตราวัยรุ่นท้องและติดโรคสูงกว่าโรงเรียนที่มีหลักสูตรวิชาเพศและความสัมพันธ์ที่ครอบคลุม” – จีน มิลเบิร์น 

     ทันทีที่ได้ยินประโยคนี้จากซีรีส์ มีใครสะดุ้งและเริ่มตั้งคำถามถึงหลักสูตรเพศศึกษาในบ้านเรากันบ้างไหม ทำไมสิ่งที่เราสอนกันดูจะขัดกับสิ่งที่ผู้เชี่ยวชาญในต่างประเทศให้คำแนะนำ ทัศนคติของผู้ใหญ่ในสถาบันการศึกษามองเรื่องนี้ว่าอย่างไร

     ข้อมูลของยูนิเซฟจากการสัมภาษณ์ผู้อำนวยการโรงเรียนในไทยจำนวน 31 คน ทั้งในระดับมัธยมศึกษาและอาชีวศึกษาพบว่า ทัศนคติของผู้อำนวยการจะยึดติดกับโครงสร้างทางวัฒนธรรมไทย และความเชื่อของตัวเองว่าอะไรคือสิ่งที่เหมาะสมกับคนแต่ละช่วงวัย หลายคนให้สัมภาษณ์ว่านักเรียนควรจะต้องปฏิบัติตัว และ     แต่งกายตามเพศกำเนิดของตัวเอง อาจพูดได้ว่ารากฐานความคิดและกฎของโรงเรียนในไทยมีความขัดแย้งกับหลักคุณค่าของเพศวิถีศึกษาที่ให้ความสำคัญกับสิทธิพื้นฐานของแต่ละคนต่ออำนาจในการตัดสินใจอย่างอิสระเหนือวิถีชีวิตเรื่องเพศ

 

 

ซีรีย์  sex education

ขอบคุณภาพประกอบจากซีรีย์ : Sex Education

 

เพศสภาพ สิทธิ และอำนาจ ประเด็นที่หลักสูตรไม่ได้ให้ความสำคัญมากพอ

     เพศศึกษาในโรงเรียนไทยเน้นสอนในเชิงชีววิทยามากกว่า ร่างกายเปลี่ยนแปลงไปอย่างไร การป้องกันการตั้งครรภ์มีวิธีไหนบ้าง ซึ่งนี่ดูจะเป็นเรื่องสำคัญที่สุดในมุมมองของโรงเรียน แต่การสอนหัวข้อที่เกี่ยวข้องกับเรื่องเพศสภาพ สิทธิ และอำนาจยังมีการให้ความสำคัญน้อยมากๆ จากการสัมภาษณ์ระบุว่าผู้อำนวยการส่วนมากมีความเข้าใจในเรื่องเพศสภาพ สิทธิและความสัมพันธ์เชิงอำนาจในระดับที่ค่อนข้างน้อย คิดว่าเพศศึกษาไม่ได้เกี่ยวกับการเข้าใจในเรื่องเพศสภาพ สิทธิทางเพศ และความสัมพันธ์ที่มีพื้นฐานจากอำนาจที่ไม่สมดุลระหว่างชายกับหญิง แม้ว่าพวกเขาจะมองว่าเพศศึกษายังเป็นเรื่องสำคัญ แต่เมื่อจัดลำดับความสำคัญของการสอนแล้วพบว่า หลายครั้งวิชานี้ถูกให้ความสำคัญน้อยกว่าวิชาอื่น

     ในหลายประเทศพบว่า 80% ของหลักสูตรที่มีการสอนเรื่องเพศสภาพและอำนาจจะช่วยลดการตั้งครรภ์โดยไม่ได้ตั้งใจ หรือโรคติดต่อทางเพศสัมพันธ์ได้ ขณะที่มีหลักสูตรอีกเพียง 17% เท่านั้นที่จะประสบความสำเร็จแม้จะไม่ได้สอนเรื่องนี้ ทำไมการสอนในประเด็นเหล่านี้ถึงให้ประโยชน์กับนักเรียนได้มาก นั่นก็เป็นเพราะมันจะช่วยบ่มเพาะทักษะการคิดวิเคราะห์ ซึ่งจะช่วยพัฒนาความสามารถในการวิเคราะห์สถานการณ์ชีวิตของนักเรียน ช่วยให้พวกเขาเห็นคุณค่าและสร้างอำนาจให้ตัวเองได้ องค์ประกอบเหล่านี้จึงช่วยให้เห็นภาพว่าจะนำสิ่งที่เรียนมาใช้กับชีวิตจริงได้อย่างไร และมีอำนาจการต่อรองในเรื่องชีวิตทางเพศมากขึ้น

บรรจุหลักสูตรความหลากหลายทางเพศ

     ถ้าพูดถึงตัวละคร LGBTQ คนโปรด หลายคนคงยกให้ เอริก ขึ้นแท่นอันดับหนึ่ง ด้วยความ เปรี้ยว แซ่บ ตลก และยังเป็นเพื่อนที่แสนดีของโอทิส นอกจากเอริกแล้วยังมีตัวละครอีกหลายคนที่เป็น LGBTQ เหมือนกัน เช่นเดียวกับห้องเรียนบ้านเรา โรงเรียนทุกแห่งล้วนมีนักเรียน LGBTQ อยู่ ผลสำรวจพบว่านักเรียนไทย 10-15% บอกว่าตัวเองเป็น LGBTQ จากเดิมหลักสูตรแกนกลางปี 2551 เคยมีการระบุตัวชี้วัดในหัวข้อวิชาสุขศึกษาและพลศึกษาว่า ให้ประเด็นความหลากหลายทางเพศอยู่ภายใต้หัวข้อ “ความเบี่ยงเบนทางเพศ” แต่หลังจากเกิดการผลักดันจากหลายภาคส่วนให้มีการปรับเนื้อหาหลักสูตร ในที่สุดเมื่อปี 2562 ความหลากหลายทางเพศก็ได้รับการบรรจุเข้าในเนื้อหา โดยครอบคลุมตั้งแต่ ป.1-ม.6

การบรรจุหลักสูตรความหลากหลายทางเพศเข้าไปในตำราเรียนนี้เกิดขึ้นในหลายประเทศ หนึ่งในนั้นคืออังกฤษที่มีการใช้หนังสือภาพเป็นสื่อการเรียนการสอนแก่นักเรียนชั้นประถมศึกษาทั่วประเทศ เด็กๆ ได้เรียนรู้เกี่ยวกับการยอมรับความแตกต่างในสังคม การเคารพสิทธิ ความเสมอภาคของเพื่อนร่วมสังคม โดยยกตัวอย่างวิถีชีวิตที่หลากหลาย เช่น เรื่องราวของคู่เพนกวินเกย์ที่ช่วยกันเลี้ยงลูกน้อย เด็กชายที่อยากแต่งตัวเป็นนางเงือก  รวมถึงเรื่องราวของคู่เลสเบี้ยนกับลูกของพวกเธอ

     เชื่อว่าหลายคนที่มีโอกาสได้ดูซีรีส์เรื่องนี้คงจะเห็นตรงกันว่าเป็นอีกหนึ่งเรื่องที่สนุก จะดูเอาตลกก็คลายเครียดได้เยอะ แต่ถ้าดูเอาสาระโดยเฉพาะคนเป็นครู เป็นพ่อแม่ ก็น่าจะได้ประเด็นกลับมาขบคิดและพูดคุยกับเด็กๆ ในห้องเรียน ในบ้านได้อีกเยอะ แล้วคุณล่ะชอบอะไรในซีรีส์เรื่องนี้บ้าง

อ้างอิง

 

Share

Tag

Share

Authors

Authors

RELATED POSTS