จากเทรนด์แฟชั่นสู่วงการการศึกษา

A A
Nov 5, 2021
Nov 5, 2021
A A

     การซื้อเสื้อผ้าเป็นเรื่องปกติในโลกใบนี้ แต่ในระยะ 10-20 ปีที่ผ่านมา พฤติกรรมการซื้อเสื้อผ้าเปลี่ยนไป จนเกิดธุรกิจที่เรียกว่า Fast Fashion จากที่เสื้อผ้าเคยออกตามฤดูกาล เช่น ฤดูร้อน ฤดูฝน ฤดูหนาว แต่การเกิด Fast Fashion ทำให้ปีหนึ่ง ๆ สามารถเกิดเสื้อผ้า Collection ใหม่ได้โดยแทบไม่ต้องนับฤดูกาลกันเลยทีเดียว มีเสื้อผ้าแบบใหม่ ๆ เกิดขึ้นทุกวัน เหมือนที่เราเห็นในหน้า Feed Instagram หรือ Facebook และยังไม่นับรวมคอนเซปต์ “ของมันต้องมี” ตามดาราหรือ Influencers มากมายในโลกออนไลน์ จนส่งผลให้เกิดแฮชแท็ก  #wearวนไป จากครูลูกกอล์ฟ คณาธิป และเกิดมี impact อย่างมากมายใน Twitter ที่มีคนออกมาแสดงความคิดเห็นกันอย่างล้นหลาม จนสื่อต่าง ๆได้ออกมาทำข่าวในประเด็นนี้

 

ทำไมต้อง #wearวนไป

     ปัญหา Fast Fashion กำลังก่อให้เกิดขยะและมลพิษที่เพิ่มสูงขึ้น ในสหราชอาณาจักรพบว่า 1 ใน 3 ของผู้หญิงใส่เสื้อผ้าเพียงแค่ 1-2 ครั้งเท่านั้นต่อชุดที่ซื้อมา ส่งผลให้เกิดสิ่งทอที่ไม่ได้ใช้จำนวน 300,000 ตันที่ต้องเผาหรือฝังกลบในปี 2018 นอกจากนั้นธุรกิจนี้เป็นอุตสาหกรรมที่ใหญ่เป็นอันดับสอง ส่งผลให้เกิดน้ำเสียมากถึง 20%ของโลก  และปล่อยไมโครไฟเบอร์สังเคราะห์ครึ่งล้านตันลงสู่มหาสมุทรทุกปี

      และไม่เพียงเท่านั้นอุตสาหกรรมนี้มีสัดส่วนการปล่อยก๊าซคาร์บอนไดออกไซด์ทั่วโลกมากถึง 8-10 % เรียกว่ามากกว่าเที่ยวบินระหว่างประเทศและการขนส่งทางทะเลทั้งหมดรวมกัน ส่วนหนึ่งของการปล่อยก๊าซคาร์บอนไดออกไซด์เหล่านี้มาจากการสูบน้ำเพื่อชลประทานพืชผล เช่น ฝ้าย ยาฆ่าแมลงที่ใช้น้ำมัน เครื่องจักรสำหรับการเก็บเกี่ยว และการปล่อยมลพิษจากการขนส่ง นอกจากนั้นในแต่ละปีมีการใช้น้ำมันเกือบ 70 ล้านบาร์เรลในการผลิตเส้นใยโพลีเอสเตอร์ของโลก ซึ่งปัจจุบันเป็นเส้นใยที่ใช้กันมากที่สุดในเสื้อผ้าของเรา แต่ต้องใช้เวลากว่า 200 ปีในการย่อยสลาย และมีผลกระทบต่าง ๆ อีกมากมายจากการเกิดธุรกิจ Fast Fashion

     ไม่น่าเชื่อว่าเสื้อผ้าที่เราสวมใส่ในแต่ละวัน การมีความสุขกับการ Shopping เสื้อผ้าในแต่ละคอลเลคชั่น จะทำให้เรากลายเป็นผู้ที่มีส่วนสนับสนุนรูปแบบการบริโภคที่สิ้นเปลือง ที่นอกจากจะสิ้นเปลืองเงินในกระเป๋าแล้วยังนำไปสู่การเปลี่ยนแปลงสภาพแวดล้อมที่มากมายมหาศาลอีกด้วยด้วยเหตุนี้เองจึงเกิดแฮชแท็ก  #wearวนไป เป็นการรณรงค์ในการใส่เสื้อผ้าซ้ำ ๆ ลดการซื้อ เน้นการ mix and match แทน

     นอกจากนี้ยังเกิดคำว่า Slow Fashion ที่ตรงข้ามกันสุดขั้วกับการ Fast Fashion เน้นกระบวนการผลิตที่เป็นมิตรกับสิ่งแวดล้อม ไม่ใช้สารเคมี ผลิตด้วยเส้นใยจากพืช แต่ก็มักจะตามมาด้วยราคาที่สูง ดังนั้นหากเราจะช่วยลดการบริโภคและลดการซื้อ การใส่ซ้ำหรือการถนอมผ้าเพื่อให้ใส่ได้นานก็ดูจะเป็นทางออกที่ดี เพื่อสร้างความยั่งยืนให้กับสิ่งแวดล้อมในโลกของเรา

 

เทรนด์แฟชั่น

 

จากเสื้อผ้าสู่การศึกษา และการเรียนรู้เรื่องความยั่งยืน

เพราะเราเองไม่เคยรู้ว่าอุตสาหกรรมการผลิตเสื้อผ้าส่งผลกระทบต่อสิ่งแวดล้อมมากแค่ไหน นอกจากนั้น

     การศึกษาในระบบส่วนใหญ่ยังคงเป็นเรื่องของความไม่ยั่งยืน  มุ่งเน้นการเติบโต สอนแบบการถ่ายทอดตามที่เคยสอนมามากกว่าการวิเคราะห์และสังเคราะห์ และเพราะการเรียนรู้ในโรงเรียนหรือมหาวิทยาลัยส่งผลต่อกิจกรรมอื่น ๆ ของมนุษย์มากมายไม่ว่าจะเป็นเศรษฐศาสตร์ ธุรกิจ การออกแบบ หรือก่อสร้าง  หรือแม้แต่วงการแฟชั่นเสื้อผ้าในสภาพแวดล้อมที่เปลี่ยนแปลงไป สังคมจึงต้องการนวัตกรรมที่มุ่งเน้นความยั่งยืน รวมถึงนักการศึกษาในปัจจุบันต้องใส่ใจการศึกษาอย่างยั่งยืน เพื่อให้เด็ก ๆ เติบโตไปเป็นพลเมืองโลกที่ใส่ใจสิ่งแวดล้อม การศึกษาที่เน้นความยั่งยืนก่อให้เกิดการเรียนรู้ที่ขยายไปไกลกว่าในห้องเรียน ช่วยให้นักเรียนมีทักษะในโลกแห่งความเป็นจริงที่จำเป็นเพื่อปรับปรุงโลกให้ดีขึ้นได้ และทำให้พวกเขาเข้าใจว่าสิ่งแวดล้อมมีความหมายกับชีวิตพวกเขามากแค่ไหน

     ยิ่งให้นักเรียนเรียนรู้เกี่ยวกับความยั่งยืนมากขึ้นเท่าใด ทางด้านสังคม สิ่งแวดล้อม ความเท่าเทียม การเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศ และการศึกษาก็มีความเชื่อมโยงกันมากขึ้นเท่านั้น จึงก่อให้เกิด Education for Sustainable Development (ESD) หรือเรียกว่า การศึกษาเพื่อการพัฒนาที่ยั่งยืน โดย UNESCO ได้บอกไว้ว่า “การศึกษาเพื่อการพัฒนาที่ยั่งยืนหมายถึงการรวมประเด็นการพัฒนาที่ยั่งยืนที่สำคัญในการสอนและการเรียนรู้ เช่น การเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศ การลดความเสี่ยงจากภัยพิบัติ ความหลากหลายทางชีวภาพ การลดความยากจน และการบริโภคอย่างยั่งยืน” ESD จึงเป็นเรื่องเกี่ยวกับการเรียนรู้ที่จำเป็นในการรักษาและปรับปรุงคุณภาพชีวิตของคนรุ่นต่อ ๆไป เพื่อพัฒนาความรู้ ค่านิยม และทักษะ เพื่อพัฒนาคุณภาพชีวิตโดยไม่ทำลายโลกในอนาคต

 

แนวทางการสอนใน ESD

     ไม่มีการเรียนการสอนที่ ‘ถูกต้อง’ สำหรับการศึกษาอย่างยั่งยืน แต่ว่าโดยรวมแล้วต้องมีการเปลี่ยนไปสู่วิธีการเรียนรู้เชิงรุก มีส่วนร่วม และต้องมีประสบการณ์ร่วมที่สร้างความเข้าใจอย่างแท้จริงได้ มีแนวทางดังนี้

  1. การไตร่ตรองอย่างมีวิจารณญาณ – ยังสามารถใช้การบรรยายแบบเดิม ๆ ได้ แต่ต้องผสมผสานการ Feedback การรวมกลุ่ม แลกเปลี่ยน และระดมความคิด
  2. การคิดและวิเคราะห์อย่างเป็นระบบ – โดยใช้กรณีศึกษาจากเหตุการณ์จริงหรือเหตุการณ์สำคัญ เรียนรู้จากโครงงานโดยใช้กิจกรรมกระตุ้น หรือจากแหล่งเรียนรู้ต่าง ๆ
  3. การเรียนรู้แบบมีส่วนร่วม – โดยเน้นการเรียนรู้แบบกลุ่มหรือเพื่อน มีการแลกเปลี่ยนมุมมอง เรียนรู้จากประสบการณ์ พัฒนากรณีศึกษาร่วมกับกลุ่มชุมชนหรือท้องถิ่น
  4. การคิดอย่างสร้างสรรค์สำหรับเหตุการณ์ในอนาคต – โดยการใช้บทบาทสมมติ ตั้งสมมติฐานจากมุมมองที่ของคนอื่น มองอนาคต เรียนรู้และจัดการกับปัญหาที่เกิดขึ้น
  5. การเรียนรู้ร่วมกัน –เรียนรู้จากการทำงานร่วมกัน หรือ การได้พูดคุยเรียนรู้จากวิทยากรรับเชิญ

    ESD จึงเป็นการให้ความรู้และวิธีคิดใหม่ ๆแก่นักเรียน นอกจากนั้นยังต้องส่งเสริมทักษะการเรียนรู้ที่ยืดหยุ่นต่อการเปลี่ยนแปลงที่จะเกิดขึ้นในอนาคต  โดยสิ่งที่ต้องการจากการศึกษาเพื่อการพัฒนาที่ยั่งยืนคือทักษะการคิดอย่างมีวิจารณญาณ ความสามารถในการทำให้เกิดการเปลี่ยนแปลง การเชื่อมต่อกับธรรมชาติ มองปัญหาและแก้ปัญหาอย่างเป็นระบบ

     ทุกคนในฐานะผู้มีพลังขับเคลื่อนเศรษฐกิจ อุตสาหกรรมและกำหนดทิศทางของโลกใบนี้ ควรมีส่วนช่วยกำหนดมาตรฐานการบริโภคอย่างยั่งยืนสำหรับคนในรุ่นอนาคต  และช่วยให้พวกเขาวิเคราะห์และมองภาพรวมอย่างเป็นระบบ และการฝึกนิสัยและปลูกฝังสิ่งเหล่านี้เป็นการใช้เวลาเพียงเล็กน้อยเท่านั้นเมื่อเทียบกับระยะเวลาที่ส่งผลกระทบต่อโลกของเรา

อ้างอิง

 

Share

Authors

Authors

RELATED POSTS