Pride Month กับความหลากหลายในโรงเรียนทั่วโลก

A A
Jun 1, 2022
Jun 1, 2022
A A

Pride Month กับความหลากหลายในโรงเรียนทั่วโลก

 

  • ถึงแม้โลกจะเปิดกว้างมากแค่ไหนแต่กลุ่มคนที่เป็น LGBTQ+ ก็ยังรู้สึกไม่ปลอดภัยในการใช้ชีวิต พวกเขาต้องเจอการกลั่นแกล้งและบูลลี่อยู่เสมอไม่เว้นแต่ในโรงเรียน
  • หลายประเทศเริ่มเปิดกว้างกับการหลากหลายทางเพศนี้ มีการบรรจุหลักสูตร LGBTQ+ ในชั้นเรียนเพื่อเป็นก้าวสำคัญของสังคมที่เด็ก ๆ ในโรงเรียนจะเติบโตขึ้นโดยรู้ว่าความหลากหลายทางเพศเป็นเรื่องปกติ
  • ถึงแม้ประเทศไทยจะเริ่มเปิดกว้างเรื่องความหลากหลายทางเพศบ้างแล้วแต่ก็ยังมีการล้อเลียนกันในโรงเรียนโดยเด็กที่มีความหลากหลายทางเพศโดยถูกรังแกมากถึง 58.9% ของผู้ถูกรังแกทั้งหมด

 

         Pride Month เดือนแห่งความหลากหลายท่ามกลางโลกที่มีความหลากหลาย  ถึงแม้หลายประเทศ สังคม ชุมชน หรือในโรงเรียนจะเปิดกว้างสำหรับคนที่เป็น  LGBTQ+ 

 

แต่นั่นอาจจะไม่ใช่ประสบการณ์สำหรับคนทุกคน และถึงแม้โรงเรียนจะเป็นพื้นที่ปลอดภัยสำหรับเด็ก ๆ แต่ก็ไม่เสมอไปเพราะเด็กที่เป็น LGBTQ+ อาจยังต้องเจอกับการบูลลี่ กลั่นแกล้ง อยู่เสมอ

การวิจัยในโรงเรียนมัธยมล่าสุดโดย Just Like Us พบว่า

  • มีนักเรียน LGBTQ+ เพียง 58% เท่านั้นที่รู้สึกปลอดภัยที่โรงเรียนเมื่อเทียบกับ 73% ของนักเรียนที่ไม่ใช่ LGBTQ+
  • 1 ใน 3 ของนักเรียน LGBTQ+  กล่าวว่ามีการรีพอร์ทเรื่องการกลั่นแกล้งและบูลลี่ในโรงเรียนของพวกเขา
  • คนหนุ่มสาว LGBTQ+ มีแนวโน้มที่จะทำร้ายตัวเองมากกว่า 3 เท่าและมีแนวโน้มที่จะมีภาวะซึมเศร้า วิตกกังวล และตื่นตระหนกเป็น 2เท่า รวมถึงความกังวลเกี่ยวกับสุขภาพจิตของพวกเขาในแต่ละวัน
  • LGBTQ+ 68% มีแนวโน้มที่จะคิดฆ่าตัวตายเป็น 2 เท่าเมื่อเทียบกับคนรอบข้างที่ไม่ใช่ LGBTQ+ 

ปัญหาเหล่านี้ไม่ได้พบเฉพาะในโรงเรียนมัธยมศึกษาเท่านั้น ในโรงเรียนประถมก็พบการกลั่นแกล้งโดยการใช้ภาษาที่เหยียดเพศเด็กนักเรียนเกือบครึ่งตกเป็นเหยื่อในการบูลลี่ และจากงานวิจัยพบว่าโรงเรียนอาจเป็นประสบการณ์เชิงลบที่ส่งผลต่อความภาคภูมิใจในตนเองและสุขภาพจิตของพวกเด็ก ๆ การสอนให้เด็ก ๆ มีความสัมพันธ์ที่ดีกับ LGBTQ+ ตั้งแต่อายุยังน้อย จะช่วยให้พวกเขาไม่แบ่งแยก จัดการกับการเลือกปฎิบัติเผชิญหน้าความหลากหลาย เมื่อความหลากหลายทางเพศมีอยู่ทั่วไปทุกมุมโลก ความเหลื่อมล้ำ ปัญหาการบูลลี่คือสิ่งที่เกิดขึ้นอย่างหลีกเลี่ยงไม่ได้แล้วประเทศอื่น ๆ จัดการกับปัญหานี้อย่างไรกันบ้าง

 

อังกฤษ

มีการส่งเสริมเรื่องการเผยแพร่ความรู้เรื่องการรักร่วมเพศ นอกจากนี้ยังมีข้อกำหนดทางกฎหมายเพื่อให้แน่ใจว่าเด็กเยาวชน และนักเรียนทุกคนเข้าใจถึงความสำคัญของความเสมอภาค และความเคารพ LGBTQ+ โดยเนื้อหาเกี่ยวกับ LGBTQ+ ถูกรวมเข้ากับโปรแกรมการศึกษาของโรงเรียน นักเรียนทุกคนควรได้รับการสอนเนื้อหาเกี่ยวกับ LGBTQ+ในช่วงเวลาที่เหมาะสมเพื่อเป็นก้าวสำคัญของสังคมที่เด็ก ๆ ในโรงเรียนจะเติบโตขึ้นโดยรู้ว่าความหลากหลายทางเพศเป็นเรื่องปกติ

ภาพประกอบจาก : https://www.esms.org.uk/

โรงเรียน Mary Erskine ได้รับรางวัล LGBT Youth Scotland Gold Charter Award เป็นรางวัลในการริเริ่มโครงการใหม่ๆ เพื่อสนับสนุนชุมชนกลุ่มหลากหลายทางเพศของโรงเรียน

 

สหรัฐอเมริกา

แคลิฟอร์เนียเป็นรัฐแรกที่ผ่านกฎหมายกำหนดให้โรงเรียนสอนประวัติศาสตร์ LGBTQ+ ปี 2011 ตามมาด้วยโคโลราโดและนิวเจอร์ซีย์ในปี 2019 ซึ่งหมายความว่าในโรงเรียนสามารถเลือกการบูรณาการประวัติศาสตร์ LGBTQ+ เข้ากับหลักสูตรได้ การสำรวจมุมมองชาวอเมริกันในเดือนสิงหาคม 2021 พบว่า 60 %ของคนอเมริกันพอใจกับครูข้ามเพศที่กำลังสอนอยู่ที่โรงเรียนประถมศึกษา คนอเมริกันส่วนใหญ่เชื่อว่าหนังสือเรียนสังคมศึกษา และประวัติศาสตร์ระดับมัธยมปลายควรมีการอ้างอิงถึงสิทธิของ LGBTQ+ ด้วย ถึงแม้ว่าจะมีบางส่วนคัดค้านก็ตามแต่ความคิดเห็นส่วนใหญ่ดูมุ่งไปสู่การสนับสนุนและการยอมรับความหลากหลายทางเพศที่มากขึ้น

 

สกอตแลนด์

เป็นประเทศแรกของโลกที่มีหลักสูตร LGBTQ+ และจะเป็นประเทศแรกของโลกที่สอนประวัติศาสตร์ LGBTQ+ ในโรงเรียน โรงเรียนรัฐบาลทุกแห่งจะต้องเรียนเกี่ยวกับ LGBTQ+ และเรียนรู้เรื่องความเท่าเทียมซึ่งจะช่วยจัดการกับปัญหาการเลือกปฏิบัติและอาการ homophobia ได้ สกอตแลนด์เป็นประเทศที่ก้าวหน้าอย่างมากในด้านทัศนคติเกี่ยวกับสิทธิของ LGBTQ+ โดยหวังที่จะสร้างการรับรู้และการยอมรับในหมู่นักศึกษามากขึ้น มีหลักสูตรที่เกี่ยวข้องกับhomophobia, biphobia และ transphobia อีกด้วย

 

สวีเดน

ผู้ตรวจการแผ่นดินเพื่อความเท่าเทียมของสวีเดนได้ตีพิมพ์คู่มือสำหรับเด็กก่อนวัยเรียน ในสวีเดนทุกแห่งมีห้องน้ำที่ปราศจากเพศ และเด็กก่อนวัยเรียนทุกคนควรเรียนรู้เกี่ยวกับ “ครอบครัว” และ “พ่อแม่” ที่เป็นเพศเดียวกัน การเรียนรู้เรื่องอัตลักษณ์ทางเพศสำหรับ LGBTQ+ ของสวีเดนนั้นเริ่มตั้งแต่อายุยังน้อย นักเรียนสวีเดนเริ่มเรียนเพศศึกษาตอนอายุ 11 ขวบในชั้นประถมศึกษาปีที่ 5 ทำให้สวีเดนเป็นหนึ่งในประเทศที่เป็นมิตรกับLGBTQ+ มากที่สุด และยังสอนให้นักเรียนเรียนรู้ที่จะเคารพความคิดเห็นและทางเลือกของผู้อื่นเกี่ยวกับเรื่องเพศและรูปแบบชีวิตทางสังคม

ภาพประกอบจาก : https://www.deltasd.bc.ca/

โรงเรียน Delta School District ชูธงยืนยันอีกครั้งถึงความเท่าเทียม

 

ไทย

จากผลสำรวจพบว่า นักเรียนไทย 40.6% เผยเคยเจอปัญหาการถูกรังแกในโรงเรียน และกลุ่มที่ถูกรังแกมากที่สุดคือกลุ่มเด็กที่มีความหลากหลายทางเพศโดยถูกรังแกมากถึง 58.9% ของผู้ถูกรังแกทั้งหมด โดยมีการล้อเลียนและดูถูกเชื้อชาติ แต่ในขณะเดียวกันมีครูที่ให้ความช่วยเหลือกลุ่มเด็กเหล่านี้เพียงแค่ 35.9% เท่านั้น ถึงแม้ประเทศไทยจะเป็นประเทศที่มีความหลากหลายทางเพศอยู่เยอะแต่ก็ปฎิเสธไม่ได้ว่ามีคนจำนวนมากที่ไม่เข้าใจ ดูถูก ล้อเลียนจนทำให้กลุ่มคนที่เป็น LGBTQ+ เหล่านี้ต้องเกิดการปิดบังตัวตน ซึมเศร้า และไม่ภูมิใจในตัวเองจนเกิดเป็นบาดแผลและอาจมีแนวโน้มฆ่าตัวตายในที่สุด

ถึงแม้เราจะเคยเห็นการเรียกร้องความเท่าเทียมกันไม่ว่าจะจากเพศไหนทั้งเพศหญิง หรือ หลากเพศ แต่หนทางนำไปสู่การปฎิบัติจริงนั้นยังห่างไกลนัก ทั้งในตัวกฎหมาย การใช้ชีวิต ความรู้ความเข้าใจต่อคนที่เป็น LGBTQ+ สถาบันการศึกษาเองก็ถูกจัดให้เป็นสถานที่ให้ความรู้ ความเข้าใจ และเป็นสถานที่ที่คนจากหลากที่มาอยู่ร่วมกัน เป็นแหล่งบ่มเพาะความเป็นมนุษย์ให้กับเด็ก ๆ ที่อยู่ในวัยเรียนรู้ เติบโต และสร้างค่านิยมให้กับเขา มุมมองต่อโลกในอนาคตจะเป็นอย่างไร หรือเราอยากเห็นเขาโตเป็นคนแบบไหนโรงเรียนเองก็คือที่บ่มเพาะพวกเขาต่อทัศนคติแบบนั้นเช่นกัน หัวข้อเรื่องความเท่าเทียมต้องไม่เพียงถูกบรรจุอยู่ในหนังสือเรียนหน้าที่พลเมืองเท่านั้น หากแต่จำเป็นต้องประยุกต์สอนให้เด็ก ๆ ได้ใช้ในชีวิตประจำวันให้ได้อีกด้วย

 

อ้างอิง
https://www.edutopia.org/article/20-years-data-shows-what-works-lgbtq-students
https://www.highspeedtraining.co.uk/hub/lgbtq-education-in-schools/
https://www.edweek.org/
https://www.edweek.org/
https://www.bltbangkok.com/news/27755/

Share

Tag

Share

Authors

Authors

RELATED POSTS