โทรศัพท์มือถือสำหรับเด็กจำเป็นไหม ซื้อเมื่อไรถึงจะดี

A A
Jun 20, 2022
Jun 20, 2022
A A

โทรศัพท์มือถือสำหรับเด็กจำเป็นไหม ซื้อเมื่อไรถึงจะดี

 

  • การซื้อโทรศัพท์มือถือให้ลูกเป็นสิ่งที่หลีกเลี่ยงได้ยากในยุคที่เทคโนโลยีขับเคลื่อนสังคม พ่อแม่ต้องแยกแยะระหว่าง ”ความอยากได้” ของลูก กับ “ความจำเป็น” ออกจากกัน
  • เมื่อมือถือเป็นสิ่งของที่มีมูลค่า พ่อแม่จำเป็นต้องประเมินความพร้อมของลูกในหลาย ๆ ด้าน ทั้งความรับผิดชอบ และวุฒิภาวะ
  • การมีมือถือไว้ใช้ไม่ใช่แค่เรื่องการเป็นเจ้าของอุปกรณ์เท่านั้น เด็ก ๆ จำเป็นต้องมีความรู้อื่นควบคู่ไปด้วย เช่น ภัยจากโลกออนไลน์ และ Digital Footprint จะช่วยให้เขาใช้มือถือได้อย่างปลอดภัย และได้ประโยชน์อย่างแท้จริง

 

    เมื่อเทคโนโลยีกับเด็กยุคใหม่กลายเป็นของคู่กัน ภาพที่เราเห็นจนชินตาคือเด็กอายุไม่กี่ขวบก็สามารถใช้สมาร์ทโฟนหรือไอแพดได้อย่างคล่องแคล่วชนิดที่ไม่ต้องมีใครมาสอน โตขึ้นมาอีกหน่อยเด็กเริ่มเห็นเพื่อนมีสมาร์ทโฟนเครื่องแรกเป็นของตัวเอง จนวันหนึ่งพวกเขาก็จะเดินเข้ามาถามพ่อแม่อย่างเราว่า “ซื้อให้หนูบ้างได้ไหม ใคร ๆ เขาก็มีกัน” นี่อาจเป็นสถานการณ์ที่พ่อแม่แต่ละบ้านเตรียมพร้อมกันมาแล้ว แต่ละครอบครัวอาจมีกฎเกณฑ์ที่ไม่เหมือนกัน บางครั้งเราก็รู้สึกว่ามันจำเป็นในบางสถานการณ์ แต่ขณะเดียวกันก็เป็นห่วงความปลอดภัยของลูก ๆ บนโลกออนไลน์ ถ้าวันหนึ่งคุณเจอคำถามนี้เข้า แต่ยังไม่แน่ใจว่าควรจะซื้อโทรศัพท์เครื่องแรกให้ลูกตอนไหน เรามีหลักเกณฑ์ง่ายๆ  ไว้ให้พ่อแม่ใช้พิจารณาดูว่าลูกของเราพร้อมสำหรับโทรศัพท์มือถือเครื่องแรกแล้วหรือยัง

 

แยกแยะระหว่าง “ความอยากได้โทรศัพท์มือถือ” กับ “ความจำเป็นโทรศัพท์มือถือ

ผู้เชี่ยวชาญกล่าวว่าการพูดคุยเรื่องเงินและการซื้อของที่มีความสำคัญเข้าบ้านทุกครั้งคือโอกาสในการสอนเด็กถึงความแตกต่างระหว่าง “ความอยากได้” กับ “ความจำเป็น” บางครอบครัวอาจมีมือถือเครื่องเก่าเก็บไว้อยู่ การให้มือถือรุ่นเก่ากับลูกถือเป็นการมอบบทเรียนให้เด็กแบบไม่รู้ตัว การแยกแยะสองเรื่องนี้เป็นเรื่องสำคัญ เพราะถ้าคำตอบของการมีมือถือไว้ใช้คือความจำเป็น มือถือรุ่นเก่าแบบฝาพับ หรือแบบที่มีปุ่มกด ก็ยังคงตอบโจทย์การใช้งานที่จำเป็นอยู่ พ่อแม่อาจให้เงื่อนไขกับลูก  ๆ ว่าถ้ามีความรับผิดชอบดี ไม่ทำมือถือหายหรือพัง ลูกอาจจะได้มือถือเครื่องใหม่ที่มีราคาแพงขึ้นได้

 

ประเมินความรับผิดชอบและวุฒิภาวะของลูกในการจะใช้โทรศัพท์มือถือ

พ่อแม่ต้องรู้จักลูกให้ดีที่สุดในทุกมิติ รู้ว่าเด็ก ๆ มีความรับผิดชอบและมีวุฒิภาวะมากแค่ไหน ไม่ว่าจะที่โรงเรียน บ้าน ตอนเล่นกีฬา ทำงานบ้าน หรือทำกิจกรรมอื่น ๆ แล้วดูว่าสิ่งเหล่านี้จะส่งผลอย่างไรเมื่อลูกมีมือถือ การศึกษาระบุว่าวัยรุ่น 95% ทุกวันนี้สามารถเข้าถึงสมาร์ทโฟนได้ แต่นั่นไม่ได้หมายความว่าทุกคนจะมีความรับผิดชอบเหมือนกันหมด  ฉะนั้น พ่อแม่จึงต้องสังเกตลูกว่าเขาจัดการกับงานและหน้าที่ในแต่ละวันอย่างไร ลูกจะยังคงมีความรับผิดชอบพร้อม ๆ กับการมีเสรีภาพที่มาพร้อมกับมือถือเครื่องใหม่หรือเปล่า เขาทำของหายบ่อยไหม รักษาของดีหรือเปล่า ถ้าเด็ก ๆ ทำทุกอย่างได้ดี นี่อาจเป็นสัญญาณว่าพวกเขาพร้อมแล้ว อย่างไรก็ตาม เด็กบางคนก็อาจจะยังไม่พร้อม บางคนเป็นโรคซึมเศร้าและวิตกกังวล เด็กกลุ่มนี้จะมีความอ่อนไหวต่อสิ่งที่เกิดขึ้นบนโซเชียลมีเดีย และอ่อนไหวต่อการสื่อสารกับเพื่อนมากกว่าเด็กทั่วไป

สิ่งที่น่ากังวลที่สุดคือบนโลกออนไลน์จะมีปัญหามากมายให้เด็ก ๆ ได้เจอ และส่วนมากจะอยู่บนโซเชียลมีเดีย งานวิจัยพบว่าเวลาที่เราใช้กับโซเชียลมีเดียสัมพันธ์กับปัญหาความวิตกกังวลและภาวะซึมเศร้ามากที่สุด และบางส่วนก็สัมพันธ์กับการใช้อินเทอร์เน็ตโดยทั่วไป ปัญหาที่น่ากังวลรองลงมาคือการเข้าถึงภาพที่รุนแรง ภาพลามกอนาจาร

ต้องรู้ว่าลูกอยากได้มือถือไปทำไม

ผู้เชี่ยวชาญแนะนำให้พ่อแม่พูดคุยกับลูกว่าพวกเขาอยากได้มือถือไปทำไม เพราะจะทำให้เรารู้มุมมองของเด็กว่าเขาคิดอย่างไร เด็กบางคนอยากมีเพราะแอปฯ บางอย่างในเครื่องที่เพื่อน ๆ ใช้อยู่ กรณีนี้พ่อแม่ควรดูว่าแอปฯ ที่ว่านั้นเกี่ยวกับอะไร จำเป็นหรือไม่ที่ลูกต้องมีมือถือเพียงเพราะเหตุผลนั้น

 

เด็กรู้จัก Digital Footprint มากแค่ไหน

เมื่อเราซื้อมือถือให้ลูก มันไม่ใช่แค่การซื้อให้แล้วก็จบ แต่พ่อแม่ต้องพูดคุยกับลูกถึง Digital Footprint ที่มาจากอุปกรณ์เหล่านี้ด้วย ตั้งแต่ไอแพด คอมพิวเตอร์ และจะยิ่งเห็นได้ชัดเจนขึ้นจากมือถือ อาจลองยกตัวอย่างด้วยการโชว์ให้เด็ก ๆ เห็นว่าจะเกิดอะไรขึ้นเมื่อเราลองพิมพ์ชื่อของตัวเองลงไป เราเจอข้อมูลอะไรบ้าง แล้วถ้าลองพิมพ์ชื่อคนที่เราติดตามบนโลกออนไลน์ลงไปล่ะ ความคิดเห็นต่าง ๆ ที่เราเคยพิมพ์ไว้มันยังปรากฏขึ้นมาอีกหรือเปล่า แม้ว่ามันจะผ่านมาหลายปีแล้วก็ตาม

 

Watch Phone ตอบโจทย์ได้ ในราคาสบายกระเป๋า

ถ้าพ่อแม่ได้คำตอบจากลูกแล้วว่าการมีมือถือสักเครื่องไว้ใช้เป็นเรื่องของความจำเป็น และเหตุผลที่พ่อแม่ส่วนมากซื้อมือถือให้ลูกน่าจะเป็นเรื่องการสื่อสาร อยากรู้ว่าลูกปลอดภัยดีไหมเมื่ออยู่ข้างนอก แต่ถ้าเราไม่มองว่าสิ่งนั้นจะต้องเป็นมือถือเสมอไป จริง ๆ แล้วยังมีอุปกรณ์อีกประเภทหนึ่งที่ตอบโจทย์ความต้องการนี้ได้ในราคาที่ถูกกว่า และยังเป็นที่นิยมในกลุ่มพ่อแม่จากกลุ่ม “งานบ้านที่รัก” อีกด้วย สิ่งนั้นก็คือ Watch Phone นั่นเอง เป็นอุปกรณ์ที่มีหน้าตาคล้าย ๆ กับ Smart Watch แต่สามารถวิดีโอคอลกันได้ และยังมี GPS ให้พ่อแม่ติดตามลูกได้แบบหายห่วงอีกด้วย

สิ่งที่พ่อแม่ควรทำเมื่อซื้อโทรศัพท์ให้ลูก

 

1. สร้างความปลอดภัยบนโลกออนไลน์

ปัจจุบันมีแหล่งข้อมูลมากมายบนโลกออนไลน์ที่ให้คำแนะนำแก่พ่อแม่ในเรื่องการดูแลความปลอดภัยบนโลกออนไลน์ให้กับลูก ๆ เช่น การสอนให้เด็กปิดการแชร์โลเคชั่น เพื่อป้องกันการบอกตำแหน่งโดยไม่ได้ตั้งใจ รวมถึงสัญญาณที่เด็ก ๆ ควรรู้ หากคนที่ติดต่อเข้าข่ายจะเป็นมิจฉาชีพ นอกจากนี้ ยังมีแอปฯ มากมายที่จะช่วยพ่อแม่ควบคุมการใช้งานมือถือลูก ๆ ได้ เช่น Google Family Link, Qustodio, Bark, NetNanny และ Kids Place ทั้งหมดนี้จะมีฟังก์ชั่นที่คล้าย ๆ กันคือ จำกัดการโหลดแอปฯ หรือเข้าเว็บไซต์ที่ไม่เหมาะสม กำหนดระยะเวลาการใช้งานมือถือ และติดตามตำแหน่ง GPS นอกจากการใช้เทคโนโลยีเข้ามาช่วยแล้ว สิ่งสำคัญคือพ่อแม่ยังควรสร้างความไว้วางใจให้เด็ก ๆ รู้ว่าหากเขาเจอเรื่องอะไรไม่ดี หรือดูน่าสงสัย พวกเขาสามารถมาพูดคุยหรือปรึกษาผู้ใหญ่ได้ตลอดเวลา

 

2.ทำข้อตกลงร่วมกัน

สำหรับเด็ก ๆ แล้วการที่พ่อแม่ซื้อมือถือให้ถือว่าเป็นสิทธิพิเศษ ไม่ใช่สิทธิ์ที่ต้องได้ ฉะนั้น ควรมีการทำข้อตกลงหรือทำสัญญาแบบเป็นลายลักษณ์อักษรว่าพ่อแม่มีสิทธิ์ที่จะขอโทรศัพท์คืนได้ และเข้าถึงพาสเวิร์ดต่าง ๆ ในเครื่องได้ เด็กจะใช้โทรศัพท์ได้ตอนไหนบ้าง เช่น ไม่ใช้ขณะกินข้าวกับผู้อื่น ขณะเรียน ทำการบ้าน ตอนเข้านอน ไม่ดาวน์โหลดแอปฯ ใด ๆ โดยไม่ได้รับอนุญาต และจะต้องรับผิดชอบด้วยการจ่ายเงินเองถ้าโทรศัพท์หายหรือเกิดความเสียหายขึ้น อย่างไรก็ตาม เมื่อเด็กโตขึ้น พ่อแม่จำเป็นต้องมีการทบทวนกฎและปรับให้เหมาะสมกับวัย และการเปลี่ยนแปลงที่เกิดขึ้นกับเขา 

มือถือเครื่องแรกของลูกอาจกลายเป็นอุปกรณ์ที่สานสัมพันธ์ระหว่างเขากับครอบครัว และเพื่อน ๆ ได้อย่างน่าอัศจรรย์ ขณะเดียวกันก็อาจกลายเป็นอาวุธที่สร้างบาดแผลและนำอันตรายมาสู่ลูกหลานของเราได้ ทั้งหมดนี้ผู้ใหญ่และเด็กจึงต้องพูดคุยกันถึงความจำเป็น และตัดสินใจร่วมกันบนพื้นฐานความเหมาะสม 

 

อ้างอิง
https://www.parents.com/kids/responsibility/teaching/your-childs-first-smartphone-what-to-buy-and-how-to-turn-them-into/
https://www.parents.com/kids/safety/internet/the-great-phone-debate/
https://www.sanook.com/campus/1408160/
https://www.facebook.com/groups/219194202444930/posts/632565297774483/

Tag

Share

Tag

Share

Authors

Authors

RELATED POSTS