ผู้หญิงกับโลกวิทยาศาสตร์ : สรุปให้รู้ตามทันโลกการศึกษา ep.5

A A
May 30, 2022
May 30, 2022
A A

สรุปให้รู้ตามทันโลก ep.5  ผู้หญิงกับโลกวิทยาศาสตร์

 

  • แม้ในปัจจุบันการศึกษาจะเปิดกว้างและเท่าเทียมมากขึ้น แต่ปฏิเสธไม่ได้ว่าผู้หญิงในหลายประเทศยังพบเจอกับอคติทางเพศและช่องว่างความเหลื่อมล้ำทางการศึกษาและการเข้าถึงบางอาชีพอยู่ โดยเฉพาะในวงการวิทยาศาสตร์
  • จากรายงานของ UNESCO เรื่องการศึกษาของเด็กหญิงและสตรีใน STEM พบว่าเด็กผู้หญิงที่เรียน STEM ในระดับอุดมศึกษาทั่วโลก มีเพียง 35%  เท่านั้น เป็นที่น่าตกใจอย่างมากเนื่องจากอาชีพ  STEM  ถือเป็นอาชีพแห่งโลกอนาคตแต่ผู้หญิงกลับมีโอกาสน้อยในการเข้าถึงอาชีพนี้ จนเกิดการตั้งคำถามที่ว่าหรือผู้หญิงจะไม่มีหัวทางด้านวิทยาศาสตร์กันนะ?
  • ในการเก็บข้อมูลเรื่องเพศสภาพประจำปีของ  UNESCO ได้วิเคราะห์ข้อมูลจาก 120 ประเทศในการศึกษาระดับประถมศึกษาและมัธยมศึกษาเพื่อนำเสนอภาพรวมทั่วโลก พบว่าในตอนเริ่มต้นเด็กผู้ชายมีหัวทางด้านคณิตศาสตร์มากกว่าผู้หญิง แต่ช่องว่างนั้นจะลดลงเรื่อย  ๆ เมื่อผู้หญิงอายุ 14 ปีและปัจจัยของสภาพเศรษฐกิจของประเทศก็เป็นปัจจัยสำคัญที่ส่งผลกับการเรียนรู้ของเด็กผู้หญิงอีกด้วย ในระดับมัธยมศึกษาของประเทศฐานะปานกลางและสูง พบว่าเด็กผู้หญิงมีคะแนนด้านวิทยาศาสตร์สูงขึ้นอย่างมาก แต่ก็ยังมีโอกาสน้อยที่จะเลือกประกอบอาชีพด้านวิทยาศาสตร์
  • จากข้อมูลที่กล่าวมาทำให้หลายประเทศตระหนักถึงโอกาสของเด็กหญิงและสตรีในการเข้าสู่วงการวิทยาศาสตร์มากมาย  ยกตัวอย่างเช่นองค์กรใหญ่อย่าง UNESCO และประเทศอื่น ๆ อีกที่มีโครงการสนับสนุนเด็กหญิงและสตรี เช่น ฝรั่งเศส สิงคโปร์และไทย ที่มีเป้าหมายในการส่งเสริมเด็กหญิงและสตรีเข้าสู่สาขา

 

         ทุกวันนี้มีเด็กผู้หญิงเข้าโรงเรียนมากกว่าแต่ก่อนก็จริง แต่พวกเขาไม่ได้มีโอกาสเหมือนกับเด็กผู้ชายที่จะสำเร็จการศึกษาและได้รับประโยชน์จากการศึกษาที่ตนเลือกเสมอไป  เด็กผู้หญิงและผู้หญิงจำนวนมากถูกยับยั้งโดยอคติ บรรทัดฐานทางสังคม และความคาดหวังที่ส่งผลต่อคุณภาพการศึกษาที่พวกเขาได้รับและวิชาที่พวกเขาศึกษา พวกเขามีบทบาทน้อยมากในด้านการศึกษาวิทยาศาสตร์ เทคโนโลยี วิศวกรรมศาสตร์ และคณิตศาสตร์ (STEM) และเป็นผลให้ในสายอาชีพ STEM มีผู้ชายเป็นหลัก

จากรายงานของ UNESCO เรื่องการศึกษาของเด็กหญิงและสตรีใน STEM พบว่าเด็กผู้หญิงที่เรียน STEM ในการศึกษาระดับอุดมศึกษาทั่วโลก มีเพียง 35%  เท่านั้น และสังเกตเห็นความแตกต่างภายในสาขาวิชา STEM ตัวอย่างเช่น มีเพียง 3% ของนักเรียนหญิงในระดับอุดมศึกษาที่เลือกการศึกษาด้านเทคโนโลยีสารสนเทศและการสื่อสาร (ICT) จากรายงานของสภาเศรษฐกิจโลก (World Economic Forum) ระบุว่าจากจำนวนผู้ประกอบอาชีพด้าน AI ทั่วโลก มีเพียง 2% ที่เป็นผู้หญิง ความเหลื่อมล้ำทางเพศนี้เป็นสิ่งที่น่าตกใจ โดยเฉพาะอย่างยิ่งเมื่ออาชีพ STEM มักถูกเรียกว่าเป็นงานแห่งอนาคต ขับเคลื่อนนวัตกรรม ความเป็นอยู่ที่ดีของสังคม การเติบโตอย่างครอบคลุม และการพัฒนาที่ยั่งยืน

เกิดการตั้งคำถามว่า หรือแท้จริงแล้วผู้หญิงไม่มีศักยภาพในด้านวิทยาศาสตร์หรือไม่? ทำให้ผู้หญิงไม่มีบทบาทในวงการวิทยาศาสตร์เท่าที่ควรจนมองว่าเป็นความเหลื่อมล้ำทางเพศ 

 

ในการเก็บข้อมูลเรื่องเพศสภาพประจำปีของ UNESCO ได้วิเคราะห์ข้อมูลจาก 120 ประเทศในการศึกษาระดับประถมศึกษาและมัธยมศึกษาเพื่อนำเสนอภาพรวมทั่วโลก ผลการวิจัยพบว่าในช่วงปีแรก ๆ เด็กผู้ชายทำได้ดีกว่าเด็กผู้หญิงในวิชาคณิตศาสตร์ แต่ช่องว่างทางเพศนี้ก็จะหายไปในภายหลังและมีศักยภาพที่ดีเทียบเท่าผู้ชายเมื่ออายุ 14 ปีขึ้นไป ยกตัวอย่างเช่นมาเลเซียในระดับชั้นมัธยมศึกษาปีที่ 2 (เกรด 8) พบว่าช่องว่างด้านการเรียนรู้วิชาคณิตศาสตร์ของเด็กผู้หญิงลดลง 7 % จากเดิมและเด็กผู้หญิงชอบและทำได้ดีในวิชาคณิตศาสตร์มากขึ้น และสิ่งที่เด็กผู้หญิงถูกประเมินว่าทำได้ดีกว่าคือทางด้านการอ่าน ช่องว่างที่ใหญ่ที่สุดในการศึกษาระดับประถมศึกษาอยู่ในซาอุดีอาระเบีย โดยที่เด็กผู้หญิงมีทักษะการอ่านขั้นต่ำอยู่ที่ 77% หรือในประเทศที่มีที่เด็กหญิงและเด็กชายมีระดับการอ่านในระดับเดียวกันในชั้นประถมศึกษาตอนต้นเช่นลิทัวเนียและนอร์เวย์ แต่ทักษะการอ่านของเด็กผู้หญิงก็เพิ่มขึ้นมากกว่าเด็กผู้ชายถึง 15 % เมื่ออายุ 15 ปี

และฐานะทางเศรษฐกิจของแต่ละประเทศมีผลต่อการเรียนรู้ของเด็กผู้หญิงอีกด้วย ในประเทศที่มีรายได้ปานกลางและสูง เด็กผู้หญิงในโรงเรียนมัธยมศึกษาได้คะแนนด้านวิทยาศาสตร์สูงขึ้นอย่างมาก แม้จะมีข้อได้เปรียบนี้ เด็กผู้หญิงก็ยังมีโอกาสน้อยที่จะเลือกประกอบอาชีพด้านวิทยาศาสตร์ 

แม้ว่าจริง ๆ แล้วผู้หญิงก็มีความสามารถทางวิทยาศาสตร์ และในโลกเราก็มีนักวิทยาศาสตร์หญิงที่มีความสามารถและมีชื่อเสียงในวงการวิทยาศาสตร์เช่นกัน  

ยกตัวอย่าง เอดา ไบรอน เลิฟเลซ ชาวอังกฤษ เธอคือโปรแกรมเมอร์หญิงคนแรกของโลก เธอถูกเลี้ยงให้เป็นผู้หญิงสมัยใหม่และให้ศึกษาด้านคณิตศาสตร์และวิทยาศาสตร์ ต่างจากกุลสตรีในตระกูลใหญ่ ๆ ของอังกฤษทั่วไป เธอสนใจแนวคิดของ ชาร์ลส แบบเบจ ที่ว่า “what if a calculating engine could not only foresee but could act on that foresight” จะเป็นอย่างไรหากเครื่องคำนวณไม่เพียงสามารถหยั่งรู้ได้ แต่สามารถตอบสนองต่อการหยั่งรู้นั้นได้ด้วย จนอาสาที่จะช่วยพัฒนาร่วมกับแบบเบจ เธอได้สร้างภาษาสำหรับเครื่องวิเคราะห์ (analytical engine) และเขียนแนะนำแบบเบจผ่านทางจดหมายเรื่องของการคำนวณ  Bernoulli number ต่อมาแผนการทำงานที่แบบเบจเขียนขึ้นมาชิ้นนั้น ก็ถูกยกย่องว่าเป็นโปรแกรมคอมพิวเตอร์ตัวแรกของโลก  และในปี พ.ศ. 2522 (ค.ศ. 1979) กระทรวงกลาโหมสหรัฐฯ สร้างภาษาคอมพิวเตอร์มาตรฐาน ISO ขึ้นมาตัวแรก พร้อมตั้งชื่อเพื่อเป็นเกียรติแก่ เลดี้ เอดา ว่า ภาษา “ADA” 

เอดา ไบรอน เลิฟเลซ ที่มา :  https://www.baanmaha.com/community/showthread.php

 

มาเรีย สคลอดอฟสกา ( Marja Sklodowska) หรือมารี กูรี (Marie Curie) เป็นชาวโปแลนด์ มารีมีความสนใจด้านวิทยาศาสตร์ตั้งแต่ยังเด็กแตกต่างจากจากค่านิยมของสังคมส่วนใหญ่ของผู้หญิงในสมัยนั้น ที่จะเน้นการเรียนและการเตรียมตัวเป็นแม่บ้าน แต่มารีก็สู้และประหยัดเนื่องจากมีปัญหาทางด้านคุณทรัพย์จนสามารถเป็นผู้หญิงคนแรกของฝรั่งเศสที่จบการศึกษาปริญญาเอก และได้รับรางวัลโนเบลถึง 2 ครั้ง คือสาขาฟิสิกส์ เรื่องการค้นพบปรากฏการณ์กัมมันตภาพรังสี และสาขาเคมีจากการค้นพบธาตุพอโลเนียมและเรเดียม การได้รับรางวัลโนเบลถึง 2 ครั้งของมารีทำให้มารีกลายเป็นบุคคลแรกที่ได้รับรางวัลโนเบล 2 สาขาเพียงคนเดียวในโลก และด้วยการศึกษารังสีต่าง ๆ ในปี ค.ศ. 1933 มารีได้ทำการจัดตั้งมูลนิธิ  Curie Foundation เพื่อให้ทำหน้าที่ในการสนับสนุนการวิจัยด้านงานวิทยาศาสตร์บริสุทธิ์และสนับสนุนทางการแพทย์ และในปี ค.ศ. 1953 สถาบันแห่งนี้ได้กลายเป็นต้นแบบของสถาบันวิจัยมะเร็งในหลายประเทศ และเริ่มใช้งานด้านวิทยาศาสตร์เข้ามามีส่วนร่วมส่งเสริมคุณภาพชีวิตของสังคมมากขึ้น แม้ในตอนสุดท้ายมารีจะสัมผัสรังสีมากเกินไปจนเสียชีวิตไปด้วยโรคมะเร็งเม็ดเลือดขาวในวัย 67 ปี 

และยังมีผู้หญิงอีกมากมายที่เป็นผู้ค้นพบ ผู้นำ ด้านวิทยาศาสตร์ต่าง ๆ ตั้งแต่อดีตถึงปัจจุบัน แต่กระนั้นอคติทางเพศและการกีดกันทางการศึกษาของผู้หญิงในหลาย ๆ ประเทศยังทำให้ความมั่นใจของผู้หญิงในวงการวิทยาศาสตร์ลดลง

 

มารี กูรี : https://www.scimath.org/article-science/

 

 

ในรายงานของ  IEA’s Trends in International Mathematics and Science Study (TIMSS) ปี 2019 พบว่าเด็กผู้หญิงจำนวนมากที่ประสบความสำเร็จระดับสูงในด้านคณิตศาสตร์และวิทยาศาสตร์ เส้นทางการศึกษาที่ตามมา ได้แก่ ชีววิทยา การแพทย์หรือจิตวิทยามากกว่าฟิสิกส์  คณิตศาสตร์ และ วิศวกรรมศาสตร์ ความมั่นใจในตนเองของเด็กผู้หญิงจึงเป็นกุญแจสำคัญในการแสวงหาการศึกษาทาง STEM ยิ่งในปัจจุบันมีการรณรงค์ และแก้ปัญหาความเท่าเทียม ช่องว่างและความเหลื่อมล้ำในสังคมมากขึ้น ทั้งทางเพศ ชาติ ศาสนา สีผิว หรือรสนิยมต่าง ๆ ทำให้ความเท่าเทียมทางการศึกษาเปิดกว้าง และหลายประเทศสนับสนุนการเรียน STEM และให้เด็กผู้หญิงเข้ามามีบทบาทในวงการวิทยาศาสตร์มากขึ้น อย่าง UNESCO ที่ให้ความสนใจเป็นพิเศษกับประเด็นนี้มีการกำหนดวัตถุประสงค์ในการส่งเสริมให้เด็กหญิงและสตรีเข้าสู่สาขาการศึกษาและการประกอบอาชีพ STEM กับประเทศสมาชิกดังนี้

    • ปรับปรุงการมีส่วนร่วม ความสำเร็จ และความต่อเนื่องของเด็กหญิงและสตรีในการศึกษา STEM เพื่อลดช่องว่างทางเพศในวิชาชีพ STEM
    • เสริมสร้างขีดความสามารถของประเทศต่าง ๆ ในการจัดการศึกษา STEM ที่ตอบสนองต่อเพศสภาพ ซึ่งรวมถึงการฝึกอบรมครู เนื้อหาด้านการศึกษา และการสอน
    • เสริมสร้างความตระหนักรู้ถึงความสำคัญของการศึกษา STEM สำหรับเด็กหญิงและสตรี และในหลายประเทศใช้กฎหมาย สิ่งจูงใจทางการเงิน และนโยบายอื่นๆ เข้ามาเพิ่มการมีส่วนร่วมของเด็กผู้หญิงและสตรีในการศึกษาและประกอบอาชีพ STEM

 

UNESCO ที่มา : https://delphipages.live/

 

 

ตัวอย่างเช่นใน ฝรั่งเศส กระทรวงศึกษาธิการของฝรั่งเศส  กระทรวงการอุดมศึกษาและการวิจัยได้ออกกฎหมายเพื่อส่งเสริมความหลากหลายในทางเลือกทางวิชาชีพของเด็กผู้หญิง โดยการร่วมมือกับมูลนิธิลอรีอัลเป็นมูลนิธิที่สนับสนุนการมีส่วนร่วมของเด็กหญิงและสตรี แบ่งเป็น 2 โครงการ คือ For Women in Science เป็นความร่วมมือกับ UNESCO ซึ่งให้เกียรติและให้รางวัลแก่นักวิทยาศาสตร์สตรีและนำเสนอผลงานของพวกเขา 

และอีกโครงการ คือ For Girls in Science มีเป้าหมายเพื่อส่งเสริมแนะนำให้เด็กผู้หญิงเข้าร่วมในการศึกษาและประกอบอาชีพด้านวิทยาศาสตร์ในอนาคต และยังสนันสนุน  “ทูตวิทยาศาสตร์” 100 คน ซึ่ง 40 คนเป็นผู้ชนะรางวัลลอรีอัล-ยูเนสโก เข้ามามีบทบาทในชั้นเรียนของเด็ก ๆ เพื่อทำหน้าที่เป็นแบบอย่างในการขจัดอคติเกี่ยวกับผู้หญิงในด้านวิทยาศาสตร์ และแบ่งปันความหลงใหลในการทำงาน

 ปัจจุบันมีนักเรียนถึง 30,000 คนในปี 2015 กว่า 75% ของนักศึกษาที่เข้าร่วม 2,000 คนรายงานว่า “สนใจงานด้านวิทยาศาสตร์มากขึ้น” เทียบกับก่อนหน้าที่มีนักเรียนหญิงสนใจเพียง 46 % ความร่วมมือระหว่างภาคเอกชนกับรัฐบาลกำลังสร้างความเชื่อมโยงระหว่างรุ่นและสร้างกลุ่มนักวิทยาศาสตร์สตรีของฝรั่งเศส

 

 

สิงคโปร์ ในปัจจุบันให้ความสำคัญกับผู้หญิงในวงการวิทยาศาสตร์มากขึ้น ในอุตสาหกรรมเทคโนโลยีนวัตกรรมของประเทศ โอกาสในการเข้าถึงการศึกษาในระดับวิทยาลัยเทคนิคอาชีวะในสายงานด้านเทคโนโลยีของนักเรียนหญิง และ เปิดโอกาสให้ผู้หญิงเข้ามาเป็นคณะกรรมการหญิงล้วนด้านเทคโนโลยีโดยการคัดเลือกนักเรียนตัวแทนจากวิทยาลัยโพลีเทคนิค 5 แห่งทั่วสิงคโปร์เมื่อเดือนพฤษภาคม ปี 2022 ที่ผ่านมา โดยมีเป้าหมายหลักเพื่อเป็นแบบอย่างและขับเคลื่อนสนับสนุนให้เด็กนักเรียนหญิงได้มีโอกาสและบทบาทในแวดวงเทคโนโลยีนวัตกรรมมากขึ้น  และโครงการ Singapore Women In Tech ที่เพิ่มความสนใจในอาชีพภาคส่วนเทคโนโลยีของเด็กผู้หญิง มีการพูดคุย เวิร์กช็อป การแข่งขัน และโอกาสในการฝึกงานหรือได้รับคำปรึกษาจากบริษัทชั้นนำที่เข้าร่วม เช่น Accenture, Cisco และ PayPal ฯลฯ 

นอกจากนี้ ยังจัดกิจกรรมประจำปี คือสัปดาห์แห่งเทคโนโลยีเพื่อเด็กหญิง หรือ Girls in Tech Week ที่ให้เด็กผู้หญิงที่เข้าร่วมได้มีโอกาสเยี่ยมชมบริษัทและเข้าร่วมการประชุมเชิงปฏิบัติการกับผู้นำหญิงด้านเทคโนโลยีบอกเล่าเกี่ยวกับประสบการณ์ในอาชีพของตน

ปัจจุบันนักเรียนหญิงคิดเป็นสัดส่วน ประมาณ 4 ใน 10 คน ของนักเรียนทั้งหมดที่ศึกษาเล่าเรียนในสาขาวิทยาศาสตร์ เทคโนโลยี วิศวกรรมศาสตร์ และคณิตศาสตร์ หรือ Stem ในสถาบันอุดมศึกษาในประเทศสิงคโปร์ และ 41% ของผู้เชี่ยวชาญด้านเทคโนโลยีของสิงคโปร์เป็นผู้หญิง ทำให้สิงคโปร์ขึ้นแท่นเป็นหนึ่งในประเทศที่มีผู้หญิงทำงานในแวดวงเทคโนโลยีที่สูงที่สุดในโลกและสูงกว่าค่าเฉลี่ยทั่วโลกประมาณ 28 %

ที่มา : https://www.sgwomenintech.sg

 

 

และประเทศไทย  กำหนดยุทธศาสตร์ที่ 5 ของกระทรวงศึกษาธิการ ให้ความสำคัญกับด้านการพัฒนากำลังคนให้พร้อมเข้าสู่ยุคเศรษฐกิจและสังคมดิจิทัล จะมุ่ง 4 ด้าน ได้แก่ 

1.การศึกษาในระบบ โดยร่วมมือกับกระทรวงศึกษาธิการ และกระทรวงวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยี 

2.การพัฒนาหลักสูตรในมหาวิทยาลัย เช่น การจัดตั้ง Digital Academy Thailand (DAT) เป็นสถาบันที่ให้การพัฒนาแรงงานด้านดิจิทัลเพื่อปรับทักษะ นำไปสู่การยกระดับแรงงานขั้นสูงด้านดิจิทัล เป็นศูนย์กลางสร้างบุคคลที่มีความรู้ความสามารถ เชี่ยวชาญในด้าน Al และ Data Science

3.สร้างความท้าทาย พัฒนาแนวคิดสร้างสรรค์ในการพัฒนานวัตกรรมใหม่ๆ

4.สร้างคนดิจิทัลที่สามารถใช้เทคโนโลยีให้เกิดมูลค่าเพิ่ม ในการทำธุรกิจ พัฒนาอาชีพ หรือในชีวิตประจำวันได้ โดยหัวข้อ ที่ 4 นี้มีการพัฒนาศักยภาพของผู้หญิงให้ก้าวเข้าสู่สายอาชีพด้านเทคโนโลยีและดิจิทัลเป็นหนึ่งในข้อที่ต้องการพัฒนาด้วย และได้มีการให้ความร่วมมือกับโครงการต่าง ๆ ที่สนับสนุนและพัฒนา STEM ในเด็กผู้หญิง เช่นให้ความร่วมมือในโครงการ #MakeWhatsNext-DigiGirlz 2019 Thailand หนึ่งในแคมเปญโครงการระดับโลกของไมโครซอฟท์ มุ่งปั้นเด็กผู้หญิงสู่สายงานด้านเทคโนโลยีและดิจิทัล  ส่งเสริมเด็กผู้หญิงที่สนใจประกอบอาชีพในสาขาวิทยาศาสตร์ เทคโนโลยี วิศวกรรม และคณิตศาสตร์ (STEM) ให้เข้าร่วมกิจกรรมเรียนรู้ทักษะด้านการเขียนโค้ด และนำเสนอโครงงาน และใช้ทักษะที่ได้เรียนรู้ไปประดิษฐ์ผลงานร่วมแข่งขัน เพื่อสร้างแรงบันดาลใจ และแนะนำแบบอย่าง บุคคลต้นแบบในแวดวงนักวิทยาศาสตร์หญิงเสริมสร้างความมั่นใจที่ อาจจะขาดไปมาเติมเต็มให้เด็กผู้หญิงมากขึ้น

 

 

ในการพัฒนานวัตกรรมใหม่ ๆ หากปราศจากมุมมองของผู้หญิงที่มีความรู้ความสามารถในสาขา STEM อาจทำให้ขาดปัจจัยที่ก่อให้เกิดโซลูชันเชิงสร้างสรรค์ หากจำนวนผู้หญิงที่ประกอบอาชีพในสาขา STEM มีไม่เพียงพอ จะทำให้เกิดตำแหน่งว่างงานหลายหมื่นตำแหน่งในอนาคต รวมทั้งพลาดโอกาสในการพัฒนานวัตกรรมอีกหลากหลายรูปแบบ  และการพัฒนาเทคโนโลยี AI ที่ขาดความสามารถที่หลากหลาย ทำให้ถูกจำกัดความสามารถในการบุกเบิกนวัตกรรมที่ครอบคลุม และมีโอกาสในการนำเสนอชุดข้อมูลที่มีการละเลยเรื่องทางเพศอีกด้วย

ไม่ใช่แค่วงการวิทยาศาสตร์เท่านั้นที่เด็กผู้หญิงมีความสามารถพอที่จะเข้ามามีบทบาทหรือเป็นผู้นำ ในด้านของสังคม การเมือง ผู้บริหาร หรือผู้นำด้านการศึกษา ก็มีบุคคลเพศหญิงที่มีชื่อเสียงและทำประโยชน์ให้สังคมมากมาย และไม่ได้หมายความว่าวิชางานฝีมือ ศิลปะ ตัดเย็บ งานบ้าน การทำอาหารหรืออะไรที่ละเอียดอ่อนที่มองว่าเป็นงานของเพศหญิงเพศชายจะไม่มีความสามารถในสิ่งที่สังคมกำจัดกรอบว่าไม่ใช่ของเพศตนเองเช่นกัน เพราะมนุษย์มีความสามารถที่ต่างจากสัตว์อื่นบนโลกคือ สติปัญญา และความสามารถในการเรียนรู้ เพศจึงไม่สามารถกำจัดกรอบความคิด ความเป็นผู้นำ หรือชี้นำอาชีพและชีวิตของเราได้อย่างแท้จริง 

คุณลองคิดเล่น ๆ ว่าหากกำจัดเรื่องความเหมาะสมทางเพศที่ถูกปลูกฝังด้วยค่านิยมและความคิดออกไป ตัวคุณนั้นมีความฝันหรืออาชีพที่เคยอยากลองทำไหม ? 

 

อ้างอิง
https://unesdoc.unesco.org/ark:/48223/pf0000253479
https://en.unesco.org/stemed
https://www.unesco.org/en/articles/new-unesco-and-iea-brief-missing-out-half-worlds-potential-mathematics-and-science
https://www.unesco.org/en/articles/girls-performance-mathematics-now-equal-boys-unesco-report
https://women.kapook.com/view100426.html
https://www.scimath.org/article-science/item/11461-19-marie-curie
https://www.komchadluek.net/kom-lifestyle/368127
https://www.eef.or.th/news-new-push-to-develop-and-retain-more-women-in-tech-sector/

 

Share

Authors

Authors

RELATED POSTS