ครูไทยในแดนมะกัน ตามติดประสบการณ์ ครูก้อย-ดร.สุภาภรณ์ ครูไทยใน J1 Teacher Exchange Program

A A
Jun 8, 2022
Jun 8, 2022
A A

เมื่อฉันมาเป็นครูแดนมะกัน ตามติดประสบการณ์ ครูก้อย-ดร.สุภาภรณ์
ครูไทยใน J1 Teacher Exchange Program

 

ครูก้อย-ดร.สุภาภรณ์ เสาร์สิงห์ เป็นครูไทยอีกคนหนึ่งที่หาโอกาสให้ตัวเองด้วยการลาออกจากราชการ แล้วไปเริ่มอาชีพครูสอนคณิตศาสตร์ในโรงเรียนมัธยมแห่งหนึ่งที่อเมริกา

 

 

     ย้อนกลับไปไม่กี่ปีก่อนเมื่อกระแสโยกย้ายไปทำงานต่างประเทศกำลังบูมในบ้านเรา หลายคนมีฝันอยากย้ายไปทำงาน เริ่มชีวิตใหม่ที่เมืองนอก ในประเทศที่คนมีคุณภาพชีวิตและมีสวัสดิการที่ดีกว่า ครูก้อย-ดร.สุภาภรณ์ เสาร์สิงห์ เป็นครูไทยอีกคนหนึ่งที่หาโอกาสให้ตัวเองด้วยการลาออกจากราชการ แล้วไปเริ่มอาชีพครูสอนคณิตศาสตร์ในโรงเรียนมัธยมแห่งหนึ่งที่อเมริกา แม้จะเป็นเด็กทุนมาตลอดตั้งแต่ปริญญาตรีจนถึงปริญญาเอก และยังได้บรรจุเป็นข้าราชการทันทีที่เรียนจบ แต่เธอก็ยังตัดสินใจทิ้งทุกอย่างที่เมืองไทยมาเป็นครูในอีกประเทศ ลงมือหาข้อมูลและติดต่อกับหน่วยงานในอเมริกาเองทุกขั้นตอน ทันทีที่เรื่องราวของเธอปรากฏขึ้นในกลุ่มโยกย้ายก็ได้รับกระแสตอบรับที่ดีจากคนที่มีฝันอยากย้ายไปทำงานต่างประเทศในฐานะครู หรือเริ่มต้นชีวิตใหม่ด้วยอาชีพอะไรสักอย่าง ทำไมครูก้อยถึงตัดสินใจทิ้งทุกอย่างไปเริ่มต้นชีวิตใหม่ในวัย 35 เมื่อ 4 ปีก่อนหน้านี้ ทั้ง ๆ ที่ชีวิตการเป็นครูที่เมืองไทยก็ดูจะราบรื่นและมีอนาคตที่ดี การเป็นครูที่โน่นจะโหด มัน ฮา ต้องสู้ชีวิตขนาดไหน

 

เล่าชีวิตช่วงก่อนที่จะมาเป็นครูให้ฟังหน่อย ทำไมถึงอยากเป็นครู

      ที่จริงอยากเป็นหมอ แต่ที่บ้านก็ไม่ได้มีเงินอะไรขนาดนั้น บังเอิญเราสอบติดทุนตั้งแต่ ม.5 ก่อนขึ้น ม.6 แต่เป็นทุนครูที่เรียกว่า สควค. เขาจะให้เงินทุกอย่างทั้งค่าเทอม ค่าหอ ค่ากิน ไม่ต้องจ่ายอะไรเลย เลยไม่ยากที่ต้องตัดสินใจ แล้วก็ไม่อยากให้ครอบครัวต้องจ่ายสองทาง (ครูก้อยมีพี่สาวฝาแฝดที่หน้าไม่เหมือนกันด้วย) แต่ใจหนึ่งก็อยากเป็นครูนะ สอนพิเศษเด็กแบบได้เงินตั้งแต่อยู่ ม.3 แล้ว รู้สึกว่าเราชอบถ่ายทอดความรู้ ชอบแปลอะไรที่มันยากๆ ให้มันง่าย เพื่อนจะชอบให้เราอธิบาย เพราะเห็นภาพชัดเจน เลยจะมีเพื่อนมาให้สอนเยอะ อาจจะไม่ได้อยากเป็นครูขนาดนั้น แต่ก็คิดว่าเป็นครูก็น่าสนใจ

 

ทุนนี้ต้องเรียนคณะวิทยาศาสตร์ 4 ปี และเรียนครู 1 ปี ที่คณะศึกษาศาสตร์ พอเรียนจบปริญญาตรี 4 ปี ก็รับปริญญาไปก่อน เสร็จแล้วถึงค่อยเรียนต่อใบประกอบวิชาชีพครู ต้องมีการฝึกสอนด้วย ซึ่งการเรียนครูทั่วไปจะเรียนที่คณะศึกษาศาสตร์ 5 ปี แต่ทุนนี้จะเรียนที่คณะวิทยาศาสตร์ 4 ปี เพราะสสวท.เน้นว่าเนื้อหาต้องแน่น แต่พอเรียนคณะวิทยาศาสตร์ เราจะไม่ได้ศาสตร์การสอน เลยต้องเรียนคณะศึกษาศาสตร์ด้วย พอฝึกสอนจบทุกคนที่ได้ทุนนี้จะได้รับการบรรจุเป็นครู เขาจะมีรายชื่อโรงเรียนมาให้เลือก เป็นโรงเรียนที่บ้านเกิดตัวเอง เราไม่ต้องสอบบรรจุเลยนะ เราสบายแล้ว พ่อแม่สบาย เรามองว่ามันเป็นทางเลือกที่ดีอีกทางเลือกหนึ่ง ก็เลยสมัครทุนนี้ 

เราเป็นคนลำพูนก็ต้องได้บรรจุที่ลำพูน แต่โรงเรียนที่มีให้เลือกมันไม่มีตำแหน่ง ไม่มีระดับชั้นที่เราสอน เพราะสอนมัธยม แต่โรงเรียนที่ให้มาเป็นประถม เราชอบสอนเด็กโตก็เลยขอปฏิเสธเขา ขอไม่รับทุน ขอไปเรียนต่อปริญญาโทด้วยทุนตัวเองโดยไม่บรรจุ ถ้าเราจะเรียนต่อเราต้องจ่ายเงินเอง ตอนนั้นยังทำได้ แต่ตอนนี้ทำไม่ได้แล้ว พอเรียนต่อปริญญาโทใกล้จะจบก็มีโรงเรียนมัธยมประจำอำเภอมาให้เลือก ก็เลยเลือกลงโรงเรียนนั้น บรรจุเป็นครูที่นั่นสักพัก 3-4 ปี เป็นโรงเรียนเดียวที่สอน พอดีช่วงนั้นมีทุน สควค.ระดับปริญญาเอกมา เราจึงสมัครเป็นรุ่นที่ 2 เรียนที่ม.เชียงใหม่ ต่ออีก 3 ปี ซึ่งโรงเรียนก็ดีมาก ให้เราไปเรียนต่อเต็มเวลา ก็ไปเรียน 3 ปี แล้วก็กลับมา เลยรักโรงเรียนนี้มาก ทุ่มเทเต็มร้อยให้ล้าน เพราะเขาช่วยเราหลายเรื่อง ระหว่างที่ไปเรียนก็ยังได้เงินเดือนครูจากโรงเรียนด้วย แต่พอเราลาไป เรากลับมาก็ต้องชดใช้ทุนเป็นเวลาทำงาน ไม่งั้นก็ต้องจ่ายเงินให้โรงเรียน 

 

ฟังดูชีวิตราบรื่นดี มาเจอปัญหาเข้าตอนไหน

เมื่อเข้าสู่ปี 8-10 ของการทำงาน เริ่มมีการแข่งขันเยอะเกิน รู้สึกว่าทำไมต้องมาแก่งแย่งชิงดี แข่งขันอะไรกัน แข่งขันนักเรียนยังไม่เท่าไร แต่แข่งขันครูเนี่ย เมื่อก่อนมีอะไรเราก็ส่งหมด ประกวดโน่นนี่ หลังๆ เริ่มรู้สึกว่าส่งไปเพื่ออะไร งานเอกสารก็เริ่มเยอะขึ้น คนที่มีผลงานเยอะ โรงเรียนก็จะยิ่งโยนงานให้ โรงเรียนไม่ควรเอาชื่อเราไปใส่ทุกงาน เพราะคิดว่าเราทำได้ ก็เลยเริ่มหมดไฟ เพราะหนึ่งเอกสาร สองการแข่งขัน สามการเลื่อนขั้นเงินเดือน รู้สึกว่ามีหลายอย่างไม่แฟร์ อย่างเราไม่มีสิทธิ์ได้ขั้นเลยถึงจะมีผลงานระดับประเทศ เพราะอายุน้อย หรือเพราะเราคิดมากไปก็ไม่รู้ ความไม่ยุติธรรมหลายอย่างเริ่มมีคำถาม ทำให้เราไม่มีความสุขเหมือนเมื่อก่อน

 

จุดเริ่มต้นของการเป็นครูที่อเมริกาเกิดขึ้นได้ยังไง

เราลาออกตั้งแต่ปีที่ 10 แต่คิดว่าจะลาออกตั้งแต่ปีที่ 7 คิดอยู่ 3 ปี ตอนที่ยังเรียนปริญญาเอกอยู่ เพราะมาดูงานที่อเมริกา มีเพื่อนที่เรียนด้วยกัน คุณลุงของเขาอยู่ที่นี่ ถามว่าสนใจมาเป็นครูที่นี่ไหม เราประทับใจที่มีคนไทยมาบุกเบิกด้านการศึกษาที่นี่ นอกเหนือจากการทำธุรกิจ และท่านประสบความสำเร็จเป็นผู้บริหารคือ ดร.สุจินต์ และ ดร.อิสรา สาระงาม อยู่อเมริกามา 40 กว่าปีแล้ว เมื่อก่อนเป็นอาจารย์ม.เชียงใหม่ แต่ลาออกมานานแล้ว ดร.สุจินต์ เป็นรองผู้อำนวยการเขตพื้นที่การศึกษา ส่วน ดร.อิสรา เป็นหัวหน้าการสอนสองภาษาของเขตพื้นที่ เรารู้สึกประทับใจ มีโอกาสได้ไปดูงานที่นั่น ถือเป็นจุดเริ่มต้นที่มีคนมาเปิดประเด็นให้ แต่ขั้นตอนก่อนมาที่นี่ยังมีอีกเยอะ 

ช่วงที่เรียนปริญญาเอกก็เก็บมาคิด และใช้เวลาในการตัดสินใจเกือบ 3 ปี เพราะ Passion เริ่มหมดลง และด้วยอายุอีก เราจะรออะไร พอช่วงปิดเทอมปริญญาเอก เรามาอเมริกา 1 เดือน ได้ไปดูงานหลายโรงเรียนเลย ไปอยู่โรงเรียนกับเขาเลย และมีอีกงาน 1 งาน คนละปีกัน เป็นโครงการของสพฐ.จัดขึ้นทุกปี ทั่วจะประเทศจะมีการสอบเอาครู 5 คน พานักเรียน 30 คน ไปโรงเรียนต่าง ๆ ในรัฐวิสคอนซิน ไปอยู่กับโรงเรียน 3 อาทิตย์ อยู่กับโฮสแฟมิลี่ ครูก็อยู่กับโฮสแฟมิลี่ของครู นักเรียนก็จะอยู่กับโฮสแฟมิลี่ของเขา เราก็จะดูแลนักเรียนเฉพาะตอนที่เราอยู่ที่โรงเรียน 

 

พอตัดสินใจว่าจะมาแล้ว เตรียมตัวยังไงบ้าง

วีซ่าของเราเป็น J-1 Teacher Exchange ซึ่งวีซ่าของ J-1 จะมี 14 แบบ เช่น นักวิจัย ไปดูงาน เป็นอินเทิร์น มาทำ Work and Travel หนึ่งในนั้นก็คือ Teacher Exchange วีซ่าของ J-1 ทุกประเภทจะไม่สามารถสมัครงานโดยตรงเองได้ แต่ต้องสมัครผ่าน Sponsor Organization ที่จะขึ้นตรงกับรัฐบาลอเมริกา อย่างของอาชีพครูจะมีประมาณ 40 หน่วยงาน เราก็สมัครหน่วยงานใดหน่วยงานหนึ่ง แล้วเขาจะบอกเองว่าเราต้องเตรียมเอกสารอะไรบ้าง 

เราเตรียมเอกสารประมาณ 1 ปี เริ่มเดือนตุลาคม โครงการนี้ไม่มีในเมืองไทย ต้องติดต่อกับอเมริกาเองหมดเลย เราน่าจะเป็นคนแรกของคนไทยที่มาเริ่มโครงการนี้ สมัยนั้นพอหาข้อมูลเรื่องนี้จะไม่มีข้อมูลภาษาไทยเลย ต้องศึกษาหาข้อมูลเองหมด ไม่มีคนที่เราสามารถถามได้เลย ปีที่มาอเมริกาคือปี 2018 ต่างกับเพื่อนฟิลิปปินส์เลยเพราะนี่เป็นโครงการหลักที่เขาจะมาอเมริกา แต่บ้านเราไม่มีใครพูดถึงเรื่องนี้เลย ถ้าเราไม่ใช่คนแรกก็น่าจะเป็นคนแรก ๆ แหละ ทุกวันนี้ยังหาไม่เจอเลยนะว่าใครคือคนแรก เลยตั้งกลุ่มในเฟซบุ๊กขึ้นมาชื่อ Thai Teachers in America เพราะอยากช่วยคนที่อยากมาอเมริกาเหมือนเรา

พอเอกสารเรียบร้อยก็ต้องสัมภาษณ์กับโรงเรียน เอกสารยังไม่สำคัญเท่าสัมภาษณ์กับโรงเรียนนะ เราจะได้หรือไม่ได้ขึ้นอยู่กับว่ามีโรงเรียนรับเราไหม ถ้าได้เขาจะส่งเอกสารมาจากอเมริกาเลยให้เราไปสัมภาษณ์วีซ่า ซึ่งวีซ่าก็คิวยาวมาก เราก็สัมภาษณ์ไปหลายโรงเรียน แล้วก็มีโรงเรียนที่รับเรา และเราก็โอเคกับเขา โรงเรียนบอกว่าต้องมากรกฎาคม เพราะเปิดสิงหาคม แต่โรงเรียนที่ไทยตามกฎถ้าจะมาก็ต้องทำเรื่องลาออกก่อน 1 เดือนล่วงหน้า ก็เท่ากับตอนที่ไปสัมภาษณ์วีซ่าก็ลาออกจากราชการแล้ว โดยที่ไม่รู้ว่าจะสัมภาษณ์ผ่านไหม มันเป็นช่วงที่นอนไม่หลับ เหมือนทุบหม้อข้าวทิ้งแล้ว อะไรจะเกิดก็ต้องเกิด

เราไม่รู้ว่า J-1 ครูเนี่ยเวลาสัมภาษณ์จะมีโอกาสได้มากไหม ถ้าเป็น Work and Travel ที่ไปทำงานต่างประเทศ 3-4 เดือน เด็กตกกันระนาวเลยนะ เพราะเด็กหลายคนโดด ไม่กลับประเทศ ถ้าเด็กไปตอนใกล้จะเรียนจบแล้ว แบบปีสุดท้ายก็เสี่ยงที่จะไม่กลับ เราก็เคยมา Work and Travel ที่อเมริกา 4 เดือน นั่นก็เป็นการมาครั้งแรก เลยเป็นจุดเปลี่ยนหลาย ๆ อย่างเหมือนกัน ไปมาหลายประเทศ เริ่มเห็นอะไรมากขึ้น ตอนสัมภาษณ์กับโรงเรียนเครียดสุด ๆ ยิ่งกว่าสอบปริญญาเอก เตรียมคำถามภาษาอังกฤษเกือบ 10 หน้ามั้ง ก็อาศัยประสบการณ์ที่เราเคยมาดูงานที่วิสคอนซิน ก็จะมีภาพในหัวนิดหนึ่งว่าโรงเรียนในอเมริกาเป็นยังไง เวลาสัมภาษณ์เขาจะถามเรื่องการจัดการชั้นเรียน ถ้าเราไม่มีในหัว เราจะแบลงก์เลย เพราะบ้านเรากับบ้านเขามันต่างกันลิบลับ เช่น เขาถามว่ามีวิธีจัดการชั้นเรียนอย่างไรถ้านักเรียนไม่ฟัง แน่นอน ยังคิดไม่ออก เพราะบริบทต่างกัน เราก็ตอบไปว่าอยู่ที่ครูด้วย ต้องสร้างกิจกรรมให้นักเรียนรู้สึกว่าไม่น่าเบื่อ ให้เขาอยากมีส่วนร่วม ก็ตอบไปประมาณนี้ ซึ่งเป็นสิ่งที่ครูต้องทำอยู่แล้ว

 

พอโรงเรียนตกลงรับแล้ว ฝึกภาษาอังกฤษก่อนไปสอนยังไงทั้งๆ ที่ไม่ใช่ครูสอนภาษามาก่อน

เราน่าจะเป็นคนกล้ามาก ภาษาก็ไม่ได้เป๊ะขนาดนั้น 100% ในฟัง พูด อ่าน เขียน เขียนนี่ด้อยที่สุดแล้ว เพราะเราไม่ได้จบภาษาอังกฤษเนอะ เราเพิ่งมาฝึกตอนเรียนปริญญาโท ก็ไม่เป็นไร เอาพูดกับฟังให้รู้เรื่องก่อน ก่อนหน้าที่จะมา เราฝึกภาษาอยู่แล้ว เป็นหัวหน้า MEP (Mini English Program) ของโรงเรียน ก็จะอยู่กับครูต่างชาติตลอดเวลา มีไปสัมมนาต่างประเทศบ่อย ไปพรีเซนต์ที่อังกฤษ เป็นตัวแทนประเทศไทยคนเดียวไปอินโดนีเซีย เราเก็บประสบการณ์พวกนี้ ก็เลยมีความมั่นใจในระดับหนึ่ง ถ้าเทียบก็ประมาณ 80% สำหรับการฟังพูด ถ้าเทียบตอนนี้แล้วดีขึ้นกว่าก่อนมาเยอะมาก เพราะใช้ทุกวัน อ่านมันได้ทุกคนอยู่แล้ว แต่ฟังและพูดสำคัญมาก สิ่งสำคัญคือภาษาในห้องเรียนของเด็กที่นี่มันไม่เหมือนกัน เช่น ทำงานเสร็จส่งงานตรงนี้นะ จะพูดยังไงดี มันไม่ใช่ How are you? Where are you going? อย่างมาร์กเกอร์ที่นี่เขาเรียก Shappie มันเป็นชื่อยี่ห้อไง ได้ยินครั้งแรกก็งงว่ามันคืออะไร

ก่อนมาเราต้องฝึกด้วยตัวเอง หนึ่งสอนเป็นภาษาอังกฤษหมดเลย เปลี่ยนเอง ไม่มีใครมาบอกให้เปลี่ยนหรอก สองเราเป็นครูในโครงการที่ใช้ภาษาอังกฤษสอนในวิชาคณิตศาสตร์ สามไปสอนพิเศษเด็กนานาชาติที่เชียงใหม่ช่วงเสาร์อาทิตย์ ชีวิตเราจะไม่มีวันหยุด บ้านเราอยู่เชียงใหม่ แต่เราต้องมาสอนที่ลำพูน จันทร์ถึงศุกร์จะสอนเด็กในโรงเรียนเป็นภาษาอังกฤษ ไม่ได้สอนทุกห้องหรอก ห้องไหนที่เด็กรับก็สอน ห้องไหนไม่รับก็ไม่สอน ต้องมีการตกลงกับเขาก่อน เริ่มจากง่ายๆ ก่อน 5+3 = 8 พูดเป็นภาษาอังกฤษยังไง ต้องสอนให้เขาไม่รู้สึกว่าเรียน 2 วิชาในวิชาเดียว ไม่ได้เรียนภาษาอังกฤษในวิชาคณิตศาสตร์นะ แต่ใช้ภาษาอังกฤษในการเรียนคณิตศาสตร์ ต้องเปลี่ยน Mindset ให้เด็กก่อน  สอนพิเศษเด็กเราก็มีรายได้เนอะ แต่ใจจริงอยากฝึกภาษาอังกฤษ อันนี้จะฝึกได้เร็วเลย ภาษาคณิตศาสตร์ต้องสอนเด็กต่างชาติ เพราะเขาใช้หลักสูตรอเมริกัน แต่ที่ฝึกมาทั้งหมดนั้นเหมือนแค่ 10% มาพอมาเจอของจริงที่นี่มันคนละเรื่อง

 

จากครูไทยที่สอนอยู่ต่างจังหวัด พอย้ายมาที่อเมริกา มี Culture shock อะไรบ้าง

ช็อกแรก ครูหลายโรงเรียนในอเมริกามีเวลาพักกินข้าวแค่ 30 นาที เราสอน 7 คาบต่อวัน ตารางจะถูกกำหนดมาแล้ว ครูเริ่มสอน 7.45 น. เลิก 15.45 น. เลิกปุ๊บเราไปเลยไม่มีใครว่านะ ทำงานก็ทำจริง เวลากินข้าวก็มีแค่นั้นแหละ ช่วงแรกร่างกายปรับไม่ทัน เครียด น้ำหนักลงไปเยอะมาก กินข้าวไม่ทัน 30 นาทีนี้ต้องเข้าห้องน้ำด้วย ต้องอุ่นอาหารด้วย หลัง ๆ เลยต้องหาอะไรที่ไม่ต้องอุ่น นักเรียนก็มีเวลากินข้าว 30 นาทีเหมือนกัน

เรื่องที่สองคือนักเรียน เด็กมีความมั่นใจ มีความคิดของตัวเอง เราต้องทันเด็กและต้องเข้าใจเขา วันแรก ๆ ที่เจอ เด็กเขาจด ๆ อะไรอยู่ แล้วเขาก็ถามว่าอันนี้ให้คะแนนไหม (Grade) เราก็งง นึกว่าหมายถึงเกรดแบบเมืองไทย จริง ๆ พอเราตอบว่าไม่ เขาก็ขยำกระดาษแล้วขว้างทิ้ง ที่จริงเด็กไม่ได้โกรธเรานะ เราอาจจะคิดว่าเด็กไม่เคารพครู แต่เด็กคิดว่ามันไม่มีประโยชน์ ไม่ต้องใช้ เขาก็แสดงออกตรง ๆ มาแรก ๆ ก็งง ต้องปรับหลายอย่าง เราอย่าไปคาดหวังว่าเขาจะเหมือนบ้านเรา เพราะการเลี้ยงดูมันคนละอย่างกัน เด็กที่นี่เขาปลูกฝังให้มีความคิดเป็นของตัวเอง มีความเชื่อมั่นในตัวเอง ดังนั้น เวลาทำอะไรเขาจะพูดตรง ๆ จะถามตรง ๆ เราต้องเข้าใจและต้องทันเด็ก แรก ๆ ก็ช็อกเพราะเราไม่รู้ว่าเขาต้องการสื่ออะไร 

เรื่องที่สามคือตารางเวลาที่เป๊ะมาก ไม่ค่อยได้จับโทรศัพท์ เวลาสอนก็จะสอนแบบต่อเนื่อง แต่ก็จะมีคาบพักที่เรียกว่า คาบเตรียมการสอน ในตารางเรียนจะมี 7 คาบ แต่ครูทุกคนจะได้สอน 6 คาบ คาบละ 50 นาที อีกคาบหนึ่งเอาไว้เตรียมการเรียนการสอน ซึ่งครูหมวดเดียวกันจะมีคาบเตรียมการสอนตรงกัน เพื่อเอามาเป็นคาบประชุม ที่นี่ถ้าเราสอน 7 คาบ ครูจะต้องได้เงินเพิ่ม เพราะถือเป็นการใช้งานเกินเวลา 

ที่อเมริกาจะมีการกำหนดว่าวันสอนของครูทั้งปีการศึกษาต้องไม่เกิน 180 วัน แล้วแต่โรงเรียนว่าจะจัดการยังไง บางโรงเรียนสอนเฉพาะจันทร์ถึงพฤหัสบดี หยุดศุกร์ถึงอาทิตย์ บางโรงเรียนสอนจันทร์ถึงศุกร์ โรงเรียนนี้ก็สอนจันทร์ถึงศุกร์ แต่วันพุธเลิกเร็ว บ่าย 2.20 ก็เลิก บางครั้งโรงเรียนก็จะมีส่งข้อความในกรณีเร่งด่วนบ้าง แต่ถ้าเป็นเรื่องทั่วไปจะเป็นอีเมล สิ่งแรกที่ต้องทำเมื่อไปถึงโรงเรียนคือเช็กอีเมล บ้านเราก็เช็กไลน์ แต่ที่นี่ไม่มีแบบนั้น มันเป็นเรื่องส่วนตัว จะไม่มีโซเชียลของแต่ละคนขนาดนั้น เพราะส่วนตัวเกินไป ถ้าเป็นเรื่องงานต้องส่งผ่านระบบโรงเรียนเท่านั้น

เรื่องที่สี่ การประชุมสัมมนาหรืออบรมที่นี่เป็นคนละเรื่องกับเมืองไทยเลย เราอาจจะคิดว่าประชุมก็กินเบรกเนอะ ชิลล์ เล่นโทรศัพท์ ประชุมที่นี่ไม่ใช่แบบนั้น วิทยากรพูดได้ 15 นาที ก็เอาแล้ว ให้อภิปรายกับครูข้างๆ ทุกอย่างต้องมีการพูดกัน ตอนมาแรกๆ ก็เครียด แล้วเราจะพูดอะไรกับเขาล่ะ มันไม่มีในหัวเลย ทุกอย่างมันเป็นศัพท์วิชาการ ต้องมีการเตรียมตัว ถ้าเรารู้ว่าจะสัมมนาเรื่องนี้ เราต้องเตรียมตัว ไปหาอ่านในอินเทอร์เน็ตให้มีความรู้ในหัว ไม่งั้นเราก็จะเงียบ ไม่ได้เลยนะ ถือว่าไม่สุภาพ ไม่เคารพผู้พูด แต่แรก ๆ เราไม่รู้ไง เรามีแต่ภาษาไทยในหัว ไม่มีภาษาอังกฤษ เมื่อก่อนเราก็จะฟังว่าเขาพูดอะไรก่อนแล้วเดี๋ยวค่อยเสริม หลัง ๆ มานี่ตอนไปประชุมเราก็จะยกมือตลอด เพราะเราเป็นครูอเมริกันแล้ว เราจะกล้าพูด กล้าถาม

ครูที่นี่ใครอยากไปอบรมที่ไหนก็ไปสมัครตามความสมัครใจ เมื่อไม่มีใครบังคับ เราก็อยากพัฒนาตัวเอง เขาจะมีข้อกำหนดว่าปีนี้ต้องมีชั่วโมงการอบรม 80 ชั่วโมงต่อปี ทุกอย่างนับหมด แต่ครูบางคนเขาก็ไม่ได้ทำอะไร เพราะว่าครูที่นี่มีอำนาจการต่อรองสูง การที่เราจะย้ายไปโรงเรียนอื่นไม่ได้ขึ้นอยู่กับผู้อำนวยการนะ เราย้ายตัวเอง ที่ไหนให้เงินเดือนเยอะ เราก็ไปที่นั่น

อาหารการกินไม่ค่อยช็อกเท่าไร เพราะทำอาหารได้อยู่แล้ว แต่มาอยู่เมือง Hobbs ในรัฐ New Mexico ที่ไม่มีร้านอาหารเอเชีย เลยต้องขับรถไป 2 ชั่วโมง ก็สู้ชีวิตไป ชีวิตก็สู้กลับตลอด คนอเมริกันเวลาเขาซื้ออาหาร เขาจะซื้อทีเยอะ ๆ ก็ไม่ได้ไปทุกอาทิตย์

 

ยังจำวันแรกของการสอนได้ไหม

ตื่นเต้น ภาษาเราก็ไม่ได้เป๊ะ 100% เด็กอเมริกันจะชอบถาม พอเราถาม Any questions? เด็กยกมือกันเต็มเลย เครียด จะฟังรู้เรื่องไหม เราก็เอา Sticky Note ให้เด็กเขียนเอา เพราะเราอ่านได้ ก็แก้ปัญหาเฉพาะหน้าไป แต่การฟังนี่ไม่ชัวร์ เพราะสำเนียงคนละอย่าง แล้วพูดเร็วด้วย คำศัพท์บางทีก็ใช้กันเฉพาะที่อเมริกาด้วย เราจะรู้ได้ยังไง เราเป็นพวกครูพักลักจำ เมื่อก่อนจะมีกระดาษจดคำศัพท์ใหม่ ๆ ที่เราไม่รู้ตลอด แต่ละวันคือการเรียนรู้ หลัง ๆ เริ่มไม่จดแล้ว มันจะไปได้เอง

คำศัพท์ในห้องเรียนเราใช้ทุกวัน ฟังแล้วจะรู้เลยนะว่าเด็กจะใช้คำศัพท์แค่นี้ เช่น Turn it in แปลว่า ส่งงาน บางทีเราก็ไม่รู้หรอก ก็ให้เด็กพูดมาก่อน เราฝึกกับนักเรียนเยอะมาก อย่างที่ลบคำผิดที่นี่เรียกว่า  Wite-Out เพราะเป็นยี่ห้อของมัน บางคำเราออกเสียงไม่ถูก ก็ฟังนักเรียนแล้วออกเสียงตามเขา ดีอย่างที่เด็กเขาเคารพเรา เพราะเห็นหน้าเอเชียแบบนี้ เขาจะคิดว่าเราเก่งคณิตศาสตร์ อย่างโรงเรียนนี้ถ้าเป็นเด็กเอเชีย คณิตศาสตร์จะท็อปเลยนะ

โรงเรียนนี้เป็น Campus เฉพาะเกรด 9 ที่นี่เขาจะนับไม่เหมือนบ้านเรา เกรด 1-5 เขาจะนับเป็นประถม เกรด 6-8 ถือเป็น ม.ต้น ม.ปลายคือเกรด 9-12 จะเรียกเหมือนระบบมหาวิทยาลัยในบ้านเรา เกรด 9 จะเรียกว่า Freshman เกรด 10 เรียก Sophomore โรงเรียนนี้จะมีเฉพาะเกรด 9 มีนักเรียน 800 กว่าคน เราก็สอนแค่นี้ เหมือนสอนเด็ก ม.ปลาย แต่ถ้าเทียบอายุแล้วก็เหมือนเด็กม. 3 แต่คณิตศาสตร์มี 2 วิชา เราก็สอน 2 วิชา ครูบางคนก็ได้สอนวิชาเดียว 6 คาบเลย

เด็กปกติจะเรียน Algebra 1 (พีชคณิต) แต่เราจะสอนเด็ก Gifted ด้วย ก็เหมือน Gifted บ้านเรา หรือ Pre-AP (Pre-Advanced Placement) มีครูแค่ 2 คนที่สอน 2 อย่างเหมือนเรา ปีหน้าเราจะย้ายโรงเรียนไปสอนอีกโรงเรียนหนึ่ง เป็น High School ใหญ่ เกรด 11-12 ทีนี้จะได้สอน AP (Advanced Placement) เลย

นักเรียนที่นี่ไม่มีชุดยูนิฟอร์ม โรงเรียนเอกชนจะมี แต่โรงเรียนรัฐบาลไม่มี โรงเรียนที่ไม่มียูนิฟอร์มทำให้แต่ละวันเด็กต้องคิดว่าวันนี้จะแต่งตัวยังไง เขาจะมีความคิดสร้างสรรค์ จะค้นหาตัวตน เพราะเท่าที่สังเกตวันนี้เด็กแต่งสไตล์นี้ อีกวันจะแต่งสไตล์นึง เขาแต่งหลายสไตล์ เพราะจะได้รู้ว่าเขาเหมาะกับสไตล์ไหน บางคนแต่งเป็นแร็ปเปอร์ บางคนแต่งแนวคาวบอย ส่วนใหญ่โรงเรียนจะมีธีมแต่งตัวเวลามีเทศกาล วันหนึ่งโรงเรียนมีธีมว่าเอาอะไรมาโรงเรียนก็ได้ ยกเว้นกระเป๋านักเรียน วันนั้นหายนะเลย ตลกมาก เด็กบางคนเอาหนังสือใส่ไมโครเวฟอุ้มมาโรงเรียน บางคนใส่ถังขยะ บางคนเอาน้องตัวเองมาหอบหนังสือ ความคิดสร้างสรรค์ของเด็กอเมริกันนี่สุดยอดเลย เด็กจะทำอะไรก็ทำได้เลย ถ้ามันอยู่ในขอบเขต 

ธีมแต่งตัววันฮาโลวีน
ธีมแต่งตัวชุดนอน

 

ที่อเมริกาจะมีตำรวจประจำทุกโรงเรียน วันหนึ่งเราก็ได้กลิ่นกัญชาในห้องเด็กที่เราสอน ตอนปฐมนิเทศครูครั้งแรกนะ ต้องปฐมนิเทศเกี่ยวกับยาเสพติดทุกชนิด ตำรวจจะเอายาเสพติดมาให้ดูเลย เราต้องรู้ว่ากลิ่นนี้คืออะไร มีซ้อมหนีไฟ ซ้อมหลบพายุทอร์นาโด ซ้อมเมื่อมีคนแปลกหน้าถือปืนเข้ามาในโรงเรียน ถึงบอกว่าถ้าเกิดเหตุ เด็กเขาจะเอาตัวรอดได้ง่าย เพราะเขาซ้อม ถ้าโรงเรียนรู้ว่าเด็กเอาปืนมา ประกาศปิดโรงเรียนเลยนะ ผู้ปกครองต้องมารับเด็กกลับบ้านเลย 

 

การเป็นครูไทยหรือครูเอเชียท่ามกลางครูอเมริกันมีความยากตรงไหนบ้าง

คนอเมริกันเขาจะเคารพกันหมด มันมีคนหลากหลายเชื้อชาติที่นี่ ผู้อพยพก็เยอะ เราไม่รู้สึกแตกต่างเท่าไร เขาก็ไม่ได้รู้สึกว่าเราเป็นเอเชียอะไร เราก็เป็นครูของเขา เงินเดือนอะไรก็ได้เท่าครูอเมริกันหมด เขาไม่ได้ดูที่เชื้อชาติ แต่จะดูที่ความสามารถมากกว่า เขาก็ยอมรับเรา ตอนคาบเตรียมสอนเราก็มาแชร์ไอเดียกัน ครูฝรั่งสอนแนวนี้ เราเป็นเอเชียนเราก็แชร์ไอเดียของเรา บางอย่างแนวคิดฝรั่งเขาดี เราก็เอาแนวคิดเขามาสอน บางอย่างเขาเห็นไอเดียเรา ก็เอาของเราไปสอนเหมือนกัน ข้อดีคือการแชร์วิธีการสอนที่ไม่เหมือนกัน ของฝรั่งเวลาสอนเรื่องการแยกตัวประกอบของพหุนาม เช่น x2+2x+1=0 ให้เราหาค่า x บ้านจะมีวิธีคิดอีกแบบ แต่ฝรั่งเขาจะใช้วิธี X Method วิธีนี้สามารถใช้ได้ทุกกรณีเลย อันนี้ทึ่งมากเลย 

 

ชอบอะไรของการเป็นครูอเมริกันบ้าง อะไรที่คิดว่าบ้านเราน่าจะมีบ้าง หรือพอจะทำได้เกิดขึ้นได้จริง

อย่างแรกมีความเป็นระบบที่ชัดเจน ทำงานเป็นทำงาน พักเป็นพัก ไม่รบกวนกัน ไม่ก้าวก่ายกัน ทำงานจันทร์ถึงศุกร์ 7.45-15.45 น. นอกจากนั้นไม่ยุ่งเกี่ยวกัน ไม่มีข้อความ ไม่มีตาม ไม่มีสักอย่าง ปิดเทอม 2 เดือน เราไม่ติดต่อกับโรงเรียนนะ ที่นี่วันไหนเด็กปิดเทอม วันนั้นครูก็ปิดเทอมด้วย ไม่ต้องมานั่งทำเกรด เพราะเกรดที่นี่ออกทุกวัน ทำทุกวันเป็นออนไลน์ เราให้คะแนนผ่านระบบออนไลน์ แล้วเด็กสามารถเช็กคะแนนตัวเองได้ทุกวัน ผู้ปกครองเช็กได้หมด

อย่างสอง มีความยุติธรรมสำหรับทุกคน ถ้าเราทำงานหลังเวลา 15.45 น. เราจะต้องได้รับเงินเพิ่ม การประชุมของครูทุกอย่างที่ไม่ใช่ในเวลาทำงานจะถือเป็นทางเลือก ไม่ใช่ว่ามีหนังสือเข้าโรงเรียน ครูคนนี้ต้องไป ไม่ใช่นะ การอบรมทุกชนิดครูมีสิทธิ์เลือกว่าจะไปหรือไม่ไป ถ้าจะไปคือได้เงินเพิ่ม ถือเป็นการพัฒนาตนเอง แต่จะไม่มีผลกับการปรับเงินเดือน เรื่องเงินเดือนแต่ละที่ไม่เหมือนกัน อย่างเมืองนี้เป็นเมืองน้ำมัน ปีที่แล้วได้กำไรจากน้ำมันเยอะ ปีหน้าเงินเดือนครูก็จะเพิ่มเยอะ สัมพันธ์กับเศรษฐกิจของเมืองด้วย ไม่ได้เกี่ยวกับการประเมิน การประเมินเป็นกระบวนการที่ต้องทำ ผู้อำนวยการจะเข้ามาดูการสอน ภาคเรียนละ 1 ครั้ง แล้วจะจัดการเอกสารทุกอย่างเอง ครูไม่ยุ่ง

ระดับของครูที่นี่แต่ละรัฐไม่เหมือนกันนะ ใบประกอบวิชาชีพครูมีอยู่ 3 ระดับ ในแต่ละระดับก็จะมีประสบการณ์ที่ไม่เท่ากัน ของเราอยู่ที่วุฒิการศึกษาแล้วก็ประสบการณ์การทำงาน ไม่นับอายุนะ ไม่มีช่องไหนให้กรอกอายุอยู่แล้ว เราจบปริญญาเอก เงินเดือนก็จะเป็นช่องสุดท้ายเลย ที่อเมริกายุติธรรมมากเลยนะ เราสอนโรงเรียนไทยมา 10 ปี เขานับให้หมด

 

 

 

การลงโทษเด็กถ้าเด็กทำผิดในโรงเรียน ที่นี่ชัดเจนมาก ถ้าเด็กไม่ตั้งใจเรียนในห้อง ครูจะมี Ticket เล็ก ๆ เหมือนใบสั่ง สามารถเขียนได้ว่าเด็กคนนี้รบกวนอะไรในห้อง แล้วเอาใบนี้ไปหย่อนในกล่อง เด็กก็จะโดนลงโทษให้มีเวลากินข้าวแค่ 15 นาที จากปกติ 30 นาที ก็คือไม่ได้กินเลย 15 นาทีไม่ทันอยู่แล้ว สมมติครูเขียนใบสั่ง เขารู้ตัวว่าเขาต้องโดน หมดคาบ 5 ปุ๊ป เขาต้องไปห้องกักตัว อันนี้เป็นความผิดเล็ก ๆ น้อย ๆ 

อย่างที่สาม ทุกอย่างมันเป็นระบบที่เช็กได้ผ่านคอม ครูทุกคนจะมีประวัติของนักเรียนตัวเอง อย่างเรามีนักเรียนในมือประมาณ 120 คน โรงเรียนมี 800 กว่าคน เพราะฉะนั้นเราจะมีข้อมูลเด็กร้อยกว่าคน เป็นข้อมูลตั้งแต่ชั้นประถม ครูที่นี่เวลาเป็นครูจะได้แล็ปท็อปคนละหนึ่งเครื่อง ทุกคนจะใช้โปรแกรมเดียวกันหมด  เขาจะมีการบันทึกประวัติเด็กตั้งแต่ประถม สมมติเราอยากรู้ว่าเด็กคนนี้เป็นยังไง คลิกเข้าไปเรารู้หมดเลยตั้งแต่ประถมโดนคดีอะไรมาบ้าง ได้คะแนนเท่าไร พ่อแม่ชื่ออะไร มันไม่เหมือนบ้านเราที่ต้องกรอกทุกปี ที่นี่เก็บข้อมูลมาตลอด น่าจะเป็นทั้งประเทศ ส่วนใหญ่รัฐใครรัฐมัน ทุกวันจะต้องเช็กชื่อนักเรียน เราไม่ใช้ขานชื่อ แต่จะดูจากที่นั่งแล้วคลิกในระบบว่าคนไหนมาหรือไม่มา แล้วก็กด submit เวลาเด็กคนไหนไม่มา มันจะเป็นระบบอัตโนมัติโทรถึงบ้านทุกวันเลย ผู้ปกครองจะรู้หมดว่าลูกตัวเองเข้าเรียนหรือเปล่า 

อย่างการลงโทษเด็กที่นี่จะเป็นการคลิกเข้าไปในระบบ เราก็พิมพ์ไป พอคลิกปุ๊ปมันจะไปเด้งที่ห้องผู้อำนวยการเลย ผู้อำนวยการคือฝ่ายปกครอง ที่นี่ไม่มีฝ่ายปกครองแบบบ้านเรา ฝ่ายปกครองคือผู้อำนวยการกับรองผู้อำนวยการ เป็นผู้มีอำนาจสูงสุดในการตัดสิน สองคนนี้จะทำงานหนัก เป็นฝ่ายสนับสนุน ผู้อำนวยการจะเรียกพบเลย แล้ววิธีการลงโทษของที่นี่คือให้ไปอยู่ในห้องหนึ่ง เหมือนห้องพักการเรียนในโรงเรียน ไว้กักตัวเด็กที่มีปัญหา ถ้าผู้อำนวยการบอกว่าไม่ต้องกลับไปห้องเรียนนะ นั่งในห้องนี้ ครูคนอื่นก็ต้องส่งงานมาให้เด็กทำในห้องนี้ ก็จะมีผู้คุมวิญญาณหนึ่งคน เป็นครูนี่แหละ ขนาดเรายังกลัวเลย เขาจะจ้างครูมาหนึ่งคนเพื่อคุมห้องนี้โดยเฉพาะ เหมือนห้องดัดนิสัย เด็กบางคนถ้าลหุโทษก็อาจจะวันเดียว บางคนทั้งอาทิตย์ 

ถ้ามาห้องดัดนิสัยหลายรอบเกิน เขาจะให้เปลี่ยนไปอีกขั้นหนึ่ง ขั้นแรกคือให้เหลือเวลาทานอาหารแค่ 15 นาที เหนือมาอีกคือห้องนี้ เหนือไปอีกคือการเข้าห้องนี้วันเสาร์ ซึ่งเป็นสิ่งที่นักเรียนเกลียดที่สุด เพราะวันเสาร์เป็นวันหยุดของเด็ก แล้วต้องมาโรงเรียนวันเสาร์ 9-11 น. เพื่อมานั่งทำงานอยู่ในห้องนั้น เมื่ออยู่ในห้องนี้เด็กก็จะเสียโอกาสในการเรียนกับเพื่อน ๆ ไปเลย ครูประจำชั้นต้องเอางานไปให้เขาทำ แล้วถ้าเด็กคนไหนวันเสาร์ไม่มา ไม่สน ไม่แคร์ ก็โดนไปห้องนี้วันธรรมดาแทน ถ้าไม่มาวันเสาร์วันเดียวก็โดนเข้าห้องนี้ไป 3 วัน เด็กจะเครียด ไม่อยากเข้า เพราะว่ามันต้องเงียบตลอดเวลา ไม่ได้เล่นกับเพื่อน ครูคนที่คุมก็โหดเหมือนกัน เป็น African-American หน้าดุ แต่ใจดี เราสนิทกัน เขาจะดูว่าเด็กทำงานไหม แต่ขั้นที่รุนแรงกว่านั้นคือพักการเรียน แรงกว่านั้นอีกคือไล่ออกเลย ซึ่งที่อเมริกาทุกคนต้องได้รับการศึกษาอย่างเท่าเทียมกันจนถึงอายุ 18 ถ้าโดนไล่ออกจากโรงเรียน ปกติต้องไปอยู่โรงเรียนทางเลือก ระบบเขาเตรียมไว้หมดเลย ถ้าเด็กคนไหนไม่มาโรงเรียน ตำรวจจะไปเคาะบ้านนะ ถือว่าผิดกฎหมาย 

 

สวัสดิการครูอเมริกาเป็นยังไง ต้องทำผลงานเพื่อปรับตำแหน่งเหมือนไทยไหม

ไม่มีเลย สอน 7 ชั่วโมงต่อวันเท่านั้นแหละ เงินเดือนแต่ละปีเขามีผังเงินเดือนออกมาเป็นตาราง มีในอินเตอร์เน็ตนะ ทุกที่มีหมดเลย จะไม่เป็นความลับ แต่ว่าครูแต่ละคนจะไม่รู้เงินของกันและกัน เวลาเขาปรับเงินเดือน อย่างเราอายุการทำงาน 14 ปี ปีหน้าก็จะเลื่อนลงมาอีกขั้นหนึ่ง มันจะขึ้นเรื่อย ๆ ตามช่องของใบประกอบวิชาชีพครูว่าเราอยู่ช่องไหน แต่ละปีเขาปรับทั้งแผง ปีถัดไปเราก็ดูแผงใหม่ อย่างปีที่แล้วปรับแค่ 1-2% แต่ปีหน้าเขาจะปรับ 14 % เพิ่มมาอีกคนละสองแสนกว่า ๆ ปรับเยอะเพราะเศรษฐกิจ แล้วเขาก็คิดว่าเป็นขวัญและกำลังใจให้ครู เพราะครูเป็นอาชีพที่หนัก ถ้าเลือกได้คนที่นี่เขาไม่อยากเป็นครูกันหรอก

ถ้าเป็นครูรัฐบาลจะได้เงินสนับสนุนเพราะว่าประกันแพงมาก จะได้เงินสนับสนุนส่วนหนึ่ง 30% จะไม่ได้ฟรีเหมือนบ้านเราที่ครูจะต้องมีสวัสดิการฟรี แต่ที่นี่รัฐจะสนับสนุนอาจจะเติมให้ 30% แล้วสิทธิพิเศษของครูที่นี่คือเวลาจะไปประชุม จะไปที่ไหนเขาจองโรงแรม 5 ดาวให้ ที่นี่ดูแลครูดีมาก มีส่วนลดสำหรับครู อย่างดิสนีย์แลนด์ที่ฟลอริดาได้ลดค่าที่พักเกือบ 50% เลย ส่วนใหญ่ถ้าเขารู้ว่าเราเป็นครู เขาจะเข้ามาจับมือ ชื่นชมมาก ๆ เราตกใจเลย

 

แสดงว่าสถานะครูในอเมริกาเขายกย่องมาก

ใช่ แต่งานมันเหนื่อยที่ต้องจัดการกับเด็ก แล้วเงินเดือนก็น้อยถ้าเทียบกับอาชีพอื่น แต่ของเราเงินเดือนไม่น้อย ถือว่าสูงแล้วด้วยระดับวุฒิและประสบการณ์ แต่ครูที่เพิ่งเริ่มต้นอาจจะไม่พอ อาจจะดูน้อยไป เงินเดือนเราถือว่าระดับกลาง สูงกว่าค่าเฉลี่ยของเงินเดือนครู Apartment ที่นี่เขาจะแบ่งโซนรายได้เลย อย่างที่เราอยู่เขาจะถามว่ารายได้เท่าไร รายได้เท่านี้สามารถสมัครที่นี่ได้ เราจะไปอยู่ Apartment ถูกก็ไม่ได้นะ เพราะว่าสำหรับคนที่มีรายได้น้อย ถึงบอกว่ามันสกรีนให้หมดแล้ว ระบบมันชัดเจน

 

ได้ยินว่าที่โรงเรียนกำลังพิจารณาจะต่อ Green Card ให้ เพราะครูขาดแคลน แสดงว่าโอกาสมีเยอะมากสำหรับคนที่อยากเป็นครูที่นี่

ใช่ ขาดแคลนเยอะมาก โอกาสเยอะมาก ถ้ามาได้นะ ได้เลย วีซ่า J-1 มันติดกฎ Two-year Home Residency อย่างที่บอกว่า J-1 จะมี 14 ประเภทใช่ไหม แต่ไม่ใช่ทุกประเภทที่จะติดกฎนี้นะ ก็คือคุณต้องกลับไปพัฒนาบ้านเกิดคุณ 2 ปี ถึงจะกลับมาอเมริกาใหม่ได้ แต่ว่าบ้านเรายังทำเรื่องขอยกเว้นได้ ถ้าเราเข้าตามเงื่อนไข 1 ใน 2 อันนี้ คือหนึ่งโรงเรียน Offer งานให้ หรือสองคุณแต่งงานแล้วมีครอบครัวที่นี่ ใจเราอยากทำแค่แต่งงาน แต่ไม่มีคนให้แต่งเลยต้องทำแบบยาก ๆ แล้วถ้าจะทำเรื่องขอยกเว้นอันนี้ คุณต้องไม่มีเงื่อนไขทุนสักอย่างที่ผูกพันกับเมืองไทย สหกรณ์นี่ไม่เกี่ยวนะ หมายถึงพวกนักเรียนทุน ทุนกยศ.แบบนี้ เราปิดหนี้หมดแล้ว ดังนั้น เราไม่มีข้อผูกพันที่เกี่ยวกับรัฐบาลแล้ว ต่อไปเราก็จะสมัครอันนี้ ขอถอดถอน 2 ปี เพื่อที่ว่าโรงเรียนจะทำวีซ่าทำงาน H1B เพื่อสู่การเป็น Green card ต่อไป

 

Green card คืออะไร

ที่จริงมันคือ Permanent Residence ยังไม่ใช่ Citizen นะ ตอนนี้เราได้เป็นวีซ่าชั่วคราว แต่ว่าทำงานได้เงินเหมือนคนอเมริกันนั่นแหละ ก็ยังไม่เสถียร เราอยากเป็นคนที่นี่จริง ๆ ก็ต้องเป็น Permanent Residence  ให้ได้ ซึ่งใบมันไม่ได้เป็นสีเขียวนะ คนเรียกชื่อเล่นว่า Green Card แล้วมันจะมีเงื่อนไขคือ ครั้งแรกที่สมัคร Green Card จะได้ 2 ปี แล้วคุณจะต้องรักษาสถานะ 2 ปีให้ได้ ถึงต่อเป็น10 ปีได้ แล้วภายในระยะเวลาที่คุณอยู่ใน Green Card อย่างน้อย 3 ปี ถึงสามารถมีสิทธิ์สอบเพื่อเป็นพลเมืองอเมริกัน การเป็นพลเมืองเขาคือเราไปเลือกตั้งได้ แต่อีกอย่างหนึ่งคือถ้าเราไปเมืองไทยโดยมีพาสปอร์ตอเมริกา เราจะไปเมืองไทยกี่เดือนกี่ปีก็ได้ แต่ถ้าเป็น Green Card จะมีข้อจำกัดอยู่ ห้ามออกเกิน 1 ปี วีซ่าเราได้ 3 ปี แต่ว่าต่อได้อีก 2 ปี ก็คือ 5 ปี ตอนนี้เราอยู่ปีที่ 4  จริง ๆ เรามีเวลาอีก 1 ปี แต่เราแพลนไว้แล้ว เราจะไปต่อ

 

มุมมองของการเป็นครูเปลี่ยนไปยังไงบ้าง

Work-Life Balance มีจริง ไม่มีการโทรตามกัน ไม่มีส่งข้อความ ไม่มีอะไรสักอย่าง มันเหมือนเราได้พักจริง ๆ นะ เราเลยกลายเป็นคนที่มีความเป็นส่วนตัวสูงขึ้น จริง ๆ ก็ไม่เคยคิดนะ คนเขาเคารพกันมาก ในเมื่อคนอื่นเคารพเรา เขาไม่มายุ่งกับเรา เราก็จะไม่ไปยุ่งกับเขา อันนี้คือสิ่งที่แตกต่างอย่างเห็นได้ชัด

อันที่สองก็คือการทำงานอย่างเป็นระบบ เพราะว่าอยู่ที่นี่เขาสอนให้เราเป็นระบบ การตื่นตอนเช้าไปทำงาน เรารู้สึกเต็มที่ เพราะวันหนึ่งเราทำงานแค่ 8 ชั่วโมง ดังนั้นเราจะพลังเต็มที่ ไม่เหมือนเมืองไทยที่เราจะชิลล์ เลิกงานแล้วก็ยังมีคนโทรมาตาม รักษาสุขภาพเยอะขึ้น ออกกำลังกาย เพราะต้องแข็งแรง ค่าใช้จ่ายมันแพงด้วย มันไม่ได้เป็นระบบแค่ในโรงเรียนเท่านั้น แต่เป็นทุกอย่าง ทั้งการขับรถ การจราจร

อันที่สามคือทุกคนเคารพกัน บางที่เขาก็ไม่รู้นะว่าเราเป็นคนต่างชาติ อเมริกาดีอย่างหนึ่งคือมีคนหลากหลายเชื้อชาติ เขาก็คิดว่าเราเป็นคนที่นี่แหละ การทำงานเรารู้สึกว่าตัวเองเป็นระเบียบมากขึ้น มีระบบจัดการกับนักเรียน มีการทำงานเป็นขั้นเป็นตอน

ที่นี่ลาป่วยได้ 10 วันต่อปี ถ้าไม่ใช้ทบไปปีหน้าได้นะ โรงเรียนมีปิดเยอะ ปิดช่วงฤดูใบไม้ผลิ 1 อาทิตย์ ปิดคริสมาสต์อีก 2 อาทิตย์ ปิดเทอมอีก 2 เดือน คำว่าปิดคือปิดจริง ไม่มีลาพักร้อน เพราะมีปิดเทอมอยู่แล้ว เทศกาลที่นี่ เมื่อก่อนเราก็ไม่สนใจหรอก เทศกาลที่เป็นวันหยุดนะ ถ้าไม่ใช่วันจันทร์ก็วันศุกร์ ไม่ได้เป็นตามวันที่เหมือนเมืองไทย แปลว่าเขาต้องการให้ประชากรได้หยุดยาว ไม่ศุกร์ถึงอาทิตย์ ก็เสาร์ถึงจันทร์ จะมียกเว้นวันชาติกับคริสมาสต์ที่จะเป็นวันหยุดตามวันที่ นอกนั้นเขาจะเอื้อให้คนได้หยุดยาว  

 

อยู่เมืองนอกมาได้สักพักแล้ว ฝันอยากเห็นการศึกษาไทยเป็นแบบไหน

อยากเห็นการศึกษาที่เปิดโอกาสให้นักเรียนได้แสดงความเป็นตัวของเขาอย่างเต็มที่ ได้แสดงความคิดเห็นถึงแม้ว่าจะไม่เอาความคิดเห็นเขาไปต่อยอด แต่ให้เขามีเวที ยกเลิกอะไรที่มันต้องบังคับขู่เข็ญ ครูต้องไม่บูลลี่เด็ก เช่น เอาคะแนนนักเรียนมาติดให้ทุกคนรู้  Privacy ของเด็กมันหายไป เมื่อก่อนเราไม่คิดถึงตรงนี้ แต่พอเรามาอยู่นี่ ความคิดเราเปลี่ยนเยอะเลย เราต้องเคารพสิทธิ์ของเด็ก เด็กแต่ละคนเขาไม่ได้อยากให้คนอื่นมารู้คะแนนของเขา เมื่อก่อนเราจัดอันดับความสามารถเด็ก เราว่ามันไม่ถูก เพราะเด็กทุกคนมีความสามารถต่างกัน ทุกคนมีความถนัดต่างกัน คนนี้ได้เต็ม คนนั้นได้น้อยที่สุดตก มันไม่ใช่ไง แล้วการทำโทษเด็กแบบไร้เหตุผล ทำโทษเพื่อจะประจานเด็กอันนี้ไม่ควรเลย ยืนหน้าเสาธงประจานเด็ก อันนี้รับไม่ได้เลย 

อีกอย่างหนึ่งคืออย่าเรียนเยอะเกินไป มันอยู่ที่ระบบการสอบเข้ามหาลัยด้วย เราก็เข้าใจนะว่าทำไมเด็กต้องเรียนขนาดนั้น เพราะว่ามหาลัยกำหนดให้สอบเยอะ ถ้าไม่เรียนขนาดนั้นก็สอบไม่ได้ แต่อย่างอเมริกาถ้าจะไปยื่นเข้ามหาลัย สอบแค่วิชาพื้นฐาน ไม่ใช่คณิตศาสตร์แบบใหญ่โตเว่อวัง เพราะฉะนั้นก็ควรจะลดระบบการสอบแบบเข้มงวด ให้มาดูที่สัมภาษณ์หรือดูทัศนคติ ดู Performance ในโรงเรียน ดูจดหมาย Recommend จากครู จากเพื่อน ไม่ใช่แค่ว่าเอาคะแนนเป็นตัวตัดสิน เด็กเรียนเยอะเกินไปจนไม่มีโอกาสได้พัฒนาทักษะด้านอื่น ยิ่ง ม.ปลายบ้านเราไม่ได้ไปไหนเลย เรียนอย่างเดียว ที่นี่เขาเน้นกีฬา เด็กทุกคนพอเลิกเรียนแล้วจะมีคลับกีฬาส่วนตัว เขาจะเน้นสุขภาพ พัฒนา Mindset อยากเห็นบ้านเราเป็นแบบนั้น 

เราอยู่ทั้งระบบที่มีชุดนักเรียนกับระบบที่ไม่มีชุดนักเรียน เห็นเลยว่ามันไม่ได้มีผลกับการเรียนเลย การที่ไม่ใส่ชุดนักเรียนเด็กจะมี Creative Thinking เยอะกว่า เขาจะฝึกความมั่นใจของเขา อีกอย่างหนึ่งคือมีเด็กต่างชาติ ต่างภาษา ผิวดำ ผิวขาว เพราะฉะนั้นจะมาบูลลี่สีผิวก็ไม่ถูกนะ เห้ย ทำไมดำ ทำไมอ้วนต่ำดำขาว ไม่เคยได้ยินเลย ทุกคนมองกันที่การกระทำ ไม่ได้มองภายนอก  อ้วนขนาดไหนทุกคนก็ต้องชมว่าสวย ไม่ได้บังคับว่าต้องชมว่าสวย แต่ Mindset เขาจะชื่นชม จะหาสิ่งเล็ก ๆ น้อย ๆ ชื่นชมเพื่อนในทุกวัน พูดในแง่บวก ให้กำลังใจกัน

 

 

ฝากคำแนะนำถึงครูที่หมดไฟ อยากหาโอกาสใหม่ๆให้ตัวเอง 

อันดับแรกครูต้องกล้าที่จะออกจาก Comfort Zone อาชีพนี้ยิ่งราชการนะอยู่ใน Comfort Zone จริง ๆ เลย เพื่อนเกือบทุกคนเป็นราชการหมด เขาก็ไม่ออกจากตรงนั้นนะแต่ว่าถ้าวันหนึ่งคุณคิดว่าอยู่ในระบบไม่ได้แล้ว ไม่ใช่โทษแต่ระบบ เราไม่ได้โทษระบบนะ ระบบมันแก้ไม่ได้หรอกในปีสองปี อีก 10 ปี แก้ได้หรือเปล่าก็ไม่รู้ เราแก้ระบบไม่ได้ เรานี่แหละต้องแก้ที่ตัวเรา ก็ถอนตัวเราออกจากระบบไป ถ้าครูคนไหนยิ่งอยู่ไปยิ่งรู้สึกว่ามันไม่ใช่ตัวตนของตัวเองแล้ว Passion ของตัวเองหมดลงเรื่อย ๆ เราคิดว่าควรคิดได้แล้ว ควรจะหาวิธีก้าวออกมา ชีวิตนี้เราไม่ได้เป็นครูอย่างเดียวเนอะ ชีวิตเราไม่ได้ทำงานอย่างเดียว ชีวิตเรามันมีหลายมิติ ไม่ใช่มองแค่ว่าเราต้องทำงานอันนี้อย่างเดียว เราต้องหาความสุขให้ตัวเอง หาอะไรทำที่เราไม่เครียด ไม่กดดัน คือต้องทบทวนตัวเองก่อน ถ้าจะออกจาก Comfort Zone ต้องมีแผนรองรับแผน ไม่ใช่อยู่ดี ๆ ออกมาแล้วไม่รู้จะไปที่ไหน

เราบอกว่าเราเป็นคนวางแผน แต่เราไม่ได้แพลนเรื่องความกลัว ถ้าแพลนแล้วคิดเยอะเกินมันจะไม่กล้าก้าว เพราะว่ามันเห็นอุปสรรคเต็มไปหมด แต่เราแพลนแล้วเราต้องพิสูจน์ด้วยตัวเอง เราต้องไปให้ได้ ถ้าเราเลือกอะไรแล้วไม่ใช่ที่เราต้องการ เราต้องยอมรับเพราะว่าเราเป็นคนเลือกเอง เคารพตัวเรา แล้วเราเชื่อว่าในเมื่อเราอยู่ใน Comfort Zone แล้วเราสามารถสร้าง Comfort Zone ใหม่ ๆ ได้อีก ถ้าลองทำไปแล้วมันไม่ใช่อย่างที่เราคิด ก้าวออกมาก็ไม่เห็นเป็นไรเลย เราสามารถทำให้ประเทศชาติได้หลาย ๆ ทาง ตอนนี้คิดว่าเราทำประโยชน์ให้ประเทศชาติมากกว่าตอนที่อยู่เมืองไทยอีกนะ พอเรามาอยู่ตรงนี้ เราก็สามารถมาแลกเปลี่ยน แชร์ไอเดีย ระบบการเรียนการสอน ระบบการจัดการครูที่นี่เป็นยังไง เราก็เอาประสบการณ์ที่นี่มาแชร์แล้วก็เปิดโลกที่กว้างขึ้นกับครูบ้านเรา เรากลับคิดว่าเรายังช่วยการศึกษาบ้านเราในหลาย ๆ ด้านเลย

 

ก็คือกลุ่ม Thai Teachers in America ที่ครูก้อยตั้งขึ้นมา

เราตั้งเองเลย เพราะว่าวันที่เราไปโพสต์ในกลุ่มโยกย้าย มีคนส่งข้อความมาเกือบร้อย เราตอบไม่ไหว เลยต้องตั้งกรุ๊ปคืนนั้นเลย ตอนนี้มีครูจากเมืองไทยที่จะมาที่นี่เหมือนเราประมาณ 3-4 คนแล้วนะ กำลังอยู่ในขั้นตอนสัมภาษณ์ เราดีใจมาก เขาปรึกษาเราตลอด นี่ก็ถือว่าเป็นหนึ่งเรื่องที่ทำให้ประโยชน์ให้เพื่อนพี่น้องร่วมประเทศชาติ บางคนเขาอยากไปสู่ศักยภาพของตัวเองเต็มที่ เขาอยากออกมา เราก็มีส่วนช่วยตรงนี้บ้าง เราเลยบอกว่าทุกอย่างไม่สูญเปล่าหรอก หลายคนบอกว่าไปเป็นครูเมืองนอก สอนเมืองไทยไม่ดีกว่าหรือไง อันนี้เราพูดถึงการแลกเปลี่ยนระดับประเทศชาติแล้วนะ มาดูซิว่าฟากตะวันตก เขาสอนยังไง ใช้ชีวิตยังไง อันไหนดีเราก็ปรับใช้ อันไหนไม่ดีเราก็ไม่ใช้ เราว่ามันเป็นระดับมหภาคแล้ว

 

ติดตามช่องทางอื่น ๆของอัตนัยต่อได้ที่
Website : www.attanai.com
Facebook : https://bit.ly/3nQNzZu
YouTube : https://bit.ly/2YJSOk8
Instagram : http://bitly.ws/jpVm
Soundcloud : http://bitly.ws/jpW6
Spotify : https://spoti.fi/3CruIIF

Share

Authors

Authors

RELATED POSTS