พลังของการเขียนด้วยลายมือ
ยุคนี้คงเถียงไม่ได้ว่าการเขียนหรือเล่าเรื่องต่าง ๆ ส่วนใหญ่มักสื่อสารผ่านคอมพิวเตอร์หรือสมาร์ทโฟน เพราะว่ารวดเร็วและสะดวกสบายกว่า หลาย ๆ คนจึงลืมการเขียนสื่อสารด้วยมือ โดยเฉพาะกับเด็ก ๆ สมัยใหม่ที่ห่างเหินจาการเขียนด้วยลายมือ เพราะเทคโนโลยีในปัจจุบัน แต่หากเด็กสามารถฝึกเขียนสื่อสารด้วยลายมือของตัวเอง ไม่เพียงจะช่วยให้การเขียนดูมีเอกลักษณ์และดูมีชีวิตชีวามากกว่าการพิมพ์แล้ว การเขียนด้วยมือยังช่วยเสริมสร้างพัฒนาการหลายด้าน
นักจิตวิทยาและนักเขียนชื่อดัง Stanislas Dehaene นักจิตวิทยาจากมหาวิทยาลัย College de France กล่าวว่า “เมื่อเราเขียน ระบบประสาทบางส่วนจะถูกกระตุ้นขึ้นมา เพราะลักษณะท่าทางการเขียนหนังสือจะส่งผลโดยตรงให้มีการเปลี่ยนแปลงในสมอง และการเปลี่ยนแปลงนั้นส่งผลเฉพาะทางต่อระบบประสาทในส่วนที่เกี่ยวกับความจำ ซึ่งช่วยทำให้การเรียนรู้ง่ายขึ้น”
งานวิจัยนี้ชี้ให้เราเห็นว่า สมองเราถูกกระตุ้นขึ้นมาเฉพาะเวลาเราเขียน แต่ไม่ใช่เวลาเราที่พิมพ์อะไรบางอย่างลงไป และการกระตุ้นสมองนี้เองเป็นส่วนสำคัญที่ช่วยให้เราจดจำอะไรต่างๆได้ดีขึ้นเวลาเราเรียน นั่นหมายความว่าหากเขียนด้วยลายมือมากกว่าพิมพ์ลงคอมพิวเตอร์ จะสามารถจดจำและสามารถดึงความคิดต่างๆมาใช้ได้ดีกว่า
แต่ทุกวันนี้ความสำคัญของการเขียนด้วยมือเริ่มหายไป
หลายงานวิจัยแสดงให้เห็นว่า นักเรียนเสียอะไรไปบ้างจากการที่ใช้การพิมพ์แทนการจดโน้ตในห้องเรียน งานวิจัยเหล่านี้มักขอให้นักเรียนนั่งฟังการบรรยายอะไรสักอย่าง แล้วให้เลือกเอาว่าจะจดหรือจะพิมพ์ตามแล้วเอาไปอ่านทีหลัง จนได้ข้อสรุปงานวิจัยว่า นักเรียนที่จดโน้ตสามารถจดจำข้อมูลได้นานกว่า สามารถเข้าใจในเนื้อหาเหล่านั้นได้ดีกว่า
อย่างไรตาม นักเรียนที่พิมพ์โน้ตมักจะมีเนื้อหารายละเอียดมากกว่า แต่ตอบคำถามเกี่ยวกับสิ่งที่ได้เรียนมาจากการบรรยายได้น้อยกว่า ดังนั้น ในขณะที่การพิมพ์โน้ตในห้องเรียนอาจจะทำให้ได้เนื้อหามากกว่า แต่การจดโน้ตด้วยลายมือจะช่วยให้นักเรียนจดจำได้มากกว่า

ชื่อภาพ : การเขียน
การเขียนคือวิธีที่ดีที่สุดในการพัฒนาการอ่าน
การเขียนด้วยมือมีส่วนช่วยให้เด็กจดจำคำศัพท์ วิธีการสะกดคำ การออกเสียง ความหมายของคำ และความเข้าใจในคำศัพท์และรูปประโยคมากยิ่งขึ้น ดังนั้นเด็กจึงสามารถเรียนรู้ทักษะการอ่านได้รวดเร็วขึ้นอย่างมีนัยสำคัญ
Brenda Rapp ศาสตราจารย์สาขาวิทยาศาสตร์การรู้คิด หรือ Cognitive science จาก John Hopkins University กล่าวว่า งานวิจัยชิ้นนี้เป็นการตอบโจทย์ความสงสัยของบรรดาพ่อแม่ผู้ปกครองและเหล่าครูอาจารย์ว่า ทำไมเด็กๆ จึงควรใช้เวลาในการฝึกเขียนลายมือ เนื่องจากคนส่วนใหญ่มองแค่ว่า การฝึกคัดลายมือทำให้เด็กมีลายมือที่สวยขึ้น ซึ่งไม่ค่อยมีความจำเป็นมากนักในยุคที่ไม่ค่อยมีใครเขียนกันแล้ว
งานวิจัยชิ้นนี้ได้ทำการศึกษาผู้เข้าร่วมการทดลองจำนวน 42 คน โดยแบ่งออกเป็น 3 กลุ่ม คือ กลุ่มที่เขียน กลุ่มที่พิมพ์ และกลุ่มที่ดูภาพวิดีโอ (writers, typers และ video watchers) และผู้เรียนทั้งหมดจะได้รับการสอนในวิชาภาษาอารบิก
ในการทดลอง ผู้เรียนทุกคนจะเรียนรู้ตัวอักษรทีละตัว โดยดูวิดีโอที่สาธิตการเขียน พร้อมกับได้ยินคำอ่านออกเสียงของตัวอักษรตัวดังกล่าว ซึ่งหลังจากได้รู้จักตัวอักษรแต่ละตัวแล้ว ผู้เรียนทั้ง 3 กลุ่มจะต้องทำการทดสอบสิ่งที่พวกตนเพิ่งได้เห็นและได้ยินในรูปแบบต่าง ๆ
สำหรับกลุ่มวิดีโอ เมื่อมองเห็นตัวอักษรบนหน้าจอ ต้องตอบว่าเป็นตัวอักษรที่พวกตนเพิ่งเห็นหรือไม่ ขณะที่กลุ่มพิมพ์ดีดต้องไปหาตัวอักษรบนคีย์บอร์ด ส่วนผู้เขียนต้องคัดลอกตัวอักษรด้วยปากกาและกระดาษ
หลังจากปล่อยให้ผู้เรียนทั้งหมดได้เรียนไป 6 คาบเรียน ในตอนท้ายสุดของการศึกษาวิจัย ปรากฏว่า ผู้เรียนทุกคนในทุกกลุ่มสามารถจำตัวอักษร และทำผิดเล็กน้อยเมื่อทำแบบทดสอบ แต่อย่างไรก็ตาม ในกลุ่มที่เขียนกลับพบว่ามีความเชี่ยวชาญที่มากกว่าและเร็วกว่าสองกลุ่มที่เหลือ
ขั้นต่อไป นักวิจัยต้องการตรวจสอบว่า กลุ่มสามารถสรุปความรู้ใหม่นี้ได้ในระดับใด หรือพูดให้เข้าใจง่ายขึ้นคือ แม้ผู้เรียนทั้งหมดสามารถจำตัวอักษรได้ แต่จะมีใครที่สามารถใช้งานอักษรเหล่านี้ได้จริงๆ โดยการเขียน หรือนำอักษรเหล่านี้มาผสมสะกดเป็นคำใหม่ และสามารถอ่านคำจากอักษรเหล่านี้ได้หรือไม่
งานวิจัยพบว่า กลุ่มที่เรียนด้วยการเขียนมีผลการเรียนที่ดีกว่า และแม่นยำถูกต้องมากกว่า เมื่อเทียบกับกลุ่มอื่น ๆ
แม้ว่าโลกดิจิทัลยุคใหม่จะทำให้การเขียนด้วยมือถูกลดทอนบทบาทลงไปเรื่อยๆ เพราะเด็กนักเรียนส่วนใหญ่หันมาใช้คอมพิวเตอร์และอุปกรณ์ทางเทคโนโลยีต่างๆ ในการเรียนกันมากขึ้น กระนั้นผลการศึกษาล่าสุดของทีมนักวิจัยแห่งมหาวิทยาลัยจอห์นฮอปกินส์ได้ระบุอย่างชัดเจนว่า ต่อให้การพิมพ์ผ่านคอมพิวเตอร์จะส่งผลดีต่อการแยกแยะและจดจำลักษณะตัวอักษร แต่การฝึกการเขียนด้วยมือยังคงเป็นกระบวนการเรียนรู้ที่ดีที่สุดเสมอ
.
อ้างอิง