Thank You Teacher สัมภาษณ์เจาะลึกผู้เขียนบท ซีรีส์ครูที่พูดถึงการเปลี่ยนแปลงระบบการศึกษาไทย

A A
Jul 11, 2023
Jul 11, 2023
A A

Thank You Teacher ซีรีส์ครูที่พูดถึงการเปลี่ยนแปลงระบบการศึกษาไทย

 

 

การตั้งคำถามกับระบบการศึกษาไทยกลับมาเป็นประเด็นอีกครั้งในช่วงเดือนที่ผ่านมา ทั้งเนื้อหาความรู้ เสรีภาพของผู้เรียน สวัสดิการของครู คำถามที่สำคัญที่สุดคือ เราสามารถเปลี่ยนแปลงอะไรได้บ้างกับระบบโครงสร้างนี้ หรือไม่ต้องเปลี่ยน มันดีอยู่แล้ว

อัตนัยได้กลับมาคุยกับ ดร.ฐานชน จันทร์เรือง อีกครั้ง ครั้งนี้ในฐานะผู้เขียนบทซีรีส์เรื่อง Thank You Teacher ซีรีส์ครูที่พูดถึงการเปลี่ยนแปลงระบบการศึกษาของไทยผ่านเรื่องราวของครูโกะ ครูสาวไฟแรงที่เข้ามาเป็นครูอัตราจ้าง แต่ต้องต่อสู้กับระบบที่ไม่เอื้อให้วิธีการสอนของเธอสร้างประโยชน์กับผู้เรียนได้

 

อัตนัย : พูดถึงความเป็นมาของซีรีส์เรื่องนี้หน่อยครับ ทราบมาว่าเป็น Remake เกาหลี

ฐานชน : ใช่ครับ Remake จากเรื่อง Black Dog คือทางทรูไอดี ต้องการผลิตซีรีส์ที่มีเนื้อหาเกี่ยวกับครู ซึ่งบริษัท True CJ Creations เป็นบริษัทในเครือของทรูที่ร่วมทุนกับเกาหลีเป็นผู้ผลิตซีรีส์เรื่องนี้ครับ ผมถูกติดต่อมาเบื้องแรกในฐานะที่ปรึกษาบท เพราะอย่างที่ทราบผมทำงานด้านการศึกษาทางเลือกตั้งแต่ระดับอนุบาลถึงอุดมศึกษา แต่ทีนี้ พอเข้ามาแล้วเขาพบว่าเนื้อหาค่อนข้างยาก ก็เลยให้ผมเขียนเองโดยมีนักเขียนร่วมอีกสองท่าน คือคุณจารุนันท์ พันธชาต และคุณชาลี ควงขุนทด เรื่องราวพูดถึงโกะ ครูสาวที่เข้ามาเป็นครูในระบบกับนอกระบบ และพบว่าเธอมีวิธีการของเธอเอง

 

อัตนัย : แสดงว่าเข้าทาง

ฐานชน : เข้าทางมาก พลังพวยพุ่ง เพราะเรามุ่งขับเคลื่อนประเด็นนี้อยู่แล้ว ถ้าได้ขับเคลื่อนผ่านช่องทางที่เป็นสื่อสากลอีกทางอย่างซี่รีส์ก็ถือว่าได้ช่วยสังคมไทยมากขึ้น ความลงตัวของโพรเจกต์นี้คือ ทรูเขามีทั้ง True Connext ED และทรูปลูกปัญญาซึ่งขับเคลื่อนส่งเสริมสังคมด้านการศึกษาอยู่แล้ว ทางคุณหลิง (อารี อารีจิตเสถียร) CEO ของทรูซีเจก็สนับสนุนเต็มที่ แถมทางผู้ควบคุมบทในตอนนั้น ก็คือคุณณัฐ นวลแพง ลูกทั้งสองคนของเขาเรียนโรงเรียนไตรพัฒน์ซึ่งเป็นโรงเรียนทางเลือกใช้หลักสูตรกึ่งวอลดอร์ฟ ผมเองก็ทำด้านการศึกษาทางเลือก เราเลยตกลงกันว่า เอาให้สุดต้องให้น้องเฌอปรางค์ อารีกุล ซึ่งน้องก็เรียนจบมัธยมจากโรงเรียนรุ่งอรุณซึ่งเป็นโรงเรียนการศึกษาทางเลือกเช่นกัน ให้มารับบทนำในบทครูโกะ น้องจึงมีความเข้าใจนเนื้อหาชัดเจน ก็เรียกว่าประสานพลังการศึกษาทางเลือกเต็มที่

 

 

ซีรีส์ Thank You Teacher

ชื่อภาพ : Thank You Teacher

 

 

อัตนัย : โดยปกติการทำบทซีรีส์ต้องมีการเก็บข้อมูลหรือทำรีเสิร์ชมากน้อยแค่ไหนครับ

ฐานชน : มีหลายรูปแบบครับ คือนักเขียนจะต้องมีข้อมูลในมือมากพอ นักเขียนจะเป็นผู้หาข้อมูลเองก็ได้ มีผู้ช่วยหรือมีที่ปรึกษาคอยตรวจสอบข้อมูลก็ได้ ทาง True CJ Creations ให้ความสำคัญเรื่องรีเสิร์ชมากครับ ว่ากันตามจริงแม้นักเขียนไม่ได้มีความรู้เฉพาะทางทุกเรื่องก็สามารถเขียนบทได้ เพราะยังไงก็ต้องหาความรู้เพิ่มก่อนเขียนอยู่ดี  แต่มันก็ดีกว่าถ้านักเขียนอินหรือสนใจศึกษาในประเด็นนั้น ๆ อยู่แล้ว สำหรับเรื่องนี้ ผมได้เปรียบในเรื่องการศึกษาทางเลือกเพราะทำงานด้านนี้มาต่อเนื่อง ในส่วนของการศึกษาในระบบผมใช้วิธีให้ลูกศิษย์คอยอัปเดตข้อมูลให้ ทั้งโรงเรียนรัฐและเอกชน ผมลงพื้นที่ไปโรงเรียนที่ลูกศิษย์ผมเป็นครูสอนอยู่ แล้วทำกลุ่มสนทนาเหมือนเก็บข้อมูลงานวิจัยเลยครับ เราจะเอาข้อมูลมากองรวมกัน แล้วผู้ควบคุมบทก็จะช่วยเลือกว่าอันไหนใช้ อันไหนเน้น ไม่เน้น อันไหนปรับ คือต้องหาความลงตัวระหว่างข้อมูลจริงกับศิลปะการเล่าเรื่องด้วยครับ ในด้านการถ่ายทำ ผมเชิญผู้กำกับมาเวิร์กช็อปเกมการศึกษาที่ผมใช้สอนจริงกับเด็กโรงเรียนทางเลือก เพื่อให้เข้าใจร่วมกันเป็นองค์รวมครับ

 

อัตนัย : ขั้นตอนการทำบทเป็นรูปแบบไหนครับ มีคนนำคนตาม หรือว่าช่วยกัน Brainstorm    

ฐานชน : ยกเคสเฉพาะเรื่องนี้นะครับ ผมทำหน้าที่หัวหน้าทีมบทควบที่ปรึกษาบทไปด้วย ก็จะมีปัญหาคือเรามีข้อมูลมาก อาจจะเสียดายข้อมูล อยากจะเล่าไปทุกสิ่ง จึงต้องมีอีกคนหนึ่งคอยมองด้วยสายตาคนดู ก็คือคุณจารุนันท์ คุณจาจะคอยดึงข้อมูลที่เยอะ ๆ ให้กลายเป็นเนื้อหาที่เข้าใจง่าย รวมทั้งคุณจาเป็นผู้หญิงก็จะใส่โมเมนต์โรแมนติกคอเมดีได้ดีกว่าผม  และนักเขียนอีกท่าน คุณชาลี เป็นน้องใหม่ไฟแรง ตัวแทนของคนรุ่นใหม่ น้องเขาจะแทนตัวเองเป็นครูโกะ มองตัวละครแบบ Inside out ภายในสู่ภายนอก และคอยเช็กกระแสสังคมของคนรุ่นใหม่ ประเด็นการศึกษาว่าเด็กยุคนี้มีทัศนคติอย่างไร กับประเด็นที่อยู่ในเรื่องทั้งหมดนี้คุณณัฐ ซึ่งเป็นผู้ควบคุมบทจะเป็นคนไฟนอลสุดท้ายคอยควบคุมทิศทางของเรื่องให้ตรงตามเป้าที่วางไว้ ทีมที่มีความเข้าใจเนื้อหาและเป้าหมายก็จะทำให้เราต่อยอดจากของเดิมได้ดีครับ  

 

อัตนัย : ซีรีส์เรื่องนี้เล่าเรื่องครูในระบบ แต่ดูเหมือนว่าคุณจะตั้งธงแต่แรกแล้วว่าอยากชูประเด็นการศึกษาทางเลือก ช่วยเล่าประวัติการทำงานตรงนี้หน่อย

ฐานชน : ย้อนไกลหน่อย ประมาณปี 2548 พ่อผมอยากทำโรงเรียน แต่อยากให้เป็นระบบสำนัก ผมจึงเริ่มเขียนหลักสูตรสอนเด็กเอง แล้วไปเทียบกับ กศน. ที่นี้พอปี 2550 ก็เปลี่ยนไปใช้รูปแบบโฮมสคูล (การศึกษาตามอัธยาศัย) ใช้ชื่อบ้านเรียนละครมรดกใหม่ ตอนนู้นเลยผมเริ่มจากทำให้เด็กนักเรียนประมาณ 7 คน แต่ปัจจุบันก็ส่งต่อให้สมาชิกคนอื่นทำแล้วนะ คือที่มรดกใหม่เราใช้ระบบสำนักเป็นหัวใจแล้ววิธีสอนจะให้เด็กเรียนผ่านรูปแบบละครทั้ง 8 กลุ่มสาระ จะเรียนวรรณกรรมก็ทำละคร จะเรียนภาษาอังกฤษก็ทำเป็นละคร จะเรียนวิทยาศาสตร์ก็ใช้ละครเป็นเครื่องมือการเรียนรู้ มันจึงเป็นการเล่นปนเรียน ในช่วงแรกหลักสูตรไม่ผ่าน ก็ต่อสู้พอสมควร จนหลักสูตรผ่าน เราขึ้นกับ สพฐ.เขต1 ปทุมธานี กว่าจะผ่านนี่ต้องเชิญทางเขตเขามาดูว่าเราสอนอย่างไร เทียบความรู้อย่างไร จนเขาเข้าใจแล้วสนับสนุนเราจนกลายเป็นภาคีที่ดียาวนานกว่า 20 ปี เด็กจะสอบที่เรา 70% และสอบที่เขต 30% ผมสู้จนเรามีหลักสูตรเฉพาะคนให้เด็กทุกคนตั้งแต่อนุบาลถึงม.6 ด้วยความที่เราทำต่อเนื่องก็เลยมีโรงเรียนในระบบมาศึกษาดูงานมากมาย แต่โดยระบบการศึกษาไทยมันก็ไม่สามารถทำแบบเราได้ทั้งหมด ผมมองว่าบางโรงเรียนแค่เอาวิธีการบางอย่างไปปรับใช้ก็โอเค เด็กโฮมสคูลที่โรงเรียนผมก็สอบติดไม่แพ้เด็กที่อื่นเลยมีทั้งศิลปากร มศว ราชมงคล  เข้ามหาลัยก็จะงง ๆ หน่อยเพราะชีวิตไม่เคยใส่ยูนิฟอร์มเลย

 

อัตนัย พบปัญหาอะไรกับการศึกษาในระบบปกติบ้าง

ฐานชน : ต้องบอกว่าในฐานะผู้เรียนตั้งแต่เด็กแล้ว ผมไม่มีปัญหากับการศึกษาในระบบ ผมชอบ ผมเป็นเด็กเกเรที่บ้าเรียน ชอบนั่งฟังครูบรรยาย ไม่ชอบทำกิจกรรม ไม่ชอบเรียนแบบโมดูล ชอบนั่งฟัง ฟังแล้วคิดต่อยอดได้ ฟังแล้วเอาไปลงมือปฏิบัติเอง ไปทดลองเอง คือตอนเรียนชอบนั่งฟัง แต่เวลาใช้ชีวิตเรานอกกรอบ ดังนั้นการเรียนในระบบตอบโจทย์ผม  แต่พอเราโตขึ้นมาเป็นอาจารย์เราก็พบว่าเด็กส่วนใหญ่ไม่ใช่แบบเรา เด็กส่วนใหญ่ของประเทศไม่ได้เหมาะกับการเรียนแบบฟังครูพูดหน้าชั้น คือผมสอนทั้งปริญญาตรี โทและเอก  แล้วสอนวิชาศาสนาและปรัชญาซึ่งเป็นวิชาศึกษาทั่วไป ผมก็จะเจอนักศึกษาแทบทุกคณะ มีลูกศิษย์ที่เรียนครูเยอะมาก แก่ ๆ เป็น ผอ.ก็มี เขาก็จะมาสะท้อนให้ฟังว่าเวลาไปสอนในแต่ละจังหวัด นักเรียนไม่ได้โอเคกับการนั่งฟังบรรยายยาว ๆ น้อยคนที่ชอบจริง ๆ แต่เนื่องจากทางเลือกมันไม่มีก็เลยต้องเรียนในระบบ ผมฟังแล้วก็เห็นภาพเลย คือมันต้องคนบ้าแบบเราที่บ้าทำหลักสูตรเฉพาะคนให้เด็กเป็นรายบุคคล ในขณะที่การศึกษาในระบบนั้น หลักสูตรเดียวใช้กับเด็กเกือบทั้งประเทศ แปลว่าหลักสูตรโฮมสคูลที่ผมทำมันก็โอเคกับเด็กกลุ่มเล็ก ๆ ของผมเท่านั้น แล้วเด็กส่วนใหญ่คนอื่น ๆ ที่อยากเรียนแบบนี้ล่ะ

 

อัตนัย แสดงว่าปัญหาระบบนี่เป็นเรื่องใหญ่ แล้วคุณทำอย่างไรต่อครับ

ฐานชน : ผมก็หาทางเปิดหลักสูตรปริญญาตรีเอง คือจะสอนให้ครูทำหลักสูตรโฮมสคูลให้เด็กแบบที่ผมเคยทำ กลยุทธ์ของผมคือเพิ่มปริมาณครู ถ้ามีครูที่มีสกิลนี้เยอะ ๆ ก็จะช่วยเด็กได้มากขึ้น พ่อผมจัดอบรม ส่วนผมพยายามเปิดปริญญาตรี ผมก็หาช่องทางนานมากไม่ได้สักที แต่พอจะได้ก็ได้เลยคือช่วงปี 57 ทางสถาบันอาศรมศิลป์เขาเปิดหลักสูตรปริญญาตรีผู้ประกอบการสังคม แล้วเขารู้ว่าเราทำด้านนี้ก็เลยให้มาเปิดแขนงผู้ประกอบการสังคมด้านการละคร ผมก็เขียนหลักสูตรเองคนเดียวทุกวิชาจนปวดหลัง ก็ทำจนสำเร็จ มีคนมาเรียนสิบกว่าคน สนุกมาก ตอนเด็กรับปริญญานี่ผมน้ำตาไหลพราก ๆ  แต่เนื่องจากคนเรียนน้อย เปิดต่อไม่ได้ก็ถูกยุบรวม ผมเข้าใจได้นะ มันยาก มันต้องใช้ความรักความทุ่มเท คุณต้องนึกภาพหลักสูตรเด็กหนึ่งคนเนี่ยเป็น 200-300 หน้า คุณต้องทำให้เด็ก เอาแค่ 30 คน กี่พันหน้า แถมครูต้องเป็นเหมือนกระบวนกร วิทยากร จัดอบรมได้ เขียนแผนได้ สอนได้ ทำหลักสูตรได้ มันหลายสิ่ง

 

 

ฐานชน จันทร์เรือง ผู้กำกับ Thank You Teacher

ชื่อภาพ : ดร.ฐานชน จันทร์เรือง ผู้เขียนบท Thank You Teacher

 

 

อัตนัย : ถ้าต้องทำหลักสูตรเฉพาะคน แสดงว่าครูก็ต้องรู้จักเด็กทุกคนแบบลงลึก ถึงจะเข้าใจและรู้ความถนัดของเขาได้

ฐานชน : ใช่ครับ ดังนั้นจำนวนครูต่อจำนวนเด็กจึงสำคัญมาก ผมพบว่าครู 1คน เด็ก 7 คน แบบนี้กำลังดี ซึ่งตรงนี้ก็ทำให้เรารับเด็กเยอะ ๆ หรือขยายโรงเรียนให้เป็นกระแสหลักไม่ได้ มันจึงเป็นทางเลือกถูกแล้ว ปัจจุบันโรงเรียนทางเลือกเกิดขึ้นเยอะมากนะครับ บางที่ผู้ปกครองรวมกลุ่มกันออกแบบหลักสูตรเองแล้วเชิญครูที่คิดว่าเหมาะสมมาสอนลูกตัวเอง เดินเรื่องกับเขตพื้นที่การศึกษาเองก็มี แล้วเรื่องวิธีการสอนนี่พ่อผมไปไกลมาก เขาใช้ระบบสำนักที่เข้มข้นเลย คือพ่อผมเขาสายดนตรีไทย มีวิธีการสอนแบบไม่สอนคือให้เด็กใหม่ที่ยังเล่นดนตรีไม่เป็นมาเนียน ๆ งง ๆ อยู่วงรุ่นพี่ที่เล่นดนตรีเก่งแล้ว อัตราส่วนคือเด็กใหม่ 1 รุ่นพี่ 4  ไม่เกิน 1 เดือนเด็กใหม่จะเล่นเก่งตามโดยไม่ต้องสอนอะไรเลย เด็กใหม่กลืนไปกับสิ่งแวดล้อมของเด็กเก่าอย่างรวดเร็ว  แล้วก็เป็นแบบนั้นจริง ๆ  ไป ๆ มา ๆ พอเปิดตำรา เฮ้ย ระบบสำนักนี่เหมือน Montessori เลย คือให้เด็กเรียนคละชั้นกัน ไม่รู้ฝรั่งลอกเราหรือเราลอกฝรั่ง เอาว่ามันใช้ได้ผลจริงแล้วกัน

 

อัตนัย : สรุปคือคุณพยายามทำทุกอย่างให้การศึกษาทางเลือกมีมากขึ้น

ฐานชน : ใช่ เพราะเด็กแต่ละคนไม่เหมือนกัน และเราควรดักนะ คือทำทางเลือกดักไว้ ไม่ใช่เด็กมีปัญหาแล้วค่อยหาทางเลือก

 

อัตนัย : แนวคิดเบื้องหลังคือ Child Center ใช่ไหม

ฐานชน : แต่ก่อนเป็นแบบนั้นครับ แต่ตอนนี้ต้องไปไกลกว่านั้น ผมมีเพื่อนครูฟินแลนด์กับเอสโตเนีย เราแลกเปลี่ยนนักเรียนกันประจำและเราคุยเรื่องนี้กันพอควร เขาก็พบปัญหาการให้เด็กเป็นศูนย์กลางจักรวาลเช่นกัน คือ ถ้านิยามผิด การสอนก็จะผิดครับ เราต้องแยกก่อนว่า ปฐมวัยยาวถึงวัยรุ่นตอนปลาย โลกจะหมุนรอบตัวเด็ก ลองนึกถึงเราเองตอนเป็นเด็กก็ได้ หนังชีวิตเรื่องนี้ฉันคือพระเอกนะ ที่นี้ถ้าครูไปตีความผิดว่า ต้องซัปพอร์ตทุกความอยาก ทุกความต้องการของเด็ก เด็กอยากได้อะไรต้องได้สิ่งนั้น อันนี้พาวิบัติเลย สิ่งที่ครูควรรีบรู้เมื่อรับเด็กสักคนมาเป็นศิษย์ก็คือ เด็กคนนั้นมีวิธีการเข้าใจโลกอย่างไรต่างหาก 

 

อัตนัย : หมายความว่าแนวคิด Child Center นั้นยังไม่ใช่วิธีการที่ดีที่สุด

ฐานชน : ไม่ได้หมายความแบบนั้นครับ แต่มันต้องตีความให้ถูกต้อง ตอนนี้ขั้นต่อไปของ Child Center ก็คือการทำความเข้าใจระบบนิเวศของเด็ก ใช้ภาษาง่าย ๆ เราเรียกว่า การจัดการสิ่งแวดล้อม หรือการออกแบบประสบการณ์

 

อัตนัย : ขอแบบเห็นภาพ ยกตัวอย่างการเรียนรู้สักเรื่อง

ฐานชน : ครับ เช่นถ้าเด็กกำลังอยากเรียนรู้การสร้างบ้านดิน สิ่งที่ครูควรทำคืออะไร พาไปดูบ้านแบบต่าง ๆ ก่อนไหม พาขุดดินไหม พาเรียนเขียนแบบไหม ไม่พอหรอกที่สำคัญกว่านั้นคือ เด็กต้องได้เจอมนุษย์บ้านดิน ต้องมีสิ่งแวดล้อมที่เป็นมนุษย์นักสร้างบ้านดิน เจอหมู่บ้านที่ทั้งซอยเลยเป็นบ้านดิน แล้วไปกินอยู่หลับนอน เข้าค่ายอะไรก็ว่าไป  นี่คือการออกแบบประสบการณ์ ไม่ใช่แค่ทฤษฎี ปฏิบัติ แต่ต้องมีบรรยากาศ อารมณ์ร่วม สังคม วิถีชีวิต และการใช้ชีวิตครับ ถ้าพูดแบบธุรกิจคือครูต้องหา Connection ให้เด็กด้วย

 

อัตนัย : โรงเรียนทางเลือกส่วนใหญ่เป็นแบบนี้ไหม

ฐานชน : แต่ละที่รูปแบบต่างกันสุดขั้วเลยครับ หลากหลายมาก แต่แนวคิดที่เหมือนกันเลย คือ ครูเป็นผู้ช่วยออกแบบประสบการณ์ให้เด็ก ถ้าเป็นโรงเรียนสายวอลดอร์ฟแบบของคุณณัฐ ครูเขาจะเลือกให้เลยว่า เด็กวัยไหนควรรับสื่อประเภทไหน ดูอะไรได้บ้าง ไม่ใช่กลัวว่าเด็กจะหลง Fake News เท่านั้น แต่เพื่อเสริมแรงบวก เช่น เด็ก 1-7 ขวบ ควบสมองสร้างสรรค์มาเต็มอยู่แล้ว จินตนาการเกินร้อย เวลาเล่านิทานไม่จำเป็นต้องใส่ Acting ก็ได้ เพราะน้ำเสียงคนเล่าจะเป็นการชี้นำความคิดเด็ก ให้เล่านิทานแบบเนิบ ๆ นิ่ง ๆ เป็นกลางที่สุด เด็กจะจินตนาการต่อได้เอง สมองใช้ครบทุกหยัก  ที่นี้หนังละครมันดันมาพร้อมภาพและเสียง เด็กเล็กควรได้ฟังเสียงแล้วเกิดภาพ ได้เห็นภาพแล้วเกิดเสียง มันก็ไปบล็อกสมองครับ ที่พูดนี่ไม่ได้เกี่ยวกับเรื่องเรตเรื่องเซ็นเซอร์อะไรเลยนะ กระบวนการเรียนรู้ของสมองล้วน ๆ หรืออย่างอายุ 14 นี่คือพร้อมบวกมาก พลังเปรี้ยว พลังรบมาเต็ม แฟนตาซีไม่เหมาะแล้ว ต้องผจญภัยเรียนรู้โลก หรือเรื่องราวแบบนักสู้เปลี่ยนแปลงสังคม พอ 15-16 ต้องอ่านงานรรณกรรมแนวมิตรภาพ เพราะเด็กจะเริ่มติดเพื่อน ให้ความสำคัญกับเพื่อน หรือแม้แต่แบบเรียนในระบบเอง ผมมองว่า ขุนช้างขุนแผนก็มิตรภาพนะ แต่คนสอนอาจไปเน้นเรื่องรัก ๆ ใคร่ ๆ มากไปหน่อย ไม่ได้โฟกัสเรื่องมิตรภาพเท่ ๆ ระหว่างขุนแผน พระพัน ขุนช้าง  กลับมาประเด็นเดิมคือครูต้องเป็นผู้ออกแบบประสบการณ์ให้เด็ก    

 

อัตนัย : การมาเขียนบทเรื่องนี้ก็หวังผลเรื่องการศึกษาของประเทศด้วยใช่ไหมครับ

ฐานชน : หวังครับ แต่ก็ไม่ได้คิดถึงขั้นว่าต้องลดโรงเรียนในระบบลง หรือเปลี่ยนระบบแบบรื้อโครงสร้างอะไรขนาดนั้น แค่มองว่าต้องมีโรงเรียนทางเลือกมากขึ้นให้กับเด็กที่มีวิธีการเรียนรู้ที่หลากหลาย เพราะฉะนั้นเรื่องนี้ต้องตะโกนดัง ๆ เมื่อคุณณัฐ นวลแพง ชวนมาทำบทเรื่องนี้ ผมจึงรับทันที เพราะนี่คือโอกาสช่วยเหลือสังคมด้านการศึกษา และทรูเขาก็สนับสนุนเรื่องนี้อย่างมาก

 

อัตนัย : เรื่องนี้ Remake จากเกาหลี อยากทราบว่าระบบการศึกษาหรือบริบทของเขาต่างจากเราไหม คุณมีวิธีการปรับอย่างไร

ฐานชน : ปัญหาหลักไม่ต่าง แต่รายละเอียดต่างครับ เช่น โรงเรียนเอกชนของเขาถูกมองว่าเป็นรองโรงเรียนรัฐ ซึ่งตรงข้ามกับเราที่ถ้าบ้านมีเงินก็ส่งลูกเรียนเอกชนที่มีชื่อเสียง ตรงนี้เราก็ต้องปรับบริบท แต่เอาจริงนะ เรื่องนี้ผมแทบไม่ได้ตามต้นฉบับเกาหลีเลย เราเปลี่ยนเนื้อเรื่องเกือบ 70% แล้วก็เติมวิธีการสอนแบบการศึกษาทางเลือกเข้าไป เพราะเกาหลีเองก็มีปัญหาไม่ต่างจากเรา คือ ระบบไม่ได้เอื้อให้เด็กทุกคนอย่างเท่าเทียม ผมจับโครงตรงนี้ แล้วเอาปัญหาของไทยมาขยายเป็นเส้นเรื่อง เส้นหลัก เส้นรอง หลายประเด็นมากครับ

 

อัตนัย : มีประเด็นไหนที่ยังเก็บของเกาหลีไว้ไหมครับ

ฐานชน : บอกหมดจะเป็นการสปอยล์ เอาเรื่องนี้แล้วกัน เรื่องเด็กเส้น เกาหลีเขาเน้นหนักมาก ถึงขั้นว่า ถ้ามีญาติเป็นผู้บริหารแล้วมีครูใหม่เข้ามาเป็นญาติกันจะถูกเพ่งเล็งหนักมาก เรื่องใช้เส้นสายเรื่องโกงสังคมจะประณามสุด ๆ ต่างจากบ้านเราที่เด็กฝากเป็นเรื่องปกติ ตอนแรกผมว่าจะตัดออก แต่คิดไปคิดมาเก็บไว้ดีกว่า เหตุผลคือ ผมรู้จักครูรุ่นใหม่ไฟแรงหลายคนที่พร้อมพิสูจน์ตัว ผมอยากให้ซีรีส์เรื่องนี้เป็นกำลังใจให้เขา ที่เข้ามาแบบถูกต้องตามกติกา ครูไฟแรงเหล่านี้ควรได้รับการชื่นชม และเราควรให้กำลังใจครับ รวมถึงเรื่องครูอัตราจ้าง ครูประจำ ข้าราชการบรรจุใหม่ที่เงินเดือนน้อย ตกเบิกอีก แถมยังต้องโหลดงาน ทั้งงานสอน งานเอกสาร ทำประกันคุณภาพ คืออยากสื่อสารกับครูว่า มีคนเข้าใจและเห็นใจนะ มีคนพยายามช่วยเหลือเรื่องเหล่านี้อยู่นะ คุณครูไม่ได้โดดเดี่ยวนะ  

 

อัตนัย : เหมือนชีรีส์เรื่องนี้ เป็นกำลังใจให้ครู แล้วเด็กนักเรียนล่ะครับ

ฐานชน : ประเด็นของเด็กก็เน้นครับ ประเด็นที่เรารู้ ๆ กันอยู่มีหมด เด็กโดนที่บ้านกดดัน ค่านิยมสถานศึกษา การแบ่งระดับเด็กห้อง Gifted ห้องบ๊วย การสอบระดับประเทศที่ระบบกติกาเปลี่ยนบ่อยเหลือเกิน เรื่องสถาบันกวดวิชาเอยอะไรเอย แต่ประเด็นที่ผมเพิ่มขึ้นมาชัด ๆ คือพยายามชี้ว่าถ้าเด็กเปิดเรดาร์ความรักเป็น ก็จะก้าวข้ามปัญหาได้ง่ายขึ้นครับ

 

อัตนัย : เรดาร์ความรัก น่าสนใจ ช่วยขยายความหน่อยครับ

ฐานชน : โดยธรรมชาติเด็กเป็นศูนย์กลางของจักรวาลแหละ นั่นหมายความว่า ทุกคนต้องการความรัก ทีนี้บางทีระบบรูปแบบมันขวางทำให้เด็กไม่เห็นความรักของครู ผมว่าอันนี้ก็เป็นปัญหาใหญ่ของปัจจุบันนะ คือผมเห็นทั้งเด็กประถม มัธยม แล้วก็เห็นลูกศิษย์ที่เรียนครูด้วย เด็กที่เรียนครูและพร้อมจะไปเป็นครูเนี่ย พลังความรัก ความอยากให้ความรู้มันสูงมากนะ แล้วมันฟังดูสมประโยชน์ทุกฝ่าย ครูพร้อมให้ความรัก เด็กต้องการความรัก มันก็ควรจะดีใช่ไหม มันควรจะเป็นหนังโรแมนติกคอเมดีเนอะ แต่ชีวิตจริงมันดราม่าซะงั้นน่ะ ผมก็เลยวิเคราะห์หาว่า ทำไมเด็กรับความรักไม่ได้ อะไรทำเรดาร์ความรักพัง

 

อัตนัย : เจอไหม

ฐานชน : เจอครับ อยากบอกตอนนี้เลย แต่อยากให้ไปดูในซีรีส์มากกว่า อ่ะ แอบบอกนิดนึงก็ได้ คือนอกจากเราต้องเตรียมทางเลือกให้เด็กแล้ว เราต้องมีทางเลือกให้ครูด้วย ถ้าครูโดนจำกัดด้วยเงื่อนไขใด ๆ ไม่รู้ล่ะ ไอ้สิ่งที่จำกัดครูเนี่ยมันบดบังเรดาร์เด็กนะ ผมไม่ได้บอกว่าครูไทยดีทุกคนนะ ผมย้ำอีกทีจากประสบการณ์ที่เจอว่า ครูบรรจุใหม่ ครูใหม่วัยรุ่นทั้งหลาย ร้อยละ 90 เลยอ่ะ เขามาด้วยหัวใจบริสุทธิ์ ความรักเขาสะอาด แต่ก็ Burnout อย่างรวดเร็ว

 

อัตนัย : ฟังดูไม่ใช่ซีรีส์ตีแผ่ แต่เป็นซีรีส์ให้กำลังใจ

ฐานชน : จะว่าอย่างนั้นก็ได้ครับ ให้กำลังใจทั้งครู นักเรียน ผู้ปกครอง    

 

อัตนัย : ปัญหาในการทำบทเรื่องนี้คืออะไรครับ

ฐานชน : เป็นปัญหาเดียวกับที่เด็กและครูเจอครับ ระบบการศึกษาเราเปลี่ยนกติกาบ่อย ถ้าผมทำแบบสมจริงแบบว่าอัปเดตข้อมูลเป๊ะ ๆ เลย ยังไงก็ไม่มีทางทำได้ รูปแบบการสอบ ONET Admission GAT รับตรง โควตา เปลี่ยนตลอด เกณฑ์ก็เปลี่ยน เปลี่ยนระหว่างปีก็มี แถมฝั่งครู เดี๋ยวเรียนจบแล้วต้องสอบใบประกอบ เดี๋ยวจบปุ๊บมีใบประกอบเลย เดี๋ยวกลับไปเป็นแบบเดิมใหม่ เดี๋ยวเรียนครู 4 ปีบ้าง 5 ปีบ้าง บางสาขา 5 ปี บางสาขาไม่ต้อง มันไม่เคยนิ่งเลยครับ ล่าสุดเลยสอบบรรจุของจังหวัดหนึ่ง นักศึกษาจะไปเป็นครูศิลปะ เรียนจบคณะศึกษาศาสตร์มา มีใบประกอบวิชาชีพเรียบร้อยด้วยนะ แต่เฉพาะจังหวัดนี้มีเงื่อนไขว่า ต้องจบเอกการสอนศิลปะเท่านั้น ถ้าชื่อหลักสูตรเป็นศิลปะศึกษา คือบรรจุไม่ได้ พอดูดีเทล ไม่ว่าจะการสอนศิลปะ หรือศิลปะศึกษา หน่วยกิต วิชาเรียน คือเหมือนกันเป๊ะ สรุป เด็กคนนั้นอดเป็นครูที่จังหวัดนั้น อะไรแบบนี้ คือรายละเอียดหยุมหยิมมากครับ เราทำบทเรายังงงเลย เด็กที่สอบครูจริงจะปวดหัวขนาดไหน ผมก็เลยเอาปัญหาตรงนี้มาเป็นจุดแข็ง คือไม่ได้โฟกัสที่ต้องอัปเดตข้อมูลเป๊ะ ๆ แต่เอาประเด็นปัญหามาจับ แล้วทำเส้นเรื่องจากปัญหาจริงที่เกิดกับระบบการศึกษาของไทยครับ    

    

อัตนัย : สุดท้าย คาดหวังอะไรกับซีรีส์เรื่องนี้ครับ

ฐานชน : เราไม่ได้ทำบทแค่เพื่อความบันเทิงเท่านั้น แต่เราถกกันหนักเรื่องการศึกษาของประเทศนี้ และบทเราไปไกลกว่าเกาหลีนะ ไม่ได้บอกว่าดีกว่า แต่ไปไกลว่าตรงที่เราเสนอทางออกให้ครูด้วย และเราก็เชื่อว่าครูหนุ่มสาวสามารถทำแบบนี้ได้จริง ๆ ไม่ต้องกลัวว่ากล้าหาญแล้วจะโดดเดี่ยว อย่างน้อยก็ทีมบททีมนี้ล่ะพร้อมสู้ไปครับครูหนุ่มสาวทุกคน ฉะนั้นถ้าถามว่าคาดหวังอะไรกับซีรีส์เรื่องนี้ เอาเป็นว่า อยากให้ทุกคนได้ดูแล้วเกิดการพูดคุยกันครับ โดยเฉพาะหนุ่มสาว ผมเชื่อว่าเรามีพลังหนุ่มสาวที่พร้อมขับเคลื่อนประเทศอยู่แล้ว และอันที่จริงระบบก็ไม่ได้เลวร้ายนัก แต่เราต้องมีทางเลือกให้ทุกคนมากกว่านี้ และการศึกษาเป็นเรื่องที่ควรให้ความสำคัญครับ

 

Share

Authors

Authors

RELATED POSTS