Bad Genius (ฉลาดเกมส์โกง) โกงอย่างไร…ให้โลกจารึก
Bad Genius หรือ ฉลาดเกมส์โกง เป็นภาพยนตร์ที่ก้าวขึ้นมาเป็นหนึ่งในภาพยนตร์ไทยที่โดดเด่นระดับนานาชาติ ไม่เพียงแต่ด้วยเนื้อเรื่องที่น่าติดตามเท่านั้น แต่ยังเพราะการหยิบยกประเด็นการศึกษาและการคอร์รัปชันทางจริยธรรมในระบบการศึกษามานำเสนอได้อย่างลึกซึ้ง ภาพยนตร์เรื่องนี้กำกับโดย “นัฐวุฒิ พูนพิริยะ” และนำแสดงโดย “ชุติมณฑน์ จึงเจริญสุขยิ่ง” ในบทของ “ลิน” เด็กสาวอัจฉริยะที่เปลี่ยนความสามารถทางการศึกษาไปเป็นเครื่องมือในการโกงสอบระดับโลก
จนกระทั่งในปี 2024 ภาพยนตร์เรื่องนี้นำมาเล่าใน Version ใหม่ด้วย Scale ระดับ Hollywood โดยได้ Benedict Wong และ Callina Liang มาแสดงนำ และกำกับโดย J.C. Lee (Luce, 2019) ภายใต้สตูดิโอ Picture Perfect Federation ผู้สร้างหนังออสการ์ CODA (2021) นั่นเอง
โดยฉลาดเกมส์โกง Version นี้บอกเล่าเรื่องราวของ ลินน์ สาวเชื้อสายเอเชีย นักเรียนทุนมากพรสวรรค์ของโรงเรียนได้มองเห็นช่องทางและโอกาสที่จะได้รับจากความชาญฉลาดของตัวเองมากกว่าทุนการศึกษานี้ เธอจึงเริ่มต้นรับจ้างโกงข้อสอบภายในห้องเรียนเพื่อหารายได้จากเพื่อนร่วมชั้นผู้ร่ำรวย ก่อนจะถลำลึกไปถึงการโกงข้อสอบที่ยิ่งใหญ่ที่สุดในชีวิตนักเรียน นั่นคือการสอบเข้ามหาวิทยาลัยที่การันตีทั้งความยาก ท้าทาย และแบกความหวังสุดกดดันจากกลุ่มเพื่อนและผู้จ้างให้โกงในครั้งนี้มากกว่าแค่การโกงเล็กน้อยภายในห้องเรียนหลายสิบเท่า งานนี้เธอไม่สามารถทำมันได้คนเดียวจึงต้องแท็กทีมโกงกับ แบงค์ นักเรียนทุนอีกรายเพื่อวางแผนอย่างแยบยลที่สุด เพราะเกมโกงข้อสอบในครั้งนี้เดิมพันด้วยอนาคตทั้งหมดของพวกเขา
การดัดแปลงภาพยนตร์ของ Hollywood ครั้งนี้ในภาพรวมค่อนข้างเคารพทิศทางเดิมของเนื้อเรื่องฝั่งต้นฉบับของไทย รวมไปถึงการเลือกที่จะใช้ชื่อคาแรกเตอร์ต่าง ๆ ให้แทบจะถอดแบบออกมาเป๊ะ ๆ ทั้ง ลินน์, แบงค์, เกรซ และ พัท ซึ่งจุดนี้เองที่ทำให้ผู้ชมที่รับชมภาพยนตร์ ฉบับไทยมาแล้ว สามารถเทียบเคียงตัวละครตามได้ไม่ยาก แต่สิ่งหนึ่งที่ทำให้มันแตกต่างออกไปคือการหยอดมุมมองเล็ก ๆ ที่สะท้อนค่านิยมการศึกษาของอเมริกา แซมด้วยประเด็นความเลื่อมล้ำทางชนชั้นของคนชายขอบได้อย่างแยบยล และสอดแทรกเหตุการณ์ทางประวัติศาสตร์ที่เกิดขึ้นจริงได้อย่างน่าสนใจ
อย่างที่เราทราบกันมาบ้างแล้วภาพยนตร์ไทยต้นฉบับ “ฉลาดเกมส์โกง” ได้แรงบันดาลใจจากเรื่องจริงสุดช็อกของการโกงข้อสอบในชีวิตจริงอย่างเหตุการณ์โกงข้อสอบ SAT (SAT Reasoning Test) ข้อสอบมาตรฐานสากลที่ใบเบิกทางสู่มหาวิทยาลัย Top Tiers ของโลกไม่ว่าจะเป็น Harvard University , Yale University , Columbia University ไปจนถึง Stanford University
และเมื่อ ‘ข้อสอบ’ นี้มีอนาคตที่ยิ่งใหญ่เป็นเดิมพัน ผู้เล่นจึงทุมหมดหน้าตักเพื่อผลลัพธ์โดยไม่สนวิธีการ
ในช่วงปี 2013-2015 โดยเฉพาะในแถบประเทศเอเชียตะวันออก เช่น จีน และ เกาหลีใต้ มีการวางแผนและดำเนินการโกงข้อสอบในลักษณะที่ซับซ้อนและเป็นระบบ โดยใช้ความได้เปรียบของ “เวลา” แต่ละไทม์โซนเป็นปัจจัยสำคัญ
เหตุกาารณ์ครั้งนั้นเป็นการร่วมมือกันของนักเรียนและครูสอนพิเศษในหลายประเทศ โดยเฉพาะจากเอเชีย โดยมีการจ้างคนเข้าสอบในประเทศที่เวลาเร็วกว่าประเทศในแถบเอเชีย เช่น ออสเตรเลีย และ นิวซีแลนด์ เพื่อเข้าสอบ SAT ก่อนที่จะมีการสอบในประเทศอื่นที่เวลาเขตช้ากว่า เช่น จีน และ เกาหลีใต้
แผนการที่ถูกนำมาใช้ในการโกงข้อสอบ SAT ครั้งนี้เป็นการผสมผสานเทคโนโลยีและการสื่อสารแบบลับ ๆ ผู้ที่ถูกจ้างมาให้เข้าสอบในออสเตรเลียและนิวซีแลนด์ จะเข้าสอบ SAT ในรอบเช้า และเมื่อพวกเขาทำข้อสอบได้เสร็จสิ้นในระหว่างการสอบ พวกเขาจะขออนุญาตไปเข้าห้องน้ำ ซึ่งที่นั่นพวกเขาใช้เวลานั้นในการส่งคำถามและคำตอบออกไปผ่านโทรศัพท์มือถือให้กับทีมที่รออยู่ในประเทศที่สอบตามเวลาที่ช้ากว่า เช่น จีน
คำถามจาก SAT จะถูกส่งต่อไปยังนักเรียนในประเทศเหล่านี้ที่ยังไม่ถึงเวลาสอบ โดยผ่านทางข้อความหรือแอปพลิเคชันสื่อสาร ซึ่งทำให้นักเรียนสามารถเตรียมตัวสำหรับคำถามได้ก่อนที่ข้อสอบจะมาถึงมือพวกเขา
เมื่อเกิดเหตุการณ์การโกงครั้งนี้ ทาง College Board ซึ่งเป็นหน่วยงานผู้ดูแลการจัดสอบ SAT ได้รับการแจ้งเตือนจากหลายแหล่งที่สงสัยถึงการทุจริตที่อาจเกิดขึ้น ซึ่งทำให้พวกเขาเริ่มการสืบสวนอย่างเข้มข้น คำถามหลายชุดที่นักเรียนในประเทศเอเชียเจอ กลับตรงกับคำถามที่ออกสอบในประเทศเขตเวลาเร็วกว่าอย่างไม่น่าเชื่อ
การสืบสวนดังกล่าวได้เปิดเผยว่ามีการเชื่อมโยงระหว่างครูสอนพิเศษและนักเรียนกลุ่มใหญ่ที่มีส่วนร่วมในการโกงครั้งนี้ ทำให้ในที่สุดมีการยกเลิกผลการสอบของนักเรียนจำนวนมากในประเทศที่เกี่ยวข้อง อีกทั้งยังมีการดำเนินคดีทางกฎหมายกับผู้ที่มีส่วนร่วมในการโกง
การโกงข้อสอบ SAT ครั้งนี้ไม่เพียงแต่ทำลายความน่าเชื่อถือของนักเรียนและครูสอนพิเศษที่เกี่ยวข้อง แต่ยังเป็นการบ่อนทำลายความเชื่อมั่นในระบบการสอบมาตรฐานสากลอย่าง SAT อีกด้วย สำหรับนักเรียนที่สอบอย่างซื่อสัตย์และทำงานหนักเพื่อเตรียมตัวสอบ การโกงครั้งนี้ถือเป็นการขโมยโอกาสที่พวกเขาสมควรได้รับ
หลังจากเหตุการณ์นี้ College Board ได้เริ่มเพิ่มมาตรการรักษาความปลอดภัยและตรวจสอบการสอบอย่างเข้มงวดมากขึ้น เพื่อป้องกันไม่ให้เหตุการณ์โกงลักษณะนี้เกิดขึ้นอีกในอนาคต หนึ่งในมาตรการที่ถูกนำมาใช้คือการทำให้ข้อสอบ SAT มีความแตกต่างกันในแต่ละประเทศและการใช้การตรวจสอบความผิดปกติในการทำข้อสอบของนักเรียน
เพราะแรงกดดันทางสังคมและการมองผลลัพธ์สำคัญกว่าวิธีการ แม้แต่….ข้อสอบของประเทศไทยเองก็เช่นกัน
ในประเทศไทย มีเหตุการณ์โกงข้อสอบที่กลายเป็นข่าวใหญ่และสร้างความตกตะลึงให้กับสังคม คือกรณีการโกงข้อสอบของ ตำรวจหญิง ในปี 2555 ที่มีการใช้วิธีการที่ซับซ้อนและแปลกใหม่ในการโกง โดยใช้เทคโนโลยีที่พัฒนาขึ้นเพื่อซ่อนการโกง โดยในกรณีนี้ มีการใช้อุปกรณ์ที่เรียกว่า “ไข่สั่น” หรือ Sextoy มาแทนที่โพยหรือการจดจำคำตอบแบบทั่วไป
วิธีการโกง คือกลุ่มผู้เข้าสอบได้วางแผนร่วมกัน ผู้เข้าสอบจะต้องจ่ายเงิน 300,000 บาทเพื่อแลกกับอุปกรณ์ไข่สั่นติดไว้กับสำหรับติดไว้กับร่างกายเพื่อรับสัญญาณจากภายนอกห้องสอบ ซึ่งมีผู้ที่อยู่ด้านนอกส่งรหัสคำตอบมาในรูปแบบของการสั่นทั้ง 4 ระดับแทนคำตอบ ก ข ค ง ทำให้นักเรียนที่อยู่ในห้องสอบสามารถรับรู้คำตอบได้โดยไม่ต้องพกโพยหรือใช้วิธีการจดจำแบบเดิม
เรื่องราว Bad Genius ที่ถูกนำเสนอในภาพยนตร์และเหตุการณ์ข่าวฉาวที่เกิดขึ้นจริง สะท้อนให้เห็นถึงปัญหาความไม่เท่าเทียมกันในระบบ ไม่ว่าจะเป็นระบบการศึกษาในระดับนานาชาติที่เปิดโอกาสให้ผู้ที่มีฐานะทางการเงินที่ดีสามารถหาซื้อคอร์สติวพิเศษหรือบริการโกงข้อสอบได้ หรือการเข้าสอบข้าราชการในประเทศไทยที่ผู้เข้าสอบบางคนอาจมีเส้นสายหรือมีวิธีการที่ไม่เป็นธรรมในการโกงข้อสอบเพื่อให้ได้ตำแหน่งที่ต้องการ สิ่งนี้ทำให้เห็นว่าในระบบการแข่งขันที่ดุเดือด
การโกงกลายเป็น “ทางลัด” ที่ผู้เข้าสอบบางคนเลือกใช้เพื่อเอาชนะข้อจำกัดของตนเอง
และการโกงเหล่านี้บางครั้งก็ยิ่งใหญ่จนโลกต้อง “จารึก”
ขอบคุณข้อมูล
The true genius of ‘Bad Genius’ | The Malaysian Insight
Bad Genius: Exam heists made easier | The Business Standard (tbsnews.net)
‘Bad Genius’ Remake Sets Release Date Following Vertical Acquisition (deadline.com)