เราทุกคนเสพ “สารเสพติด” กันทุกวัน

A A
Dec 8, 2021
Dec 8, 2021
A A

เราทุกคนเสพ “สารเสพติด” กันทุกวัน

 

เราทุกคนบริโภคสารเสพติดทุกวัน .. ประโยคแรกที่อ่านแล้วทุกคนอาจปฏิเสธว่า บ้าหรอ! ไม่เคยสักหน่อย แต่สารเสพติดที่เราพูดถึงก็คือ “น้ำตาล” นั่นแหละ ทั้งที่อยู่ในอาหาร เครื่องดื่ม หรือแม้แต่ขนมที่เราทานกันเป็นประจำทุกวัน ฟังดูน้ำตาลเป็นเสมือนตัวร้ายแต่จริง ๆ แล้วสมองของเราทุกคนเองก็ต้องการน้ำตาลเช่นเดียวกัน

การทำงานของสมอง เช่น การคิด ความจำ และการเรียนรู้นั้นมีความสัมพันธ์กับระดับกลูโคส หากไม่มีกลูโคสในสมองเพียงพอสารสื่อประสาทและสารเคมีในสมองจะไม่ถูกสร้างขึ้น แต่แม้ว่าสมองจะต้องการกลูโคส แต่การได้รับพลังงานที่มากเกินไปอาจเป็นสิ่งที่ไม่ดี

น้ำตาลเป็นของที่ให้พลังงานสูงในระยะสั้น ช่วยปลดปล่อยโดปามีนในสมอง และยังช่วยในการหลั่งสารเอ็นดอร์ฟินในร่างกาย ด้วยเหตุนี้เองน้ำตาลจึงส่งผลกับจิตใจ ทำให้บางคนอาจต้องพึ่งพาน้ำตาลโดยไม่ได้ตั้งใจ มันอาจจะมีวันที่เราเคยรู้สึกว่าวันนี้เครียดจังขอกินน้ำหวานหน่อยดีกว่า หรือว่า กินช็อกโกแลต,ช็อกโกเลตสักหนึ่งแท่งเผื่อให้ร่างกายได้ผ่อนคลาย น้ำตาลจึงเป็นตัวช่วยหนึ่งที่หลายคนใช้ปลอบโยนตัวเองในช่วงเวลาที่ยากลำบาก ส่งผลให้หลายคนเริ่มกระหายน้ำตาลเพื่อสร้างสมดุลทางอารมณ์ จุดนี้เองทำให้การเสพติดน้ำตาลเริ่มพัฒนาขึ้น นอกจากนี้น้ำตาลยังมีอยู่ในอาหารแทบจะทุกชนิดที่เราทานแบบแทบจะหลีกเลี่ยงไม่ได้ จากการศึกษาพบว่าชาวอเมริกัน 75% บริโภคน้ำตาลมากเกินไป หรือแม้กระทั่งคนไทยเองก็บริโภคน้ำตาลมากเกินความจำเป็นมากถึง 4 เท่า จนเรียกว่าอาจเกิดภาวะ ติดน้ำตาล

น้ำตาลสารเสพติดที่คนทั่วโลกติดมากที่สุด

ในงานตีพิมพ์วารสาร British Journal of Sports Medicine ได้บอกว่าน้ำตาลสามารถทำหน้าที่เป็นประตูสู่แอลกอฮอล์และสารเสพติดชนิดอื่น ๆ นักวิทยาศาสตร์ James J DiNicolantonio ได้กล่าวว่า การบริโภคน้ำตาลเป็นเรื่องที่น่ากังวลเพราะให้การเสพติดมากกว่าโคเคนและเป็นสารเสพติดที่ผู้คนบริโภคกันมากที่สุดในโลกและสร้างความเสียหายต่อสุขภาพของเรา Hisham Ziauddeen จิตแพทย์แห่งมหาวิทยาลัยเคมบริดจ์กล่าวว่าการศึกษาเกี่ยวกับหนูได้พบว่า แม้แต่หนูที่ติดโคเคนก็อาจชอบน้ำตาลมากกว่า โดยชี้ให้เห็นว่าสัตว์หลายชนิดมองหาของหวานมากกว่าโคเคน นอกจากนี้ยังมีมีความเชื่อมโยงทางพันธุกรรมที่น่าแปลกใจโดยพบว่า ความอยากน้ำตาลและแอลกอฮอล์สามารถส่งต่อไปยังรุ่นลูกได้ โดยหากพ่อแม่เสพติดแอลกอฮอล์และน้ำตาลก็อาจส่งผลให้เด็กมีแนวโน้มที่จะเสพติดได้เช่นเดียวกัน

ทำไมการติดสารเสพติดน้ำตาลถึงเป็นปัญหา

จากงานวิจัยที่รวบรวมโดย David A. Kessler อดีตกรรมการสำนักงานคณะกรรมการอาหารและยาแห่งสหรัฐอเมริกา พบว่าน้ำตาลมีคุณสมบัติหลายอย่างเหมือนกับยาเสพติด นอกจากจะน่ารับประทานแล้ว น้ำตาลยังมี “คุณค่าทางจิตใจ” สูง ซึ่งหมายความว่าคุณจะมีความสุขเมื่อได้กินน้ำตาล เพราะอาหารที่มีน้ำตาลสูงจะไปกระตุ้นสมองที่เกี่ยวข้องกับความพึงพอใจที่เรียกว่า brain reward system ส่งผลให้เกิดความต้องการน้ำตาลที่รุนแรงเมื่อเทียบกับอาหารที่มีน้ำตาลต่ำ นอกจากน้ำตาลจะส่งผลต่อปัญหาของสุขภาพเช่น ไขมัน น้ำตาลในเลือดสูง คอเลสเตอรอล โรคอ้วนแล้ว น้ำตาลยังส่งผลต่อความจำอีกด้วย

น้ำตาลกับความจำ

น้ำตาลกับความจำ
จากงานวิจัยชี้ว่า การบริโภคน้ำตาลที่สูงทำให้เกิดการอักเสบในสมอง ส่งผลให้ความจำมีปัญหา งานวิจัยที่ตีพิมพ์ใน Behavioral Brain Research พบว่ามีการอักเสบอยู่ในฮิปโปแคมปัสในสมองของหนูที่กินอาหารที่มีน้ำตาลสูง น้ำตาลเป็นส่วนเกินอันตรายต่อร่างกายที่แม้แต่กลูโคสที่เพิ่มขึ้นในกระแสเลือดเพียงครั้งเดียวก็อาจเป็นอันตรายต่อสมองได้ ส่งผลให้การทำงานของความรู้ความเข้าใจช้าลง ความจำและสมาธิบกพร่อง งานวิจัย Johns Hopkins Bloomberg School of Public Health พบว่าผู้ที่เป็นโรคเบาหวานในช่วงวัยกลางคนมีแนวโน้มที่จะมีปัญหาด้านความจำและความรู้ความเข้าใจในอีก 20 ปีข้างหน้ามากกว่าผู้ที่มีระดับน้ำตาลในเลือดที่ปกติ นักวิจัยพบว่าโดยเฉลี่ยแล้วคนที่เป็นโรคเบาหวานจะแก่เร็วขึ้นประมาณ 5 ปี เช่น คนอายุ 60 ปีที่ป่วยเป็นโรคเบาหวานจะมีความฉลาดลดลงเมื่อเทียบกับคนอายุเท่ากัน โดยรวมถึงความจำเสื่อม การจำคำศัพท์ และลุกลามไปสู่ภาวะสมองเสื่อม

น้ำตาลส่งผลต่อพฤติกรรมของเด็ก
พบการศึกษาที่ค่อนข้างมั่นใจจากมหาวิทยาลัยโคโลราโดกล่าวว่าการบริโภคน้ำเชื่อมจากข้าวโพดฟรุกโตส ส่งผลให้เกิดปัญหาสุขภาพจิต น้ำตาลทำให้เด็ก ๆ มีอารมณ์โกรธมากกว่าปกติ และส่งผลให้เกิดอาการสมาธิสั้น ซึ่งทำให้เด็ก ๆ มีปัญหาด้านสมาธิในชั้นเรียน ซึ่งส่งผลกระทบโดยตรงต่อการเรียนรู้ ดังนั้น การลดการบริโภคน้ำตาลในขณะที่พวกเขายังเด็ก ๆ จะส่งผลให้สมองของพวกเขาทำงานได้ดี และยังป้องกันโรคอ้วน และปัญหาการเสพติดในอนาคตได้อีกด้วย

ถึงแม้น้ำตาลจะเป็นปัจจัยหลักที่เป็นประโยชน์ต่อสมอง ความคิดความจำ และการเรียนรู้ แต่การบริโภคมากเกินไปก็ส่งผลต่อการอักเสบของสมอง หลายคนที่เลิกกินน้ำตาลพบว่ามีอาการหงุดหงิด อารมณ์แปรปรวนและ อ่อนเพลีย ดังนั้นทางเลือกที่ดีสำหรับคนที่พยายามเลิกน้ำตาลนั้นควรเป็นการเปลี่ยนการรับประทานเป็นอาหารที่มีค่า GI และน้ำตาลต่ำ (อาหารที่มี GI ต่ำจะถูกย่อยช้า ทำให้การดูดซึมน้ำตาลในเลือดจะเกิดขึ้นอย่างช้า ๆ) จากการศึกษาพบว่า ความเสียหายของความจำที่เกิดจากการบริโภคน้ำตาลนั้นเป็นสิ่งที่ไม่ถาวร สามารถแก้ไขได้โดยควบคุมน้ำตาลที่บริโภคเข้าไป นอกจากนี้การปลูกฝังให้เด็ก ๆ มีนิสัยการกินที่ดีจะช่วยให้พวกเขาเติบโตมีนิสัยการกินที่ดีในอนาคต

อ้างอิง
https://www.addictioncenter.com/drugs/sugar-addiction/
https://www.theguardian.com/society/2017/aug/25/is-sugar-really-as-addictive-as-cocaine-scientists-row-over-effect-on-body-and-brain
https://www.verywellmind.com/how-sugar-affects-the-brain-4065218
https://www.verywellmind.com/sugar-addiction-22149
https://publichealth.jhu.edu/2014/diabetes-in-midlife-linked-to-significant-cognitive-decline-20-years-later
https://drdina.ca/is-sugar-bad-for-kids/
https://www.thaihealth.or.th/Content/38412- เสพติดดื่มหวานจัดเสี่ยงหลายโรค.html?fbclid=IwAR3gvzf0S7pxIvmn938P_NBGxtcNrwKL1kL5K4Xg8hW7-qptdUY4euMSjcI
https://hms.harvard.edu/news-events/publications-archive/brain/sugar-brain

Share

Authors

Authors

RELATED POSTS