การอ่านเร็วได้ผลจริงแค่ไหน

A A
Aug 21, 2023
Aug 21, 2023
A A

 

การอ่านเร็วได้ผลจริงแค่ไหน

 

 

  • การอ่านเร็วเป็นเทคนิคที่พูดถึงกันมานาน มีหนังสือ บทความ หรือแม้แต่คอร์สและแอปที่สอนการอ่านเร็วมากมายที่บอกว่า นอกจากจะช่วยให้อ่านเร็วขึ้นแล้ว ความเข้าใจในเรื่องเนื้อหาก็ไม่ได้ลดลงด้วย
  • โดยทั่วไปแล้ว คนเราสามารถอ่านคำได้ประมาณ 200 – 400 คำต่อนาที ในขณะที่คนที่อ่านได้เร็วจะอ่านได้ 3 – 4 เท่าของคนทั่วไป 
  • วิทยาศาสตร์พบหลักฐานว่า การอ่านเร็วโดยที่ยังคงเข้าใจเนื้อหาครบถ้วนสมบูรณ์นั้นเป็นเรื่องที่เป็นไปไม่ได้เลย ด้วยข้อจำกัดของการทำงานของดวงตาและการประมวลผลของสมอง

 

หลายคนคงเคยได้ยินเรื่องเทคนิคการอ่านเร็วที่จะช่วยให้เราอ่านได้เร็วกว่าคนทั่วไปโดยที่ยังคงเข้าใจเนื้อหาทั้งหมดได้เหมือนการอ่านปกติ เทคนิคเหล่านี้หาอ่านได้ทั่วไปจากบทความบนโลกออนไลน์ หนังสือ How to ขายดี หรือแม้แต่แอปฯ และคอร์สที่จะช่วยฝึกให้อ่านได้เร็วขึ้น แต่ทั้งหมดนี้อาจกลายเป็นเรื่องที่เราต้องมาคิดกันใหม่ เมื่อวงการวิทยาศาสตร์ยกหลักฐานมาอธิบายว่า การอ่านเร็วโดยที่เรายังคงเข้าใจเนื้อหาครบถ้วนสมบูรณ์นั้นเป็นเรื่องที่เป็นไปไม่ได้เลย ที่ผ่านมาเราเสียเวลาไปกับความเชื่อนี้นานแค่ไหน แม้การอ่านเร็วด้วยวิธีที่เราเคยรู้มาจะไม่ได้ผล แต่อย่างน้อยวิทยาศาสตร์ก็มีคำตอบให้แล้วว่า ทำอย่างไรให้อ่านได้เร็วและได้ผลจริง

 

การอ่านเร็วถูกใช้งานครั้งแรกโดยกองทัพอากาศสหรัฐฯ ในสงครามโลกครั้งที่ 2 เพื่อใช้ระบุเครื่องบินข้าศึกให้เร็วขึ้น ต่อมาระบบนี้ได้รับการพัฒนาในช่วงปลายทศวรรษ 1950 และกลายเป็นเทคนิคที่ได้รับความนิยมในภายหลัง การอ่านเร็วอาจเป็นอีกหนึ่งเคล็ดลับที่ช่วยประหยัดเวลาสำหรับหลาย ๆ คน ครูอาจเคยแนะนำเทคนิคนี้ให้นักเรียน โดยหวังว่า จะช่วยให้เขาอ่านหนังสือได้ไวและเยอะขึ้น แค่หยิบมือถือขึ้นมาตอนนี้ เราก็สามารถหาแอปฯ ที่ช่วยฝึกการอ่านเร็วได้ไม่ยาก หรือถ้าอยากจริงจังขึ้นหน่อยก็มีคอร์สสอนอ่านเร็วมากมายให้เรียนเอาไว้ใช้ต่อยอดในชีวิตประจำวัน แต่ถ้าเราลองดูกระบวนการอ่านและการเข้าใจความหมายของสิ่งที่อ่านอย่างละเอียด เราจะเห็นว่า การอ่านเป็นงานที่ซับซ้อน ต้องอาศัยการประสานงานของหลายระบบ เราต้องเห็นคำใดคำหนึ่งก่อน เมื่อเห็นแล้วถึงจะดึงความหมายและข้อมูลอื่นๆ ที่เกี่ยวข้องกับคำนั้นออกมาได้ เช่น ไวยากรณ์ในประโยค จากนั้นถึงเชื่อมโยงคำกับประโยคที่เหลือและบริบทที่กว้างขึ้น แล้วค่อยอ่านคำอื่น ๆ ต่อไป ซึ่งบางครั้งหากไม่เข้าใจก็ต้องย้อนกลับมาอ่านใหม่อีกรอบ

 

โดยทั่วไปแล้ว คนเราสามารถอ่านคำได้ประมาณ 200 – 400 คำต่อนาที ในขณะที่คนที่อ่านได้เร็วจะอ่านได้ 3 – 4 เท่าของคนทั่วไป คำกล่าวนี้ยิ่งดึงดูดให้คนหันมาสนใจเทคนิคอ่านเร็วมากขึ้น เพราะการอ่านเป็นเรื่องที่ต้องใช้เวลา ถ้าเราอ่านได้ไวกว่าคนอื่น เราคงได้ประโยชน์มากกว่าเห็น ๆ แต่แล้ววิทยาศาสตร์ก็เปิดเผยข้อมูลที่ค้านกับความเชื่อที่มีมานานแสนนาน ย้อนกลับไปเมื่อ 40 ปีก่อน Donald Homa ศาสตราจารย์ด้านจิตวิทยาที่ Arizona State University ที่เชี่ยวชาญด้านความจำและการรับรู้ภาพต่อสิ่งเร้าทางภาษา ได้รับการติดต่อจาก American Speed ​​Reading Academy ให้เล่าเรื่องราวของนักเรียน 2 คน ที่สามารถอ่านได้มากกว่า 100,000 คำต่อนาที ซึ่งเร็วกว่านักเรียนทั่วไปถึง 10 เท่า และมากกว่าผู้ใหญ่ที่จบการศึกษาในระดับมหาวิทยาลัยถึง 300 เท่า

 

ข้อมูลอันน่าทึ่งนี้ทำให้ Donald ตกลงที่จะทำการทดลองเพื่อพิสูจน์ความสามารถในการอ่านเร็วของนักเรียน 2 คนนี้ เขาให้ทั้งคู่อ่านเร็วโดยใช้หนังสือเรียนระดับมหาวิทยาลัย จากนั้นก็ให้ทำแบบทดสอบปรนัยเพื่อเช็กความเข้าใจ ทั้งสองคนอ่านจบในเวลาไม่กี่นาที แต่เมื่อทำแบบทดสอบเสร็จก็ได้คำตอบว่า ทั้งคู่ดูเหมือนจะไม่ได้เรียนรู้อะไรจากหนังสือสักเท่าไร Donald สรุปว่า ทักษะที่โดดเด่นของการอ่านเร็วดูเหมือนจะเป็นการพลิกหน้ากระดาษอย่างคล่องแคล่วเสียมากกว่า

 

 

การอ่านเร็วโดยที่เข้าใจเนื้อหาทั้งหมดเป็นเรื่องที่วิทยาศาสตร์บอกว่าไม่จริง

ชื่อภาพ : อ่านเร็ว

 

 

 

ทำไมการอ่านเร็วไม่ได้ผล

 

วิทยาศาสตร์ให้คำตอบไว้ 3 ประการในเรื่องนี้

 

1.ข้อจำกัดในการทำงานของการมองเห็นของมนุษย์และโครงสร้างของดวงตา

มันไม่ได้เอื้อให้เรามองเห็นคำที่อยู่นอกลานสายตาได้ชัดเจนพอที่จะรับความหมายของคำได้อย่างเต็มที่ จุดที่เราจะเห็นได้ชัดเจนที่สุด คือ หลุมตรงกลางของเรตินาเท่านั้น เมื่อเราอ่าน เราเข้าใจว่า ตาจะเคลื่อนไปเป็นเส้นตรงตามประโยคที่กำลังอ่าน แต่จริง ๆ แล้วเราต้องอ่านที่ละคำเพื่อให้เห็นคำนั้นได้ชัดเจน โดยสายตาจะต้องหยุดนิ่งที่แต่ละคำ ซึ่งจุดที่สายตาเรามองเห็นได้ชัดเจนที่สุดจะเท่ากับระยะ 4 – 5 ตัวอักษรเท่านั้น การอ่านจึงคล้ายกับรถที่กำลังแล่นไปยังจุดหมายปลายทาง แต่ระหว่างทางก็ต้องหยุดตามไฟสัญญาณจราจรอยู่เรื่อย ๆ หากเราพยายามอ่านเร็วเราจะไม่สามารถแยกแยะคำและประมวลผลได้ทัน คล้ายกับการมองลอดช่องตาแมวที่ประตูที่เราไม่สามารถเห็นทุกอย่างที่อยู่นอกตรงพื้นที่ตรงกลางได้ชัดเจน การทดลองจำนวนมากชี้ให้เห็นว่า คนที่อ่านเร็วก็ไม่ได้มีความสามารถนี้เหนือกว่าคนอื่น เพราะมันเป็นสิ่งที่คนเราไม่สามารถฝึกได้

 

ยกตัวอย่างแอปฯ ฝึกการอ่านเร็วที่จะมีคำปรากฏขึ้นมาทีละคำในตำแหน่งเดิม ทำให้ผู้อ่านคุ้นชินกับความเร็วที่คำจะปรากฏขึ้น ช่วยให้สายตาเราคงที่ เหมือนช่วยให้เราไม่ต้องสแกนคำหนึ่งไปอีกคำหนึ่งเหมือนกับการอ่านปกติ แต่เมื่อเราเร่งให้คำปรากฏเร็วขึ้น สุดท้ายเราก็จะไม่สามารถเข้าใจเนื้อหาได้อยู่ดี

 

2.ข้อจำกัดในการประมวลผลของสมอง

การที่เราจะเข้าใจอะไรก็ตาม ข้อมูลจะต้องผ่าน Working Memory (ความจำเพื่อใช้งาน) เสียก่อน ซึ่งเป็นส่วนหนึ่งของหน่วยความจำระยะสั้นที่จะจัดเก็บ ดึงข้อมูล และจัดการข้อมูลชั่วคราวในระหว่างกระบวนการรับรู้ เช่น การฟัง การอ่าน และการเขียน โดยปกติแล้ว Working Memory ของคนเรามีความจุน้อยและจำกัด สมองสามารถจดจำคำเพียงชั่วคราวได้แค่ 5 คำ ตราบใดที่เราไม่ใส่ข้อมูลใหม่มาเพิ่มอีกในเวลาอันสั้นนี้ การอ่านเร็วจึงเป็นการใช้ Working Memory มากเกินไป และเราไม่สามารถฝึกฝนเพื่อให้มันทำงานเพิ่มได้มากกว่านี้ เพราะเป็นเรื่องของพันธุกรรมล้วน ๆ 

 

3.เสียงเป็นกุญแจสำคัญของภาษา 

เสียงเป็นสิ่งสำคัญในการทำความเข้าใจตัวอักษร การอ่านในใจที่เราเข้าใจว่า ไม่มีเสียงถือว่า เป็นการอ่านที่มีเสียงอยู่ดี เพียงแค่เสียงนั้นอยู่ในหัวเราเท่านั้นเอง อักษรเปรียบเสมือนภาพ เมื่อเราออกเสียงเท่ากับเราแปลงภาพให้เป็นข้อมูลในรูปแบบเสียงแทน แต่การอ่านเร็วบังคับให้เราตัดการอ่านออกเสียงออกไปเลย แม้กระทั่งการอ่านในใจ 

 

เมื่อวิทยาศาสตร์ให้เหตุผลมาอย่างนี้ แล้วคำโฆษณาที่หลักสูตรต่าง ๆ บอกไว้ว่า นอกจากการอ่านเร็วจะได้ผลจริงแล้ว ความเข้าใจของนักเรียนต่อเรื่องที่อ่านก็ไม่ได้ลดลงแต่อย่างใด ทั้งหมดนี้เป็นคำโฆษณาที่อ้างจากหลักฐานอะไรกันแน่

 

รายงานในปี 2016 บอกเล่าข้อมูลเรื่องนี้ไว้ว่า การทดสอบก่อนเรียนและหลังเรียนที่หลักสูตรให้ผู้เข้ารับการอบรมทำ เพื่อดูพัฒนาการในการอ่านเร็วนั้นเป็นเรื่องหลอกลวง เพราะบางครั้งการทดสอบก่อนเรียนก็ยากกว่าการทดสอบหลังเรียน และผู้เข้ารับการอบรมถูกทดสอบซ้ำ ๆ กับเนื้อหาเดิม คะแนนการทดสอบหลังเรียนจึงออกมาดีกว่า

 

อีกคำที่เรามักจะได้ยินบ่อย ๆ เมื่อพูดถึงการอ่านเร็ว คือ Skimming หรือการอ่านเร็วแบบข้ามคำ เป็นการอ่านเพื่อให้ได้ภาพรวมของเนื้อหา คำถามคือเทคนิคนี้ยังได้ผลอยู่หรือเปล่า ข้อมูลพบว่า เราใช้เทคนิคนี้ในเบื้องต้นได้เท่านั้น เพราะมันยังไม่สมบูรณ์ การอ่านแค่คร่าว ๆ ไม่สามารถทำให้เราเข้าใจมุมมองทั้งหมดได้ สิ่งที่น่ากลัว คือ เราอาจสร้างมุมมองที่ไม่ถูกต้อง ซึ่งหากเป็นเรื่องวิทยาศาสตร์ นี่อาจเป็นหายนะเลยก็ได้ Skimming จึงคล้ายกับการสร้างแผนที่ที่มีเมืองและหมู่บ้าน แต่ไม่มีถนนที่เชื่อมต่อทุกอย่างเข้าด้วยกัน

 

การอ่านเร็วให้ได้ผลไม่มีทางลัด

 

การอ่านเร็วถือเป็นทักษะอีกอย่างหนึ่ง แน่นอนว่า มันไม่ได้มีทางลัด ทักษะหลายอย่างต้องอาศัยชั่วโมงฝึกฝนที่ยาวนานกว่าเราจะทำเรื่องนั้นได้ดีพอ วิธีที่ช่วยให้เราอ่านได้เร็วขึ้น และยังคงเข้าใจเนื้อหาได้ดีอยู่จึงเป็น

 

1.อ่านให้มาก

เรียนรู้คำศัพท์ให้เยอะ ยิ่งอ่านมาก เราจะยิ่งอ่านคล่องและคุ้นเคยกับคำศัพท์ที่หลากหลาย พอเจอคำนี้เมื่อไรก็จะอ่านผ่านไปได้ไวขึ้น

 

2.ขจัดสิ่งรบกวน

การขจัดสิ่งรบกวนช่วยให้เรามีสมาธิอย่างเต็มที่ และใช้ Working Memory ในการทำงานได้อย่างเต็มศักยภาพกับงานชิ้นเดียว

 

3.อ่านแบบคร่าว ๆ ก่อน

การอ่านแบบคร่าว ๆ และมองหาข้อมูลสำคัญก่อนช่วยให้รู้ว่า กำลังอ่านอะไรและควรคาดหวังอะไร มันจะช่วยขจัดสิ่งที่เรายังไม่รู้ออกไป

 

4.ใช้ Pointer ช่วยชี้

การใช้ Pointer ช่วยชี้สิ่งที่กำลังอ่านจะช่วยให้สายตาและจิตใจจดจ่ออยู่กับจุด ๆ เดียว

 

ทักษะหลายอย่างอาจไม่ได้มีทางลัดไปเสียหมด เช่นเดียวกับการอ่านเร็วที่เป็นทักษะที่เราสามารถนำไปต่อยอดกับอีกหลายเรื่องในชีวิตได้ ไม่ว่าจะเป็นการเรียนหรือการทำงาน การฝึกฝนด้วยวิธีการที่ถูกต้องและทำอย่างสม่ำเสมออาจเรียกได้ว่า เป็นเรื่องพื้นฐานที่สุดของการฝึกฝนทักษะทุกอย่างที่เรามองข้ามไปไม่ได้

 

อ้างอิง

https://bigthink.com/smart-skills/neuroscience-speed-reading-bullshit/

https://www.livescience.com/speed-reading-possible.html

https://www.kenhub.com/en/library/learning-strategies/speed-reading-myths-and-practice

Share

Authors

Authors

RELATED POSTS