เราสูญเสียอะไรท่ามกลางอคติทางเพศ

A A
Jan 5, 2022
Jan 5, 2022
A A

เราสูญเสียอะไรท่ามกลางอคติทางเพศ

 

สังคมทุกชาติ ทุกภาษา ล้วนมีอคติทางเพศซ่อนอยู่ ทั้งโดยที่เรารู้ตัวและไม่รู้ตัว บางคนอาจไม่ได้รู้สึกเดือดเนื้อร้อนใจกับเรื่องนี้สักเท่าไร แต่ถ้าเรารู้ว่ามูลค่าความเสียหายมันมากขนาดไหน หรือโอกาสที่เราสูญเสียไปทั้งต่อตัวเอง สังคม หรือในระดับประเทศมันเยอะขนาดไหน เราคงไม่นิ่งนอนใจแล้วปล่อยให้ชีวิตมันดำเนินไปแบบนี้แน่ๆ สุดท้ายแล้ว มันจะเป็นไปได้ไหมที่เราจะออกแบบสังคมที่คนเท่าเทียมกันได้จริง เพื่อคืนโอกาสที่เราทุกคนควรได้รับกลับมา

The Voice ยุคบุกเบิก

ย้อนกลับไปในปี 1970 วงออร์เคสตร้าชั้นเลิศในอเมริกา 5 วง มีนักดนตรีหญิงแค่ 5% เห็นได้ว่าเป็นอาชีพที่ถูกจำกัดในหมู่ผู้ชายในสมัยนั้น แต่ปัจจุบันนักดนตรีหญิงเพิ่มขึ้นเป็น 35% สมัยนั้นจึงมีการทดลองหาวิธีที่จะคัดเลือกนักดนตรีที่มาจากความสามารถจริงๆ พูดง่ายๆ ก็คือ ตั้งแต่ปี 1970-1980 มีเวที The Voice เกิดขึ้นมา โดยเปิดให้มี Blind Audition ปรากฏว่าวิธีนี้ทำให้นักดนตรีหญิงผ่านการคัดเลือกมากขึ้น 50%
ในแง่ของธุรกิจยังพบว่า ในปี 1960-2008 หากบริษัทที่มีการสนับสนุนความเท่าเทียมทางเพศสภาพ บริษัทก็จะได้พนักงานที่มีความสามารถเพิ่มขึ้น ผลผลิตมวลรวมต่อคนก็จะเพิ่มขึ้น 15-20% นอกจากนี้ แบบจำลองยังพบว่าถ้ากีดกันผู้หญิงออกไปจากระบบแรงงาน รายได้ต่อหัวจะลดลงเกือบ 40%

นี่เป็นเพียงตัวอย่างของโอกาสและมูลค่าทางเศรษฐกิจที่สูญเสียไป เพียงเพราะอคติทางเพศ เราเชื่อว่าโลกมันเป็นแบบที่เราเชื่อ ผู้หญิงอ่อนไหวกว่าผู้ชาย ถ้าทำงานที่ต้องใช้เหตุผลก็ไม่น่าจะไหว จึงนำไปสู่ความลำเอียงและการเลือกปฏิบัติ โดยตั้งใจและไม่ตั้งใจ

ความตายที่สูญเปล่า

ไม่ใช่แค่ความสูญเสียในเชิงโอกาสและเศรษฐกิจเท่านั้น อคติทางเพศยังส่งผลต่อความเป็นความตายด้วย สหประชาชาติประมาณการว่า มีผู้หญิงและเด็กผู้หญิงหายไปจากโลกนี้ 200 ล้านคน ซึ่งเป็นผลจากการทำแท้งแบบเลือกเพศ ถ้าผู้หญิงจำนวนเท่านี้หายไปในอเมริกาจะเท่ากับเหลือแต่ผู้ชายในประเทศ และ 200 ล้านคนยังเป็นตัวเลขที่สูงกว่าผู้ชายทั้งหมดที่ถูกฆ่าตายในทุกสงครามของศตวรรษที่ 20 อีกด้วย

เราไม่เพียงมีอคติเรื่องเพศเท่านั้น แต่อคติยังแฝงไปกับเชื้อชาติและสีผิว คนแอฟริกันอเมริกันจะได้รับการปฏิบัติที่ไม่เหมือนกับคนผิวขาว มีเคสที่น่าสนใจที่ชี้ให้เห็นว่าอคติเรื่องเพศและสีผิวมันซับซ้อนกว่าที่เราคิดคือ ผู้หญิงผิวดำในอเมริกา หากเป็นคนเก่ง ไม่เป็นไปตามบรรทัดฐานของชุมชน จะไม่เจอแรงต้านจากสังคมเหมือนผู้หญิงผิวขาว สังคมจะเอาใจช่วยผู้หญิงผิวดำที่แข็งแกร่ง แต่ถ้าเปลี่ยนจากเพศหญิงเป็นเพศชายจะให้ผลตรงข้ามทันที ผู้ชายแอฟริกันอเมริกันจะถูกลงโทษถ้าทำตัวเหนือกว่า เก่งกว่า แต่ถ้าเป็นชายอเมริกันผิวขาวจะไม่ถูกลงโทษ ยกเว้นว่าจะมีบุคลิกภาพที่ดูนุ่มนวล ไม่เป็นผู้นำ ก็จะไม่ได้รับความเคารพอย่างที่ควรจะเป็น ในบ้านเราเอง ปฏิเสธไม่ได้ว่าบางครั้งเราก็มีอคติกับคนต่างจังหวัด มีอคติกับการเห็นเพียงแค่เห็นนามสกุล ทั้งๆ ที่ไม่เคยเห็นหน้าพูดคุยกันมาก่อน

ความหลากหลาย เพศ เชื้อชาติ

คนมีอคติทางเพศต่อชายผิวขาวน้อยที่สุด

เคยมีการทดลองเพื่อดูว่าเรามีอคติทางเพศและเชื้อชาติมากแค่ไหน โดยใช้วิธีการส่งอีเมลไปหาอาจารย์มหาวิทยาลัยทั่วอเมริกา โดยไม่ได้สนใจว่าอาจารย์จะมีผิวขาว ผิวดำ หรือเป็นคนเอเชีย ซึ่งชื่อที่ใช้ในการส่งอีเมลนี้จะเป็นชื่อของนักศึกษาทั้งเพศชายและหญิง ผิวขาวและดำ และยังมีเชื้อชาติอื่นๆ เช่น ฮิสแปนิก อินเดีย จีน ที่เขียนมาขอนัดหมายพูดคุยเรื่องงาน ผลลัพธ์ที่ได้คือ อาจารย์ราว 70% ตอบกลับอีเมลของนักศึกษา โดยนักศึกษาชายผิวขาวได้อีเมลตอบกลับ 87 คน จาก 100 คน นักศึกษาหญิง และนักศึกษาผิวสี ไม่ว่าจะเพศอะไรก็ตาม 62 คน เห็นได้ชัดว่านักศึกษาชายผิวขาวจะได้รับการตอบกลับอีเมลมากกว่า

อคติเหล่านี้เองที่ส่งผลกับเราแบบไม่รู้ตัว กรณีที่น่าจะเจอบ่อยที่สุดก็คือการสัมภาษณ์งาน แค่เห็นชื่อผู้สมัคร โดยไม่ต้องเห็นคำนำหน้าชื่อ เราก็มีสิทธิ์ถูกตัดสินไปแล้ว แค่เพศที่ต่างกัน กรรมการก็สัมภาษณ์กันคนละแบบ และถ้าต้องเลือกผู้สมัครที่มีคุณสมบัติแบบเดียวกันเป๊ะ ระหว่างชายกับหญิง คนส่วนใหญ่ก็จะเลือกผู้ชายมากกว่า หากผู้ชายมีประสบการณ์มากกว่า แต่มีการศึกษาต่ำกว่าผู้หญิง คนสัมภาษณ์ก็จะบอกว่าให้ความสำคัญกับประสบการณ์มากกว่า แต่ถ้าผู้หญิงมีการศึกษาดีกว่า แต่ประสบการณ์น้อยกว่า คนสัมภาษณ์จะบอกว่าวุฒิการศึกษาก็สำคัญเหมือนกัน

ผู้นำอาจไม่ใช่คนที่เก่งเสมอไป

ในสเกลที่ใหญ่ขึ้นระดับประเทศ อคติทางเพศอาจทำให้ประเทศเราเสียโอกาสเพราะเลือกผู้นำที่ไม่เก่งขึ้นมาบริหารบ้านเมืองก็เป็นได้ เห็นได้จากการทดลองหนึ่งที่ให้นักศึกษาชายหญิงที่เรียน MBA ทำโจทย์คณิตศาสตร์ แล้วประเมินดูว่าตัวเองน่าจะได้สักเท่าไร หลังทำโจทย์เสร็จจะไม่มีใครรู้คะแนนตัวเอง จน 15 เดือนผ่านไปก็ให้นักศึกษาทั้งหมดมาแบ่งกลุ่มที่มีทั้งหญิงและชาย แล้วให้แต่ละคนประเมินว่าโจทย์ที่ทำไปเมื่อ 15 เดือนก่อนน่าจะได้คะแนนเท่าไร พบว่าผู้ชายจะประเมินคะแนนสูงกว่าที่ตัวเองทำได้ 30% ขณะที่ผู้หญิงประเมินสูงกว่าความจริง 24% นี่แปลว่า ผู้ชายมีความมั่นใจในตัวเองสูงมาก ขณะที่ผู้หญิงจะกดตัวเองลงนิดหนึ่ง หลังจากนั้นก็จะให้นักศึกษาเลือกหัวหน้ากลุ่มขึ้นมา ซึ่งคนที่ได้รับเลือกก็คือผู้ชายที่ดูมั่นใจในตัวเองที่ได้คะแนนน้อยกว่าผู้หญิงซึ่งประเมินตัวเองต่ำกว่า แต่แสดงออกอย่างไม่มั่นใจ ทำให้ไม่ได้รับเลือก นี่จึงเป็นสาเหตุของการเลือกผู้นำที่ผิด แน่นอนว่าเรื่องนี้ไม่ได้เกิดขึ้นแค่ในรั้วมหาวิทยาลัยเท่านั้น แต่มันเกิดขึ้นไปทุกที่ รวมถึงระดับองค์กรและประเทศด้วย

ออกแบบสังคมให้คนเท่าเทียมกัน

เมื่อเราเห็นความสูญเสียจากอคติทางเพศมากถึงขนาดนี้ แล้วทางออกอยู่ที่ไหน เราอาจจะนึกว่าการรู้ข้อมูลเหล่านี้น่าจะทำให้อคติต่างๆ ลดลง แต่จริงๆ แล้วมันให้ผลตรงข้าม เพราะเป็นการไปย้ำให้อคตินั้นให้ชัดเจนขึ้น การทำงานในเชิงความคิดหรือพร่ำบอกผู้คนถึงความเสียหายที่เกิดขึ้นจากอคติทางเพศ จึงอาจไม่ใช่วิธีแก้ปัญหาที่ได้ผลเสียทีเดียว ทางออกจึงอยู่ที่การออกแบบระบบที่ทำให้คนปฏิบัติต่อกันด้วยความถูกต้อง แบบที่ใช้ Blind audition ในการเฟ้นหานักดนตรีที่มีความสามารถ ซึ่งวิธีการที่ทำให้เราไปถึงจุดนั้นได้คือ

1. ให้ลองมองจากมุมอื่น

เป็นการสร้างอารมณ์ร่วมว่าอีกฝ่ายคิดอย่างไร ให้ลองไปสวมรองเท้าคนที่เราเคยเหมารวมดู

2. หาวิธีเล่าเรื่องเพื่อลดทอนอคติทางเพศในรูปแบบที่เร้าอารมณ์

การนำเสนอข้อเท็จจริงในแบบที่เร้าอารมณ์จะทำให้คนดูจดจำและรับสารได้ดีกว่า เรารู้กันว่าสังคมอินเดียมีอคติเรื่องวรรณะ รายการทีวีรายการหนึ่งเลยเอาดาราบอลลีวูดมาเป็นพิธีกร แล้วให้คนในวรรณะต่ำมาแบ่งปันประสบการณ์จากการถูกเลือกปฏิบัติอย่างไร้มนุษยธรรมด้วยภาษาและเรื่องราวที่เร้าอารมณ์มากๆ ปิดท้ายด้วยการให้ผู้พิพากษาออกมาพูดปิดท้ายให้คนเห็นความสำคัญของความเสมอภาคและความยุติธรรม ตามด้วยสถิติว่าคนในวรรณะต่ำถูกเลือกปฏิบัติแบบไหนบ้าง

เมื่อเราออกแบบสังคมที่ทำให้คนเท่าเทียมกันได้แล้วก็จะเกิดเป็นพฤติกรรมที่เหมาะสม ซึ่งสิ่งนี้นี่แหละที่จะเปลี่ยนคนเราในแง่พฤติกรรม แม้จะไม่ได้เปลี่ยนความคิดเลยก็ตาม คนกลุ่มหนึ่งที่อาจไม่ได้เชื่อในความหลากหลาย แต่เมื่อสังคมมีความเชื่อแบบไหนขึ้นมาแล้ว คนที่เชื่อต่างออกไปก็จะเริ่มส่องกระจกมองตัวเองมากขึ้น เราจึงเปลี่ยนพฤติกรรมได้ด้วยการออกแบบสภาพแวดล้อมแทนที่จะเปลี่ยนความคิดคน ซึ่งได้รับการพิสูจน์มาแล้วว่าได้ผลดีกว่า อ่านมาถึงตรงนี้เราอาจจะเริ่มมองย้อนกลับไปดูว่าที่ผ่านมาเราเคยถูกอคติอะไรเล่นงานบ้างแล้วหรือยัง ถึงเราจะแก้อดีตไม่ได้ แต่นี่อาจเป็นจุดเริ่มต้นที่ดีของการช่วยกันออกแบบสังคมที่เราอยากเห็นมันเกิดขึ้นจริงๆ ได้

 

อ้างอิง

Share

Authors

Authors

RELATED POSTS