อะไรทำให้เด็กหมดความสงสัยใคร่รู้
- เด็กทุกคนเกิดมามีสัญชาตญาณของการเป็นนักวิทยาศาสตร์โดยกำเนิด เต็มไปด้วยความสงสัยใคร่รู้กับทุกสิ่งทุกอย่างรอบตัว
- เมื่อเด็กโตขึ้น ความสงสัยในเรื่องวิทยาศาสตร์มักจะเริ่มหายไปตั้งแต่ขึ้นชั้นประถมฯ
- สาเหตุที่ความสงสัยของเด็กหายไปมีหลายอย่าง หนึ่งในนั้น คือ พฤติกรรมการตอบสนองของผู้ใหญ่เมื่อเด็กตั้งคำถามเยอะ
ความสงสัยเป็นพลังที่น่ามหัศจรรย์ มันนำไปสู่การค้นพบอะไรหลายอย่างที่เราไม่เคยคาดคิดมาก่อน จากเด็กตัวน้อย ๆ ที่สงสัยแม้กระทั่งร่างกายตัวเอง สนุกได้แม้แต่กับเรื่องเล็ก ๆ สงสัยว่า มือทำอะไรได้บ้าง ทดลองเปิดก็อกน้ำด้วยมือน้อย ๆ เมื่อเห็นน้ำไหลออกมาก็ตื่นเต้น หัวเราะได้ไม่หยุดราวกับได้ค้นพบอะไรที่ยิ่งใหญ่ สามารถนั่งมองท้องฟ้า ดูนก ดูเมฆได้ทั้งวัน แล้วมีคำถามมากมายกับผู้ใหญ่ “ ทำไมท้องฟ้าถึงมีเมฆ ” “ทำไมต้นไม้หน้าตาไม่เหมือนกัน ” “ทำไม… ”
เราทุกคนเคยเป็นเด็กคนนั้นมาก่อน แต่ทำไมเมื่อเริ่มโตขึ้น เด็กคนนั้นเริ่มหมดความสงสัยใคร่รู้ ไม่ค่อยถามอะไรมากเหมือนแต่ก่อน เรารู้ทุกเรื่องแล้วจริงเหรอ ในฐานะผู้ใหญ่ เราจะรักษาแววตาแห่งความอยากรู้ของเด็ก ๆ และความรู้สึกตื่นเต้นดีใจเมื่อเขาได้ค้นพบอะไรบางอย่างไว้ได้อย่างไร แม้ว่าสักวันความสงสัยอาจต้องหายไปในที่สุด แต่เมื่อวันนั้นมาถึง ผลเสียที่เราต้องเจอมันคืออะไรกันแน่
ความสงสัยของเด็กหายไปไหน
Carl Sagan นักดาราศาสตร์และนักสื่อสารวิทยาศาสตร์ชื่อดังชาวอเมริกันที่เป็นที่รู้จักไปทั่วโลกจากผลงานสำคัญหลายชิ้น เช่น ซีรีส์สารคดีด้านวิทยาศาสตร์ Cosmos ที่มีผู้ชมทั่วโลกกว่า 500 ล้านคน และยังมีงานหนังสือที่ถูกแปลอีกหลายภาษาทั่วโลกได้ตั้งข้อสังเกตว่า ความสงสัยในเรื่องวิทยาศาสตร์ของนักเรียนเกรด 1 – 12 มักจะเริ่มหายไป ทั้ง ๆ ที่โดยธรรมชาติแล้ว เด็กเล็กเกิดมามีสัญชาตญาณของการเป็นนักวิทยาศาสตร์โดยกำเนิด แม้ว่าในมุมมองของเขาจะมีปัจจัยหลายอย่างที่ส่งผลในเรื่องนี้ แต่ปัจจัยที่น่ากลัวที่สุด คือ ผู้ใหญ่เองนี่แหละที่เป็นหนึ่งในสาเหตุที่ทำให้เด็กหมดความสงสัยใคร่รู้ เมื่อเด็กตั้งคำถามเยอะ เราจะเริ่มเฉยเมยต่อเด็ก และดุพวกเขา ลองนึกดูว่า ถ้าเราเป็นเด็ก เราจะรู้สึกอย่างไร เมื่อคำถามที่อยากรู้ ไม่ได้รับการตอบสนองจากผู้ใหญ่ที่คิดว่า น่าจะหาคำตอบให้เราได้
เมื่อเด็กเริ่มโตขึ้น เราจะเห็นการเปลี่ยนแปลงได้อย่างชัดเจนในชั้นมัธยมฯ เขาจะเริ่มจดจำข้อเท็จจริงมากขึ้น ความสงสัยเริ่มหายไป ความสุขในการได้ค้นพบอะไรบางอย่าง และเรื่องราวที่อยู่เบื้องหลังข้อเท็จจริงเหล่านั้นก็หายไปด้วย เริ่มกลัวที่จะถามคำถามที่ดูโง่ ยอมที่จะรู้คำตอบแบบจำกัดโดยไม่ถามเพิ่ม
ทำไมการที่ผู้ใหญ่ตอบสนองคำถามเด็ก ๆ ด้วยความรู้สึกหงุดหงิด หัวเราะใส่ หรือเปลี่ยนไปทำอย่างอื่นแทนถึงเป็นพฤติกรรมที่ทำให้เด็กหมดความสงสัยใคร่รู้ได้ Carl ให้เหตุผลว่า เด็กจะเรียนรู้ว่า คำถามแบบนี้จะสร้างความรำคาญให้กับผู้ใหญ่ และถ้าเขาเจอประสบการณ์แบบนี้อีก เขาก็จะหมดความสนใจในวิทยาศาสตร์ไปเลย
นี่อาจเป็นพฤติกรรมที่เราทำไปโดยอัตโนมัติในบางครั้งโดยที่อาจไม่ทันคิดถึงผลเสียที่เกิดขึ้นกับเด็ก ต่อไปเมื่อเด็กตั้งคำถามที่ไม่รู้จบ แทนที่เราจะตอบสนองแบบเดิม ๆ ด้วยความเคยชิน เราจำเป็นต้องเปลี่ยนวิธีเสียใหม่ Carl แนะนำให้ผู้ใหญ่ทำให้เด็ก ๆ เห็นว่า เราพยายามตอบคำถามเขา เพราะมันช่วยสร้างความมั่นใจและให้กำลังใจพวกเขาได้
แต่ผู้ใหญ่ส่วนมากน่าจะเคยมีประสบการณ์คล้าย ๆ กันว่า เด็กมักจะถามคำถามมากมายที่เราไม่รู้คำตอบ และเป็นไปไม่ได้อยู่แล้วที่เราจะรู้ทุกเรื่อง ฉะนั้น หากเด็กถามคำถามที่เราไม่รู้ วิธีที่ง่ายที่สุด คือ ให้หยิบมือถือขึ้นมาหาข้อมูล แล้วนำมาสื่อสารต่อกับเด็ก จะไปห้องสมุด หรือชวนทำการทดลองเพื่อตอบคำถามที่เด็กสงสัยดูก็ได้
วิธีกระตุ้นความสงสัยใคร่รู้ให้เด็ก
นอกจากวิธีการดังกล่าวแล้ว ยังมีอีกหลายวิธีที่ผู้ใหญ่สามารถกระตุ้นความสงสัยใคร่รู้ในตัวเด็กได้ เช่น
- ให้เด็กสำรวจธรรมชาติแบบลงมือปฏิบัติจริง
- ออกไปเล่นนอกบ้านแบบไม่ต้องวางแผนอะไรเป็นพิเศษ
- ผู้ใหญ่ทำหน้าที่เป็นผู้ค้นพบร่วมกับเด็ก ๆ คอยถามคำถาม และกระตุ้นความอยากรู้อยากเห็นของเด็ก
- ให้เล่นของเล่นที่หาได้ในธรรมชาติ หรือทำมาจากธรรมชาติ เช่น ไม้ หิน ใบไม้ ถั่ว น้ำ โคลน ที่ซ่อนลับ
- ใช้ชีวิตช้า ๆ ความรู้สึกเบื่อจะทำให้ความคิดสร้างสรรค์ของเด็กเบ่งบาน
ชื่อภาพ : เด็กเกิดมาพร้อมความสงสัยใคร่รู้
วิธีเหล่านี้จะจุดประกายความสงสัยเด็กอีกครั้ง เราจะได้ยินคำถามว่า “ ทำไม ” และ “ อย่างไร ” บ่อยขึ้น มีข้อสังเกตหนึ่งที่น่าสนใจมากว่า คำว่า “ ทำไม ” สำหรับเด็กและผู้ใหญ่อาจมีความหมายที่ไม่เหมือนกัน สำหรับเด็กมักจะเชื่อมโยงไปที่เรื่องวิทยาศาสตร์เสียส่วนมาก แต่สำหรับผู้ใหญ่คำนี้ไม่ได้เป็นเรื่องวิทยาศาสตร์ในความหมายดั้งเดิมเหมือนวิทยาศาสตร์ในนิยามของเด็ก เพราะจากการค้นหาหนังสือที่มีชื่อต้นขึ้นว่า “ ทำไม ” และ “ อย่างไร ” กว่า 160 ล้านเล่มในหอสมุดรัฐสภาสหรัฐฯ เมื่อปี 2019 พบว่า มีหนังสือราว 250 เล่มที่มีชื่อขึ้นต้นด้วย “ ทำไม… ” แต่เนื้อหาไม่ได้เป็นเรื่องวิทยาศาสตร์ เช่น ทำไมศิลปินถึงยากจน ส่วนหนังสือที่ชื่อเรื่องชัดเจนว่าเป็นวิทยาศาสตร์ธรรมชาติมีอยู่เพียง 25 เล่ม และอีก 24 เล่มเป็นหนังสือสำหรับเด็ก เช่น ทำไมสัตว์ถึงมีสีต่างกัน
จะเห็นได้ว่า เด็กสนใจที่จะตั้งคำถาม “ ทำไม ” และ “ อย่างไร ” กับโลกของเรามากกว่าผู้ใหญ่ นี่เป็นเรื่องที่ได้รับการยืนยันจากงานวิจัยจำนวนมากในทศวรรษที่ผ่านมาจากรูปแบบที่ชัดเจนของชื่อหนังสือ อย่างไรก็ตาม เด็กจะตั้งคำถามน้อยลงเมื่อขึ้นชั้นประถมฯ ส่วนในเด็กที่โตขึ้น ถึงจะตั้งคำถามน้อยลง แต่จะเป็นคำถามที่มีประสิทธิภาพมากขึ้น
ผลเสียที่เกิดขึ้นเมื่อเด็กหมดความสงสัยใคร่รู้
จะเกิดอะไรขึ้นเมื่อเด็กตั้งคำถามน้อยลง ผู้ใหญ่อาจเหนื่อยที่ต้องตอบคำถามน้อยลง แต่นั่นไม่ใช่เรื่องดีแน่ เพราะความสงสัยเป็นเครื่องมือสำคัญของการสำรวจและการค้นพบ ความหลงใหลในความเป็นไปของโลกก็จะหายไปทันที เด็กจะขาดความเข้าใจเรื่องกลไกต่าง ๆ ที่ซ่อนอยู่ เขาจึงอาจได้รับหรือส่งต่อข้อมูลที่ผิด หรือถูกคนอื่นควบคุมชักใยได้ง่าย
คงดีไม่น้อยหากเราสร้างพลังแห่งความสงสัยใคร่รู้ให้คงอยู่กับเด็กได้จนถึงวันที่เขาเติบโตเป็นผู้ใหญ่ เพราะเด็กที่อยากรู้อยากเห็นเป็นทรัพยากรของชาติและของโลกใบนี้ เขาต้องได้รับการดูแล ทะนุถนอม และส่งเสริม เหมือนอย่างที่ Carl Sagan สุดยอดนักสื่อสารวิทยาศาสตร์ของโลกได้กล่าวไว้
อ้างอิง
https://bigthink.com/thinking/why-kids-lose-wonder-carl-sagan/
https://lithub.com/where-does-childhood-wonder-come-from-and-why-does-it-end/
https://rainorshinemamma.com/why-we-must-protect-and-nurture-our-childrens-sense-of-wonder/