จริงไหมที่ผลการเรียนจะดี ถ้าเด็กมีทักษะทางอารมณ์และสังคมที่ดี

A A
Aug 9, 2023
Aug 9, 2023
A A

จริงไหมที่ผลการเรียนจะดี ถ้าเด็กมีทักษะทางอารมณ์และสังคมที่ดี

 

  • มีความเข้าใจผิดว่า ทักษะทางอารมณ์และสังคมไม่ได้เป็นเรื่องที่สำคัญเท่าการพัฒนาผลสัมฤทธิ์ทางการเรียนของนักเรียน แต่งานวิจัยพบว่า ทักษะทางอารมณ์และสังคมเป็นอีกหนึ่งปัจจัยที่ส่งผลต่อผลการเรียนของนักเรียน โดยเฉพาะในเรื่องคณิตศาสตร์และการอ่าน
  • “ความอยากรู้อยากเห็น” และ “ความพากเพียร” เป็น 2 คุณสมบัติอันโดดเด่นที่ช่วยให้นักเรียนประสบความสำเร็จด้านวิชาการมากยิ่งขึ้น

 

ถ้าถามว่า ผลการเรียนของนักเรียนจะดีหรือแย่ เราคิดว่ามีปัจจัยอะไรเข้ามาเกี่ยวข้องได้บ้าง? การจัดการเรียนรู้ของครู ความพร้อมของนักเรียนในการเรียนรู้ หรือการสนับสนุนจากพ่อแม่ ฯลฯ ดูเหมือนว่าที่เอ่ยมาทั้งหมดนี้ล้วนมีผลต่อผลการเรียนของนักเรียนทั้งสิ้น และยังมีปัจจัยอีกมากมายที่เราไม่ได้พูดถึง แต่ก็มีความสำคัญเช่นเดียวกัน แต่เชื่อไหมว่า งานวิจัยหลายชิ้นพบข้อมูลของปัจจัยอีกอย่างที่สัมพันธ์กับผลสัมฤทธิ์ทางการเรียนของนักเรียน โดยเฉพาะในเรื่องคณิตศาสตร์และการอ่าน ซึ่งคนส่วนมากไม่เคยคิดว่ามันเชื่อมโยงกันมาก่อน ปัจจัยที่ว่าก็คือ ทักษะทางอารมณ์และสังคม (Social Emotional Learning: SEL) นั่นเอง สองอย่างนี้เกี่ยวข้องกันอย่างไร และการรับรู้สิ่งนี้จะมีผลต่อแนวทางในการจัดการเรียนการสอนของครู หรือส่งเสริมให้เด็กมีผลการเรียนที่ดีขึ้นได้อย่างไรบ้าง

 

ทักษะ SEL กับผลการเรียนของนักเรียน

 

คนส่วนมากมักเข้าใจว่า SEL กับผลการเรียนเป็นคนละเรื่องกัน โดยทั่วไปโรงเรียนส่วนมากจะให้ความสำคัญกับผลการเรียนของนักเรียนมากกว่า เพราะเป็นเรื่องที่จับต้องได้ วัดผลได้ ประกอบกับครูมีภาระงานที่เยอะอยู่แล้ว การให้ครูที่ไม่ได้เชี่ยวชาญเรื่อง SEL มาดูแลนักเรียนในเรื่องนี้อาจทำให้ครูรู้สึกว่ามีภาระมากขึ้น SEL เลยถูกมองว่าเป็นประเด็นรองที่ไม่ได้สำคัญมากนัก อาจมีการพูดถึงหรือนำมาใช้ในโรงเรียนบ้างตอนที่เกิดปัญหาบางอย่างขึ้น แต่ถ้าจะเปรียบเทียบแล้ว 2 เรื่องนี้เหมือนกับเหรียญ 2 ด้าน มันยังคงเป็นเหรียญเดียวกัน แถมยังมีความเชื่อมโยงมากกว่าที่เราคิดเสียอีก

 

ข้อมูลนี้มาจากการศึกษาของ Branching Minds บริษัทด้านเทคโนโลยีการศึกษาที่ได้วิเคราะห์แบบประเมินการคัดกรองนักเรียนในทักษะ SEL กับการอ่านและความสามารถทางคณิตศาสตร์ของนักเรียนระดับปฐมวัยถึงเกรด 8 เกือบ 4,000 คน ในปีการศึกษา 2021-2022 แล้วได้คำตอบว่า ถ้านักเรียนมีทักษะ SEL ที่แข็งแกร่ง เขาจะมีประสิทธิภาพด้านการอ่านและทักษะทางคณิตศาสตร์ที่สูงขึ้น ตรงกันข้าม หากนักเรียนไม่ได้มีทักษะนี้มากพอ การอ่านและทักษะทางคณิตศาสตร์ก็จะแย่ลงตามไปด้วย ข้อมูลยังพบอีกว่า นักเรียน 60-70% ที่ได้รับการระบุว่า จำเป็นต้องได้รับการสนับสนุน SEL เพิ่มเติมยังจำเป็นต้องได้รับการสนับสนุนด้านวิชาการเพิ่มเติมอีกด้วย ยิ่งเป็นการชี้ให้เห็นถึงความความสัมพันธ์ของสองอย่างนี้ชัดเจนยิ่งขึ้น

 

หลายประเทศทั่วโลกอาจเผชิญปัญหาคล้าย ๆ กันว่า ผลสัมฤทธิ์ทางการเรียนของนักเรียนลดลง การศึกษานี้ก็เกิดขึ้นในขณะที่ครูอเมริกันพบว่า คะแนนสอบของนักเรียนในวิชาคณิตศาสตร์และการอ่านลดลงอย่างมาก และไม่ใช่แค่เรื่องนี้เรื่องเดียวที่ดูเป็นปัญหาที่น่ากังวล ครูยังเจอปัญหาอีกหลายอย่างที่เกี่ยวข้องกับนักเรียน เช่น ปัญหาพฤติกรรมที่เพิ่มขึ้น ปัญหาด้านสังคม อารมณ์ รวมถึงปัญหาสุขภาพจิตอื่น ๆ 

 

แม้ว่าสิ่งที่การศึกษานี้ค้นพบอาจดูเป็นความรู้ใหม่สำหรับคนที่ไม่เคยรู้มาก่อน แต่มันก็

สอดคล้องกับงานวิจัยก่อนหน้าที่แสดงให้เห็นว่า SEL มีผลเชิงบวกต่อผลสัมฤทธิ์ทางการเรียนของนักเรียน แต่ก็ยังมีช่องว่างเรื่องการทำความเข้าใจวิธีการที่เราจะนำสองอย่างนี้มาบูรณาการและใช้ร่วมกันเพื่อวางแผนช่วยเหลือนักเรียนต่อไป

 

อีกประเด็นที่การศึกษานี้ค้นพบ คือ SEL อาจทำหน้าที่เป็นปัจจัยป้องกันให้กับนักเรียนบางคนที่มีผลการเรียนต่ำกว่ามาตรฐานได้ พูดง่าย ๆ คือ สำหรับนักเรียนที่มีทักษะ SEL สูง เราอาจใช้ทักษะนี้ช่วยเพิ่มผลสัมฤทธิ์ทางการเรียนของเขาได้ เช่น ถ้านักเรียนมีปัญหาด้านการอ่าน แต่ชอบเข้าสังคมมาก ครูอาจสร้างกลุ่มส่งเสริมการอ่านที่มีเป้าหมายเฉพาะหรือเป็นกลุ่มเฉพาะบุคคล โดยให้นักเรียนได้ใช้ทักษะทางสังคมของตัวเอง หรือเล่นกับจุดแข็งที่นักเรียนมีอยู่แล้ว หรือให้นักเรียนสวมบทบาทเป็นครู แล้วอธิบายบางอย่างให้เพื่อนฟัง เพื่อฝึกอ่านจับใจความและทักษะทางสังคม

 

2 ทักษะสำคัญ ทำนายความสำเร็จด้านการเรียน

 

เมื่อเราเห็นความสัมพันธ์ระหว่าง SEL กับผลการเรียนของนักเรียนแล้ว เราอาจจะเกิดคำถามต่อมาว่า แล้วทักษะย่อยอะไรใน SEL ที่ช่วยส่งเสริมการอ่านและทักษะทางคณิตศาสตร์ให้กับนักเรียนได้อย่างชัดเจน เพราะ SEL ก็ประกอบไปด้วยทักษะย่อยอีกมากมาย การศึกษาของ OECD พบว่า “ความอยากรู้อยากเห็น” และ “ความพากเพียร” เป็นทักษะที่โดดเด่นที่สุดในการทำนายความสำเร็จด้านวิชาการ ข้อสรุปนี้ได้มาจากการสำรวจทักษะทางสังคมและอารมณ์ของนักเรียนกว่า 3,000 คน จากเมืองใหญ่ใน 11 ประเทศ เช่น เฮลซิงกิในฟินแลนด์ ซูโจวในจีน กรุงมอสโกในรัสเซีย จนได้คำตอบว่า 2 ทักษะนี้เชื่อมโยงกับผลการเรียนที่ดีขึ้นของนักเรียนอายุ 10 และ 15 ปีมากที่สุด โดยดูจาก 5 ประเด็นสำคัญเหล่านี้

  • การปฏิบัติงาน เช่น ความเพียร และการควบคุมตนเอง
  • การควบคุมอารมณ์ เช่น การมองโลกในแง่ดีและการตอบสนองต่อความเครียด
  • การทำงานร่วมกัน เช่น การเห็นอกเห็นใจและความเชื่อใจ
  • ความใจกว้าง เช่น ความอดทน ความอยากรู้อยากเห็น และความคิดสร้างสรรค์
  • การมีส่วนร่วมกับผู้อื่น เช่น ความกล้าแสดงออกและการเข้าสังคม

 

 

ทักษะ SEL ที่ส่งผลต่อความสามารถทางคณิตศาสตร์และการอ่าน
ทักษะ SEL

ชื่อภาพ : ทักษะ SEL ที่ส่งผลต่อความสามารถทางคณิตศาสตร์และการอ่าน

 

 

 

ภาพจาก 

https://www.edweek.org/leadership/the-sel-skills-that-may-matter-most-for-academic-success-curiosity-and-persistence/2021/10

 

อย่างไรก็ตาม แม้ว่าความอยากรู้อยากเห็นและความพากเพียรเป็นตัวทำนายความสำเร็จด้านวิชาการที่เด่นชัดที่สุดในเรื่องคณิตศาสตร์และการอ่านของเด็กและวัยรุ่น แต่ก็ไม่ได้หมายความว่าทักษะอื่นไม่ได้สำคัญ อีกประเด็นที่การศึกษานี้ค้นพบและกลายเป็นหนึ่งในประเด็นที่น่าประหลาดใจที่สุด คือ นักเรียนอายุ 15 ปี มีทักษะทางสังคมและอารมณ์ต่ำกว่านักเรียนอายุ 10 ปีในหลายด้าน แต่เมื่อนักเรียนโตขึ้น เราจะเห็นความเชื่อมโยงระหว่างทักษะทางสังคมที่ดีขึ้นกับผลการเรียนที่สูงขึ้น 

 

ย้อนกลับไปในปี 2014 ก็เคยมีการศึกษาในประเด็นความเชื่อมโยงระหว่าง SEL กับผลการเรียนเช่นเดียวกัน โดย Public Health England ได้ทำการวิเคราะห์อภิมานจากงานวิจัยที่มีอยู่ หนึ่งในข้อสรุปที่ได้ คือ เมื่อนักเรียนได้รับการพัฒนาทักษะทางอารมณ์และสังคม การสอบวัดผลสัมฤทธิ์มาตรฐานจะมีคะแนนสูงขึ้น 10-20% 

 

นอกจากนี้ ยังมีการศึกษาอีกชิ้นที่เปรียบเทียบนักเรียนที่เรียนหลักสูตร SEL ควบคู่ไปกับวิชาอื่น ๆ กับนักเรียนที่เรียนเฉพาะวิชาการอย่างเดียวกว่า 270,000 คน เพื่อดูว่า ทั้งสองกลุ่มมีผลการเรียนที่แตกต่างกันไหม ผลพบว่า นักเรียนที่เรียนหลักสูตร SEL พ่วงด้วยมีความคิดเชิงบวกกับการเรียนมากขึ้น เช่น ชอบไปโรงเรียน รู้สึกว่ามีคนที่โรงเรียนคอยห่วงใย เข้าเรียนเป็นประจำ และยังได้คะแนนการทดสอบสูงขึ้นโดยเฉลี่ย 11% อีกด้วย

 

การศึกษาเหล่านี้ทำให้เราเห็นว่า หลายสิ่งหลายอย่างไม่ได้แยกออกจากกัน แต่มันส่งเสริมและเชื่อมโยงซึ่งกันและกัน การนำความรูู้จากประเด็นนี้มาใช้วางแผนสำหรับนักเรียนต่อไปทำให้เราต้องรู้ว่า นักเรียนมีจุดแข็งอะไร และมองเห็นความต้องการแบบองค์รวมของนักเรียนเป็นสำคัญ ให้ความสำคัญกับเรื่องวิชาการ พฤติกรรม อารมณ์และสังคมของนักเรียนในสัดส่วนที่เท่ากัน นี่ถือเป็นโอกาสสำคัญของทุกฝ่าย ไม่ว่าจะเป็นครู นักเรียนและพ่อแม่ที่จะได้ทำงานร่วมกันเพื่อวางแผนช่วยเหลือนักเรียนต่อไป 

 

อ้างอิง

https://www.edweek.org/leadership/what-new-research-shows-about-the-link-between-achievement-and-sel/2023/07

https://www.edweek.org/leadership/the-sel-skills-that-may-matter-most-for-academic-success-curiosity-and-persistence/2021/10

https://www.persona-life.com/blog/how-social-emotional-learning-can-contribute-to-better-academic-outcomes-in-secondary-schools/ 

Share

Authors

Authors

RELATED POSTS