ภาษาแม่ เครื่องมือสร้างการเรียนรู้อันทรงพลัง

A A
Feb 20, 2023
Feb 20, 2023
A A

ภาษาแม่ เครื่องมือสร้างการเรียนรู้อันทรงพลัง

 

  • การจะพูดภาษาที่ 2 หรือ 3 ได้คล่อง เราจำเป็นต้องมีทักษะในภาษาแม่ที่มากพอ เพราะภาษาแม่ช่วยสอนโครงสร้างทางภาษาพื้นฐาน หรือวิธีการทำงานของภาษาให้เรา
  • ประชากร 40% ทั่วโลกไม่สามารถเข้าถึงการศึกษาในภาษาที่พวกเขาพูดหรือเข้าใจได้ ในหลายประเทศนักเรียนส่วนใหญ่เข้าเรียนโดยใช้ภาษาอื่นที่ไม่ใช่ภาษาแม่ การทำเช่นนี้จะลดทอนความสามารถในการเรียนรู้อย่างมีประสิทธิภาพ
  • ภาษาจึงไม่เพียงเป็นเครื่องมือของการสื่อสาร หรือเป็นเครื่องมือถ่ายทอดวัฒนธรรมเท่านั้น แต่ยังเป็นเครื่องมือแห่งการเรียนรู้ที่ทรงพลังอย่างยิ่ง

 

“ถ้าไม่นับภาษาอังกฤษแล้ว คุณพูดได้กี่ภาษา”

ในยุคนี้ทักษะภาษาที่ 3 กลายเป็นอีกหนึ่งทักษะที่ทำให้เราโดดเด่นจากคนอื่น แม้ว่าการพูดได้หลายภาษาจะทำให้เราได้เปรียบ แต่ถ้ามองย้อนกลับไป ทักษะนี้จะเกิดขึ้นไม่ได้เลย ถ้าเรายังมีทักษะใน “ภาษาแม่” ที่ไม่มากพอ ไม่ว่าจะเป็นการฟัง พูด อ่านหรือเขียน ภาษาไม่เพียงเป็นเครื่องมือของการสื่อสาร หรือเป็นเครื่องมือถ่ายทอดวัฒนธรรมเท่านั้น แต่ยังเป็นเครื่องมือแห่งการเรียนรู้ที่ทรงพลังอย่างยิ่ง จนมีคำกล่าวว่า ถ้าอยากฆ่าชาติใดชาติหนึ่ง วิธีเดียวที่จะทำได้ คือ ต้องฆ่าภาษาของชาตินั้น

 

สังเกตกันไหมว่า คำหนึ่งคำสำหรับเราแต่ละคนมันมีความหมายไม่เหมือนกัน “หนาว” สำหรับคนไทย คนอเมริกัน คนแอฟริกัน ไม่ใช่อุณหภูมิเดียวกันแน่ ๆ Suzanne Talhouk กวีและผู้เรียกร้องให้ผู้คนหันมาใช้ภาษาแม่ของตัวเองกล่าวไว้ใน TED Talk ว่า “ภาษาไม่ใช่แค่คำที่ออกมาจากปากเรา แต่มันแสดงให้เห็นถึงสภาวะบางอย่างในในชีวิตเรา และระบบคำศัพท์ที่เชื่อมโยงกับอารมณ์ของเรา เมื่อเราเอ่ยคำออกมาคำหนึ่ง แต่ละคนจะรับรู้คำ ๆ นั้นไม่เหมือนกัน เราจะดึงภาพเฉพาะอย่างออกมาจากหัว ความรู้สึกบางอย่าง ภาษาจึงไม่ใช่คำแค่หนึ่ง สองหรือสามคำเรียงต่อกัน แต่มัน คือ ความคิดที่อยู่ข้างใน”

 

ภาษาแม่คืออะไร

     ภาษาแม่สำหรับคนไทยส่วนใหญ่อาจหมายถึง ภาษาไทยที่เราใช้มาตั้งแต่เกิด ขณะเดียวกันก็ยังหมายถึง ภาษาเฉพาะของพื้นที่หรือกลุ่มชาติพันธุ์ หรืออาจเป็นภาษาที่พ่อแม่ของเราใช้ ในกรณีที่เราเกิดและเติบโตในอีกประเทศ แม้ว่าบ้านเราจะใช้ภาษาไทย ซึ่งเป็นภาษาแม่ของคนส่วนใหญ่เป็นภาษาราชการ จนเราอาจไม่ได้รับรู้ว่า ความหลากหลายทางภาษาทั่วโลกกำลังถูกคุกคามมากขึ้น ภาษาต่าง ๆ หายไปในอัตราที่น่าตกใจ และอย่างที่เรารู้กันดีว่า เมื่อใดที่ภาษาหายไป มรดกทางวัฒนธรรมและปัญญาที่ถ่ายทอดผ่านภาษาก็จะสูญหายไปด้วย

 

ปัจจุบันทั่วโลกมีภาษาพูดอยู่ราว 7,000 ภาษา แต่มีการประเมินกันว่า ประชากร 40% ทั่วโลกไม่สามารถเข้าถึงการศึกษาในภาษาที่พวกเขาพูดหรือเข้าใจได้ ยูเนสโกจึงได้ประกาศให้วันที่ 21 กุมภาพันธ์ของทุกปีเป็นวันภาษาแม่สากล เพราะเล็งเห็นในความสำคัญของความหลากหลายทางวัฒนธรรมและภาษาเพื่อสังคมที่ยั่งยืน 

 

ทำไมการเรียนโดยใช้ภาษาแม่ถึงเป็นเรื่องสำคัญ

     ในหลายประเทศนักเรียนส่วนใหญ่เข้าเรียนโดยใช้ภาษาอื่นที่ไม่ใช่ภาษาแม่ การทำเช่นนี้จะลดทอนความสามารถในการเรียนรู้อย่างมีประสิทธิภาพ งานวิจัยพบว่า การเรียนรู้โดยใช้ภาษาแม่เป็นปัจจัยสำคัญของการเรียนรู้แบบครอบคลุมและมีคุณภาพ และยังช่วยพัฒนาผลการเรียนได้อีกด้วย ซึ่งเป็นเรื่องสำคัญโดยเฉพาะในโรงเรียนประถม ฯ เพราะช่วยลดช่องว่างทางความรู้ นักเรียนจะเรียนรู้และเข้าใจได้เร็วขึ้น สำคัญที่สุด คือ การศึกษาพหุภาษาตามภาษาแม่ช่วยให้ผู้เรียนทุกคนมีส่วนร่วมในสังคมได้อย่างเต็มที่ ส่งเสริมความเข้าใจ การเคารพซึ่งกันและกัน และรักษาความมั่งคั่งของมรดกทางวัฒนธรรมและประเพณีดั้งเดิมที่ฝังอยู่ในทุกภาษาทั่วโลก ด้วยเหตุนี้ยูเนสโกจึงเป็นผู้นำและสนับสนุนการศึกษาพหุภาษาโดยใช้ภาษาแม่ตั้งแต่ปีแรก ๆ ของการเรียนการสอน

 

ภาษาแม่

 

อยากเก่งภาษาอื่น ทำไมต้องคล่องภาษาแม่ก่อน

     เคยไหมเวลาพูดภาษาอื่นแล้วอยากเล่าเรื่องยาก ๆ ซับซ้อน หรือเรื่องนามธรรมให้เพื่อนต่างชาติฟัง แต่สิ่งที่พูดออกมานั้น ยังไม่ได้ครึ่งหนึ่งของสิ่งที่อยากเล่าเลย ทำไมเราดูเป็นคนโง่ในอีกภาษาหนึ่ง แต่ถ้าให้พูดเป็นภาษาไทย เราจะกลายเป็นคนฉลาดล้ำลึกขึ้นมาทันที ทั้งหมดนี้เป็นเพราะเราจะเก่งภาษาอื่นได้ก็ต่อเมื่อเราคล่องภาษาแม่มากพอเสียก่อน ประเด็นนี้มีงานวิจัยมาแล้ว ยิ่งโลกของเราใช้ภาษาอังกฤษเป็นภาษาหลักมากขึ้น คนที่ไม่ได้ใช้ภาษาอังกฤษเป็นภาษาแม่ก็จะยิ่งถอยห่างจากภาษาแม่ของตัวเองมากยิ่งขึ้น

 

ความสำคัญของภาษาแม่

     ภาษาแม่เป็นภาษาแรกที่ทารกเรียนรู้ตั้งแต่แรกเกิด จึงมีบทบาทสำคัญในชีวิตเราหลายอย่าง 

 

  1. พัฒนาการทางปัญญา

การศึกษาพบว่า มนุษย์เราจะมีพัฒนาการทางความคิดและสติปัญญาเร็วกว่าหากใช้ภาษาแม่ได้อย่างคล่องแคล่ว รวมถึงความสำเร็จทางด้านการศึกษามากกว่าคนที่เรียนด้วยภาษาอื่นที่ไม่ใช่ภาษาแม่

 

  1. เชื่อมโยงกับวัฒนธรรมได้ดีขึ้น

ภาษาเป็นวิธีหลักในการรักษาวัฒนธรรมให้คงอยู่ บ่อยครั้งที่การแปลโดยตรงจากภาษาหนึ่งไปยังอีกภาษาหนึ่งไม่สามารถถ่ายทอดสาระสำคัญได้เหมือนภาษาต้นทาง ดังนั้น วิธีที่ดีที่สุดในการรู้จักวัฒนธรรมอย่างละเอียด คือ การเข้าใจภาษา ซึ่งภาษาแม่ช่วยให้เราเชื่อมต่อกับคุณค่าทางวัฒนธรรมและรากเหง้าดั้งเดิมของเราได้

 

  1. การเรียนรู้ภาษาที่สอง

หากเรารู้ภาษาแม่ของเราเป็นอย่างดี การเรียนรู้ภาษาใหม่จะเป็นเรื่องง่ายขึ้น เพราะภาษาแม่ช่วยสอนโครงสร้างทางภาษาพื้นฐาน หรือวิธีการทำงานของภาษาให้เรา หากทั้งสองภาษามีความคล้ายคลึงกัน เราจะเรียนภาษาที่สองได้ง่ายกว่าการเรียนรู้โครงสร้างใหม่ทั้งหมด หากเด็กอ่านภาษาแม่ตั้งแต่อายุยังน้อย พวกเขาจะมีทักษะการอ่านและการเขียนในภาษาอื่นที่มากขึ้น

 

  1. สร้าง Self-esteem

การรู้ภาษาแม่เป็นอย่างดีช่วยสร้าง Self-esteem เสริมสร้างความมั่นใจ สร้างความตระหนักรู้ในขณะที่เราเชื่อมโยงกับเอกลักษณ์ทางวัฒนธรรมของเรา

 

นอกจากนี้ การเรียนรู้ภาษาแม่ยังมีความสำคัญต่อการพัฒนา Critical Thinking และการอ่านออกเขียนได้ อาจพูดได้ว่า ภาษาแม่เป็นเครื่องมือสร้างการเรียนรู้ที่มีประโยชน์อย่างยิ่ง

 

ผลกระทบของ COVID-19 ต่อการเรียนรู้ภาษาแม่

     ช่วงที่โรงเรียนทั่วโลกต้องปิดเพราะโควิด ยิ่งขยายช่องว่างทางการศึกษาให้มากขึ้น ค่าเฉลี่ยที่โรงเรียนปิดทั่วโลกมีตั้งแต่ 20 สัปดาห์ไปจนถึงมากกว่า 70 สัปดาห์ ซึ่งมากกว่าหนึ่งปีการศึกษาเต็ม ๆ นอกจากจะส่งผลกระทบต่อนักเรียนที่เปราะบางและด้อยโอกาสแล้ว ยังส่งผลต่อนักเรียนกลุ่มชนพื้นเมือง และนักเรียนที่ใช้ภาษาของชนกลุ่มน้อยอีกด้วย 

 

สิ่งที่น่าสังเกต คือ เครื่องมือ โปรแกรม และเนื้อหาสำหรับการเรียนการสอนทางไกลในหลายประเทศไม่สามารถสะท้อนถึงความหลากหลายทางภาษาได้เสมอไป เพราะส่วนมากเป็นภาษาประจำชาติหรือภาษาสากล เมื่อเนื้อหาการเรียนรู้ทางไกลไม่มีในภาษาแม่ของนักเรียน โอกาสที่พวกเขาจะสูญเสียการเรียนรู้จึงมีมากขึ้น ไม่เฉพาะการเรียนการสอนทางไกลเท่านั้นที่มีข้อจำกัดในเรื่องนี้ แต่ปัญหานี้ยังพบเห็นได้ทั่วไปในโลกดิจิทัลที่ไม่ได้ครอบคลุมทุกภาษาอีกด้วย

 

ตราบใดที่บ้านเรายังคงใช้ภาษาไทยเป็นภาษาราชการกันอยู่ เราคงยังไม่รับรู้ถึงการหายไปของภาษาแม่ของเราหากเราไม่ใช่กลุ่มชาติพันธุ์ แต่ในหลายประเทศ บางคนถูกมองอย่างเหยียดหยามเพียงเพราะพูดภาษาแม่ในร้านอาหารของประเทศตัวเอง คงไม่มีใครอยากจินตนาการตัวเองในสถานการณ์แบบนั้นเป็นแน่ เพราะนั่นอาจหมายถึงเอกลักษณ์ วัฒนธรรมและตัวตนของเราที่กำลังหายไปอย่างช้า ๆ แล้วคุณล่ะเคยมีประสบการณ์คล้าย ๆ กันนี้บ้างหรือไม่ 

 

อ้างอิง

https://www.ted.com/talks/suzanne_talhouk_don_t_kill_your_language

https://www.unesco.org/en/days/mother-language

https://www.westernunion.gr/en/the-importance-of-the-mother-language/

https://www.unesco.org/en/articles/why-mother-language-based-education-essential

https://bilingualkidspot.com/2021/11/12/mother-tongue-meaning-facts/

  •  
  •  

 

Tag

Share

Tag

Share

Authors

Authors

RELATED POSTS