ทำไมเราต้องวางแผนการเรียนรู้ตลอดชีวิต
- นักประชากรศาสตร์คาดว่าครึ่งหนึ่งของเด็กอนุบาลในปัจจุบันจะมีอายุถึง 100 ปีหรืออาจจะมากกว่านั้นในอนาคต
- หากอายุยืนขึ้นถึง 100 ปี ช่วงเวลาของการเรียนรู้ การสร้างรายได้ การรับทักษะใหม่ ๆ การสั่งสมความสามารถในการเรียนรู้อย่างต่อเนื่องก็จะขยายออกไปอีก ซึ่งในอนาคตการเรียนรู้ทักษะอย่างต่อเนื่องอาจสำคัญมากกว่าการจบจากสถาบันการศึกษาที่ดี
- สิ่งท้าทายคือการปฏิรูปการสอนอย่างต่อเนื่อง โรงเรียนและมหาวิทยาลัยควรใส่ใจกับแนวโน้มของตลาดเพื่อตอบสนองความต้องการใหม่ ๆ ได้
ทำไมเราต้องวางแผนการเรียนรู้ตลอดชีวิต
นักประชากรศาสตร์คาดว่าครึ่งหนึ่งของเด็กอนุบาลในปัจจุบันจะมีอายุถึง 100 ปีหรืออาจจะมากกว่านั้นในอนาคต ในฐานะคนเป็นพ่อแม่ หรือครูของเด็กวัย 2-3 ขวบเราจะเตรียมความพร้อมกับเด็ก ๆ อย่างไรให้พวกเขารับมือกับปริมาณชีวิตที่เพิ่มขึ้น อย่างน้อยก็อีก 30-40 ปี พวกเขาจะใช้ปริมาณชีวิตที่เพิ่มขึ้นอย่างมีความหมายได้อย่างไร
โลกนี้มีผู้คนอายุ 75 ปีขึ้นไปประมาณ 270 ล้านคน แต่อาจจะไม่ได้หมายความว่าทุกคนจะมีความสุขและมีการใช้ชีวิตอย่างมีความหมาย มีการเงินที่มั่นคง มีสุขภาพที่ดี และความสัมพันธ์ที่ยั่งยืน แม้ว่าองค์ประกอบเหล่านี้ล้วนเป็นสิ่งประกอบสร้างให้ชีวิตมีความหมาย การสร้างนิสัยเพื่อการเรียนรู้ก็เป็นสิ่งหนึ่งที่ควรมีติดตัว เพราะช่วงชีวิตส่วนใหญ่ของเรามักถูกแบ่งออกเป็น 3 ช่วง คือ 20 ปีแรกของชีวิตแรกคือการเรียน และอีก 40 ปีหลังคือการทำงาน และ สุดท้ายคือ 10-20 ปีคือการเกษียณอายุ
หากอายุยืนขึ้นถึง 100 ปี ช่วงเวลาของการเรียนรู้ การสร้างรายได้ การรับทักษะใหม่ ๆ การสั่งสมความสามารถในการเรียนรู้อย่างต่อเนื่องก็จะขยายออกไปอีก ซึ่งในอนาคตการเรียนรู้ทักษะอย่างต่อเนื่องอาจสำคัญมากกว่าการจบจากสถาบันการศึกษาที่ดี ผู้คนอาจจะสามารถได้เริ่มทำงานตั้งแต่อายุยังน้อย การทำงานอาจน้อยลงเพราะรู้กันอยู่แล้วว่าในอนาคต AI อาจมาทำงานบางส่วนแทนเรา มนุษย์อย่างเรา ๆ อาจจำเป็นต้องเพิ่มเวลาการเรียนรู้ให้มากขึ้น และคำว่าเกษียณอาจจะไม่ต้องใช้อีกต่อไป
เพราะในปัจจุบันความสามารถในการเรียนรู้กระจายไปทั่วโลกผ่านเทคโนโลยี และ AI ซึ่งสิ่งเหล่านี้มีการพัฒนาประสิทธิภาพอย่าต่อเนื่อง และยังช่วยให้ผู้คนพัฒนาศักยภาพของตัวเองได้ ทำให้เห็นสัญญาณของการศึกษาที่สามารถเข้าถึงได้มากขึ้นและมีส่วนร่วมได้อย่างง่ายดาย ศาสตราจารย์ Eric Brynjolfsson จากมหาวิทยาลัยสแตนฟอร์ด เขียนไว้ว่า “เทคโนโลยีกำลังก้าวไปข้างหน้า แต่ทักษะและองค์กรกำลังล้าหลัง” ซึ่งทักษะต่าง ๆ จำเป็นต้องได้รับการฟื้นฟูอย่างต่อเนื่อง ยิ่ง AI ก้าวหน้าเท่าไรก็ยิ่งสร้างโอกาสให้มนุษย์ต่าง ๆ มากเท่านั้น

เสาหลักสี่ประการของการเรียนรู้ตลอดชีวิต
จากข้อมูลของLifelong Learning Council Queensland (LLCQ)ซึ่งเป็นคณะกรรมการที่ส่งเสริมแนวคิดนี้ทั่วโลก แนวคิดนี้มีเสาหลัก 4 ประการคือ
1.การเรียนรู้ที่จะรู้ : พัฒนาความอยากรู้อยากเห็นและความกระตือรือร้นที่จะเรียนรู้ของตัวเอง มีความคิดเชิงวิพากษ์
2.เรียนรู้ที่ต้องทำ : นำความรู้ไปปฏิบัติ, เรียนรู้จากประสบการณ์จริง
3.เรียนรู้ที่จะอยู่ร่วมกัน : การพัฒนาทักษะทางสังคม การให้และรับข้อเสนอแนะ รวมไปถึงการทำงานเป็นทีม
4.การเรียนรู้ที่จะเป็น : การรู้ว่าความสนใจของตัวเองคืออะไร จุดแข็งและจุดอ่อน จุดประสงค์ของคุณ และความรู้ประเภทใดที่ควรแสวงหา
อะไรคือความท้าทายสำหรับโรงเรียน
สิ่งท้าทายคือการปฏิรูปการสอนอย่างต่อเนื่อง โรงเรียนและมหาวิทยาลัยควรใส่ใจกับแนวโน้มของตลาดเพื่อตอบสนองความต้องการใหม่ ๆ ได้ นอกจากนี้ความสัมพันธ์ระหว่างนักเรียนกับสถานศึกษาจะไม่เกิดขึ้นเพียงครั้งเดียวอีกต่อไป เมื่อประสบการณ์การเรียนรู้ยาวนานขึ้น นักเรียนจะกลายเป็นลูกค้าที่สามารถกลับมาใหม่ได้เสมอตามต้องการ
อ้างอิง
https://www.weforum.org/agenda/2024/01/lifelong-learning-past-100/
https://www.sydle.com/blog/lifelong-learning-61f94590eca9c55ca5c4ea6a