สรุปให้รู้ตามทันโลกการศึกษา EP.21 Innovation School 3 โรงเรียนต้นแบบของห้องเรียนยุคใหม่

A A
Oct 12, 2023
Oct 12, 2023
A A

 

สรุปให้รู้ตามทันโลกการศึกษา EP.21

Innovation School 

3 โรงเรียนต้นแบบของห้องเรียนยุคใหม่ 

 

 

การปฏิวัติมีทุกยุคทุกสมัย โดยเฉพาะเรื่องของการเรียนรู้อย่างการศึกษา ในห้องเรียนยุคใหม่ตัวชี้วัดไม่ใช่เกรดเฉลี่ย หรือคะแนนในแต่ละวิชาอีกแล้ว การศึกษาเปิดกว้างเรื่องของการเตรียมเด็ก ๆ ให้พร้อมกับการใช้ชีวิตจริงที่เต็มไปด้วยความเปลี่ยนแปลง และโลกการทำงานมากขึ้น เทคโนโลยีดิจิทัลจึงเป็นสิ่งที่นำมาปรับใช้กับห้องเรียนให้ก้าวข้ามขีดจำกัดการเรียนรู้เดิม ๆ มากขึ้นไปอีก

 

แล้วห้องเรียนยุคใหม่ในปัจจุบันพัฒนาไปถึงไหนแล้ว ลองไปดูตัวอย่างกับ 3 โรงเรียนต้นแบบของห้องเรียนยุคใหม่นี้กันครับ 

 

Ad Astra ห้องเรียนยุคใหม่อนาคตสไตล์ Elon Musk[1]

 

โรงเรียนล้ำ ๆ ที่ฉีกกรอบรูปแบบเดิมจาก อีลอน มัสก์ โดยความตั้งใจ คือ สร้างโรงเรียนนี้ขึ้นให้กับลูกตนเอง และลูกของพนักงานบริษัท SpaceX ตั้งอยู่ที่เมือง Hawthorn รัฐแคลิฟอร์เนีย 

จุดเด่นของโรงเรียนนี้คือการสอนเรื่องสังคมจริง และการเรียนรู้ตลอดชีวิต (Lifelong Learner) ผสานกับเรื่องเทคโนโลยี และนวัตกรรมอนาคตเป็นหลัก ไม่มีการแบ่งระดับชั้น แต่เด็กจะเรียนร่วมกันตั้งแต่อายุ 7-14 ปี และแบ่งกลุ่มไปตาม Project ที่เด็กแต่ละคนสนใจ เพื่อปลูกฝังความเป็นผู้นำ และวิธีคิดแก้ปัญหาแบบผู้ใหญ่ที่ทำงานในสังคมจริง (Multidisciplinary Problem Solving) นอกจากนี้ยังมีการปลูกฝังเรื่องของพลเมืองโลก (Global Citizenship) ให้เด็กอยู่ร่วมกัน และไม่ทำลายธรรมชาติ

วิชาเรียนหลักจะเป็นเรื่องใหม่ที่น่าสนใจของโลก เช่น Robotics, Nuclear Power และ AI เรียนการเขียน Coding อย่าง SCHEME, SWIFT และ SCRATCH หรือทำการทดลองในรูปแบบวิทยาศาสตร์ประยุกต์ (Applied Science) 

แต่ที่น่าสนใจมากกว่านั้นคือ โรงเรียนจะมีสกุลเงินให้ใช้ในการทำ Project แทนการใช้เงินจริง เรียกว่า หน่วยเงิน Ad Astra สามารถใช้ซื้อ-ขายของผ่าน Project ต่าง ๆ เพื่อฝึกความเป็นผู้ประกอบการ (Entreprenuership) ในตัวเด็ก ๆ ให้ได้ทดลอง ลงมือทำจริงเหมือนสังคมภายนอก

หากอ้างอิงจากงานวิจัยเรื่องการศึกษารูปแบบการเรียนรู้การสร้างทักษะผู้ประกอบการ[2] ของมหาวิทยาลัยมหิดล ที่ได้นิยามแนวคิดและทักษะที่ได้จากการเป็นผู้ประกอบการไว้ คือเรื่องของทักษะการเรียนรู้ตลอดชีวิต แนวคิดทักษะการเรียนรู้ในศตวรรษที่ 21 (The Twenty-First Century Skills) แนวคิดทฤษฎีฐานทรัพยากร (Resource Base View); การเติบโตขององค์กรมาจากการจัดการเชิงกลยุทธ์ในเรื่องของทรัพยากร แสวงหาโอกาสต่าง ๆ ในการเปลี่ยนแปลงของโลก และแนวคิดทฤษฎีระบบเศรษฐกิจที่ใช้ความรู้เป็นฐาน ( Knowledge Based Economy)

จึงอนุมานได้ว่า การเรียนรู้ทักษะของผู้ประกอบการเป็นการส่งเสริมทักษะต่าง ๆ ได้ตรงจุดประสงค์ของโรงเรียนนี้ และถือเป็นการเรียนรู้แบบ Active Learning ที่ดีอีกด้วย

สุดท้ายที่ไม่เหมือนใครเลย คือ โรงเรียนนี้จะไม่มีเรื่องของภาษา ดนตรี และกีฬาเลย และถือว่าเป็นโรงเรียน STEM เต็มรูปแบบ โดยอีลอน มัสก์ เคยให้เหตุผลเรื่องของการเรียนภาษาที่ 2 และ 3 ไว้ว่า มนุษย์ไม่จำเป็นต้องเรียนภาษาต่างชาติเพราะในอนาคตภาษาจะมีเทคโนโลยีและนวัตกรรมเข้ามาเป็นตัวแทนเอง

ซึ่งอีก 2 โรงเรียนต้นแบบก็จะเป็นโรงเรียนในสหรัฐอเมริกาที่จัดการเรียนรู้แบบใช้โครงงาน (Project Based Learning) เป็นหลักเหมือนกัน

 

Carpe Diem ห้องเรียนยุคใหม่เหมือนห้องทำงาน [3]

 

Carpe Diem Innovate School โรงเรียนในกำกับของรัฐบาล ตั้งอยู่เมือง Cincinnati รัฐโอไฮโอ สหรัฐอเมริกา การเรียนที่นี่เริ่มต้นที่เกรด 7-12 เทียบเท่ากับ ม.1-ม.6 ของไทย  เป็นโรงเรียนหลักสูตรเข้มงวดพิเศษ หลักคิดของโรงเรียนจะเแบ่งเป็น 3 หลัก คือ 

Smart School ชีวิตคือการเรียนรู้และนักเรียนไม่จำเป็นต้องถูกจำกัดไว้แค่หลักสูตรของห้องเรียน แต่ให้เรียนรู้ด้วยตนเองผ่านสื่อการสอนที่มีประสิทธิภาพที่จัดทำไว้เพื่อต่อยอดการเรียนรู้อย่างมีคุณภาพที่สุด การจัดสัดส่วนห้องเรียนที่นี่จึงไม่เหมือนห้องเรียนทั่วไปแต่เป็นรูปแบบคล้ายออฟฟิศทำงาน บนโต๊ะจะมีคอมพิวเตอร์สำหรับเรียนออนไลน์ มีการจัดให้ออกไปฝึกงานข้างนอกเพื่อทดลองทำงานจริง และครูจะทำหน้าที่เป็นเพียงโค้ชสอนส่วนตัว ที่คอยตอบคำถามหากมีข้อสงสัยมากกว่าการสอนตั้งแต่ต้น

 Smart Kids นักเรียนจะได้รับการเรียนรู้ในระดับที่เข้ากับตนเอง โดยโรงเรียนจะใช้การจัดการเรียนรู้แบบใช้โครงงานเป็นฐาน (Project-Based Learning) ให้นักเรียนได้เลือกสิ่งที่ตนเองสนใจ เพื่อส่งเสริมความแตกต่างที่ลงตัวให้กับเด็ก ๆ ในชั้นเรียน และเติมเต็มศักยภาพของพวกเขาแบบตัวต่อตัว

 Smart Choice หลักสูตรการเรียนการสอนที่ยืดหยุ่น เพื่อผลสัมฤทธิ์ทางการเรียนของเด็กทุกคน โดยทุกคนจะต้องเรียนขั้นต่ำให้ครบ 45 หน่วยกิต แบ่งเป็นวิชาบังคับ และวิชาต่าง ๆ ดังนี้ 

ด้านวิชาการ : วิชาคณิตศาสตร์ ภาษาอังกฤษ วิทยาศาสตร์ และสังคมศึกษา

ด้านการเรียนรู้ตลอดชีวิต : การพัฒนาวุฒิภาวะทางอาชีพ หรือการวางแผนการศึกษาต่อในอาชีพที่อยากเป็น และความรู้เรื่องทางการเงินแบบนานาชาติ

ด้านความฉลาดทางอารมณ์ : สมรรถภาพทางกาย และปลูกฝังสุขนิสัย เรื่องเป้าหมายในการใช้ชีวิต เรื่องครอบครัว การมีส่วนร่วมกิจกรรมสังคม และความรับผิดชอบต่อส่วนร่วม

โมเดลโรงเรียนนี้จะคล้ายกับการผสมอาชีวศึกษาเข้ากับหลักสูตรขั้นพื้นฐาน โดยปรับให้เป็นการเรียนรู้และประเมินแบบรายบุคคลมากขึ้น ประกอบกับการปลูกฝังทักษะในโลกจริงเข้ามามากกว่าหลักสูตรการเรียนรู้ขั้นพื้นฐานทั่วไป

 

Summit School ห้องเรียนยุคใหม่ที่เปิดกว้างเรื่องการค้นหาตนเอง [4]

 

โรงเรียนที่ยึดหลักการของ  S.M.A.R.T คือ เจาะจง (Specific) ประเมินผลได้ (Measurable) ทำได้จริง (Actionable) เป็นไปได้จริง (Actionable) และมีกรอบเวลาชัดเจน (Timebound) โดยเน้นการเรียนรู้จากโลกจริงและใช้การจัดการเรียนรู้แบบใช้โครงงาน (Project Based Learning) เป็นฐานหลัก มองแล้วดูคล้ายกับ Carpe Diem ที่เรากล่าวถึงไปแล้ว แต่สิ่งที่แตกต่างคือ จะเน้นไปที่การทำงานโครงงานมากกว่าโดยครูเป็นผู้ออกแบบโครงสร้างแต่ละโครงงานให้ เพื่อกำหนดวัตถุประสงค์ของการเรียนรู้ เช่น ต้องการสอนทักษะการสื่อสาร การใช้เหตุผล หรือการจัดการเวลา โดยไม่จำกัดรายวิชา และโครงงานเหล่านี้ต้องมีความเชื่อมโยงกับประเด็นในชีวิตประจำวันที่หลากหลาย เพื่อเสริมการเรียนรู้เข้ากับโลกจริงโดยไม่มีการตัดสินเกรดของโครงงานเปิดโอกาสให้นักเรียนได้ริเริ่มความคิดสร้างสรรค์ได้เต็มที่ 

นอกจากนี้ยังไม่มีวิชาบังคับ และไม่มีการบ้านเลย พวกเขาให้นักเรียนเลือกวิชาที่สนใจด้วยตนเองเรียงลำดับเนื้อหาวิชาที่ต้องการ และเลือกเวลาทดสอบได้เองภายใต้คำแนะนำของครูพี่เลี้ยงที่เป็นมากกว่าครูที่ปรึกษาแบบทั่วไป เปิดโอกาสให้นักเรียนได้ลงมือทำ เพื่อเรียนรู้ความผิดพลาด และสามารถปรับปรุงเกรดเฉลี่ยได้ตลอด ทุกสัปดาห์เมื่อมีคำถามก็สามารถสอบถามครูพี่เลี้ยงได้ไม่จำกัด นักเรียนจะสามารถสำรวจและทำความเข้าใจกระบวนการเรียนรู้ของตนเองได้ตลอดเพื่อสร้างวัฏจักรการเรียนรู้ ตกผลึกความรู้ และสะท้อนคิดเพื่อปรับปรุงการเรียนรู้ในอนาคตของตนเองได้

การเรียนของโรงเรียนนี้คล้ายกับระดับอุดมศึกษาที่ให้จัดสรรวิชาเรียนที่สนใจได้ด้วยตนเอง แต่พิเศษตรงที่มีการจัดทำโครงงานอยู่ตลอดและมีการประเมินผลแบบรายบุคคลพร้อมครูพี่เลี้ยงที่คอยสนับสนุน  ทำให้สามารถปรับเปลี่ยนกลยุทธ์การเรียนได้รวดเร็ว มีความท้าทาย ได้ลงมือค้นหาตนเอง และรู้จักการขอความช่วยเหลือในตอนที่เหมาะสม ถือเป็นโรงเรียนที่พลิกโฉมการศึกษาแบบเดิม ๆ ได้จริงด้วยกระแสตอบรับที่ดี อัตราการเข้าศึกษาต่อในระดับมหาวิทยาลัยของนักเรียนที่นี่สูงถึง 98% และสำเร็จการศึกษาไปแล้วมากกว่าค่าเฉลี่ยประเทศถึง 2 เท่า

 

จุดสังเกตของห้องเรียนยุคใหม่คือเน้นไปที่สิ่งที่เด็กสนใจและอยากเรียน พร้อมหาวิธีส่งเสริมพวกเขาให้เต็มศักยภาพมากที่สุด มากกว่าการจัดตั้งหลักสูตรที่ผู้ใหญ่อยากสอนให้กับเขา จะเห็นได้ชัดว่าห้องเรียนเดิม ๆ ต้องก้าวข้ามผ่านทฤษฎีเก่า ๆ ความคิด และวิธีเรียนรู้แบบเดิม ก้าวทันเทคโนโลยี นวัตกรรม เพื่อพัฒนากระบวนการเรียนรู้ของเด็ก ตอบสนองการเป็นพลเมืองดิจิทัลของพวกเขาเพื่อการอยู่รอดในสังคมให้ได้ 

3 โรงเรียนต้นแบบที่ยกมาเป็นตัวอย่างในวันนี้ สามารถนำไปปรับใช้กับห้องเรียนของไทยแบบไหนได้บ้าง ชวนคุณครูลองวิเคราะห์ไปกับเราครับ

 

อ้างอิง

https://www.salika.co/2019/06/22/smart-classroom-for-21st-century/ 

[1]https://www.longtunmom.com/ad-astra-school-by-elon-musk/ 

[2]https://archive.cm.mahidol.ac.th/bitstream/123456789/4015/1/TP%20EM.034%202563.pdf 

[3]https://www.dek-d.com/studyabroad/44802/ 

[4]https://bookscape.co/all-about-summit-schools 

[5]https://bigthink.com/the-learning-curve/school-no-homework-summit-public-schools/ 

Share

Authors

Authors

RELATED POSTS