จำได้ไหม ? ว่าเราเริ่มโกหกกันตั้งแต่เมื่อไหร่

A A
Oct 12, 2023
Oct 12, 2023
A A

 

จำได้ไหม ? ว่าเราเริ่มโกหกกันตั้งแต่เมื่อไหร่

 

 

ในช่วงชีวิตของคนเราทุกคนมักจะเจอคนโกหกหลอกลวงอย่างน้อยคนละ 2-3 ครั้งในชีวิต หรืออาจจะเรียกได้ว่าเราต้องเผชิญกับการโกหกกันทุกวันเลยทีเดียว เนื่องจาก Robert S. Feldman นักจิตวิทยาจากมหาวิทยาลัย University of Massachusetts Amherst ได้ทำการวิจัยในปี 2002 แล้วพบว่าผู้คนกว่า 60% มักโกหกประมาณ 2-3 ครั้งในการคุยทุก ๆ 10 นาที แถมการโกหกยังทำให้เสียหายได้ตั้งแต่เรื่องเล็กไปจนถึงเรื่องใหญ่

เมื่อดูเผิน ๆ อาจจะเป็นตัวเลขที่เยอะ แต่ในความเป็นจริงแล้วในเรื่องที่โกหกอาจไม่ได้ร้ายแรงขนาดนั้น เพราะจากงานวิจัยชิ้นหนึ่งของคณะนักวิจัยจาก University of Wisconsin-La Crosse ได้ศึกษาอาสาสมัครจำนวน 632 คน โดยให้คนเหล่านี้จดบันทึกจำนวนครั้งของการโกหกของพวกตนไว้ติดต่อกันนานถึง 91 วัน ผลคือได้จำนวนโกหกรวมกันมากถึง 116,366 ครั้ง แต่การโกหกที่พบบ่อยเป็นการโกหกจำพวก “White Lies”  คือ หลอกให้ดีใจ เช่น บอกว่าชอบของขวัญที่ได้รับมาก แม้ว่าความจริงคือไม่ชอบเลยก็ตาม แต่จำนวนการโกหกต่อวันมีความผันแปรอยู่บ้าง อาจมากน้อยแตกต่างกันไป และจำนวนก็แตกต่างกันเป็นอย่างมากในแต่ละคนด้วย

เรื่องของการโกหกอาจไม่ใช่พฤติกรรมที่ติดตัวมาตั้งแต่เกิด แต่เกิดจากการเรียนรู้ และการเลี้ยงดูของครอบครัว การเรียนรู้ในโรงเรียนจากกลุ่มเพื่อน ซึ่งหลากหลายงานวิจัยพบว่าการโกหกสัมพันธ์กับพัฒนาการของเด็กอีกด้วย

 

 

โกหก

ชื่อภาพ : โกหก

 

 

“การโกหก” สามารถเริ่มต้นได้ตั้งแต่เด็กแบเบาะและการโกหกแทบไม่ต่างจากการหัดเดินเลยด้วยซ้ำ

 

ทำไมเราถึงบอกว่าการโกหกไม่ต่างจากการหัดเดิน เพราะจริง ๆ แล้วการโกหกก็เป็นอีกหมุดหมายหนึ่งของพัฒนาการเด็ก 

ในขณะที่พ่อแม่มักกังวลกับการโกหกของลูก Dr.Kang Lee นักจิตวิทยาจาก University of Toronto กลับมองเห็นว่า การโกหกของเด็กวัยหัดเดินคือสัญญาณยืนยันว่า สมองส่วนการคิดของพวกเขากำลังพัฒนา

ซึ่งในงานวิจัยที่ยืนยันสมมติฐานนี้ได้ทำการทดลองง่าย ๆ โดยการขอให้เด็ก ๆ ทายชื่อของเล่นที่ซ่อนอยู่จากเสียงบอกใบ้ คำใบ้ของของเล่นชิ้นแรก ๆ นั้นชัดเจน เช่น เสียงเห่าแทนสุนัข เสียงร้องแทนแมว ซึ่งเด็ก ๆ ก็จะตอบได้ทันที แต่หลังจากนั้นนักวิจัยผู้ทำการทดลองแกล้งเดินออกจากห้องโดยบอกว่าจะไปรับโทรศัพท์ และกำชับเด็ก ๆ ว่าห้ามแอบดูสิ่งที่อยู่ข้างใน เมื่อกลับเข้ามา พวกเขาจะขอคำตอบหลังจากถามเด็ก ๆ ก่อนว่า “หนูแอบดูหรือเปล่าจ๊ะ”

จากกล้องที่ซ่อนอยู่ ทีมวิจัยพบว่า เด็กส่วนใหญ่อดใจไม่ไหวที่จะแอบดู อัตราร้อยละของเด็กที่แอบดูและโกหกขึ้นอยู่กับอายุ ในกลุ่มเด็กสองขวบที่แอบดู มีเพียงร้อยละ 30 ที่พูดไม่จริง ส่วนเด็กสามขวบพูดไม่จริงร้อยละ 50 แต่พออายุแปดขวบ เด็กที่อ้างว่าไม่ได้แอบดูมีสูงถึงร้อยละ 80

เด็ก ๆ ยังโกหกเก่งขึ้นเมื่ออายุมากขึ้นด้วย ในการเดาคำตอบของเล่นที่ตนแอบดู เด็กสามขวบและสี่ขวบจะพูดโพล่งคำตอบที่ถูกต้องออกมาโดยไม่ตระหนักว่า คำตอบนั้นเผยความผิดและการโกหกของตน ส่วนเด็กเจ็ดขวบและแปดขวบรู้จักอำพรางการโกหกด้วยการจงใจตอบผิด หรือพยายามทำให้คำตอบนั้นดูคล้ายการคาดเดาอย่างมีเหตุมีผล

การโกหกที่แนบเนียนขึ้นเรื่อย ๆ นี้ได้แรงผลักดันจากพัฒนาการของสิ่งที่เรียกว่า ทฤษฎีจิต (Theory of Mind) ซึ่งช่วยให้เราเข้าใจความเชื่อ ความตั้งใจ และความรู้ของคนอื่น ๆ ซึ่งรวมไปถึงการโกหกด้วย โดยเด็กสองขวบที่โกหกในการทดลองของ Dr.Kang Lee ทำแบบทดสอบทฤษฎีจิตและการบริหารจัดการของสมองได้คะแนนสูงกว่าเด็กที่ไม่โกหก ซึ่งจากข้อมูลงานวิจัยทั้งหมดนี้เราสามารถสรุปได้ว่า “การโกหก” เป็นส่วนหนึ่งของพัฒนาการมนุษย์

แต่เมื่อเด็กเริ่มเข้าสู่วัยรุ่น เหตุผลในการโกหกเริ่มเปลี่ยนไปอีกระดับหนึ่ง และมีความซับซ้อนกว่าทุกวัย อ้างอิงจากงานวิจัยอีกฉบับที่ตีพิมพ์ใน Science Direct พบว่าวัยรุ่นเป็นช่วงวัยที่โกหกมากกว่ากลุ่มอายุอื่น ๆ โดย Dr. Nancy Darling หัวหน้าภาควิชาจิตวิทยาที่ Oberlin College ซึ่งทุ่มเวลากว่า 20 ปีกับการวิจัยเรื่องการโกหกในวัยรุ่น จนสามารถจำแนกการโกหกของวัยรุ่นออกเป็น 3 ลักษณะใหญ่ ๆ คือ การโกหกโดยการหลีกเลี่ยงเพราะไม่อยากคุยเรื่องนั้น โกหกโดยไม่พูดทั้งหมด และโกหกโดยตั้งใจ

ซึ่งสาเหตุที่วัยรุ่นมักโกหกมากที่สุด คือ การพยายามหลีกเลี่ยงจากปัญหา ทำสิ่งที่พวกเขาไม่ได้รับอนุญาตให้ทำ รักษาความเป็นส่วนตัว สร้างความเป็นอิสระ หรือเพราะพวกเขาคิดว่ากฎของพ่อแม่ไม่ยุติธรรม พวกเขามักจะโกหกเรื่องการใช้จ่ายเงิน ไปเที่ยวกับใคร ทำอะไร ไม่ว่าจะอยู่ภายใต้การดูแลของผู้ใหญ่ ความสัมพันธ์คนรัก และแน่นอนเรื่องการดื่มแอลกอฮอล์และการใช้สารเสพติดด้วย 

 

การโกหกมีประวัติศาสตร์มาอย่างยาวนาน

 

สัตว์ที่ฉลาดมากขึ้นเท่าไหร่ ก็จะยิ่งมีการโกหกหลอกลวงกันมากขึ้นเท่านั้น ในสัตว์ประเภท Primate อย่าง ชิมแปนซี การอยู่รวมกันเป็นฝูงใหญ่มีข้อได้เปรียบอย่างมาก พวกนั้นสามารถแบ่งความรับผิดชอบในการหาอาหารได้ แล้วก็ช่วยกันระวังผู้ล่า แต่ถ้ามันแย่งอาหารกับชิมแปนซีตัวอื่นก็อาจเกิดการต่อสู้กันจนได้รับบาดเจ็บ ซึ่งจะส่งผลกระทบต่อทั้งฝูงได้ ดังนั้น การแอบกินอาหารอาจจะเป็นเรื่องดีที่ต่อตัวของมันเองและชิมแปนซีตัวอื่น ๆ เรื่องนี้ทำให้เราเห็นว่าการหลอกลวงที่แยบยลมีประวัติศาสตร์ความเป็นมายาวนานในสัตว์ที่ต้องอยู่รวมกันเป็นสังคม สามารถสรุปอีกนัยหนึ่งได้ว่าสังคมก้าวหน้าที่มีการอยู่ร่วมกันอย่างกลมเกลียว มักจะเป็นสังคมที่มีการโกหกหลอกลวงกัน หรือจะบอกว่าสัตว์ที่ฉลาดมากขึ้นเท่าไหร่ ก็จะยิ่งมีการโกหกหลอกลวงกันมากขึ้นเท่านั้นก็คงไม่ใช่คำกล่าวที่เกินจริง ดังนั้น การเป็นคนพูดโกหก ก็อาจไม่ใช่เรื่องเลวร้ายเสมอไป หากไม่มีการโกหก เราคงจะไม่มาถึงจุดนี้

สุดท้ายแล้วการโกหกนั้นสามารถพบได้ในทุกเพศทุกวัย ในทุกช่วงอายุ ตั้งแต่เด็กจนแก่ เพราะเป็นสัญชาตญาณของการเอาตัวรอดเพื่อให้ตัวเองปลอดภัย อย่างที่เห็นได้ในหลาย ๆ งานวิจัยต่างประเทศที่มักจะระบุไปในทางเดียวกันว่าคนเราจะพบเรื่องโกหกกันทุกวัน วันละไม่ต่ำกว่า 200 เรื่อง ไม่ว่าจะเป็นการโฆษณาเกินจริงผิวสวยหน้าใส แต่พรีเซนเตอร์ก็ไม่ได้ใช้สินค้าตัวนั้นจริงๆ หรือการเอารูปขึ้น Social Media ก็ใช้ Application จนสวยเกินความจริง

ถ้าถามว่าเรื่องคำโกหกเหล่านี้มันรุนแรงไหม ก็คงต้องตอบว่าเป็นพื้นที่สีเทาที่สามารถมองได้หลายมุม ขึ้นอยู่กับว่าเรายืนอยู่ฝั่งไหนของคำโกหกนี้ เป็นคนส่ง หรือ คนรับสาร?

แต่ถ้าถามว่าเรื่องโกหกเหล่านี้มันบอกอะไรได้บ้าง

คำตอบหนึ่งที่ผุดขึ้นมาในใจหลาย ๆ คนเลยก็คงหนีไม่พ้นคำว่า

“มันคือพัฒนาการของมนุษย์อย่างหนึ่งแค่นั้นเอง”

Share

Tag

Share

Authors

Authors

RELATED POSTS