ยื่นโทรศัพท์ให้เด็กเงียบ พฤติกรรมทำร้ายเด็กแบบไม่ได้ตั้งใจ

A A
Mar 13, 2023
Mar 13, 2023
A A

ยื่นโทรศัพท์ให้เด็กเงียบ พฤติกรรมทำร้ายเด็กแบบไม่ได้ตั้งใจ

 

  • แม้ว่ามือถือหรือแท็บเล็ตจะกลายเป็นอุปกรณ์ที่ช่วยพ่อแม่รับมือกับอารมณ์ของเด็ก ๆ ได้อย่างชะงัด แต่งานวิจัยพบผลเสียในระยะยาวของการรับมือกับอารมณ์ของเด็ก ๆ ด้วยวิธีนี้
  • การใช้อุปกรณ์เหล่านี้เพื่อเบี่ยงเบนความสนใจเด็ก เท่ากับเราพรากโอกาสในการเรียนรู้วิธีการจัดการอารมณ์ไปจากพวกเขา
  • ผู้ใหญ่ควรใช้โอกาสนี้ในการฝึกสอนอารมณ์ให้เด็ก ให้เขารู้จักกับอารมณ์ต่าง ๆ และมีทักษะในการควบคุมอารมณ์ที่รุนแรงได้

 

สมมติลูกคุณร้องไห้เสียงดังกลางห้างจนคนรอบข้างเริ่มหันมามอง หรือเริ่มกรีดร้องเสียงดัง วิ่งไปมาขณะที่ต้องนั่งรอพ่อแม่ทำธุระ คุณจะรับมือกับสถานการณ์เหล่านี้อย่างไร?

ผู้ปกครองจำนวนไม่น้อยอาจล้วงกระเป๋าหยิบมือถือหรือแท็บเล็ตขึ้นมาแล้วยื่นให้เด็ก โดยหวังว่า มันจะช่วยให้ทำให้เด็กสงบลงได้ นี่อาจเป็นพฤติกรรมที่บางครั้งเราก็ทำไปแบบไม่ทันรู้ตัว หากถามว่า มันผิดไหม อาจจะตอบได้ยาก แต่ถ้าถามว่า การทำแบบนี้บ่อย ๆ จะส่งผลเสียต่อเด็กในอนาคตไหม งานวิจัยล่าสุดพบคำตอบว่า ใช่ เมื่ออุปกรณ์อิเล็กทรอนิกส์แทบจะกลายเป็นอีกหนึ่งอวัยวะของคนยุคนี้รวมถึงพ่อแม่ ทำอย่างไรเราถึงจะรับมือกับอารมณ์ของเด็ก ๆ ได้โดยไม่ปล่อยให้อุปกรณ์เหล่านี้ทำร้ายพวกเขาโดยไม่ได้ตั้งใจ

การศึกษาล่าสุดโดยนักวิจัยจากมหาวิทยาลัยมิชิแกนที่ตีพิมพ์บน JAMA Pediatrics พบว่า การยื่นจอให้เด็กเพื่อจัดการกับพฤติกรรมที่ยากจะหลีกเลี่ยงอาจทำให้เด็กเสียโอกาสในการเรียนรู้วิธีจัดการกับอารมณ์ นักวิจัยได้ทำการทดสอบกับพ่อแม่ 422 คน และเด็ก 422 คน อายุระหว่าง 3-5 ปี ระหว่างเดือนสิงหาคม 2018 ถึงมกราคม 2020 ก่อนการระบาดของโควิด เพื่อดูว่า การใช้อุปกรณ์พกพาเป็นเครื่องมือไว้สงบสติอารมณ์เด็กจะส่งผลต่อพัฒนาการของเด็กอย่างไร หลังจากการติดตามผล 3 เดือนและ 6 เดือนพบว่า การใช้บ่อย ๆ จะสัมพันธ์กับปฏิกิริยาทางอารมณ์ของเด็กที่เพิ่มสูงขึ้น โดยเฉพาะในเด็กผู้ชายและเด็กที่มีอารมณ์แปรปรวนสูงอยู่แล้ว เช่น สมาธิสั้นหรือหุนหันพลันแล่น ซึ่งความผิดปกติทางอารมณ์ที่เพิ่มขึ้นนี้อาจรวมถึงการเปลี่ยนแปลงทางอารมณ์อย่างรวดเร็วระหว่างความเศร้าและความตื่นเต้น

แน่นอนว่า เด็กจะมีช่วงอารมณ์ฉุนเฉียวและมีการต่อต้านเป็นเรื่องปกติตามพัฒนาการของเขา เพราะในขณะที่เด็กยังเล็กเกินกว่าจะพูดได้ การแสดงอารมณ์ฉุนเฉียวเป็นหนึ่งในการสื่อสารและเรียกร้องความสนใจจากผู้ใหญ่ เขาไม่สามารถพูดหรือบอกได้ว่า รู้สึกอย่างไร แต่หากเราใช้อุปกรณ์เหล่านี้เพื่อเบี่ยงเบนความสนใจเด็กเมื่อไร ก็เท่ากับเราพรากโอกาสในการเรียนรู้วิธีการจัดการอารมณ์ไปจากพวกเขา การใช้แท็บเล็ตที่โต๊ะอาหารอาจหมายถึงการสูญเสียโอกาสที่เด็กจะได้เรียนรู้การใช้ภาษาหรือการเข้าสังคม นอกจากนี้ยังอาจเป็นการส่งเสริมให้เด็กเข้าใจว่า วิธีแสดงอารมณ์ของเขาเป็นวิธีที่มีประสิทธิภาพในการเรียกร้องสิ่งที่เขาต้องการ

 

ใหญ่ยื่นโทรศัพท์ให้เด็ก

 

ทำไมผู้ใหญ่เลือกยื่นโทรศัพท์เพื่อให้เด็กเงียบ

 

นอกจากเด็กจะเป็นผู้ได้รับผลกระทบโดยตรงแล้ว เราน่าจะต้องกลับมาตั้งคำถามที่ตัวเราเองว่า อะไรเป็นสาเหตุให้ผู้ใหญ่เลือกใช้เครื่องมือเหล่านี้ในการรับมือกับอารมณ์ของเด็กตั้งแต่แรก การศึกษาในปี 2020 ที่ตีพิมพ์ใน Computers in Human Behavior แสดงให้เห็นว่า เมื่อผู้ใหญ่ใช้อุปกรณ์อิเล็กทรอนิกส์เพื่อทำให้เด็กสงบ เป็นไปได้ว่า ผู้ใหญ่มักจะใช้เพื่อความสบายใจของตัวเองเมื่อตกเป็นเป้าสายตาของผู้คนในยามที่เด็กส่งเสียงดังในที่สาธารณะ การวิจัยนี้บ่งบอกว่า เด็กที่ใช้เวลาอยู่กับหน้าจอมากขึ้นสะท้อนถึงการขาดความมั่นใจของพ่อแม่ในการเลี้ยงดูลูกของตนเอง

เมื่ออุปกรณ์อิเล็กทรอนิกส์ทำหน้าที่ของมันได้ผลในทันที พ่อแม่และเด็กจึงอาจเผลอไว้วางใจพวกมันเข้า เราจำเป็นต้องตั้งสติใหม่ด้วยการใช้โอกาสนี้ฝึกฝนเด็ก ๆ เพื่อสร้างทักษะที่จำเป็นเมื่อเขาเผชิญกับปัญหาในอนาคต แม้การเลิกใช้อุปกรณ์เหล่านี้โดยสิ้นเชิงจะเป็นเรื่องที่เป็นไปได้ยาก ผู้เชี่ยวชาญจึงแนะนำให้ใช้น้อยลง และหาวิธีช่วยเด็กสงบสติอารมณ์ด้วยวิธีอื่นแทน 

ด้านองค์การอนามัยโลกแนะนำพ่อแม่ไว้ว่า ไม่ควรให้เด็กอายุต่ำกว่า 1 ปี ดูหน้าจอ ไม่ว่าจะน้อยแค่ไหนก็ตาม เมื่อทำกิจกรรมที่อยู่กับที่ควรให้เด็กวัยนี้มีส่วนร่วมในการอ่านและเล่านิทานกับพ่อแม่ ส่วนเด็กอายุ 1-2 ปี ก็ไม่แนะนำให้ใช้เวลานั่งอยู่กับหน้าจอแบบไม่ไปไหน เช่น ดูทีวีหรือวิดีโอ เล่นเกมคอมพิวเตอร์ สำหรับเด็กอายุ 2-4 ปี ควรใช้เวลาอยู่หน้าจอไม่เกิน 1 ชั่วโมง

 

ถ้าไม่ใช้โทรศัพท์ จะสอนเด็กอย่างไรให้คุมอารมณ์ตัวเองได้

 

Sarah Coyne ศาสตราจารย์ด้านการพัฒนามนุษย์จากมหาวิทยาลัย Brigham Young กล่าวว่า การฝึกสอนอารมณ์ให้เด็กเป็นวิธีการที่ได้รับการวิจัยมาว่า ช่วยให้เด็กรู้จักกับอารมณ์ต่าง ๆ และควบคุมอารมณ์ที่รุนแรงได้ ถือเป็นกลยุทธ์ที่ช่วยให้เด็กเล็กเรียนรู้วิธีแสดงอารมณ์ออกมาด้วยคำพูด ซึ่งวิธีการในการฝึกสอนอารมณ์นี้ John Gottman นักจิตวิทยาชาวอเมริกันได้สรุปไว้ 5 ขั้นตอนในหนังสือของเขา Raising an Emotionally Intelligent Child คือ 1. ยอมรับอารมณ์ของเด็ก 2. ใช้เป็นโอกาสในการสร้างความเชื่อมโยง 3. เช็กว่าเด็กรู้สึกอย่างไร 4. จัดประเภทอารมณ์ 5. แก้ปัญหาร่วมกัน

ฉะนั้น เมื่อเด็กเริ่มแสดงอารมณ์ขุ่นเคืองออกมา อย่าเพิ่งรีบยื่นจอให้เขา อาจจะเริ่มจากการหายใจเข้าออกลึก ๆ ช้า ๆ กับลูก หรือจะใช้การกอด การสัมผัสทางร่างกาย ใช้ประสาทสัมผัสต่าง ๆ เช่น ดันกำแพง มองสิ่งที่กระตุ้นสายตา ฟังเพลง เคลื่อนไหวร่างกาย เทคนิคในการทำให้เด็กสงบนี้อาจให้ผลไม่เหมือนกันในเด็กแต่ละคน พ่อแม่อาจต้องศึกษาและทดลองกันดู หรือจะให้เด็กใช้โซนสีเพื่อกำหนดอารมณ์ดูก็ได้ เช่น ความสงบและความพึงพอใจเป็นสีเขียว ความกังวลหรือตื่นเต้นเป็นสีเหลือง อารมณ์เสียหรือโกรธเป็นสีแดง โดยใช้ภาพกราฟิกหรือภาพใบหน้าช่วยให้เด็กจับคู่ความรู้สึกกับโซนสีอารมณ์พวกเขา หรือเสนอพฤติกรรมทดแทน เช่น การตีหมอน

แม้ว่าการสอนเด็กเมื่อเขากำลังเผชิญกับอารมณ์บางอย่างอาจไม่ใช่เรื่องง่ายในบางสถานการณ์ แต่บางครั้งมันก็ไม่ได้ซับซ้อนอย่างที่เราคิดเสมอไป เด็ก ๆ อาจแค่ต้องการสถานที่ให้เขาได้คุมอารมณ์ตัวเอง เป็นห้องสักห้องที่มี Beanbag ผ้าห่มหรือเต็นท์ เด็ก ๆ ควรได้รับรู้ว่า เขาไม่ได้แย่แค่เพราะมีอารมณ์รุนแรง แต่บางครั้งเขาก็แค่ต้องรีเซตอารมณ์ใหม่เท่านั้นเอง

อีกสิ่งหนึ่งที่พ่อแม่หรือผู้ดูแลควรให้ความสำคัญ คือ หาสาเหตุว่า ทำไมเด็กถึงแสดงพฤติกรรมดังกล่าวออกมา เด็กอาจกำลังเจ็บปวด วิตกกังวลหรือโดดเดี่ยว เพราะถ้าเรารู้สาเหตุที่แท้จริง เราก็จะหาทางแก้ไขได้ตรงจุด เช่น เด็กอาจร้องไห้เพราะคิดถึงแม่ คนที่ดูแลเด็กก็สามารถเข้าไปกอด แล้วขอรูปถ่ายแม่มาให้เด็กเก็บไว้ดูยามคิดถึงได้

แม้ว่าการเป็นพ่อแม่ยุคนี้จะเต็มไปด้วยความท้าทายหลายอย่าง มือถือหรือหรือแท็บเล็ตอาจเป็นอุปกรณ์ที่ทำให้เด็กเงียบได้อย่างชะงัก แต่การเรียนรู้ที่จะใช้อุปกรณ์เหล่านี้อย่างพอดีโดยไม่ส่งผลเสียต่อเด็กถือเป็นงานที่ท้าทายความสามารถของพ่อแม่ แต่หากเราทำได้ เด็กของเราเองนั่นแหละที่จะเติบโตมาพร้อมกับทักษะที่ดีในการจัดการกับอารมณ์ที่ไม่น่าพึงพอใจ ซึ่งเป็นสิ่งที่เขาจะได้เผชิญอย่างแน่นอนในอนาคต

 

 

อ้างอิง
https://www.discovermagazine.com/mind/calming-kids-with-electronics-may-affect-emotion-regulation-skills
https://thehill.com/changing-america/well-being/mental-health/3773197-using-screens-to-calm-children-may-lead-to-future-emotion-regulation-problems-study/
https://edition.cnn.com/2022/12/12/health/tantrum-distraction-screens-parenting-wellness/index.html
https://people.com/health/frequent-screen-time-can-hinder-a-childs-emotional-regulation/

Share

Authors

Authors

RELATED POSTS