Spelling the Dream เมื่อการแข่งสะกดคำ คือ โอลิมปิกสำหรับเด็กอินเดีย

A A
Sep 2, 2022
Sep 2, 2022
A A

 Spelling the Dream
เมื่อการแข่งสะกดคำ คือ โอลิมปิกสำหรับเด็กอินเดีย

 

  • “สคริปป์ส เนชั่นแนล สเปลลิ่ง บี” เป็นการแข่งขันสะกดคำระดับชาติที่มีมาช้านานในอเมริกา เด็กอินเดียจำนวนมากเข้าแข่งขันในรายการนี้ และยังประกาศศักดาด้วยชัยชนะได้ถึง 10 กว่าปีติดต่อกัน จนกล่าวกันว่า การแข่งสะกดคำกลายเป็นการแข่งโอลิมปิกสำหรับเด็กอินเดียไปซะแล้ว
  • อินเดียเป็นประเทศที่มีหลายภาษา เด็กบางคนพ่อแม่พูดได้ 5 ภาษา การพูดได้หลายภาษาจึงเป็นเรื่องธรรมดา และทำให้เด็กเหล่านี้ได้เปรียบเด็กที่พูดได้แค่ภาษาเดียว
  • การแข่งขันนี้ไม่ใช่การต่อสู้ของเด็กคนหนึ่งกับเด็กอีกคนหนึ่งบนเวที แต่เป็นการต่อสู่ระหว่างเด็กคนหนึ่งกับพจนานุกรมที่มีคำศัพท์ครึ่งล้านคำ
  • การฝึกซ้อมสะกดคำเป็นกระบวนการของทั้งครอบครัว เด็กบางคนเริ่มเตรียมตัวตั้งแต่อายุ 3-4 ขวบ
  •  

         ภาพจำคนอินเดียของคุณเป็นแบบไหน เป็นแขกขายโรตี คนขายถั่ว หรือเปิดร้านขายผ้าที่พาหุรัดหรือเปล่า ในสื่อตะวันตกเราอาจเห็นคนอินเดียรับบทเป็นเจ้าของร้านสะดวกซื้อบ้าง เป็นคนขับรถแท็กซี่บ้าง ภาพลักษณ์ของคนอินเดียตามสื่อเหล่านี้ถูกกำหนดโดยคนอื่นมาช้านาน พวกเขามีขอบเขต และบทบาทที่จำกัดในหนังและทีวี คนทั่วโลกเลยมีภาพจำคนอินเดียคล้าย ๆ กัน แต่ถ้าหากคุณรู้จัก หรือเคยได้ยินเรื่องการแข่งขันสะกดคำระดับประเทศ “สคริปป์ส เนชั่นแนล สเปลลิ่ง บี” ซึ่งเป็นประเพณีอันเก่าแก่ของคนอเมริกัน คุณอาจจะประหลาดใจ และสงสัยว่า เด็กอินเดียจำนวนมากมาทำอะไรกันที่นี่ ที่น่าทึ่งไปกว่านั้น คือ ไม่ใช่แค่เด็กอินเดียจะสนใจการแข่งขันนี้ชนิดยอมทุ่มเทฝึกฝนอย่างหนักแล้ว พวกเขายังประกาศศักดาด้วยชัยชนะบนเวทีนี้ได้ถึง 12 ปีติดต่อกัน ชัยชนะเหล่านี้ไม่ใช่เรื่องบังเอิญแน่ ๆ อะไรทำให้การแข่งสะกดคำกลายเป็นการแข่งโอลิมปิกสำหรับเด็กอินเดีย เรื่องนี้มีจุดเริ่มต้นมาจากไหน และเราเรียนรู้อะไรจากพวกเขาได้บ้าง

 

รู้จักการแข่งสะกดคำ

สำหรับคนที่ไม่คุ้นเคยกับการแข่งสะกดคำมาก่อน การแข่งขันนี้ก็ไม่ได้มีอะไรซับซ้อน ผู้เข้าแข่งขันที่เป็นเด็กอายุไม่เกิน 15 ปี จะต้องออกมายืนหน้าไมโครโฟนในรอบของตัวเอง จากนั้นกรรมการจะเอ่ยคำศัพท์ออกมาคำหนึ่ง ผู้เข้าแข่งขันก็จะต้องสะกดคำที่ได้ยินนั้นทีละพยัญชนะ พร้อมกับอ่านออกเสียงคำให้ถูกต้อง หากกรรมการบอกว่า “ถูกต้อง” ผู้เข้าแข่งขันก็จะผ่านเข้าสู่รอบต่อไป แต่ถ้าหากได้ยินเสียงกริ่งเมื่อไร แปลว่าสะกดผิด โอกาสในการผ่านเข้าสู่รอบต่อไปก็จะสิ้นสุดลงทันที

 

 ผู้เข้าแข่งขันสะกดคำ
 อากาศ วูโกตี ผู้เข้าแข่งขันอายุน้อยที่กลายเป็นปรากฎการณ์เมื่อมีการถ่ายทอดทางโทรทัศน์

 

แน่นอนว่าหลายครั้งที่เด็กเหล่านี้ต้องเล่นบทเดาบนเวที เพราะเป็นเรื่องยากที่ใครสักคนจะจำคำศัพท์ในพจนานุกรมได้ 100% แต่เมื่ออยู่ในการแข่งขัน เราจะได้เห็นนักสู้ที่ไม่ยอมแพ้ ไม่เคยมีเด็กคนไหนยอมลงจากเวทีเพียงเพราะไม่รู้คำศัพท์ ทุกคนจะพยายามอย่างเต็มที่ด้วยการถามข้อมูลอื่น ๆ  เกี่ยวกับคำศัพท์นั้นจากกรรมการ เช่น คำจำกัดความ ภาษาต้นกำเนิด วิธีการออกเสียงในแบบอื่น ชนิดของคำ แน่นอนว่ายิ่งรอบลึกมากเท่าไร คำศัพท์จะยิ่งยากขึ้นเรื่อย ๆ หลายคำเป็นคำที่เราไม่เคยได้ยินมาก่อน หรือไม่รู้เลยด้วยซ้ำว่า มีคำแบบนี้อยู่ในพจนานุกรมด้วย

การแข่งขันนี้จึงไม่ใช่การต่อสู้ของเด็กคนหนึ่งกับเด็กอีกคนหนึ่งบนเวที แต่เป็นการต่อสู่ระหว่างเด็กคนหนึ่งกับพจนานุกรมที่มีคำศัพท์ครึ่งล้านคำ

สารคดี Spelling the Dream (2020) ทาง Netflix ได้ตามติดชีวิตของผู้เข้าแข่งขันสะกดคำที่มีเป้าหมายอยู่ที่การแข่งขันระดับประเทศอย่างสคริปป์ส เนชั่นแนล สเปลลิ่ง บี ในปี 2017 พบว่า

ในสหรัฐอเมริกามีคนอเมริกันเชื้อสายอินเดียราว 1% ของประชากรทั้งหมด พวกเขาชนะการแข่งขันนี้ 12 ปีติดต่อกัน และสร้างผู้ชนะ 26 คนจากผู้ชนะ 31 คนล่าสุด

ซึ่งในปี 2022 ผู้ชนะคนล่าสุดก็ยังคงเป็นเด็กอเมริกันเชื้อสายอินเดียอยู่ และย้อนไปเมื่อปี 2019 ถือเป็นครั้งแรกในประวัติศาสตร์การแข่งขันที่มีเด็ก 8 คน ได้คะแนนเท่ากัน และใน 7 คนนี้ก็ยังเป็นเด็กอเมริกันเชื้อสายอินเดียอีกด้วย เด็กอินเดียมากมายเหล่านี้มาจากไหนกัน

มองกันดี ๆ แล้ว เรื่องราวของคนอินเดียในสหรัฐอเมริกาอาจไม่ได้ต่างจากพวกเราสักเท่าไร ที่มักจะมีบรรพบุรุษเป็นคนเชื้อสายจีนเดินทางมาเมืองไทยเพื่อมาหาโอกาส และหวังจะสร้างเนื้อสร้างตัวบนดินแดนแห่งใหม่ เรื่องแบบนี้ก็เกิดขึ้นในสหรัฐอเมริกาเมื่อปี 1965 ช่วงนั้นเป็นช่วงที่ประเทศผ่อนปรนกฎการเข้าเมือง ส่งผลให้มีผู้อพยพจำนวนมากหลั่งไหลเข้ามา เช่นเดียวกับชาวอินเดียที่เป็นพ่อแม่ของเด็ก ๆ เหล่านี้ พวกเขาย้ายมาจากชนบทอันห่างไกลของอินเดียเพื่อมาทำงาน เก็บหอมรอมริบแล้วสร้างครอบครัวที่มั่นคง เมื่อชาวอินเดียเหล่านี้มีลูก ลูกของพวกเขาจึงกลายเป็นเด็กอเมริกันเชื้อสายอินเดียในที่สุด

ในยุคนั้นสหรัฐอเมริกาจะเลือกคนที่มีการศึกษามากที่สุด คนที่ตอบสนองเป้าหมายที่ชัดเจน และเศรษฐกิจของประเทศได้ คนอินเดียส่วนมากที่เข้ามาจึงมักจะเป็นหมอ หรือวิศวกร เราจะเจอหมออินเดียได้มากมายในพื้นที่ห่างไกลของประเทศ เพราะไม่มีคนผิวขาวคนไหนอยากไปเป็นหมอในพื้นที่แถบนั้น งานเหล่านี้จึงเปิดกว้างต่อคนอินเดีย และเมื่อรุ่นพ่อแม่ได้ประโยชน์จากการอพยพเข้ามาแล้ว เขาก็อยากให้ลูกหลานได้ประโยชน์จากตรงนี้เหมือนกัน ฉะนั้น การที่เด็กอินเดียจำนวนมากชนะการแข่งขันสคริปป์ส เนชั่นแนล สเปลลิ่ง บี เท่ากับเด็กเหล่านี้ได้สร้างภาพจำแบบใหม่ให้กับคนทั่วโลก โดยเฉพาะชาวอเมริกันเองว่า เราคนอินเดียไม่ได้มาเล่น ๆ แต่เราจริงจัง และทุ่มเทสุดตัว 

Dr. Balu Natarajan เป็นชาวอเมริกันอินเดียนคนแรกที่ชนะการแข่งในปี 1985 เขาไม่ได้ตระหนักถึงชัยชนะของเขาในฐานะผู้อพยพสักเท่าไร จนกระทั่งได้ยินพ่อแม่ชาวอินเดียคนอื่น ๆ พูดถึงการแข่งขันในปีนั้นว่า ชัยชนะของเขาทำให้การแข่งขันสะกดคำระดับประเทศกลายเป็นเรื่องสำคัญสำหรับคนอินเดียขึ้นมาทันที

 

ผู้ชนะการแข่งสะกดคำคนแรก
 Dr. Balu Natarajan ชาวอเมริกันอินเดียนคนแรกที่ชนะการแข่ง “สคริปป์ส เนชั่นแนล สเปลลิ่ง บี” ในปี 1985
 Balu ลูกชายผู้อพยพชนะการแข่งสะกดคำ

 

ทำไมคนอินเดียจำนวนมากถึงชนะการแข่งสะกดคำ

เมื่อคนเชื้อชาติใดเชื้อชาติหนึ่งดูมีพรสวรรค์กับการแข่งขันอะไรสักอย่าง เราอาจจะสงสัยว่า สิ่งเหล่านี้มันอยู่ในดีเอ็นเอของเขาหรือเปล่า เหมือนนักวิ่งมาราธอนเก่ง ๆ ที่มักจะมาจากแอฟริกา ถ้าเทียบกันแล้วคำตอบก็เป็นได้ทั้ง “ใช่” และ “ไม่ใช่” 

ใช่ เพราะอินเดียเป็นประเทศที่มีหลายภาษา ผู้เข้าแข่งขันคนหนึ่งบอกว่า นี่เป็นเหตุผลสำคัญ ภาษาเป็นสิ่งที่ตัวเธอ และครอบครัวมีความรู้ความเข้าใจ เมื่อพ่อแม่พูดได้ 5 ภาษา การพูดได้หลายภาษาจึงเป็นเรื่องธรรมดา ทักษะทางภาษาเหล่านี้อาจทำให้เด็กอินเดียได้เปรียบเด็กที่พูดได้แค่ภาษาเดียว

ไม่ใช่ เพราะ การจะเป็นผู้ชนะได้ต้องรู้คำศัพท์มากถึง 60,000-100,000 คำ ต้องเข้าใจรูปแบบของภาษาอื่นๆ เพราะหลายคำก็มีรากศัพท์มาจากภาษาอื่น ต้องศึกษาการแข่งขันในอดีต สามารถอยู่บนเวทีต่อหน้าผู้คน ยืนคิด และสะกดคำออกมาได้โดยไม่เสียสมาธิ หรือสับสน กระบวนการเหล่านี้ไม่ได้เกิดขึ้นได้ในเวลาสั้น ๆ และไม่ได้เกิดขึ้นได้โดยการฝึกฝนของเด็กเพียงลำพัง แต่เป็นกระบวนการของทั้งครอบครัว

 

บทบาทของครอบครัวกับการฝึกซ้อมสะกดคำ

ในการเตรียมความพร้อมสำหรับการแข่งขัน เด็กจะต้องฝึกฝน และเตรียมตัวอย่างหนัก พวกเขาไม่มีทางเข้าสู่รอบท้าย ๆ ของการแข่งขันได้ด้วยการฝึกแค่วันละชั่วโมง ในบางครอบครัวเด็กบางคนเริ่มเตรียมตัวตั้งแต่อายุ 3-4 ขวบ เมื่ออายุได้ 13 ปี เด็กเหล่านี้ก็ใช้เวลากับการสะกดคำศัพท์มากกว่าที่เราส่วนใหญ่ใช้เวลากับการทำอะไรสักอย่างตลอดชีวิตของเราเสียอีก

ชูราฟและครอบครัวเมื่อลงแข่งสะกดคำ

 

อีกประเด็นที่น่าสนใจ คือ แม้การแข่งสะกดคำดูเหมือนจะกลายเป็นการแข่งโอลิมปิกสำหรับคนอินเดียไปแล้ว แต่นี่ไม่ได้หมายความว่า เด็ก ๆ ที่เข้าสู่เส้นทางนี้จะมีจุดเริ่มต้นมาจากพ่อแม่จอมบงการที่ชอบบังคับให้ลูกฝึกฝน หรือเรียนในสิ่งที่ลูกไม่อยากเรียน ตรงกันข้าม พ่อแม่จะเป็นคนกลุ่มแรกที่สังเกตเห็นว่า ลูกของตัวเองมีความสนใจเรื่องการสะกดคำแบบที่ไม่เหมือนเด็กคนอื่น สามารถอ่าน และสะกดคำได้เร็วกว่าเด็กในวัยเดียวกัน เมื่อพ่อแม่สังเกตเห็นจุดนี้ พวกเขาก็จะให้การสนับสนุนลูก ๆ อย่างเต็มที่เพื่อช่วยเติมเต็มความต้องการของลูก 

หนึ่งในครอบครัวของผู้เข้าแข่งขันรายหนึ่งเปิดเผยเทคนิคการฝึกซ้อมกับทีมงาน Spelling the Dream ที่ไม่เคยเปิดเผยที่ไหนมาก่อนว่า พวกเขาจะทำฐานข้อมูลคำศัพท์ไว้ใช้ในการฝึกซ้อมเอง พ่อของชูราฟกล่าวว่า พจนานุกรมมีคำศัพท์ประมาณ 475,000 คำ แต่เราสามารถลดคำศัพท์ลงให้เหลือ 125,000 คำ ด้วยการตัดแค่ส่วนขยายของคำออก เช่น ถ้าเรารู้จัก Sleep อยู่แล้ว Sleeping ก็ไม่จำเป็น หลักใหญ่ใจความ คือ ถ้าเรารู้คำหลัก เราก็จะสร้างคำไหนก็ได้ในพจนานุกรม สำหรับชูราฟที่อายุ 14 ปี เขารู้คำศัพท์ประมาณ 98-99% โอกาสที่จะชนะการแข่งขันสำหรับเขาถือว่าสูงมาก ๆ

 

ฐานข้อมูลคำศัพท์ฝึกสะกดคำ
ชูราฟโชว์ฐานข้อมูลคำศัพท์ที่ทำไว้ใช้เองสำหรับการฝึกซ้อม

 

ไม่เพียงแค่พ่อแม่ของชูราฟเท่านั้นที่ช่วยลูกเตรียมความพร้อมเรื่องฐานข้อมูลเหล่านี้ ในครอบครัวอื่น ๆ  ทั้งพ่อแม่ พี่น้อง ต่างก็มีบทบาทในการช่วยฝึกซ้อมสะกดคำไม่ต่างกัน พวกเขาจะอ่านออกเสียงคำศัพท์ จำลองว่าตัวเองเป็นกรรมการในการแข่งขัน คอยเช็กว่า สะกดได้ถูกต้องทุกตัวไหม กระบวนการฝึกซ้อมจึงกลายเป็นความร่วมมือของคนทั้งครอบครัว

เส้นทางกว่าจะเป็นผู้ชนะการแข่งขัน สคริปป์ส เนชั่นแนล สเปลลิ่ง บี นั้นไม่ใช่เรื่องง่าย เด็ก ๆ จะต้องฝ่าด่านมากมายกว่าจะไปถึงรอบระดับประเทศ พวกเขาจะต้องชนะการแข่งในระดับเขต และภูมิภาคก่อน เด็กหลายคนผ่านเข้ามาถึงรอบระดับประเทศได้หลายครั้ง แต่การจะเป็นที่หนึ่งได้บนเวทีนี้เต็มไปด้วยปัจจัยหลายอย่าง และถึงแม้ว่าจะยังไม่ได้ชัยชนะในครั้งนี้ อย่างน้อยที่สุด เด็กอเมริกันเชื้อสายอินเดียจำนวนมากก็ได้ค้นพบว่า นี่คือเส้นทางที่พวกเขาสามารถเป็นเลิศได้ไม่แพ้ใคร ความสำเร็จจึงไม่ใช่เรื่องไกลเกินจินตนาการ 

เมื่อมองในฐานะคนนอก เราได้เห็นการปรับตัวให้เข้ากับสังคมอเมริกันของเด็กอินเดีย พวกเขามาจากต่างสังคม และวัฒนธรรม แต่กำลังมีส่วนร่วมในประเพณีที่เป็นของอเมริกันชนอย่างที่สุด เราได้เห็นกระบวนการทำงานของครอบครัวกับการส่งเสริมการเรียนรู้ และเหนือสิ่งอื่นใดเราได้เรียนรู้ว่า พรสวรรค์ต้องมาพร้อมกับความพากเพียรพยายาม ไม่มีใครสำเร็จได้หากไม่ลงมือทำอย่างจริงจัง หากคุณกำลังรู้สึกหมดไฟกับอะไรสักอย่าง แนะนำให้ลองเปิดดูสารคดีเรื่องนี้ คุณอาจจะไม่เชื่อเลยว่า ความฝันของเด็กอินเดียบนเวทีการแข่งสะกดคำจะส่งต่อพลังให้กับเราได้มากมายขนาดไหน

 

อ้างอิง
สารคดี Spelling the Dream ทาง Netflix 

Tag

Share

Tag

Share

Authors

Authors

RELATED POSTS