พลังของความไม่รู้ จุดเริ่มต้นในการเรียนรู้อะไรใหม่ ๆ

A A
Mar 17, 2023
Mar 17, 2023
A A

พลังของความไม่รู้ จุดเริ่มต้นในการเรียนรู้อะไรใหม่ ๆ

 

  • หลายคนรู้สึกอายที่ต้องเอ่ยปากว่าไม่รู้ต่อหน้าคนอื่น โดยเฉพาะอย่างยิ่งคนที่เป็นหัวหน้าหรือเป็นผู้นำองค์กร
  • หากมองคำนี้ในมุมมองใหม่ เราจะได้ประโยชน์จากมันอย่างมหาศาล เพราะเป็นจุดเริ่มต้นของการพัฒนาตัวเองในการเรียนรู้เรื่องใหม่ ๆ

 

     ในสังคมที่เราถูกคาดหวังว่า ต้องมีทักษะ ต้องมีความรู้ไปซะทุกเรื่อง เพื่อตอบโจทย์ทักษะแรงงานที่ดี โดยเฉพาะคนเป็นหัวหน้าหรือผู้นำองค์กรด้วยแล้ว การจะเอ่ยปากยอมรับว่า “ฉันไม่รู้” ต่อหน้าลูกน้อง หรือผู้บริหารด้วยกันแทบจะกลายเป็นเรื่องที่หลายคนไม่กล้าทำ เพราะกลัวจะถูกกล่าวหาว่าโง่ เป็นหัวหน้าแล้วไม่รู้ได้อย่างไร อาจไม่ใช่เรื่องผิดที่เราจะรู้สึกแบบนี้ แต่ถ้ามองในอีกแง่ ความไม่รู้ไม่ใช่เรื่องผิดบาป แต่มันคือจุดเริ่มต้นของการเรียนรู้อีกมากมายที่แม้แต่ผู้นำทางจิตวิญญาณของทิเบตอย่างองค์ดาไล ลามะ ก็ยังเคยเอ่ยปากว่า “อาตมาไม่รู้” ต่อหน้าคนหลายพันคน ความไม่รู้นำเราไปสู่การเรียนรู้ได้อย่างไร และทำไมเราถึงไม่ควรรู้สึกผิดที่จะเอ่ยคำนี้ออกมา

     เซอร์ เคน โรบินสัน นักการศึกษาชื่อดังชาวอังกฤษเคยถ่ายทอดความมหัศจรรย์ของคำว่า “ฉันไม่รู้” ซึ่งเป็นคำที่เรามักหลีกเลี่ยงที่จะพูดไว้ในตอนที่เขาจัดงานที่เชิญองค์ดาไลลามะมาร่วม โดยมีผู้เข้าร่วมงานถึง 2,000 คน เขาถามคำถามองค์ดาไลลามะไปข้อหนึ่ง ท่านนิ่งไปประมาณ 1 นาที ซึ่งถือว่าค่อนข้างนาน ในขณะที่ทุกคนกำลังรอคอยคำตอบอยู่นั้น ท่านนั่งขัดสมาธิอยู่บนเก้าอี้ แล้วก็เอียงตัวมาข้างหน้า เซอร์ เคน คาดว่า เขาคงได้คำตอบเจ๋ง ๆ จากท่านแน่ ๆ แต่แล้วองค์ดาไลลามะกลับตอบว่า “อาตมาไม่รู้” ทุกคนอึ้งไปตาม ๆ กันจากคำตอบของท่าน แท้จริงแล้วความหมายของท่าน คือ ไม่เคยคิดถึงเรื่องนั้นมาก่อน เซอร์ เคน คิดว่า คำตอบนี้เจ๋งมาก เพราะโดยทั่วไปแล้ว คนเป็นผู้นำจะรู้สึกว่า ต้องรู้ทุกอย่าง การไม่รู้ถือเป็นเรื่องผิด ทั้งที่ในความเป็นจริงแล้ว ไม่มีใครรู้ทุกอย่าง ฉะนั้น มันจึงเป็นการกระทำที่ยิ่งใหญ่สำหรับคนเป็นผู้นำหรือหัวหน้าในการเอ่ยปากยอมรับ แล้วถามกลับว่า “ฉันไม่รู้ คุณคิดยังไงบ้าง”

 

ทำไมเรากลัวที่จะบอกว่าไม่รู้

 

     ไม่เฉพาะคนที่อยู่ในตำแหน่งสูง ๆ ขององค์กรเท่านั้น ในฐานะคนทำงานทั่วไป หลายคนมีความกลัวที่จะพูดคำนี้มาแต่ไหนแต่ไร เพราะเราได้รับการจ้างงานจากความรู้เชิงลึกและความถนัดในอาชีพเฉพาะด้าน บริษัทบางแห่งมีการฝึกอบรมอย่างเข้มข้น หรือมีการฝึกงานก่อนที่จะรับพนักงานเข้าทำงานในฐานะมืออาชีพเต็มตัว ฉะนั้น การพูดว่าไม่รู้จึงดูเหมือนเป็นการติดป้ายบอกคนอื่นว่า เราไม่ใช่มืออาชีพ

 

 

พลังแห่งความไม่รู้

 

 

     แต่หากมองให้ดีแล้ว คำตอบเช่นนี้เป็นการตอบอย่างมีความรับผิดชอบ ในองค์กรยุคใหม่คนที่มีความเชี่ยวชาญเชิงลึกอาจไม่ได้สำคัญเท่าคนที่มีศักยภาพที่จะเรียนรู้เพื่อพัฒนาตัวเอง หรือคนที่สามารถเปลี่ยนจากความไม่รู้ให้เป็นความรู้ได้ ทุกวันนี้ผู้คนได้รับการว่าจ้างจากความสามารถในการประมวลผลข้อมูล ไม่ใช่การจดจำ องค์กรสนใจคนที่มีความสามารถในการรวบรวมข้อมูล ทำความเข้าใจ ประเมิน สังเคราะห์ นำมาใช้ และสร้างข้อมูลใหม่ได้ ในมุมมองหัวหน้า เขาอาจไม่สนใจว่า เราจะให้ข้อมูล ณ จุดนั้นได้หรือไม่ แต่จะสนใจว่า เราจะสามารถค้นหาข้อมูลที่ถูกต้องได้อย่างรวดเร็ว และนำไปใช้ได้อย่างถูกต้องหรือไม่มากกว่า

     ยิ่งในยุคที่การเข้าถึงข้อมูลเป็นเรื่องง่ายแค่ปลายนิ้วด้วยแล้ว การหาข้อมูลเรื่องที่ไม่เคยรู้มาก่อนอาจใช้เวลาเพียงแค่ไม่กี่วินาที จนมีคำกล่าวว่า แทบจะเป็นไปไม่ได้เลยที่จะมีผู้เชี่ยวชาญเฉพาะด้านอย่างแท้จริงในยุคเต็มไปด้วยข้อมูลมหาศาลบนโลกออนไลน์ สิ่งที่ดูจะขัดแย้งกัน คือ เราทุกคนเป็นผู้เชี่ยวชาญได้เหมือนกันหมด แต่ในขณะเดียวกันก็ไม่มีใครเป็นผู้เชี่ยวชาญอย่างแท้จริง

 

ข้อเสียของการบอกว่ารู้ ทั้ง ๆ ที่ไม่รู้

 

     เมื่อเราเชื่อว่าสังคมคาดหวังว่า เราต้องรู้ ทั้ง ๆ ที่ไม่ได้รู้ จนต้องรับมือกับสถานการณ์หน้างานไปด้วยการปกปิดความจริง แล้วคิดว่า นั่นคือการแก้ปัญหาที่ดีที่สุด ผลเสียที่เกิดขึ้น คือ มันจะสร้างแรงกดดันต่อประสิทธิภาพการทำงาน จำกัดความคิดสร้างสรรค์ และความสามารถในการมองเห็นธรรมชาติตามความเป็นจริง ยกตัวอย่างให้เห็นภาพง่าย ๆ ถ้าเราเดินเข้าไปประชุมหรือเริ่มการสนทนาด้วยทัศนคติแบบเซน เราจะรู้สึกผ่อนคลาย สบาย ๆ เมื่อเราอยู่ในสภาวะแบบนี้ เราจะมีความคิดใหม่ ๆ และมีวิธีแก้ปัญหาที่สร้างสรรค์ในแบบที่เราอาจคาดไม่ถึง

     แม้อาจจะดูไม่ใช่เรื่องง่ายเท่าไรในช่วงเริ่มต้น เพราะเราไม่รู้ว่า คนรอบข้างจะตอบรับอย่างไรกับคำตอบว่า “ฉันไม่รู้” และเราอาจจะยังเคยชินกับการแกล้งทำเป็นรู้ แทนที่จะลงมือทำเพื่อให้รู้จริง ๆ แต่นี่เป็นเรื่องที่เราต่างก็ต้องหาสมดุลให้เจอด้วยตัวเอง เพราะการเอ่ยคำนี้ออกมาได้ อย่างแรกสุดแปลว่า เรายอมรับในความไม่รู้ของตัวเอง และถ่อมตัวมากพอที่จะพูดคำนี้ออกมา

 

คำถามสำรวจตัวเองเมื่อเผชิญกับความไม่รู้

 

     เรากล้ายอมรับหรือไม่ว่า ตัวเองไม่รู้ เราเต็มใจที่จะพิจารณาว่า เราไม่สามารถรู้ได้ ไม่มีข้อมูลเพิ่มเติม หรือมีความเชี่ยวชาญที่จะนำไปสู่คำตอบที่ถูกต้องได้ เรารู้สึกอย่างไร เกิดความกลัวอะไรขึ้นบ้าง เราจะเจอกับสถานการณ์อะไรอีกบ้างที่ซับซ้อนเกินกว่าสิ่งที่เรารู้
เมื่อเรายอมรับว่าไม่รู้และไม่สามารถรู้ได้ เรารู้สึกถึงการปลดปล่อยหรืออิสระหรือไม่

     ฉะนั้น ในเบื้องต้นยิ่งเรายอมรับความจริงว่า เราไม่รู้เกี่ยวกับอะไรสักอย่างได้เร็วมากเท่าไร มันก็จะยิ่งดีต่อตัวเราและคนรอบข้างมากเท่านั้น เพราะเท่ากับเราสามารลดความเครียดในที่ทำงานลงได้ แล้วหันไปโฟกัสกับการเรียนรู้อย่างต่อเนื่องแทน

     ต่อมาคือการเปลี่ยนทัศนคติแบบเดิม ๆ จากความไม่รู้เป็นอุปสรรค เป็นสถานที่แห่งความกลัว มาเป็นดินแดนแห่งความเป็นไปได้และคุณค่าใหม่ ๆ ที่ไม่ใช่แค่การเปลี่ยนแปลงทางความคิด แต่ยังรวมถึงการเปลี่ยนแปลงทางอารมณ์และตัวตนด้วย

     สุดท้ายจึงเป็นการให้ความมั่นใจกับอีกฝ่าย คนที่อาจจะเป็นผู้บริหารด้วยกัน หรือเป็นหัวหน้าของเราว่า เราจะหาคำตอบมาให้เขา แล้วจะติดต่อกลับไป โดยบอกระยะเวลาที่จะใช้ในการหาข้อมูลให้ชัดเจน เพื่อให้อีกฝ่ายรู้ว่า จะได้คำตอบเมื่อไร

     มองเผิน ๆ แล้ว การยอมรับว่าไม่รู้อย่างเต็มปากเต็มคำอาจดูเป็นเรื่องที่ต้องใช้ความกล้าพอสมควร และยังต้องเผชิญกับผลลัพธ์ที่อาจคาดไม่ถึงขึ้นอยู่กับความเชื่อที่ฝังรากอยู่ในวัฒนธรรมของแต่ละองค์กร แต่หากเราพลิกสถานการณ์นี้ให้เป็นโอกาสแห่งการเรียนรู้ โอกาสที่เราจะได้พัฒนาทักษะและเติมเต็มความรู้ใหม่ ๆ ก็จะเกิดขึ้นได้อย่างไม่มีขีดจำกัด

อ้างอิง
https://twitter.com/SirKenRobinson/status/1623383511674527744
https://tricycle.org/article/not-knowing
https://medium.com/the-mission/the-power-of-not-knowing-4d860b0c864f
https://generateleadership.com/blog/tap-into-your-power-of-not-knowing

 

Share

Authors

Authors

RELATED POSTS