ทำไมไม่ควรโฟกัสแค่ Phonics เมื่อสอนภาษาอังกฤษให้เด็ก
- เมื่อพูดถึงภาษาอังกฤษโดยเฉพาะเรื่องการอ่าน บางครั้งเราเกิดความเข้าใจผิดคิดว่า หมายถึง Phonics อย่างเดียว ทั้งที่ความเป็นจริงแล้วยังมีทักษะพื้นฐานยังมีอีกหลายอย่างที่ต้องฝึกฝนและพัฒนาไปพร้อม ๆ กัน
- ครูต้องมีหลักการสอนที่ชัดเจนและเป็นระบบ เพราะจะช่วยให้เด็กทักษะพัฒนาการอ่านได้อย่างรวดเร็ว
เคยสังเกตกันไหม ทำไมเมื่อพูดถึงภาษาอังกฤษโดยเฉพาะเรื่องการอ่าน Phonics มักเป็นคำแรกที่เรานึกถึง หากจะหาซื้อหนังสือหรือแบบฝึกหัดที่สอนเรื่องนี้ก็มักจะหาได้ง่ายทั่วไป จนบางครั้งเราเกิดความเข้าใจผิดคิดว่า ทักษะพื้นฐานสำหรับการอ่าน หมายถึง Phonics อย่างเดียว ทั้งที่ความเป็นจริงแล้วยังมีทักษะพื้นฐานอีกหลายอย่างที่ทำให้เด็กคนหนึ่งสามารถอ่านคำที่เขาเห็นบนหนังสือได้อย่างถูกต้อง ซึ่งทักษะทั้งหมดนี้จำเป็นต้องฝึกฝนและพัฒนาไปพร้อม ๆ กัน ลองนึกภาพเทียบกับภาษาของเราก็ได้ หากเด็กเห็น ก กับ ถ แต่ยังแยกความต่างไม่ออก เขาจะรู้ได้อย่างไรว่า กระจก อ่านออกเสียงอย่างไร ถ้าเราอยากให้เด็กอ่านภาษาอังกฤษได้ถูกต้องและเกิดความเข้าใจอย่างแท้จริง ยังมีทักษะอะไรอีกบ้างที่เราต้องพัฒนาและส่งเสริมไปพร้อม ๆ กัน ทั้งหมดนี้ไม่ได้มีความสำคัญเฉพาะกับครูผู้สอนเท่านั้น แต่ยังรวมไปถึงผู้บริหารที่มีอำนาจในการกำหนดทิศทางการเรียนรู้ของเด็ก ๆ อีกด้วย เพราะเมื่อไรที่เราละเลยการสอนทักษะพื้นฐานของการอ่านอย่างใดอย่างหนึ่งไป มันอาจส่งผลต่อทักษะการอ่านของเด็กคนนั้นไปตลอดชีวิต
ทักษะการอ่านที่สำคัญ มีมากกว่าแค่ Phonics
ทักษะการอ่านไม่ได้เกิดขึ้นได้จากการเรียนแค่ Phonics หรือการออกเสียงเท่านั้น หากเด็กคนหนึ่งยังไม่รู้ว่า จะต้องอ่านจากซ้ายไปขวา หรือไม่รู้ว่าคำ คือ การรวมกันของกลุ่มตัวอักษรที่มีช่องว่างคั่นอยู่ หรือรู้ชื่อตัวอักษรนั้น ๆ แต่ไม่เข้าใจหลักการของมัน เช่น Cat ประกอบไปด้วยสัญลักษณ์ 3 ตัว และมี 3 เสียง ซึ่งหากเราข้ามทักษะพื้นฐานเหล่านี้ไป ก็คล้ายกับเรากำลังสลับเอาเกวียนมาอยู่ข้างหน้าม้าแทน ม้าก็ไม่สามารถลากเกวียนไปข้างหน้าได้
นอกจาก Phonics ที่เราได้ยินกันบ่อย ๆ แล้ว ทักษะการอ่านพื้นฐานยังประกอบไปด้วย
- Print concepts คือ การจดจำตัวอักษร การรู้คุณลักษณะและองค์ประกอบของตัวพิมพ์
- Phonological awareness (การสำเหนียกรู้ระบบเสียง) เสียงของภาษาพูด และการรับรู้หน่วยย่อยของเสียง
- Phonics (การออกเสียง) การเรียนรู้รูปแบบเสียงและการสะกดคำที่จำเป็นต่อการจดจำ การอ่านและการสะกด
- Fluency (ความคล่อง) ความสามารถในการอ่านข้อความที่เชื่อมต่อกันได้โดยอัตโนมัติ และอ่านได้อย่างถูกต้อง มีการแสดงออกโดยใช้ระดับเสียง ถ้อยคำ และจังหวะในการสื่อความหมายที่เหมาะสม

ทักษะพื้นฐานทั้งหมดนี้ไม่สามารถแยกออกจากกันได้ เพราะ Print concepts และการสำเหนียกรู้ระบบเสียง คือ ทักษะที่ทำให้เด็กสามารถออกเสียงได้ แน่นอนว่าเมื่อสอนให้เด็กอ่าน เราย่อมมุ่งหวังให้เขาเกิดทักษะที่สมบูรณ์ เห็นคำแล้วรู้ว่า มีตัวอักษรอะไรบ้าง เมื่อมารวมกันแล้วรู้ว่า จะต้องออกเสียงอย่างไร สามารถอ่านได้อย่างคล่องแคล่ว ซึ่งการที่จะบรรลุเป้าหมายที่ว่านี้ได้ มีหลักการ 6 อยู่อย่างที่เราไม่ควรมองข้าม คือ
1. สอนอย่างเป็นระบบ
การสอนอย่างเป็นระบบให้ผลที่มีประสิทธิภาพกับเด็กได้จริง ครูควรกำหนดขอบเขตและลำดับการสอน เพื่อให้มั่นใจว่า สอนทุกอย่างครบถ้วน เด็กทุกคนสามารถเข้าถึงทักษะและความรู้ที่จำเป็นได้อย่างเท่าเทียมกัน
2. สอนทักษะพื้นฐานทั้งหมดให้เด็ก
เพราะทักษะทั้งหมดส่งเสริมซึ่งกันและกัน เด็กจำเป็นต้องได้รับการสอนอย่างต่อเนื่องไปจนถึงชั้น ป.5
3. ใช้ภาษาที่ชัดเจนในการสอน
เคยมีครูอเมริกันทดสอบเด็กอนุบาลกว่า 150 คนที่รู้ตัวอักษร/เสียงประมาณ 90% แต่เด็กก็ยังไม่สามารถอ่านคำศัพท์ได้ ครูจึงควรบอกนักเรียนอย่างชัดเจนและตรงไปตรงมาเกี่ยวกับความสัมพันธ์ของตัวอักษร/หน่วยเสียง รากศัพท์ หรือรูปแบบพยางค์ที่กำลังสอน ไม่ปล่อยให้เด็กหาข้อสรุปเอง เพราะบางครั้งเด็กไม่เข้าใจสิ่งเหล่านี้ ส่งผลให้อ่านไม่ออก เช่น บอกว่า “Bad และ ฺBike ขึ้นตัวด้วยตัวอักษร B เหมือนกัน ตัวอักษรนี้แทนเสียง /b/” แทนที่จะถามว่า “สองคำนี้มีตัวอักษรขึ้นต้นตัวเดียวกัน ตัวอักษรนี้ออกเสียงอย่างไร”
4. การสอนทักษะพื้นฐานใช้เป็นแนวทางช่วยประเมินเด็กได้
การศึกษาปี 2014 พบว่า เด็กอนุบาลมีความหลากหลายมาก บางคนไม่รู้จักตัวอักษรสักตัวเลย ขณะที่บางคนก็รู้จักหมด ครูต้องใช้การประเมินเพื่อวินิจฉัยอย่างง่าย และบ่อยครั้งก็อาจต้องสอนเด็กเป็นกลุ่มย่อย
5. ใช้เวลาอย่างน้อย 45 นาที/วัน ในการฝึกฝน
ครูควรฝึกฝนทักษะพื้นฐานผ่านการจัดการเรียนการสอนทางตรง (Direct Instruction) ใช้โอกาสต่าง ๆ ในการฝึกฝนที่เกี่ยวข้อง และให้การสนับสนุนเพิ่มเติมสำหรับนักเรียนที่ต้องการ
6. สร้างความเชื่อมโยงระหว่างภาษาอังกฤษกับภาษาแม่ของเด็ก
เพื่อให้ครูสามารถใช้ประโยชน์จากความรู้และทักษะที่เด็กแต่ละคนมีอยู่
จากเด็กที่เริ่มต้นเรียนรู้ตัวอักษรแต่ละตัว เรียนรู้เสียงของตัวอักษรเหล่านั้น จนสามารถอ่านคำ อ่านประโยค อ่านวรรณกรรมหรือข้อมูลที่มีความยาวและซับซ้อนได้ มีทักษะการอ่านออกเขียนได้อย่างสมบูรณ์แบบ ทั้งหมดนี้ล้วนมีจุดเริ่มต้นมาจากทักษะพื้นฐานทั้งสิ้น ซึ่งหากผู้ใหญ่เข้าใจความสำคัญ และให้การสนับสนุนเด็กโดยไม่มองข้ามทักษะใดทักษะหนึ่งไป ถือได้ว่า เราได้ให้ต้นทุนที่จะพัฒนาไปเป็นทักษะสำคัญกับเด็กทุกคนอย่างเท่าเทียมกัน
อ้างอิง
https://achievethecore.org/collection/6/foundational-skills-k-2
https://www.learninga-z.com/site/resources/breakroom-blog/teaching-foundational-reading-skills
https://www.hmhco.com/blog/teaching-foundational-reading-skills