เด็ก ๆ นอนดึกกันแค่ไหนในวันที่ต้องไปโรงเรียน

A A
Sep 14, 2022
Sep 14, 2022
A A

เด็ก ๆ นอนดึกกันแค่ไหนในวันที่ต้องไปโรงเรียน

 

  • การนอนที่เพียงพอส่งผลต่อประสิทธิภาพการเรียนรู้ของเด็กอย่างมาก หากเด็กไม่ได้มีเวลาเข้านอนที่แน่นอน อาจส่งผลให้เด็กกลายเป็นกลุ่มที่มีความเปราะบางทางวิชาการได้
  • เด็กอายุ 5-17 ปี มีเด็กเพียง 47% เท่านั้นที่เข้านอนในเวลาเดียวกัน แต่เด็กมากกว่า 4 ใน 5 คน เข้านอนเวลาเดียวกันเป็นส่วนใหญ่ในวันที่ต้องไปโรงเรียน
  • ถ้าพ่อแม่สร้างวินัย และฝึกฝนให้ลูกเข้านอนได้ในเวลาเดียวกันในวันที่ต้องไปโรงเรียน เท่ากับพ่อแม่มีส่วนช่วยส่งเสริมประสิทธิภาพการเรียนรู้ของเด็ก ๆ เช่นเดียวกับโรงเรียนที่ก็มีบทบาทในเรื่องนี้ได้ด้วยการออกโยบายที่เอื้อให้เด็กทำกิจกรรมต่าง ๆ หลังเลิกเรียน หรือส่งการบ้านในเวลาที่ไม่ดึกจนเกินไป
  •  

 

ใครยังจำวันที่พ่อแม่บังคับให้เข้านอนเร็วสมัยเป็นเด็กได้บ้าง เชื่อได้ว่าหลายคนอาจจะอิดออดอยู่สักหน่อย เพราะอยากทำอยากอื่นมากกว่า การที่ต้องตื่นเช้าไปโรงเรียนอาจเป็นเรื่องสาหัสสำหรับเด็ก ๆ เพราะการนอนที่ไม่เพียงพอจะส่งผลต่อโดยประสิทธิภาพในการเรียนรู้ของเด็ก ถ้าไม่นับลูกของเรา หรือลูกของเพื่อนแล้ว เรารู้ไหมว่า เด็กทั่วโลกส่วนมากเข้านอนตรงเวลาหรือเปล่าในวันที่ต้องไปโรงเรียน ประเด็นนี้เคยมีการศึกษาวิจัยมาแล้ว มาดูกันว่า ข้อมูลบอกอะไรเราได้บ้าง

รายงานฉบับใหม่จากศูนย์ควบคุมและป้องกันโรค (CDC) ของสหรัฐอเมริการะบุว่า ครึ่งหนึ่งของเด็กและวัยรุ่นที่มีเวลาเข้านอนประจำในวันที่ต้องไปโรงเรียนมีแนวโน้มจะรู้สึกเหนื่อยในชั้นเรียน ส่วนนักเรียนที่ไม่ได้มีเวลาเข้านอนที่แน่นอนก็มีแนวโน้มที่จะกลายเป็นกลุ่มที่มีความเปราะบางทางวิชาการมากที่สุด นอกจากนี้ ยังพบว่า เด็กอเมริกัน 1 ใน 3 นอนน้อยกว่าที่ American Academy of Sleep Medicine แนะนำไว้ คือ วันละ 9-12 ชั่วโมง สำหรับเด็กอายุ 6-12 ปี และ 8-10 ชั่วโมง ในวัยรุ่นอายุ 13-18 ปี

งานวิจัยนี้วิเคราะห์ข้อมูลเวลาเข้านอนในคืนวันธรรมดาของเด็กอายุ 5-17 ปี โดยใช้ข้อมูลจากการสำรวจของศูนย์สถิติสุขภาพแห่งชาติปี 2020 พบว่า

มีเด็กเพียง 47% เท่านั้นที่เข้านอนในเวลาเดียวกัน แต่เด็กมากกว่า 4 ใน 5 คน เข้านอนเวลาเดียวกันเป็นส่วนใหญ่ในวันที่ต้องไปโรงเรียน

นอกจากนี้ ยังเห็นได้ว่าครอบครัวมีบทบาทอย่างมากต่อการเข้านอนของเด็กอีกด้วย เพราะมากกว่า 1 ใน 4 ของเด็กที่ยากจน เด็กผิวดำ และเด็กในครอบครัวที่มีพ่อหรือแม่เลี้ยงเดี่ยว จะไม่ได้เข้านอนในเวลาเดียวกันเป็นประจำในวันที่ต้องไปโรงเรียน ผู้เชี่ยวชาญมองว่า นี่จะเป็นปัญหา เพราะการมีเวลาเข้านอน และเวลาตื่นที่แน่นอน โดยเฉพาะในเด็กและวัยรุ่นจะยิ่งช่วยให้ร่างกายควบคุมระบบที่สำคัญสำหรับการนอนได้ง่ายขึ้น

สิ่งที่เราควรรู้ คือ เมื่อเด็กเข้าสู่วัยรุ่น นาฬิกาชีวภาพของเขาจะเริ่มช้าลงอีก 1 ชั่วโมง  นั่นจึงเป็นเหตุผลว่า ทำไมวัยรุ่นถึงนอนดึกขึ้น ข้อมูลยังพบอีกว่า นักเรียนชั้นประถมฯ และม.ต้น มีแนวโน้มที่จะมีเวลานอนที่สม่ำเสมอกว่านักเรียนที่อายุมากกว่าถึง 10%

 

เด็กประถมและม.ต้น มีเวลาเข้านอนดึกหรือเช้าที่สม่ำเสมอกว่าเด็กที่โตกว่า

 

เวลานอนของนักเรียนแตกต่างกันอย่างไร

 

ผู้ใหญ่อาจจะสงสัยว่า เด็กผู้ชายและเด็กผู้หญิงเข้านอนช้าเร็วต่างกันไหม ข้อมูลพบว่า ไม่ต่างกัน ทั้งเด็กชายและเด็กหญิงมีแนวโน้มที่จะเข้านอนตามเวลาที่กำหนดพอ ๆ  กันในวันที่ต้องไปโรงเรียน แต่หากเป็นนักเรียนที่ยากจน หรือเป็นกลุ่มชาติพันธุ์บางกลุ่มก็จะมีแนวโน้มที่จะเข้านอนในเวลาเดิมน้อยกว่า นอกจากจะพบว่า นักเรียนที่มาจากครอบครัวที่พ่อกับแม่อยู่ด้วยกันมีแนวโน้มจะเข้านอนในเวลาเดิมแล้ว

การอาศัยอยู่ในเมืองหรือนอกเมืองก็มีผลต่อเวลาเข้านอนเช่นกัน โดยนักเรียนที่อยู่ในชนบทจะเข้านอนในเวลาเดิมมากกว่านักเรียนที่อยู่ในเมือง

 

ทำไมการเข้านอนในเวลาเดิมถึงสำคัญสำหรับนักเรียน

 

อย่างที่เรารู้กันดีว่า เด็กส่วนมากใช้เวลากับเทคโนโลยีมากขึ้น ถ้าพ่อแม่กำหนดเวลาเข้านอนที่แน่นอนให้กับลูก มันจะช่วยให้เราจัดการกับเวลาที่เด็ก ๆ จะอยู่กับหน้าจอได้ดีขึ้น แสงสีฟ้าจากอุปกรณ์ต่าง ๆ ไม่ว่าจะเป็นมือถือ แท็บเล็ต หรือคอมพิวเตอร์จะส่งผลต่อการนอนดึก เด็ก ๆ การศึกษาของโรงเรียนแพทย์ฮาร์วาร์ดพบว่า การสัมผัสกับอุปกรณ์ที่ปล่อยแสงสีฟ้าในช่วงบ่ายและเย็นอาจรบกวนวงจรการนอนหลับได้มากถึง 6-8 ชั่วโมง นั่นเท่ากับ เจ็ทแล็กที่เกิดจากเที่ยวบิน 15 ชั่วโมง จากวอชิงตัน ดี.ซี. ไปยังโฮโนลูลูเลยทีเดียว

จะเห็นได้ว่า ถ้าพ่อแม่สร้างวินัย และฝึกฝนให้ลูกเข้านอนได้ในเวลาเดียวกันในวันที่ต้องไปโรงเรียน เท่ากับพ่อแม่มีส่วนช่วยส่งเสริมประสิทธิภาพการเรียนรู้ของเด็ก ๆ ได้ ทางด้านโรงเรียนเองก็มีบทบาทในเรื่องนี้ได้เช่นเดียวกันด้วยการออกโยบายที่เอื้อให้เด็กทำกิจกรรมต่าง  ๆ หลังเลิกเรียน หรือส่งการบ้านในเวลาที่ไม่ดึกจนเกินไป เช่น

      • ครูกำหนดเวลาส่งการบ้านผ่านออนไลน์ภายในช่วงเย็น หรือหัวค่ำ เช่น 17.00-18.00 น. แทนที่จะเป็น 23:59 น.
      • กรณีมีกิจกรรมที่โรงเรียน  เช่น การซ้อมกีฬา หรือมีชมรมต่าง ๆ ควรให้กิจกรรมเหล่านี้เสร็จสิ้นไม่น้อยกว่า 10 ชั่วโมง ก่อนที่รถโรงเรียนจะมารับ หรือก่อนที่จะเดินทางมาโรงเรียนในเช้าวันรุ่งขึ้น
      • ให้ครูช่วยประสานงานเรื่องการสอบ รวมถึงเดดไลน์ของโครงการสำคัญ ๆ เพื่อช่วยให้นักเรียนไม่ต้องคร่ำเคร่งกับการทำงาน หรืออ่านหนังสือในช่วงดึก
      • หากมีการให้อุปกรณ์อิเล็กทรอนิกส์แก่นักเรียน โรงเรียนควรให้แนวทางปฏิบัติ และหากเป็นไปได้ควรให้พ่อแม่ช่วยดูแล โดยควรปิดอุปกรณ์เหล่านี้อย่างน้อย 1 ชั่วโมงก่อนเข้านอน

เมื่อโรงเรียนสามารถมีส่วนร่วมในการกำหนดนโยบายได้ คำถามต่อมา คือ ในฝั่งเอเชียเองมีประเทศไหนได้ริเริ่มบ้างแล้วหรือยัง คำตอบ คือ สิงคโปร์ ในภาพใหญ่กระทรวงศึกษาธิการของสิงคโปร์เคยมอบหมายให้ทำการศึกษาวิจัย 2 ชิ้น ชิ้นแรกว่าด้วยผลกระทบของปัจจัยที่ส่งผลต่อระยะเวลาการนอนหลับ ส่วนอีกชิ้นเป็นเรื่องคุณภาพการนอนหลับของนักเรียนในสิงคโปร์ เพราะสิ่งที่สิงคโปร์อยากรู้ คือ ถ้าโรงเรียนเข้าเรียนให้ช้าลง มันจะช่วยให้นักเรียนมีเวลานอนได้มากขึ้นหรือเปล่า 

โดยปกติโรงเรียนในสิงคโปร์จะเข้าเรียนเวลา 7.30 น. ซึ่งก็ไม่ได้ต่างจากบ้านเราสักเท่าไร แต่สิ่งที่ต่าง คือ โรงเรียนที่นั่นมีอิสระในการปรับเวลาเข้าเรียนให้สายลงได้ ทั้งนี้ทั้งนั้นต้องคำนึงถึงปัจจัยต่าง ๆ เช่น ฟีดแบคของผู้ปกครอง เวลาเลิกเรียน ผลกระทบต่อกิจกรรมหลังเลิกเรียน การเดินทาง และสภาพการจราจรรอบโรงเรียน

แม้ในภาพใหญ่ของสิงคโปร์จะมีการศึกษาเรื่องนี้กันอยู่ แต่โรงเรียนแห่งหนึ่งได้มีการทดลองเรื่องนี้มาแล้วตั้งแต่ครึ่งหลังของปี 2016 นั่นก็คือ โรงเรียนมัธยมหญิงนันยาง ที่ได้ปรับเวลาเข้าเรียนจาก 7.30 น. มาเป็น 8.15 น.  โดยอิงข้อมูลจากงานวิจัยของศาสตราจารย์ Michael Lee ซึ่งเป็นนักวิจัยที่ศึกษาเรื่องการนอน เขาพบว่า นักเรียนจะทำสิ่งต่าง ๆ ได้ดีกว่าถ้านอนพอ หนึ่งในข้อเสนอของเขา คือ ให้โรงเรียนเข้าเรียนช้าลง

 

สิงคโปร์ปรับเวลาเข้าเรียนให้สายขึ้นเพื่อให้นักเรียนได้นอนมากขึ้น

 

ฟังดูน่าจะเป็นแนวคิดที่ดีที่นักเรียนจะได้มีเวลานอนมากขึ้น แต่โรงเรียนก็มีสิ่งที่ต้องคิดต่อเช่นกัน ทำอย่างไรให้การเข้าเรียนช้าลงไม่กระทบเวลาเลิกเรียน เพราะนักเรียนยังมีกิจกรรมนอกเวลาเรียนอีกมาก โรงเรียนจึงเปิดรับความเห็นจากทุกฝ่ายเพื่อหาข้อสรุปที่ดีที่สุด สุดท้ายแล้วก็ได้ข้อสรุปว่า 

      • ในวิชาที่ต้องการการมีปฏิสัมพันธ์จากนักเรียนเป็นประจำ เช่น วิชาภาษา คณิตศาสตร์ โรงเรียนสามารถลดเวลาเรียนลงได้ 15 นาทีต่อสัปดาห์ 
      • จากเดิมที่ครูและนักเรียนทั้งโรงเรียนจะมีการเจอหน้ากันทุกอาทิตย์ ก็ปรับลดเป็นเจอทุก 2 อาทิตย์แทน 
      • นักเรียนจะเข้าเรียนวิชาภาษาที่ 3 ตอน 15.30 น. แทนที่จะเป็น 15.00 น. โรงเรียนจึงเลิกช้าลงเล็กน้อย  2 วันต่ออาทิตย์ 

เมื่อสอบถามนักเรียนว่า รู้สึกอย่างไรกับการเข้าเรียนที่ช้าลง นักเรียนตอบเป็นเสียงเดียวกันว่า มันดีกว่า พวกเขาตื่นมาด้วยความสดชื่น และไปโรงเรียนด้วยความตื่นตัวมากขึ้น มีแรงที่จะอยู่ทำกิจกรรมนอกเวลาเรียนมากขึ้น สภาพแวดล้อมที่โรงเรียนก็เปลี่ยนไปมาก ครูไม่ต้องรับมือกับนักเรียนที่ง่วงนอนใน 5-10 นาทีแรกของการเรียนการสอน ถือว่านโยบายนี้ได้ประโยชน์กับทุกฝ่าย เมื่อโรงเรียนปรับเวลาเข้าเรียนให้ช้าลง 45 นาที

อ่านมาถึงตรงนี้อาจจะอยากรู้กันแล้วว่า เมื่อโรงเรียนเข้าเรียนช้าลง นักเรียนได้นอนเยอะขึ้นจริงหรือเปล่า เพื่อที่จะหาคำตอบในเรื่องนี้ นักวิจัยของ DUKE-NUS จึงให้นักเรียนใส่นาฬิกาที่ตรวจจับกิจกรรมต่าง ๆ  และให้กรอกบันทึกเวลารายวัน นักวิจัยพบว่า เมื่อนักเรียนมีโอกาสที่จะนอนได้นานขึ้น 45 นาที พวกเขาจะนอนนานขึ้นโดยเฉลี่ย 20 นาที แม้นักเรียนจะไม่ได้นอนนานขึ้น 45 นาที ตามเวลาเข้าเรียนที่ช้าลง แต่ผลลัพธ์โดยรวมก็พบว่า การเข้าเรียนช้าลงช่วยให้นักเรียนได้พักผ่อนมากขึ้น พวกเขาจึงพร้อมที่จะเรียนรู้มากขึ้นตามไปด้วย

เมื่องานวิจัยจากทั่วโลกชี้ให้เห็นถึงผลลัพธ์ของการนอนหลับที่เพียงพอต่อการเรียนรู้ของเด็ก ๆ การนอนที่เราเคยคิดว่าเป็นเรื่องของใครของมันอาจไม่ได้เป็นแบบนั้นอีกต่อไป เพราะพ่อแม่ หรือแม้แต่โรงเรียนเองต่างก็มีส่วนในการส่งเสริมให้เด็ก ๆ ของเรามีโอกาสนอนได้มากขึ้น อยู่ที่ว่าเราจะเลือกบริหารจัดการกันอย่างไร

 

 

อ้างอิง
https://www.edweek.org/leadership/
https://www.channelnewsasia.com/singapore/
https://www.youtube.com/watch?v=54ujNJCttf4

Share

Authors

Authors

RELATED POSTS